สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การตรวจสอบดำเนินงาน สำนักงานคณะกรรมการ ข้าราชการพลเรือน

การตรวจสอบดำเนินงานสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน

    สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเห็นว่าแผนงานปรับเปลี่ยนระบบราชการ แผนงานส่งเสริมการบริหารและวิชาการ และโครงการจัดตั้งวิทยาลัยนักบริหาร เป็นแผนงานและโครงการที่ส่งผลต่อการปรับปรุงและพัฒนาระบบ การบริหารจัดการภาครัฐเป็นอย่างมาก ประกอบกับมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงจำเป็น อย่างยิ่งที่จะต้องมีการตรวจสอบผลการดำเนินงานตามภารกิจที่สำคัญต่าง ๆ เพื่อให้ทราบถึงปัญหา อุปสรรค หรือข้อจำกัดในการดำเนินงาน เพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขการดำเนินงานต่อไปในอนาคต โดยจากการสุ่ม ตรวจสอบงาน/โครงการที่สำคัญ จำนวน 8 งาน/โครงการ พบว่า มีผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะแยกตาม แผนงาน/งาน/โครงการได้ดังนี้
แผนงานปรับเปลี่ยนระบบราชการ
1. โครงการวางระบบบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ในส่วนราชการ (Results Based Management : RBM)
จากการตรวจสอบผลการดำเนินงานโครงการวางระบบ RBM ในส่วนราชการของสำนักงาน ก.พ. ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2542 – 2545 มีข้อตรวจพบสำคัญ 2 ข้อตรวจพบ ดังนี้

ข้อตรวจพบที่ 1 การพัฒนาระบบ RBM
    ในส่วนราชการมีความล่าช้าและคาดว่าจะไม่แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
จากการตรวจสอบผลการดำเนินการพัฒนาระบบ RBM ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2542 – 2545 สำนักงาน ก.พ. กำหนดแผนในการวางระบบ RBM ในส่วนราชการ จำนวน 41 หน่วยงาน ปรากฏว่า สามารถวางระบบ RBM แล้วเสร็จ จำนวน 34 หน่วยงาน ไม่แล้วเสร็จ จำนวน 7 หน่วยงาน โดยสามารถดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนเพียง 11 หน่วยงาน และล่าช้ากว่าแผน 23 หน่วยงาน โดยมีระยะเวลาความล่าช้ามากที่สุดประมาณ 1 ปี คาดหมาย ได้ว่าสำนักงาน ก.พ. จะไม่สามารถดำเนินการวางระบบ RBM ให้แล้วเสร็จได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ นอกจาก นี้ยังพบปัญหาการใช้ประโยชน์จากระบบ RBM IT Application โดยระบบดังกล่าวได้ออกแบบระบบแล้วเสร็จ ส่วนราชการยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากระบบ RBM IT Application ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด
ผลกระทบ
ทำให้ส่วนราชการขาดตัวชี้วัดและระบบประเมินผล เพื่อใช้ในการวัดผลการดำเนินงานขององค์กรตาม วัตถุประสงค์ของสำนักงาน ก.พ. ซึ่งมีผลให้การพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชน ของหน่วยงานภาครัฐในภาพรวมล่าช้าตามไปด้วย
สาเหตุ
    1. ส่วนราชการขาดความพร้อมทั้งในส่วนของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่ขาดความรู้ความเข้าใจ ขาดการยอมรับ และไม่เห็นถึงประโยชน์ของการนำระบบ RBM มาใช้ในการปฏิบัติงาน
    2. ขาดกฎ ระเบียบ หรือนโยบายที่ชัดเจนที่กำหนดให้ทุกส่วนราชการต้องดำเนินการพัฒนาระบบ RBM
    3. เจ้าหน้าที่กลุ่มงาน RBM ของสำนักงาน ก.พ. มีจำนวนน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับส่วนราชการที่ต้องดำเนินการ ส่งเสริมทั้งหมด
    4. ระบบ RBM IT Application ถูกออกแบบเพื่อสนับสนุนการทำงานของกรมต้นแบบเท่านั้น

