สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การสร้างจิตสำนึกด้านคุณธรรมสำหรับผู้บริหาร

การสร้างจิตสำนึกด้านคุณธรรมสำหรับผู้บริหาร
ในการดำเนินการสร้างราชการใสสะอาดของกรมการปกครอง

******************************* 

                                                    นายชาติชาย   อุทัยพันธ์
                                     ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่


         ผู้บริหาร  นับว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อองค์กร  เนื่องจากเป็นผู้ที่มีบทบาท
ในการกำหนดนโยบาย  วางแผนการดำเนินงาน  แนวการปฏิบัติ  และเป็นตัวอย่างให้กับผู้อื่นที่อยู่ภายในองค์กร  หากผู้บริหารเป็นผู้ที่มีจิตสำนึกในการวางนโยบายและยึดแนวทางในการปฏิบัติอย่างมีคุณธรรม 
อีกทั้งรู้จักการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ และมีคุณธรรม  ย่อมส่งผลมีมายังองค์กรและสังคมโดยส่วนรวม
         ปัจจุบันสังคมได้ให้ความสำคัญวัตถุมากกว่าคุณค่าทางจิตใจและคุณธรรม จริยธรรม  ทำให้ผู้นำหรือผู้บริหารทุกระดับต้องปรับกระบวนทัศน์และวิธีคิดใหม่   เนื่องจากปัจจัย สิ่งแวดล้อม อาจส่งผล
ทำให้การเสริมสร้าง และพัฒนาจิตสำนึกในด้านคุณธรรมและจริยธรรมขาดความสมบูรณ์  ซึ่งการปลูกฝังหรือสร้างจิตสำนึกในด้านคุณธรรมนั้น  จะต้องมีการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง 
         นักบริหารหรือผู้นำที่มีคุณธรรมนั้น  ควรมีลักษณะที่สำคัญยิ่ง  3  ประการ1  ดังนี้
         1. มีความรู้และเป็นผู้มองการณ์ไกล  สามารถวางแผนงานให้เหมาะ  รู้จักงาน  รู้จักตนเอง  และผู้อื่น  ใช้ได้กับบุคคลต่าง ๆ ในทุกสถานภาพ  ผู้บริหารระดับสูงต้องมีสติปัญญา
         2. มีความเชี่ยวชาญ  แม่นยำ  มั่นคงต่องานที่ตนบริหารอยู่
         3. มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี สามารถผูกใจคนได้ทั้งผู้ร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ  การมีมนุษย์สัมพันธ์นั้น  สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ  ความจริงใจให้เกียรติทั้งต่อหน้าและลับหลัง  ผู้บริหารที่มีความพร้อมในด้านนี้  จะสามารถบริหารกิจการได้อย่างราบรื่น  เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย  นับว่าคุณธรรมข้อนี้สำคัญมาก  จะต้องอยู่ในตัวผู้นำทุกระดับไม่ว่าระดับสูง  กลาง  หรือระดับพื้นฐาน
         สำหรับผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จ หมายถึง การบริหารงานจนบรรลุเป้าหมายสูงสุดนั้น  จะต้องมีคุณธรรมประจำตัวด้วย  แยกความสำคัญและรายละเอียดเป็น  4  ข้อ  ดังนี้
     1) นักบริหารต้องมีความรอบรู้ รอบรู้ถึงงานในหน้าที่ ตลอดถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง นักบริหารต้องเริ่มต้นบริหารตนเอง  บริหารคน และบริหารงานให้เป็น  ต้องเป็นคนอ่านมาก  ฟังมาก  เกาะติดกับสถานการณ์รอบด้าน  เมื่อได้ข้อมูลสิ่งใดมาต้องรู้จักวิเคราะห์ว่าสิ่งที่ได้ยิน  ได้รู้มานั้นมีความถูกต้องแค่ไหน  ต้องมีใจที่หนักแน่นไม่เอนเอียง  ไม่มีอคติ  คือ  ตัวเองต้องเป็นคนที่มีความยุติธรรมประจำใจนั่นเอง
             การมีปัญญารอบรู้ดังกล่าวยังไม่พอเพียง  ถ้าไม่รู้จักนำความคิด  นำความรู้มาปฏิบัติให้เกิดความชำนาญ เมื่อมีปัญหาใด ๆ ประสบการณ์เหล่านี้จะช่วยให้สามารถแก้ไขได้ในทันที
    2) ความขยันหมั่นเพียรและกำลังใจเป็นสิ่งที่ควบคู่กัน  คนมีปัญญาแต่ขาดกำลังใจในการทำงาน  งานก็จะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะความที่ไม่กล้าตัดสินใจ  ผู้บริหารควรกล้าคิดและกล้าทำ
งานใดที่ยากมีอุปสรรคมากเพียงใดก็ไม่ท้อถอย  เมื่อลงมือทำสิ่งใดแล้วเกิดมีอุปสรรคย่อย ๆ ใช้ปัญญาแก้ไขปัญหา  ใช้กำลังใจ ความมุ่งมั่น เพียรพยายาม สิ่งใดที่คิดว่ายาก ลำบาก จะเบาบางลง ที่คิดว่าต้องใช้เวลานาน สิ่งเหล่านี้จะหมดไปในที่สุด  ผลที่ตามมา  คือความเชี่ยวชาญและผลสำเร็จได้ชื่อเสียงเกียรติยศเป็นกำลังใจให้ทำความดีต่อไป
