สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การตรวจสอบดำเนินงานองค์การ แบตเตอรี่

การตรวจสอบดำเนินงานองค์การแบตเตอรี่
สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กระทรวงกลาโหมปีงบประมาณ 2546


    สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบการบริหารจัดการขององค์การแบตเตอรี่ในการดำเนินธุรกิจเพื่อ ให้ทราบถึงผลประกอบการขององค์การแบตเตอรี่และความสามารถในการประกอบธุรกิจ รวมถึงการกำหนด ราคาขายแบตเตอรี่ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถแข่งขันกับเอกชนมากน้อยเพียงไรโดยตรวจสอบผลการดำเนินงาน ขององค์การแบตเตอรี่ตั้งแต่ปี 2543 ถึงปี 2546 มุ่งเน้นแบตเตอรี่ประเภทเครื่องยนต์ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตคิดเป็น ร้อยละ 80 ของการผลิตทั้งหมด สำหรับผลการตรวจสอบสรุปได้ดังนี้

ข้อตรวจพบ
ผลประกอบการขององค์การแบตเตอรี่
    องค์การแบตเตอรี่ดำเนินกิจการประกอบอุตสาหกรรมประเภทแบตเตอรี่เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ และประชาชน รวมทั้งต้องแข่งขันกับบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่เอกชน จึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการองค์การ อย่างมีประสิทธิภาพด้านการผลิต การตลาด รวมทั้งการบริการที่รวดเร็ว เพื่อให้ได้ผลประกอบการมีกำไร สามารถดำเนินกิจการได้ตามภารกิจ
จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2508 – 2530 อ.บ.ต. หลังปี 2531 กลับมีผลกำไรลดลง และในปี 2536 อ.บ.ต.ต้องประสบปัญหาการขาดทุนเป็นครั้งแรกและขาดทุนต่อเนื่องจนถึงปี 2542 ซึ่งปัญหาการ ขาดทุนต่อเนื่องมีสาเหตุจากการสูญเสียสิทธิพิเศษประเภทบังคับ ทำให้มียอดขายแบตเตอรี่ลดลงในขณะที่มี ค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงานคงที่ ประกอบกับในปี 2540 เกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งต่อมา อ.บ.ต.ได้มี การปรับปรุงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการองค์การ ประกอบกับราคาตะกั่วโลกลดลงจึงมีผลประกอบการ ที่มีกำไรและได้นำเงินส่งกระทรวงการคลังตั้งแต่ปี 2543 – 2545
ปัญหาอุปสรรคที่ส่งผลให้กิจการของ อ.บ.ต. เปลี่ยนแปลงจากที่ได้กำไรและต้องประสบปัญหาการขาดทุนและ ไม่สามารถขยายตลาดแบตเตอรี่เครื่องยนต์ได้ มีดังนี้
    1. การเปลี่ยนแปลงสิทธิพิเศษ