ข้อตรวจพบที่ 2 ส่วนราชการที่วางระบบ RBM แล้วเสร็จยังไม่สามารถนำระบบไปใช้ให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างเต็มรูปแบบ
จากการสุ่มตรวจสอบส่วนราชการที่วางระบบ RBM แล้วเสร็จตั้งแต่ปีงบประมาณ 2543 – 2544 พบว่า ส่วนราชการไม่สามารถนำระบบ RBM ไปปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์
ผลกระทบ
ทำให้การลงทุนสร้างระบบประเมินผลของรัฐไม่คุ้มค่าและเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด ไว้
สาเหตุ
    1. ทีมที่ปรึกษาจากสำนักงาน ก.พ. ไม่สามารถส่งเสริมและสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนในการดำเนินการตามระบบ RBM และทีมที่ปรึกษาแต่ละทีมมีองค์ความรู้และมาตรฐานในการส่งเสริมไม่เท่ากัน
    2. ส่วนราชการมีปัญหา อุปสรรคในการปฏิบัติตามขั้นตอนของระบบ RBM เนื่องจากส่วนราชการกำหนด ตัวชี้วัด ผลการดำเนินงานหลัก (Key Performance Indicator : KPI) ไว้เป็นจำนวนมากและไม่ชัดเจน และยังขาดการ พัฒนาระบบข้อมูลให้มีความครอบคลุม รวดเร็ว ทันสมัยและถูกต้อง
    3. ผู้บริหารไม่ให้ความสำคัญกับการนำระบบ RBM มาใช้ประโยชน์และเจ้าหน้าที่ในองค์กรต่อต้านการมี ตัวชี้วัดในการปฏิบัติงาน
    4. ขาดเอกภาพทางด้านวิชาการในการวัดผลการดำเนินงาน โดยรัฐบาลมีนโยบายให้ องค์กรที่เกี่ยวข้อง สร้าง    ระบบประเมินผลเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐมีตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน ซึ่งแต่ละองค์กรก็มีแนวทางและวิธีการที่ แตกต่างกัน ทำให้เกิดความสับสนในการกำหนดตัวชี้วัด
ข้อเสนอแนะ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะในการสร้างระบบประเมินผลในส่วนราชการ ดังนี้
    1. เสนอรัฐบาลให้ทราบถึงปัญหาความซ้ำซ้อนของระบบประเมินผลที่องค์กรต่าง ๆ ได้กำหนดไว้ เพื่อทบทวนแนวคิด วิธีการกำหนดตัวชี้วัดให้มีรูปแบบเดียว
    2. กำหนดแนวทางการสร้างระบบประเมินผลให้ผู้ส่งเสริมต้องมุ่งเน้นความรู้ทางด้านวิชาการและทำความเข้าใจ กับส่วนราชการในขั้นตอนต่าง ๆ

2. โครงการพัฒนาระบบมาตรฐานสากลของประเทศไทยด้านการจัดการและสัมฤทธิ์ผลของงานภาครัฐ (Thailand International Public Sector Standard Management System and Outcomes : P.S.O.)
    จากการตรวจสอบการดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาระบบมาตรฐาน P.S.O. ของสำนักงาน ก.พ. ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2542 - 2545 มีข้อตรวจพบสำคัญ 2 ข้อตรวจพบ ดังนี้

ข้อตรวจพบที่ 1 การดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาระบบมาตรฐาน P.S.O. ในส่วนราชการล่าช้าและคาดว่าจะไม่แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2542 – 2545 สำนักงาน ก.พ. สามารถดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาส่วนราชการจนกระทั่งได้รับการรับรองมาตรฐาน P.S.O. อย่างน้อย 1 ระบบ เพียง 65 หน่วยงาน ของส่วนราชการที่ขอเข้าร่วมโครงการทั้งหมด จำนวน 3,296 หน่วยงาน ดังนั้นจึงคาดหมาย ได้ว่าสำนักงาน ก.พ. จะไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามเป้า