      3) การจะเป็นนักบริหารที่สังคมยอมรับ  ไม่ควรจะมีจุดด่างพร้อยในชีวิต  ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม  นักบริหารหลายคนหมดอนาคตในความเป็นผู้นำเพราะถูกจับได้ว่าทุจริตต่อหน้าที่ หรือบางคนควรได้เลื่อนตำแหน่งหน้าที่ในระดับสูง  แต่เพราะได้มีการทำผิดพลาดเพียงเล็กน้อย  แม้ไม่ได้ตั้งใจก็ทำให้ต้องเสียตำแหน่งให้ผู้อื่นที่มีคุณสมบัติในการทำงานด้อยกว่า แต่ประวัติส่วนตัวไม่ด่างพร้อย  เป็นต้น
       4) นักบริหารต้องมีจิตใจเอื้อเฟื้อ  พร้อมที่จะให้การสงเคราะห์กับเพื่อนร่วมงาน  ผู้ใต้บังคับบัญชา  การให้จะผูกใจคนอื่นไว้ได้  การให้ในที่นี้รวมไปถึงการให้คำแนะนำ ถ่ายทอดวิชาความรู้  หรือเคล็ดลับในการทำงานต่าง ๆ อย่างไม่ปิดบัง  ให้อภัยเมื่อมีการผิดพลาดในการทำงานหรือมีการกระทบกระทั่งล่วงเกินกันจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม  เมื่อมีการให้อภัยก็ย่อมได้รับมิตรภาพคืนมา  ยิ่งถ้าเป็นผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน พูดแต่สิ่งดีงาม ไพเราะ อ่อนหวาน มีความจริงใจ  และเป็นคนเสมอต้นเสมอปลายก็สามารถมัดใจได้ดีเช่นกัน  หรือการทำตัวให้เป็นประโยชน์ในทางหนึ่งทางใด  เช่น  ให้การช่วยเหลือ
เมื่อได้รับการร้องขอ หรือการสงเคราะห์ด้วยความเมตตา  การกระทำเหล่านี้  ควรทำอย่างสม่ำเสมอจึงจะ
ได้ชื่อว่าเป็น "ผู้มีมนุษย์สัมพันธ์ยอดเยี่ยม"   
         นักบริหารต้องมีพรหมวิหารธรรม  คือ  ธรรมสำหรับผู้ใหญ่  4  ประการ  คือ  เมตตา  กรุณา  มุทิตา  และอุเบกขา  และสิ่งที่จะเพิ่มคุณภาพของผู้บริหารที่ดีอีกประการหนึ่งที่จะขาดไม่ได้  คือ  การมีบุคลิกภาพที่ดี  ซึ่งการมีบุคลิกดีนั้นเกิดได้ภายใน  คือ  จากใจเป็นบุคลิกส่วนตัวทางหนึ่ง และภายนอก คือ การแต่งกายที่ถูกกาลเทศะ  การระมัดระวังกิริยา  มารยาท  เหล่านี้จะเป็นส่วนเสริมให้ผู้บริหารได้รับการ
ยกย่องว่าเป็นผู้ที่มีคุณธรรมและคุณภาพอย่างแน่นอน
         โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ  "ข้าราชการ" จะต้องมีวิสัยทัศน์ และร่วมกันดำรงความมั่นคงรุ่งเรืองของบ้านเมือง โดยมีวิจารณญาณ  มีคุณธรรม มีความเสียสละและมุ่งมั่นปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติอย่างเต็มกำลังความสามารถ ตามแนวทางที่
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดี กระทรวงมหาดไทย ทรงตรัสไว้ว่า  "ข้าราชการมิใช่อภิสิทธิ์ชน  หากแต่จะต้องบำเพ็ญตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม"  ให้เป็นอนุสติเตือนใจถึงคุณค่าแห่งความเป็นข้าราชการในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  โดยเป็นหลักเกียรติศักดิ์ที่ยังยืนแก่สถาบันข้าราชการสืบไป2
         อย่างไรก็ตามในมาตรการสร้างคุณธรรมนั้น  องค์กรจะต้องพัฒนาบุคคลให้เป็นผู้มีจิตสำนึก  มีคุณธรรม จริยธรรม  ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเลือกสรรบุคลที่พร้อมจะรับการพัฒนา ในขณะเดียวกันจะต้องพิจารณาระดับสติปัญญา  ลักษณะบุคลิกภาพ  ลักษณะนิสัย  และระดับจิตสำนึกพื้นฐานที่ได้รับการปลูกฝังมา  นอกจากนี้ยังจะต้องเป็นผู้ที่พร้อมที่จะยอมรับข้อบกพร่องของตัวเอง  มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะ
รับการพัฒนาตนเองควบคู่ไปกับการยอมให้ความร่วมมือให้ผู้อื่นพัฒนาให้ด้วย  ทั้งนี้เพื่อให้ร่วมกันส่งเสริมให้เกิดการสร้างจิตสำนึกด้านคุณธรรมแก่ผู้บริหารให้เกิดความมั่นคงขึ้นในสังคมไทย ต่อไป

************************************
1 การสร้างจิตสำนึกด้านคุณธรรมของผู้บริหาร โดย วิไลวรรณ ลายถมยา
2 "หลักเกียรติศักดิ์ที่ยั่งยืน"  หม่อมหลวงปนัดดา  ดิศกุล  รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี

Tags : การสร้างจิตสำนึก ด้านคุณธรรม ผู้บริหาร

view