สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การตรวจสอบดำเนินงาน โครงการศูนย์วิทยาศาสตร์ เพื่อการศึกษาแห่งชาติ

การตรวจสอบดำเนินงานโครงการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาแห่งชาติ
ของกรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิ
การ ปีงบประมาณ 2546


    กรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดทำโครงการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาแห่งชาติขึ้น เพื่อทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เป็นศูนย์สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน (Discovery Center) และจัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชนทั่วไป จากการตรวจสอบดำเนินงานโครงการดังกล่าวของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน พบว่ามี ข้อตรวจพบที่ส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการ 3 ประการ ดังนี้
1. โครงการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาแห่งชาติไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
2. โครงการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาแห่งชาติไม่มีการใช้ประโยชน์จากอาคารให้คุ้มค่า
3. การดำเนินงานของโครงการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาแห่งชาติไม่เป็นไปตามแนวทางที่ก่อให้เกิดการ พึ่งพาตนเอง

ข้อตรวจพบที่ 1

    โครงการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาแห่งชาติไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
จากการตรวจสอบพบว่า โครงการส่วนใหญ่ยังไม่สามารถดำเนินงานตามที่ได้กำหนดไว้ตามเป้าหมาย รายละเอียดสรุปได้ดังนี้
โครงการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาแห่งชาติได้กำหนดเป้าหมายไว้ 2 ด้าน คือ
    1. เป้าหมายตามลักษณะโครงสร้างผลการดำเนินงานของศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ รังสิต และอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ หว้ากอ พบว่า มีการดำเนินงานที่ไม่บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ รังสิต มีเพียงการ จัดสร้างอาคารศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ พร้อมนิทรรศการ ซึ่งดำเนินการเสร็จปี 2545 ล่าช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนด ไว้ในโครงการ 5 ปี และอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ หว้ากอ มีเพียงค่ายพักแรมและสถานที่พักผ่อนที่ดำเนินการเสร็จปี 2543 ล่าช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในโครงการ 1 ปี ส่วนศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ เอกมัย มีการดำเนินงานตาม เป้าหมายทุกประการ แต่ล่าช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในโครงการ 5 ปี
    2. เป้าหมายตามลักษณะการให้บริการ
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ ทั้ง 3 แห่ง ไม่สามารถดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย ตามลักษณะของการให้บริการได้ ดังนี้
    2.1 การให้บริการความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด
    2.2 การอบรมครูและบุคลากรในองค์กรต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทำให้ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ ที่กำหนดไว้ในแผนการดำเนินงานของโครงการได้

สาเหตุสำคัญที่ทำให้การดำเนินงานของศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ ไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ
    1. งบประมาณเพื่อดำเนินการตามกิจกรรมไม่สอดคล้องกับแผนที่กำหนดไว้
    2. ขาดงบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์ ด้านการอบรมครูและบุคลากรในองค์กร

ข้อตรวจพบที่ 2
    โครงการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาแห่งชาติ ไม่มีการใช้ประโยชน์จากอาคารให้คุ้มค่า
1. ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา รังสิต
    จากการตรวจสอบสังเกตการณ์ พบว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ รังสิต มีการใช้ประโยชน์จากอาคารยังไม่คุ้มค่า เนื่องจากมีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ใช้สอยเพียงบางส่วนของอาคารมีพื้นที่ที่ยังไม่ใช้ประโยชน์อีก จึงสรุปได้ว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์ฯรังสิต มีการใช้ประโยชน์จากอาคารไม่เต็มศักยภาพ
2. อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
    ปัจจุบันอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ หว้ากอ ยังไม่สามารถเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการได้ และได้จัดทำข้อตกลง เพื่อสร้างนิทรรศการและจัดแสดงพันธุ์สัตว์ และลานแสดงกลางแจ้งยังไม่มีการใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ยังพบว่าฐานการเรียนรู้จะใส่กุญแจไว้ทำให้ผู้ที่มาเข้าชมไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ไม่สามารถเข้าชมได้
สาเหตุสำคัญที่ทำให้โครงการศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ ไม่มีการใช้ประโยชน์จากการให้คุ้มค่าสรุปได้ดังนี้
    1. งบประมาณที่โครงการศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ ได้รับไม่มีการผูกพันงบประมาณทำให้การจัดสรรงบประมาณ ในแต่ละปีไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
    2. บุคคลากรไม่เพียงพอทำให้ขาดเจ้าหน้าที่ประจำฐานการเรียนรู้ ขาดวิทยากรนำชม ทำให้ไม่สามารถ ใช้ประโยชน์จากอาคารได้อย่างเต็มที่
    3. การบริหารจัดการไม่เพียงพอ ไม่มีแกนกลางเพื่อทำหน้าที่กำหนดกรอบนโยบายการดำเนินงาน และ กระบวนการจัดหาการสนับสนุนด้านการเงิน บุคลากร และวัสดุครุภัณฑ์