ผลกระทบ
ส่วนราชการที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมและพัฒนาระบบมาตรฐาน P.S.O. แต่ยังไม่ได้รับการรับรองยังไม่สามารถพัฒนาการบริหารจัดการและการให้บริการประชาชนให้มีมาตรฐานตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
สาเหตุ
    1. สาเหตุที่มาจากส่วนราชการ แบ่งเป็น ปัจจัยภายใน ได้แก่ การขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบมาตรฐาน P.S.O. การขาดการสนับสนุนจากผู้บริหาร ปัญหาการยอมรับของเจ้าหน้าที่ในองค์กร ปัญหาการโยกย้ายบุคลากร และปัญหาการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง บทบาท ภารกิจ และ ปัจจัยภายนอก ได้แก่ การขาดการสนับสนุนจาก หน่วยงานต้นสังกัด การขาดการสนับสนุนจากผู้ว่าราชการจังหวัด
    2    . สาเหตุที่มาจากสำนักงาน ก.พ. แบ่งออกเป็น
        2.1 ความพร้อมของสำนักงาน ก.พ. เช่น การจัดทำแผนปฏิบัติการไม่เหมาะสม การขาดคู่มือที่ชัดเจน และ เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ก.พ. มีจำนวนน้อย
        2.2 ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากสำนักงาน ก.พ. มีผู้เชี่ยวชาญในการส่งเสริมระบบมาตรฐาน P.S.O. เพียง 22 คน โดยผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนต้องรับผิดชอบหลายหน่วยงาน และผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนยังมีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับลักษณะงานของส่วนราชการไม่ชัดเจน ประกอบกับการถ่ายทอดความรู้ของผู้เชี่ยวชาญมีลักษณะ เชิงวิชาการมากเกินไป ทำให้ส่วนราชการเกิดปัญหาในเรื่องการรับรู้
    2.3 ผู้ตรวจสอบรับรอง เนื่องจากสำนักงาน ก.พ. มีผู้ตรวจสอบรับรองน้อย ทำให้ส่วนราชการที่ขอรับการ ตรวจรับรองต้องรอ
    2.4 ปัจจัยอื่น ๆ เช่น การขาดการประชาสัมพันธ์ ประโยชน์ที่ได้รับจากการพัฒนาระบบ และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างส่วนราชการ และส่วนราชการทั้งระบบ

ข้อตรวจพบที่ 2 ส่วนราชการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน P.S.O. ยังไม่มีการพัฒนาระบบมาตรฐาน P.S.O. ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างเต็มรูปแบบ
จากการตรวจสอบส่วนราชการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน P.S.O. ในปีงบประมาณ 2544 – 2545 จำนวน 26 หน่วยงาน พบว่า ส่วนราชการทั้ง 26 หน่วยงานยังไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในการพัฒนาระบบมาตรฐาน P.S.O. ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ของโครงการอย่างเต็มรูปแบบ
ผลกระทบ
ทำให้ส่วนราชการที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน P.S.O. ไม่สามารถรักษาระดับมาตรฐาน P.S.O. ได้อย่างต่อเนื่อง และทำให้ระบบมาตรฐาน P.S.O. ขาดความน่าเชื่อถือ
สาเหตุ
คณะผู้ส่งเสริมและตรวจสอบรับรองจากสำนักงาน ก.พ. ไม่ได้ให้แนวทางที่ชัดเจนในการรักษาระดับมาตรฐาน และพัฒนาระบบมาตรฐาน P.S.O. ต่อไปอย่างยั่งยืน และ ขาดการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน ประกอบ กับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐขาดแรงจูงใจในการพัฒนาระบบ
ข้อเสนอแนะ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ดำเนินการดังนี้
    1. เสนอโครงการพัฒนาระบบมาตรฐาน P.S.O. ในส่วนราชการต่อรัฐบาล เพื่อขอความเห็นชอบกำหนดเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลให้ส่วนราชการทั้งหมดต้องดำเนินการพัฒนาระบบ มาตรฐาน P.S.O. จนกระทั่งได้รับการรับรองมาตรฐานอย่างน้อย 1 ระบบ
    2. ส่งผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ร่วมเป็นคณะทำงานพัฒนาระบบในระดับกระทรวง/กรม เพื่อให้การสนับสนุนทางด้านวิชาการ และกำหนดรูปแบบ และวิธีการในการพัฒนาให้กับส่วนราชการ
    3. สร้างความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการให้ทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการพัฒนาระบบ มาตรฐาน P.S.O.
    4. กำหนดให้ส่วนราชการที่ดำเนินการพัฒนาระบบมาตรฐาน P.S.O. ควรเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในระยะเวลา 6 เดือน
    5. สร้างมาตรฐานการส่งเสริมทางด้านวิชาการให้กับผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่จากสำนักงาน ก.พ.ร. ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันตามคู่มือที่ได้กำหนดไว้
    6. การส่งเสริมและพัฒนาระบบมาตรฐาน P.S.O. ในส่วนราชการต้องมุ่งเน้นแนวทางในการรักษา ระดับมาตรฐานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานด้วย
    7. กำหนดแนวทางในการตรวจรับรองเพื่อรองรับจำนวนส่วนราชการที่จะขอรับการตรวจรับรองที่จะเพิ่ม มากขึ้นในอนาคต
    8. ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับระบบมาตรฐาน P.S.O. ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
    9. จัดทำคู่มือในการพัฒนาระบบมาตรฐาน P.S.O. ระบบประเมินผล (P.S.O.1108) ต่อไป
    10 ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณารางวัลสำหรับส่วนราชการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน และสามารถรักษา ระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่อง
    11. ติดตามและประเมินผลส่วนราชการที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาระบบมาตรฐาน P.S.O.