การจัดตั้ง อ.บ.ต. มีจุดมุ่งหมายในการประกอบกิจการเพื่อประโยชน์ของทางราชการและประชาชน เป็นเครื่องมือตรึงราคาแบตเตอรี่ในท้องตลาดไว้ในราคาที่เหมาะสมรวมทั้งด้านความมั่นคงของประเทศ จึงได้รับสิทธิพิเศษคุ้มครอง แต่ต่อมาสถานการณ์ปัญหาด้านความมั่นคงของประเทศเปลี่ยนไปประกอบ กับธุรกิจเกี่ยวกับแบตเตอรี่มีการแข่งขันมากขึ้น ดังนั้นในปี 2530 สิทธิพิเศษประเภทบังคับทั้งหมด จึงถูกยกเลิกเปลี่ยนเป็นสิทธิพิเศษบางส่วนจากการยกเลิกสิทธิพิเศษดังกล่าว ส่งผลต่อยอดขายของ อ.บ.ต. โดยเฉพาะแบตเตอรี่เครื่องยนต์จะได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างไรก็ตามมีแบตเตอรี่ประเภทพิเศษ เช่น แบตเตอรี่รถยกไฟฟ้า แบตเตอรี่ใช้ประจำที่ ไม่ได้รับผลกระทบจาการยกเลิกสิทธิพิเศษ เนื่องจาก อ.บ.ต.มีศักยภาพในการแข่งขันกับบริษัทเอกชน และจากการตรวจสอบการขายแบตเตอรี่พบว่ายอดขาย แบตเตอรี่มีแนวโน้มลดลงทุกปีโดยเฉพาะแบตเตอรี่เครื่องยนต์ แบตเตอรี่รถไฟ แต่สำหรับแบตเตอรี่พิเศษ เช่น แบตเตอรี่รถยกไฟฟ้า แบตเตอรี่ใช้ประจำที่ ยอดขายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีตามรายละเอียดดังนี้
    1.1 แบตเตอรี่เครื่องยนต์ ยอดขายแบตเตอรี่ประเภทเครื่องยนต์ในแต่ละปีลดลงเฉลี่ยประมาณ 6,000 ลูก โดยมีสาเหตุเนื่องจากหน่วยงานที่ซื้อแบตเตอรี่ของ อ.บ.ต.จากส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ มีการลดงบประมาณการจัดซื้อ สำหรับรัฐวิสาหกิจบางหน่วยได้แปรรูปเป็นบริษัทมหาชนจึงไม่เข้าเงื่อนไข ต้องซื้อแบตเตอรี่จาก อ.บ.ต. จากสาเหตุราคาแบตเตอรี่เครื่องยนต์ของ อ.บ.ต.สูงกว่าราคาในท้องตลาด คาดการณ์ว่าจะประสบปัญหาการขาดทุนในอนาคต
    1.2 แบตเตอรี่รถไฟ มียอดขายเฉลี่ยต่อปี 7,172 ลูก การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นลูกค้าเพียงรายเดียว โดยมีการสั่งซื้อค่อนข้างสม่ำเสมอ
    1.3 แบตเตอรี่พิเศษ จากการตรวจสอบการขายแบตเตอรี่พิเศษ เช่น แบตเตอรี่ใช้ประจำที่ แบตเตอรี่ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ประเภทรถยกไฟฟ้า พบว่าในแต่ละปีมียอดขายเพิ่มขึ้น โดยสามารถแข่งขันกับเอกชน ได้เพราะเป็นตลาดขนาดเล็ก และไม่สามารถขยายตลาดได้มากนักบริษัทเอกชนจึงใช้วิธีสั่งซื้อชิ้นส่วน ประกอบจากต่างประเทศนำมาประกอบภายในประเทศซึ่งทำให้แบตเตอรี่ดังกล่าวมีราคาสูง

2. ต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ของ อ.บ.ต. สูงและประสิทธิภาพการผลิตต่ำ
จากการศึกษาถึงต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ของ อ.บ.ต. พบว่า ในการกำหนดราคาขายแบตเตอรี่ซึ่ง ประกอบด้วยต้นทุนและกำไร พบว่า อ.บ.ต.มีต้นทุนโรงงานสูงถึงร้อยละ 64 ของต้นทุนทั้งหมด ซึ่งหากรวมต้นทุนขายร้อยละ 14 และต้นทุนบริหารอีกร้อยละ 14 จะทำให้ต้นทุนแบตเตอรี่ทั้งหมดสูงถึงร้อยละ 92 ของราคาขายแบตเตอรี่ ซึ่งการที่ อ.บ.ต. มีต้นทุนที่สูงมาจากค่าใช้จ่ายในหมวดเงินเดือนและค่าจ้างที่สูง จะเห็นได้ว่า อ.บ.ต. มีค่าใช้จ่ายจากเงินเดือนและค่าจ้างคิดเป็นร้อยละ 56.65ของค่าใช้จ่ายในการบริหารองค์การ และหากเปรียบเทียบสัดส่วนค่าใช้จ่ายของเงินเดือนและค่าจ้างของ อ.บ.ต. กับบริษัทเอกชน พบว่า อ.บ.ต. มีค่าใช้จ่ายของเงินเดือนและค่าจ้างเฉลี่ยประมาณ 16,000 บาทต่อคนต่อเดือน และบริษัทเอกชนเฉลี่ยประมาณ 10,000 บาทต่อคนต่อเดือนส่งผลกระทบทำให้ อ.บ.ต.เสียเปรียบทางธุรกิจเพราะต้องกำหนดราคาขายแบตเตอรี่ ได้ในราคาสูงกว่าบริษัทเอกชน