ผลกระทบ จากการดำเนินงานดังกล่าว หากศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ ดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ต่อไปจะทำให้ เกิดการสูญเสียจากการไม่ใช้ประโยชน์และศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ รังสิต อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ หว้ากอ จะสูญเสียโอกาสในการสร้างคุณค่าเพิ่ม (Value added) และทักษะในการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม

ข้อเสนอแนะ (ข้อตรวจพบที่ 1 และข้อตรวจพบที่ 2)
    1. ด้านงบประมาณในการจัดทำโครงการที่สำคัญในอนาคต เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการให้มี การผูกพันงบประมาณ
    2. ให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน เร่งรัดและติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด
    3. ให้ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ หว้ากอ ทบทวนแผนแม่บทอีกครั้ง เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ในปัจจุบัน
    4. ให้ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ ทั้ง 3 แห่ง พัฒนาข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ให้มีความรู้ ความสามารถ
    5. ให้ทบทวนโครงสร้างของศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ โดยมุ่งให้เกิดการรวมตัวกันเพื่อให้มีแกนกลางทำหน้าที่ กำหนดนโยบายการดำเนินงาน กระบวนการจัดหาการสนับสนุนด้านการเงิน บุคลากร และวัสดุ ครุภัณฑ์
    6. ให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน และผู้อำนวยการศูนย์ วิทยาศาสตร์ฯ ทั้ง 3 แห่ง ดำเนินการดังนี้
    - หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงปัญหาต่างๆ วิธีการจัดเก็บรายได้ และการดำเนินงานหรืออาจจ้างเอกชน เข้ามาดูแลและบริหารงาน
    - ประสานงานกับหน่วยงานเครือข่ายที่มีลักษณะการทำงานที่คล้ายคลึงกัน เพื่อปรับปรุงระบบต่างๆ

ข้อตรวจพบที่ 3 การดำเนินงานของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาแห่งชาติ ไม่เป็นไปตามแนวทางที่ก่อ ให้เกิดการพึ่งพาตนเองศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ ควรมีแนวทางการดำเนินงานที่พึ่งพาตนเองได้ โดยสามารถ จัดเก็บรายได้ไว้ใช้จ่ายในกิจการได้ จากการตรวจสอบ พบว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ เอกมัย สามารถดำเนินการ จัดเก็บรายได้ในรูปของเงินนอกงบประมาณ โดยอาศัยระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ แต่อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ หว้ากอ และศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ รังสิต ซึ่งมีหน้าที่ในการเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้กับประชาชนทั่วไป และดำเนินงานในลักษณะเดียวกันกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ เอกมัย ไม่สามารถจัดเก็บรายได้ไว้ใช้จ่ายได้ เนื่องจาก ไม่มีระเบียบกฎหมายที่กำหนดให้สามารถดำเนินการจัดเก็บไว้ใช้จ่ายได้ ทำให้หน่วยงานทั้งสองสูญเสียโอกาส ที่จะจัดเก็บรายได้
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ รังสิต และอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ หว้ากอ ไม่สามารถจัดเก็บรายได้ ไว้ใช้จ่าย คือ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 59 วรรค 4 ได้กำหนดให้สถานศึกษาของรัฐ ที่ไม่เป็นนิติบุคคลจะนำรายได้ที่ได้รับไปใช้จ่ายในการจัดการศึกษาของสถานศึกษานั้นได้ ต้องเป็นไปตามระเบียบ กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งหมายความว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ รังสิต และอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ หว้ากอ สามารถ จัดเก็บรายได้ไว้ใช้จ่ายต้องอาศัยระเบียบการคลัง

ข้อเสนอแนะ
สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง และ สำนักงบประมาณควรมีการทบทวนข้อกฎหมายที่ไม่ชัดเจน เพื่อหาทางออกที่ทำให้ศูนย์วิทยาศาสตร์ฯรังสิต และ อุทยานวิทยาศาสตร์ฯหว้ากอ สามารถจัดเก็บรายได้ไว้ใช้จ่ายได้ ทำให้เกิดการพึ่งพาตนเอง และเป็นการลดภาระ ทางด้านการคลังของรัฐ
view