3. โครงการให้รางวัลจังหวัดดีเด่นในการให้บริการประชาชน (Prime Minister Award)
จากการตรวจสอบการดำเนินงานที่ผ่านมาของโครงการให้รางวัลจังหวัดดีเด่นในการให้บริการประชาชนมีข้อตรวจพบสำคัญ คือ ความสัมฤทธิ์ผลของโครงการให้รางวัลจังหวัดดีเด่นในการให้บริการประชาชนตามวัตถุประสงค์
    1. จำนวนจังหวัดที่นำเสนอผลงาน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2542 – 2545
        1.1 มีจังหวัดที่ไม่เคยส่งผลงานตลอดระยะเวลา 4 ปี ทั้งหมด 3 จังหวัด
        1.2 มีจำนวนจังหวัดที่ส่งผลงานเข้าร่วมแข่งขันจังหวัดดีเด่นในแต่ละด้านน้อยมาก
    2. การมอบรางวัลจังหวัดดีเด่นในการให้บริการประชาชน ทั้งหมดจำนวน 11 ด้าน  ไม่มีจังหวัด ใดสามารถ พัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนจนกระทั่งได้รับรางวัลดีเด่นตลอดระยะเวลา 3 ปี
ผลกระทบ
ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันในการให้บริการประชาชนระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และอาจทำให้ผลการคัดเลือก จังหวัดดีเด่นในการให้บริการประชาชนไม่ได้ผลงานที่ดีที่สุด รวมทั้งภาครัฐขาดต้นแบบที่ดี (Best Practice) ในการให้บริการประชาชน
สาเหตุ
จังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัดและหอการค้าจังหวัด ขาดการเผยแพร่แนวทางและหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผลงาน นอกจากนี้รางวัลที่มอบให้จังหวัดดีเด่นและชมเชยไม่จูงใจ
ข้อเสนอแนะ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ดำเนินการดังนี้
    1. แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาทบทวนเพิ่มช่องทางในการนำเสนอผลงานและประเภทของผลงาน รวมถึงรางวัลเพื่อสร้างแรงจูงใจ
    2. เผยแพร่แนวทางและหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผลงานให้กับส่วนราชการในระดับจังหวัดโดยตรง
    3. กำหนดแนวทางหรือมาตรการเพื่อสนับสนุนให้ส่วนราชการนำผลงานซึ่งได้รับรางวัลดีเด่นไปขยายผลให้กับ ส่วนราชการ
    4. กำหนดแนวทางหรือมาตรการสนับสนุนให้ทุกส่วนราชการในระดับจังหวัดสามารถปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติ งานและคุณภาพการให้บริการประชาชน
    5. ประชาสัมพันธ์ผลการคัดเลือกจังหวัดดีเด่นในการให้บริการประชาชนในด้านต่าง ๆ โดยสื่อต่าง ๆ
 
4. โครงการการจัดวางระบบการบริการประชาชนของหน่วยงานของรัฐในลักษณะการบริการแบบ เบ็ดเสร็จ (One Stop Service)