จากการที่ อ.บ.ต.มีจำนวนพนักงานเกินกว่าสัดส่วนปริมาณการผลิตในปัจจุบัน โดยมีรายละเอียดจำนวน พนักงานดังนี้
    ● ฝ่ายโรงงาน มีจำนวนพนักงานทั้งสิ้น 150 คน มีการผลิตแบตเตอรี่เพียง 70% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ซึ่งทำให้ฝ่ายโรงงานมีการว่างงานแฝง
    ● ฝ่ายบริหารและอำนวยการ มีจำนวนพนักงานทั้งสิ้น 51 คน ซึ่งบุคคลส่วนใหญ่ทำหน้าที่ด้านธุรการ แต่มีพนักงานเป็นจำนวนมาก
    ● ฝ่ายการตลาด มีจำนวนพนักงานทั้งสิ้น 42 คน กองการขายของฝ่ายการตลาดซึ่งมีพนักงานรวม 26 คน ซึ่งถือว่ามีพนักงานจำนวนมากเกินความจำเป็น
3. การกำหนดราคาขายแบตเตอรี่ประเภทเครื่องยนต์ของ อ.บ.ต.สูงกว่าราคาขายของบริษัทเอกชนทั่วไป
จากการรวบรวมข้อมูลราคาขายแบตเตอรี่ของ อ.บ.ต. ประเภทเครื่องยนต์เปรียบเทียบกับราคาขายแบตเตอรี่ ของบริษัทเอกชนในรุ่นเดียวกัน โดยการตรวจสอบและสอบถามราคาจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ที่ซื้อแบตเตอรี่จาก อ.บ.ต.โดยตรง และผู้แทนขายของ อ.บ.ต. ที่จำหน่ายให้แก่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ทั้งแบตเตอรี่ของ อ.บ.ต.และแบตเตอรี่ของบริษัทเอกชน 3 ยี่ห้อ ซึ่งสมมุติเป็นยี่ห้อ A, B และ C พบว่าราคาขายแบตเตอรี่ของ อ.บ.ต.ในแต่ละรุ่นจะกำหนดราคาตายตัวและมีราคาขายสูงกว่าบริษัทเอกชนทั้ง 3 ยี่ห้อ โดยโดยราคาขายแบตเตอรี่ของ อ.บ.ต.จะสูงกว่าราคาแบตเตอรี่ของบริษัทเอกชนโดยเฉลี่ยและ หากเปรียบเทียบต้นทุนต่อหน่วยของแบตเตอรี่พบว่า ต้นทุนต่อหน่วยของแบตเตอรี่ อ.บ.ต.ยังสูงกว่าราคาขาย แบตเตอรี่ของบริษัทเอกชน โดยสูงกว่า A, B และ C เท่ากับ 38.08 บาท 64.18 บาท และ 124.58 บาท ตามลำดับ ซึ่งหมายถึงต้นทุนต่อหน่วยแบตเตอรี่ของ อ.บ.ต.สูงกว่าต้นทุนต่อหน่วยของบริษัทเอกชนอย่างมาก และจากการที่ราคาขายแบตเตอรี่ของ อ.บ.ต.สูงกว่าราคาในท้องตลาดทำให้ในปี 2546 ส่วนราชการและ รัฐวิสาหกิจต้องจ่ายเงินงบประมาณในการจัดซื้อแบตเตอรี่เครื่องยนต์สูงกว่าที่ควรหากเทียบกับการจัดซื้อจากบริษัทเอกชน
สาเหตุที่ อ.บ.ต. สามารถกำหนดราคาขายแบตเตอรี่สูงกว่าราคาในท้องตลาดโดยส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ต้องซื้อแบตเตอรี่จาก อ.บ.ต. เนื่องจากการกำหนดกรอบราคาขายแบตเตอรี่ตามราคากลางราคาเดียว ประกอบกับ อ.บ.ต.มีต้นทุนการผลิตที่สูงทำให้ต้องกำหนดราคากลางสูงด้วย ส่งผลให้ อ.บ.ต.เสียโอกาสในการแข่งขันกับ ภาคเอกชนรวม
