สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คอร์รัปชันหลากหลายรูปแบบ

คอร์รัปชันหลากหลายรูปแบบ

        ผู้เขียนยังจำได้เมื่อครั้งหนึ่งที่มีโอกาสร่วมงานมอบรางวัลการประกวดคำขวัญต่อต้านคอร์รัปชันซึ่งจัดโดย สถานีวิทยุชุมชนร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่งองค์กรเพื่อความโปร่งใสได้มีส่วนร่วมในฐานะกรรมการตัดสินคำขวัญ ในงานวันนั้น นักเรียนหญิงคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ได้รับรางวัลที่อายุน้อยที่สุดด้วยคำขวัญที่ว่า "จนอย่างสุจริต ดีกว่าคิดคอร์รัปชัน"  เมื่อเธอขึ้นไปรับรางวัล ผู้ดำเนินรายการได้สัมภาษณ์ถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอสามารถคิด  ถ้อยคำที่ใครหลายๆคน ฟังแล้วอาจกระทบกระเทือนความรู้สึกอย่างยิ่ง เธอบอกว่า "ถ้าทำดีแล้วมันจน ก็ยังดีกว่าการโกงกินชาติบ้านเมือง" ด้วยเนื้อหา น้ำเสียงและทีท่าอันหนักแน่นของเธอ สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่น ที่จะทำดีด้วยจิตบริสุทธิ์ โดยเห็นว่าการทำชั่วถือเป็นการละเลยเกียรติของความเป็นคน ผู้เขียนเชื่อว่า ทั้งจากคำขวัญและคำพูดของเด็กหญิงคนนี้อาจทำให้ผู้ใหญ่บางท่านที่ร่ำรวยจากคอร์รัปชันรู้สึกละอายใจขึ้นมาบ้าง
    ผู้เขียนชื่นชมในความมุ่งมั่นของเด็กหญิงคนนี้ แต่ยังกังวลว่าเธอมีความเข้าใจเรื่องคอร์รัปชันมากน้อยเพียงใด และการกระทำหรือพฤติกรรมใดที่อยู่ในข่ายคอร์รัปชัน เนื่องจาก ยุคสมัยที่ผ่านไปทำให้พฤติกรรม  คอร์รัปชันมีความซับซ้อน ซ่อนเงื่อนมากขึ้น ตั้งแต่ผิดอย่างโจ่งแจ้ง เช่น การให้สินบน การรีดไถ จนถึงพฤติกรรมคอร์รัปชันที่ถูกกฎหมาย เช่น การใช้อำนาจสนับสนุนให้พวกพ้องของตนเข้าไปมีตำแหน่ง เพื่อตัดสินใจ ในนโยบายรัฐที่สำคัญเพื่อเป็นประโยชน์ต่อตนเองอีกต่อหนึ่ง หรือการออกกฎหมาย หรือกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อ เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของตนในขณะที่ตนมีอำนาจรัฐในการอนุมัติกฎหมายหรือ กฎเกณฑ์นั้นๆ พฤติกรรมต่างๆเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจเป็นผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียกับนโยบายที่ตนต้องมีส่วน ในการตัดสินใจเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม (Conflict of interest)  ซึ่งแม้ว่า   ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นพฤติกรรมคอร์รัปชันที่ชัดแจ้ง เสมือนแยกสีดำออกจากสีขาว แต่ก็เป็นพื้นที่สีเทา (Grey area) ที่ไม่มีอะไรรับประกันว่าจะนำไปสู่การสูญเสียประโยชน์ของรัฐ และประชาชน โดยรวม หรือไม่การที่พฤติกรรมคอร์รัปชันบางประเภทอยู่ในพื้นที่สีเทานี้ ทำให้เกิดข้อถกเถียงจากหลายฝ่ายว่า พฤติกรรมบางรูปแบบอาจผิดในสายตาบางคนหรือไม่ผิดสำหรับอีกคน นอกจากตัวอย่างเรื่องการขัดแย้งระหว่าง ผลประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวมแล้ว ข้อถกเถียงยังปรากฏแม้แต่ในเรื่องคอร์รัปชันระดับทั่วๆไป เช่น ค่าน้ำร้อนน้ำชาที่ประชาชนจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกหรือเพื่อเอื้อประโยชน์แก่บุคคลนั้นๆ ประชาชนบางคนอาจเห็นว่าเป็นการตอบแทนน้ำใจ เป็นสินน้ำใจที่ผู้รับบริการยินดีให้เพื่อเป็นกำลังใจ หรือรางวัลแก่ผู้ให้บริการ และถือว่าไม่ใช่พฤติกรรมคอร์รัปชัน เพราะไม่ได้เป็นการบังคับขู่เข็ญ หรือรีดไถเพื่อแลกเปลี่ยนกับบริการ แต่เป็นความยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่าย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว พฤติกรรมเช่นนี้ถือว่าเป็นการให้สินบน เจ้าหน้าที่และเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจแสวงหา ผลประโยชน์อันมิชอบ เพราะตามหลักการแล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องมีหน้าที่ให้บริการแก่ประชาชน อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อประโยชน์ของรัฐเป็นหลักแนวคิดเรื่องคอร์รัปชันจึงขึ้นอยู่กับมุมมองของ แต่ละคน
จึงมีความจำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาและผู้รู้ต้องมาพูดคุยกันเพื่อหาข้อสรุปร่วมและ
เผยแพร่สู่สาธารณะเพื่อให้รู้เท่าทันต่อพฤติกรรมคอร์รัปชันหลากหลายรูปแบบที่ปรับเปลี่ยนไป นับแต่
การรับส่วย การหลบเลียงภาษี การติดสินบนเจ้าหน้าที่การแสวงหาประโยชน์จากการอนุมัติโครงการ       
จนถึงคอร์รัปชันเชิงนโยบายที่ถูกต้องตามกฎหมาย พฤติกรรมคอร์รัปชันต่างๆเหล่านี้ล้วนถือว่าเป็น
เนื้อร้ายที่กัดกินสังคมไทย ให้ผุกร่อนลงไปทุกวันคอร์รัปชันจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและเกิดขึ้นตรงหน้าพวกเราทุกคน หากเรายังเพิกเฉยต่อสิ่งเหล่านี้ โดยถือว่าธุระไม่ใช่ หรือไม่อยากที่จะแกว่งเท้าหาเสี้ยน ทั้งที่เงินที่สูญเสียไปนั้น คืองบประมาณที่จะกลับเข้ามาพัฒนาประเทศ ก็เปรียบเสมือนว่าเราปล่อยให้โจรหอบ ถุงเงินหนีไปซึ่งหน้า และได้แต่มองตาปริบๆ โดยไม่ได้ลงมือทำอะไร ถึงเวลาแล้วที่พวกเราทุกคนต้องออกมา รักษาสิทธิของตนเอง เพราะภูตผีเกรงกลัว แสงสว่างฉันใด ผู้กระทำผิดก็ไม่อาจทานทนต่อพลังมวลชนฉันนั้น
                                                ***************************************
ที่มา : http://www.transparency-thailand.org/thai/watch_th_index.html
view