จากการตรวจสอบและสังเกตการณ์การดำเนินโครงการ One Stop Service ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2542 – 2545 มีข้อตรวจพบสำคัญ 1 ข้อตรวจพบและ 2 ข้อสังเกต ดังนี้
ข้อตรวจพบ ส่วนราชการยังไม่นำระบบการบริการประชาชนในลักษณะการบริการแบบเบ็ดเสร็จมาดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ
จากการตรวจสอบส่วนราชการในส่วนภูมิภาคใน 4 จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการฯ พบว่า ส่วนราชการโดยส่วนใหญ่ ยังไม่มี การนำระบบ One Stop Service มาดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งส่งผลให้การขยายผลการดำเนินงาน แบบเครือข่ายในพื้นที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ รวมทั้งปัจจุบัน  สำนักงาน ก.พ. ยุติการดำเนินโครงการแล้ว
ผลกระทบ
ทำให้ความพึงพอใจของประชาชนผู้มาขอรับบริการยังไม่ดีขึ้น ทั้งนี้โครงการ One Stop Service ซึ่งแสดงว่า มีการใช้จ่ายอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
สาเหตุ
การดำเนินโครงการมีลักษณะที่ไม่ส่งเสริมวิธีการดำเนินการอย่างชัดเจนและการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วม โครงการยังเน้นด้านปริมาณ ขาดการจัดลำดับความสำคัญของส่วนราชการตามความจำเป็นด้านการ บริการ ประชาชน และไม่ได้พิจารณาถึงศักยภาพของส่วนราชการหรือความพร้อมด้านบุคลากรในส่วนราชการ
ข้อเสนอแนะ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ดำเนินการดังนี้
    1. กำหนดให้ทีมที่ปรึกษาจะต้องเข้าร่วมดำเนินการอย่างใกล้ชิดและในระยะเวลาที่เพียงพอ
    2. จัดลำดับความสำคัญส่วนราชการที่จะเข้าร่วมโครงการตามความจำเป็น
    3. วางแผนจัดทำโครงการอย่างรอบคอบโดยพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของโครงการตลอดจนความสัมพันธ์ กันระหว่างงาน/โครงการที่จะดำเนินการ
ข้อสังเกตที่ 1 การทำข้อตกลงจ้างเหมาหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนทำหน้าที่ที่ปรึกษา ศึกษา วิเคราะห์ วิจัยงานหรือโครงการต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลงานตามงานหรือโครงการของส่วนราชการ
จากการตรวจสอบเอกสารพบว่า ในปีงบประมาณ 2542 – 2543 สำนักงาน ก.พ. ไม่ได้จัดทำสัญญาจ้างหรือข้อตกลงจ้างสมาคมนักวิจัยมหาวิทยาลัยไทย เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบ
ข้อสังเกตที่ 2 โครงการภายใต้แผนงานปรับเปลี่ยนระบบราชการมีความซ้ำซ้อนกัน
จากการตรวจสอบพบว่า สำนักงาน ก.พ. ได้ว่าจ้างสมาคมนักวิจัยมหาวิทยาลัยไทยดำเนินการทั้ง โครงการพัฒนาระบบมาตรฐาน P.S.O. และโครงการ One Stop Service โดยสมาคมฯ ได้ดำเนินการทั้ง 2 โครงการในส่วนราชการเดียวกันและไม่สามารถแบ่งเนื้อหาของการให้ความรู้ระหว่าง 2 โครงการได้อย่าง ชัดเจนดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นการลงทุนในลักษณะซ้ำซ้อนกัน ทำให้การวัดผลสำเร็จของโครงการไม่ชัดเจนและทำให้การพิจารณาค่าใช้จ่ายของโครงการจะไม่สามารถแยกได้อย่างชัดเจน

5. โครงการพัฒนาระบบนักบริหารระดับสูง (Senior Executive Service : SES)
    จากการตรวจสอบ โดยการสุ่มตัวอย่างข้าราชการระดับ 10 จำนวน 4 คน ระดับ 9 จำนวน 31 คน และระดับ 8 จำนวน 74 คน รวม 109 คน ใน 36 กรม 11 กระทรวง พบว่ามีข้อตรวจพบสำคัญ คือ ความไม่เชื่อมั่นของ ข้าราชการต่อโครงการพัฒนาระบบนักบริหารระดับสูง โดยจากการสัมภาษณ์และสอบถามข้าราชการที่เคยและ ไม่เคยสมัครเข้ารับการคัดเลือกตามโครงการ SES พบว่า
    - ร้อยละ 89.91 ของข้าราชการที่สุ่มตรวจสอบไม่เชื่อมั่นและไม่แน่ใจว่าการดำเนินงานโครงการ SES จะบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
    - ร้อยละ 72.84 ของข้าราชการที่สุ่มตรวจสอบเห็นว่าคุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกที่กำหนด ยังไม่เหมาะสม
    - ร้อยละ 66.06 ของข้าราชการที่สุ่มตรวจสอบ ไม่เชื่อมั่นในคณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญ เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักบริหาร 9
    - ร้อยละ 82.57 ของข้าราชการที่สุ่มตรวจสอบ ไม่เชื่อมั่นและไม่แน่ใจว่าการประเมินสมรรถนะหลักทางการ บริหารของสำนักงาน ก.พ. จะสามารถวัดความสามารถในเชิงการบริหารงานของบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่มข้าราชการที่เคยสมัครเข้ารับการคัดเลือกตามระบบ SES และผ่านการประเมินสมรรถนะหลักทางการบริหาร พบว่า
    - ข้าราชการร้อยละ 4 ที่เชื่อมั่นว่าโครงการ SES จะบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการที่กำหนดไว้
    - ข้าราชการร้อยละ 40 เห็นว่าคุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเหมาะสม
    - ข้าราชการร้อยละ 36 เชื่อมั่นว่าการประเมินสมรรถนะหลักทางการบริหารมีความเที่ยงตรง
ผลกระทบ
ทำให้ภาพของระบบอุปถัมภ์และปัญหาการวิ่งเต้น ซื้อขายตำแหน่งของข้าราชการยังคงอยู่ในสังคมไทย ซึ่งในการดำเนินโครงการ SES มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงถึง 10.02 ล้านบาท
สาเหตุ
หลักเกณฑ์และวิธีการในการคัดเลือกตามโครงการ SES ยังไม่เป็นธรรม นอกจากนี้การประเมินสมรรถนะยังสามารถวัดความสามารถได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น
ข้อเสนอแนะ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ดำเนินการดังนี้
    1. ทบทวนการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือก โดยเฉพาะคุณสมบัติของกลุ่มที่ส่วนราชการระดับกรมที่มีตำแหน่งว่างเสนอชื่อว่ามีความเหมาะสมหรือไม่
    2. พิจารณาปรับปรุงการอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูงให้สามารถรองรับผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนสามารถเข้า รับการอบรมได้เพิ่มมากขึ้น
    3. พิจารณารับรองหลักสูตรนักบริหารระดับสูงของหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีความพร้อมและเหมาะสม เพื่อลดจำนวน ข้าราชการที่ยังไม่ได้เข้ารับการอบรมหลักสูตร นบส.1
    4. เพิ่มจำนวนกรรมการใน “คณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง นักบริหารระดับ 9” โดยพิจารณาจากหน่วยงานอื่น ๆ ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย
    5. พิจารณาให้มีวิธีการหรือเครื่องมือในการประเมินสมรรถนะหลักทางการบริหารให้หลากหลายมากขึ้น
    6. ประชาสัมพันธ์วัตถุประสงค์ หลักเกณฑ์และวิธีการของระบบ SES ให้ทราบโดยทั่วกัน
แผนงานส่งเสริมการบริหารและวิชาการ