นอกเหนือจากปัญหาอุปสรรคที่ส่งผลโดยตรงต่อผลประกอบการของอ.บ.ต.แล้วยังมีปัญหาอุปสรรคอื่นที่ส่งผล ต่อการดำเนินงานของ อ.บ.ต.ดังนี้
4. หนี้กองทุนบำเหน็จพนักงาน
ในแต่ละปี อ.บ.ต.จะต้องตัดจ่ายเงินเข้าบัญชีกองทุนบำเหน็จพนักงาน แต่เนื่องจากอ.บ.ต.ตัดจ่ายเงินเข้า บัญชีกองทุนบำเหน็จพนักงานไม่สม่ำเสมอทำให้สิ้นปี 2546 อ.บ.ต.มีหนี้กองทุนบำเหน็จพนักงาน 110.48 ล้านบาท ซึ่งหาก อ.บ.ต.เลิกดำเนินการหรือยุบเลิกจะเป็นภาระตกแก่กระทรวงการคลังและจะเป็นปัญหาอุปสรรค ต่อการตัดสินใจของภาคเอกชนผู้ร่วมลงทุน
5. ค่าเช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่มีอัตราเพิ่มขึ้นในแต่ละปี
สถานที่ตั้ง อ.บ.ต.ในปัจจุบันเป็นพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อ.บ.ต.ทำสัญญาเช่าเป็นเวลา 30 ปี ชำระค่าเช่าเป็นรายปี

ข้อสังเกต ระบบการผลิตขององค์การแบตเตอรี่กับการแข่งขันทางธุรกิจ
จากการตรวจสอบระบบการผลิตขององค์การแบตเตอรี่ พบว่า มีข้อสังเกตเกี่ยวกับความแตกต่างจากบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่เอกชนซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
    1. ความแตกต่างของเครื่องจักรในสายการผลิต มีการก่อสร้างหรือต่อเติมอาคารเพิ่มทำให้ผังโรงงาน ไม่สอดคล้องกับลำดับขั้นตอนการผลิต การขาดระบบขนส่งลำเลียงวัสดุ รวมทั้งเครื่องจักรมีสภาพเก่า
    2. ความแตกต่างของการควบคุมคุณภาพงาน ในการผลิตแบตเตอรี่ อ.บ.ต.ไม่ได้ดำเนินการควบคุมคุณภาพ แบตเตอรี่ในส่วนนี้ สำหรับการถ่ายทอดความรู้ทางด้านวิชาการ การถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ ของบริษัทเอกชนดังกล่าวแตกต่างจาก อ.บ.ต. โดย อ.บ.ต.ไม่ได้จัดทำและดำเนินการในเรื่องเหล่านี้อย่างชัดเจน
    3 ความแตกต่างของระบบการควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในโรงงาน
        3.1 การกำจัดมลภาวะฝุ่นผงตะกั่วและไอกรด บริษัทผลิตแบตเตอรี่เอกชนจะมีเครื่องดูดไอกรด และเครื่องกำจัดไอกรด ซึ่งจะทำให้ภายในบริเวณโรงงานไม่มีกลิ่นไอกรดให้เกิดการระคายเคือง
        3.2 การป้องกันมลภาวะจากฝุ่นผงตะกั่ว และเสียงดังจากเครื่องจักร อ.บ.ต. และบริษัทผลิต แบตเตอรี่เอกชน จะมีการป้องกันมลภาวะทางเสียงและฝุ่นผงตะกั่วที่แตกต่างกัน โดย อ.บ.ต.จะใช้ผ้าปิดปาก และจมูก สำหรับ บริษัทเอกชนจะมีหน้ากากป้องกัน
ข้อเสนอแนะ
ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายให้ อ.บ.ต.แปรรูปภายในปีงบประมาณ 2547 อ.บ.ต.จึงต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพขององค์การเพื่อความอยู่รอดขององค์การฯ อย่างไรก็ตาม อ.บ.ต.ยังต้องดำเนินภารกิจสำคัญตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง อ.บ.ต. คือ การผลิตแบตตอรี่พิเศษ ซึ่งรัฐบาล จำเป็นต้องให้การสนับสนุนองค์การแบตเตอรี่ในการผลิตแบตเตอรี่ประเภทดังกล่าว เพื่อความมั่นคงของประเทศ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินขอเสนอแนะให้ผู้อำนวยการองค์การแบตเตอรี่พิจารณาดำเนินการตามแนวทางดังต่อไปนี้
    1. ลดค่าใช้จ่ายขององค์การเกี่ยวกับการจ้างพนักงาน โดยจัดทำโครงการเกษียณก่อนอายุ และไม่รับพนักงาน เพิ่มทดแทนผู้เกษียณอายุ
    2. ควบคุมต้นทุนการดำเนินงาน โดยเฉพาะต้นทุนการผลิต ควรมีการคำนวณต้นทุนมาตรฐานและจุดคุ้มทุน ของแบตเตอรี่แต่ละประเภท
    3. ปรับปรุงใช้กลยุทธ์และเทคนิคในการขาย
        3.1 แบตเตอรี่เครื่องยนต์ รักษาตลาดเดิมโดยลดค่าใช้จ่ายของ อ.บ.ต.ในทุกด้านจะทำให้สามารถปรับ ราคาขาย แบตเตอรี่ให้ใกล้เคียงกับท้องตลาด
        3.2 แบตเตอรี่รถยกไฟฟ้า แบตเตอรี่ใช้ประจำที่ และแบตเตอรี่ไฟฟ้า ควรมีการส่งเสริมการตลาด โดยมีเจ้าหน้าที่การตลาดออกตลาดหาลูกค้าเพิ่ม
    4. ควรสร้างฐานข้อมูลจัดทำประวัติของลูกค้าซึ่งจะทำให้สามารถทราบตลาดลูกค้าแบตเตอรี่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
    5. ปรับปรุงคุณภาพสินค้าให้ดีขึ้น โดยเน้นการควบคุมคุณภาพชิ้นงานและควบคุมคุณภาพสินค้าการทำปฏิกริยา ทางเคมี การปรับปรุงสายการผลิตให้ดำเนินการผลิตได้รวดเร็ว รวมทั้งกำหนดเกณฑ์การสูญเสียของวัตถุดิบ ในการผลิต
    6. เพื่อเตรียมความพร้อมทำระบบ ISO ควรศึกษาระบบบริหารคุณภาพมาตรฐาน และจัดกลุ่มโครงสร้างของ หน่วยงาน ในองค์การ
    7. ปรับปรุงสภาพสิ่งแวดล้อมภายในองค์การให้มีความสะอาด ถูกสุขลักษณะรวมทั้งปรับปรุงการควบคุม มลภาวะในการทำงาน
    8. ควรทบทวนนโยบายการลงทุนด้านเครื่องจักรในประเภทแบตเตอรี่ที่การจำหน่ายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
    9. หนี้กองทุนบำเหน็จพนักงานควรตัดจ่ายให้สม่ำเสมอและตามภาระผูกพัน ณ วันสิ้นงวดทุกๆ ปี เป็นตามระเบียบหรือข้อตกลงกับกระทรวงการคลัง
    10. จากการที่ อ.บ.ต.เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีกำไรน้อยแต่ผลประกอบการไม่ขาดทุนและรัฐบาลมีนโยบายแปรรูปให้ อ.บ.ต.มีการแปลงสภาพเป็นบริษัท โดยจะต้องปรับปรุงโครงสร้างและการบริหารจัดการองค์การ เพื่อให้มีความ พร้อม และนำเข้าระดมทุนภาคเอกชนและในตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต
    11. เพื่อให้ภาคเอกชนสนใจร่วมลงทุนกับ อ.บ.ต.ในส่วนความรับผิดชอบต่อหนี้สินเงินสมทบกองทุนบำเหน็จ พนักงาน เห็นควรแบ่งกำไรสุทธิตามสัดส่วนการลงทุนก่อนเพื่อให้อ.บ.ต.นำกำไรตามส่วนที่ได้รับไปชำระหนี้ กองทุนบำเหน็จพนักงานเดิม
view