6. งานจัดสรรนักเรียนทุนรัฐบาลตามโครงการเตรียมกำลังคนภาคราชการเพื่ออนาคต
    จากการตรวจสอบพบว่ามีข้อตรวจพบสำคัญ 1 ข้อตรวจพบ และ 2 ข้อสังเกต ดังนี้
ข้อตรวจพบ นักเรียนทุนที่สำเร็จการศึกษาไม่ได้ปฏิบัติงานในสาขาที่ได้รับการจัดสรรทุน
จากการสุ่มตัวอย่างนักเรียนทุนรัฐบาลที่สำเร็จการศึกษาด้วยทุน ก.พ. จำนวน 57 คน ที่ทำงานในระบบราชการ มาแล้วอย่างน้อย 2 ปีพบว่า มีนักเรียนทุนที่ลาออกจากราชการไปแล้ว จำนวน 6 คน และจากการสัมภาษณ์ นักเรียนทุนที่สุ่มตรวจสอบจำนวน 51 คน พบว่า มีนักเรียนทุนจำนวน 29 คนไม่ได้ปฏิบัติงานตรงตาม สาขาโดยมีนักเรียนทุนเพียง 3 คนได้ปฏิบัติงานตรงตามสาขาที่ศึกษามาอย่างเต็มที่ นักเรียนทุนจำนวนถึง 7 คนไม่ได้ปฏิบัติงานตรงตามที่ศึกษามาเลย
ผลกระทบ
ทำให้นักเรียนทุนขาดแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน ขาดแรงผลักดันที่จะคิดค้นหรือพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ซึ่งส่งผลกระทบถึงภาพรวมของระบบราชการ ทำให้รัฐเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากบุคลากร ที่มีอยู่อย่างเต็มที่ โดยนักเรียนทุนรัฐบาลที่มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการทำงานในระบบราชการจะลาออกจากระบบ ราชการ
สาเหตุ
ส่วนราชการที่แสดงความต้องการขอรับการจัดสรรนักเรียนทุนขาดการพิจารณาความจำเป็นหรือความพร้อมของส่วนราชการ
ขาดความร่วมมือในการทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างนักเรียนทุนกับหน่วยงานต้นสังกัดถึงลักษณะงานที่จะต้องกลับมาปฏิบัติ
บางกรณีผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายงานอื่นให้ปฏิบัติ
การปฏิรูประบบราชการทำให้นักเรียนทุนรัฐบาลบางส่วนยังขาดความชัดเจนในงานที่ได้รับมอบหมาย เนื่องจากส่วนราชการยังไม่ชัดเจนในบทบาทหน้าที่
ข้อเสนอแนะ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนดำเนินการดังต่อไปนี้
    1. ติดตามผลของนักเรียนทุนรัฐบาลหลังสำเร็จการศึกษา เพื่อจะได้ทราบถึงข้อมูลต่าง ๆ
    2. นำระบบสารสนเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเก็บรวบรวมประวัติ / ข้อมูลของอดีตนักเรียนทุน
    3. พิจารณาหาแนวทางหรือมาตรการให้นักเรียนทุนพบกับหัวหน้าส่วนราชการของหน่วยงานต้นสังกัด ก่อนเดินทางไปศึกษาต่างประเทศ
ข้อสังเกตที่ 1 การประชาสัมพันธ์การรับสมัครนักเรียนทุนรัฐบาล
จากการสอบถามนักเรียนทุนที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 51 คน พบว่า นักเรียนทุนที่สุ่มทราบข่าวการรับสมัครสอบจากประกาศของศูนย์การสอบของสำนักงาน ก.พ. เป็นจำนวน 17 คน นักเรียนทุนเพียง 5 คน ที่ทราบข่าวผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ. หากการประชาสัมพันธ์การรับสมัครนักเรียนทุนรัฐบาลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำนักงาน ก.พ. จะมีโอกาสในการคัดเลือกบุคคลที่จะรับทุนรัฐบาลมากยิ่งขึ้น
ข้อสังเกตที่ 2 การจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับการจัดสรรทุนไม่เป็นไปในลักษณะเดียวกัน
กระบวนการจัดสรรทุนรัฐบาลของสำนักงาน ก.พ. ได้แบ่งความรับผิดชอบในการดำเนินงานออกเป็น 4 กลุ่มงาน มีลักษณะการเก็บข้อมูลที่ใช้ฐานแตกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบได้ระหว่างแผนการจัดสรร จำนวนผู้สมัคร และผลการสรรหาได้อย่างรวดเร็ว

7. งานวิจัย
จากการตรวจสอบมีประเด็นข้อตรวจพบสำคัญ คือ การดำเนินงานวิจัยแล้วเสร็จล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ โดยพบว่า ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2542 – 2545  ณ ปัจจุบัน (มีนาคม 2546) การดำเนินงานวิจัยล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้จำนวน 9 งานวิจัย โดยมีระยะเวลาความล่าช้าระหว่าง 4 – 19 เดือน
ผลกระทบ
ความล่าช้าในการดำเนินงานวิจัยจะส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริหารในการพิจารณานโยบายหลักที่สำคัญ ทำให้การดำเนินงานแก้ไขปัญหาของรัฐไม่ทันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
สาเหตุ
ผู้ดำเนินงานวิจัยได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานหลายด้าน และบางกรณีผู้ดำเนินงานวิจัยและผู้ควบคุมงานวิจัยของสำนักงาน ก.พ. มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน รวมถึงปัญหาใน การประสานงานกับส่วนราชการในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบกับบางกรณีคณะกรรมการตรวจรับให้ผู้ดำเนิน การวิจัยปรับปรุงงานวิจัยใหม่ นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดด้านเวลาในการนัดหมายคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ที่ เกี่ยวข้องกับงานวิจัย
ข้อเสนอแนะ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
    1. ติดตาม เร่งรัดผู้รับผิดชอบดำเนินงานวิจัยและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดจ้าง การควบคุม และการตรวจรับงานวิจัยให้การดำเนินงานวิจัยให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
    2. กำหนดกรอบทิศทางการวิจัยและองค์ความรู้ที่ต้องการศึกษาวิจัยให้ชัดเจน โดยจัดทำเป็นแผนระยะยาวให้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของสำนักงาน ก.พ.
    3. กำหนดผู้รับผิดชอบในการจัดประชุมเพื่อชี้แจงรายละเอียดและวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานวิจัยให้แก่ ผู้ดำเนินงานวิจัยและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการรวบรวมข้อมูลได้รับทราบ
    4. กำหนดปฏิทินการปฏิบัติงาน (Time Table) ในการพิจารณาตรวจรับงานวิจัยล่วงหน้าเป็นรายเดือน และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
    5. พิจารณาและกำหนดการรับงานวิจัยของกรรมการแต่ละคนว่าแต่ละปีควรมีจำนวนเท่าใด
    6. กำหนดหน่วยงานในการติดตามการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยให้ชัดเจน

8. โครงการจัดตั้งวิทยาลัยนักบริหาร
    จากการตรวจสอบการใช้ประโยชน์อาคารวิทยาลัยนักบริหาร มีข้อตรวจพบสำคัญ คือ อาคารวิทยาลัยนักบริหารไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ดังนี้
- อาคารพักรับรอง จากการตรวจสอบเอกสารการเข้าพัก ตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการมีการเข้าพักเพียงจำนวน 4 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งไม่ครบทุกห้อง โดยได้รับเงินค่าเช่าที่พักรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 74,100.00 บาท ขณะที่ใช้งบประมาณ ก่อสร้างเป็นเงินทั้งสิ้น 26,197,865.00 บาท ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าอาคารพักรับรองเกือบจะไม่ได้ ใช้ประโยชน์เลย
- อาคารปฏิบัติการและพักคนงาน จากการตรวจสอบพบว่า ตั้งแต่เปิดดำเนินการไม่ได้ใช้ประโยชน์เลย และสำนักงาน ก.พ. ได้เปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้อาคาร โดยใช้ประโยชน์อาคารดังกล่าวเป็นสถานที่ทำงาน ของกลุ่มงานสรรหาและคัดสรรเพียงชั้นที่ 1 และ 2
- อาคารศูนย์สุขภาพ จากการตรวจสอบพบว่า ตั้งแต่เปิดดำเนินการอาคารศูนย์สุขภาพไม่ได้ใช้ประโยชน์เลย และตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2542 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2544 สถาบัน International Law Enforcement Academy : ILEA ได้ขอใช้ประโยชน์ ต่อมาสำนักงาน ก.พ. ได้ทำสัญญาให้บริษัทเป็นผู้รับดำเนินกิจการใน อาคารศูนย์สุขภาพและอาคารสโมสร โดยสำนักงาน ก.พ. ได้รับเงินค่าบำรุงเฉพาะในส่วนของ การขายอาหาร และเครื่องดื่มส่วนสระว่ายน้ำและศูนย์สุขภาพยังไม่มีการเรียกเก็บค่าบำรุงสวัสดิการ
ผลกระทบ
การที่อาคารทั้ง 3 หลังดังกล่าวไม่สามารถใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ นับว่าเป็นการใช้จ่ายเงินงบประมาณในการก่อสร้างอาคารอย่างไม่คุ้มค่า หรือเป็นการเสียโอกาสในการใช้ ประโยชน์อาคารตามวัตถุประสงค์โครงการอีกทั้งยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อกิจกรรมการใช้ประโยชน์อาคารอื่น ๆ อีกด้วย นอกจากนี้สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือนยังต้องใช้จ่ายเงินในการบำรุงรักษาอาคารสถานที่ ภูมิทัศน์ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นเงิน 27,539,195.00 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่มีจำนวนเงินสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทุกปี
สาเหตุ
สำนักงาน ก.พ. ไม่ได้จัดทำแผนการใช้ประโยชน์อาคารวิทยาลัยนักบริหารที่ชัดเจนและอาคารพักรับรองขาดความพร้อมในด้าน ต่าง ๆ
ข้อเสนอแนะ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
    1. ทบทวนการใช้ประโยชน์อาคารพักรับรองว่ายังสามารถดำเนินการตามวัตถุประสงค์เดิมได้หรือไม่ หากไม่สามารถดำเนินการตามวัตถุประสงค์เดิมได้ สำนักงาน ก.พ. ต้องหาแนวทางปรับปรุงแก้ไขอาคารพักรับรอง ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
    2. เร่งรัดดำเนินการให้กลุ่มงานสรรหาและเลือกสรรเข้าใช้พื้นที่อาคารปฏิบัติการและพักคนงานอย่างเต็มพื้นที่
    3. วางแผนการใช้ประโยชน์อาคารศูนย์สัมมนาในส่วนที่สถาบัน ILEA และสถาบันพระปกเกล้าขอใช้ ประโยชน์ไว้ล่วงหน้า เพราะหากสถาบันทั้งสองย้ายออกไป สำนักงาน ก.พ. จะสามารถใช้ประโยชน์ พื้นที่ดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่อง
    4. ทบทวนผลการดำเนินงานของบริษัทเอกชนผู้รับดำเนินการเป็นผู้ให้บริการขายอาหาร เครื่องดื่ม สระว่ายน้ำและศูนย์สุขภาพในอาคารสโมสรและอาคารศูนย์สุขภาพ โดยคำนึงถึงค่าตอบแทนที่ได้รับ และประสิทธิภาพในการบริหารงาน และควรเปิดให้ภาคเอกชนแข่งขันการขอรับดำเนินกิจการดังกล่าวด้วย
view