สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คดีฟ้องผู้สอบบัญชีของประเ่ทศไทย

คดี ผู้ถือหุ้น บ.ง.ล.ธนไทยจำกัดฟ้องผู้สอบบัญชี

เป็นคดีเก่าแต่เอามาเก็บไว้เพราะเมืองไทยไม่ค่อยมี

ศาลแพ่ง เพิ่งมีคำพิพากษาคดี ที่กลุ่ม "ไพโรจน์กิจจา" และกลุ่ม "เตชะอุบล" อดีตผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธนไทย จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง เรียกค่าเสียหาย จากผู้ตรวจสอบบัญชี ฐานยืนยัน และรับรองงบการเงิน ที่ผิดจากข้อเท็จจริง โดยตัดสินให้ชดใช้เป็นเงิน 688 ล้านบาท
บริษัท เอสจีวี ณ ถลาง จำกัด บริษัท อาร์เธอร์ แอนด์เดอร์เซ่น และนายสง่า ศรีอาริยเมตตา ผู้ตรวจสอบบัญชีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธนไทย จำกัด ตกอยู่ในฐานะจำเลยร่วมที่ต้องร่วมกันชดใช้ความเสียหาย
คำพิพากษาของศาลแพ่ง น่าจะทำให้บรรดานักลงทุนเกิดความรู้สึกที่ดี และพอใจที่ผู้ตรวจสอบบัญชีต้องรับผิดชอบ ในความผิด
    คดีบงล.ธนไทย ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ เพราะเป็นคดีที่ผู้เสียหายจากการสำแดงงบการเงินอันเป็นเท็จ เอาเรื่องผู้ตรวจสอบบัญชีอย่างจริงจัง จนได้รับชัยชนะที่คุ้มค่า ผู้ตรวจสอบบัญชีมักจะถูกตั้งข้อสงสัยมาตลอดว่า มีส่วนรู้เห็นในการอำพรางข้อมูล มีส่วนร่วมในการแต่งบัญชี โดยทำหน้าที่เป็นเพียงมือปืนรับจ้างเซ็นรับรอง งบการเงิน แลกกับผลประโยชน์จากเจ้าของกิจการ โดยไม่ได้คำนึงถึงความเสียหายของประชาชน
จรรยาบรรณของวิชาชีพที่ผู้ตรวจสอบบัญชีถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่บ่อยนักที่ผู้ตรวจสอบบัญชี ีจะต้องรับผิดชอบกับความเสียหายในงบบัญชีที่เป็นเท็จ แต่คดีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธนไทย จำกัด ทำให้ ผู้ตรวจสอบบัญชีต้องชดใช้อย่างสาสม คดีฟ้องร้องผู้ตรวจสอบบัญชี บงล.ธนไทย เกิดขึ้นเมื่อประมาณปลายปี 2541 และเกิดขึ้นหลังจากที่ บงล.ธนไทย ถูกสั่งปิดตายเมื่อปลายปี 2540 พร้อมกับอีก 56 ไฟแนนซ์
กลุ่มไพโรจน์กิจจา และกลุ่มเตชะอุบล เทคโอเวอร์ บงล.ธนไทย โดยซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นใหญ่เดิม คือ กลุ่มนายปิยะพงษ์ กนิกนันท์ เมื่อปลายปี 2539 ซึ่งใช้เงินทั้งสิ้นประมาณ 688 ล้านบาท การเทคโอเวอร์ บงล.ธนไทย เกิดจากความเข้าใจผิดในฐานะของบริษัท เนื่องจากงบการเงินปี 2539 แสดงผลกำไรประมาณ 73 ล้านบาท โดย ผู้ตรวจสอบบัญชียืนยันและรับรองงบการเงินว่าถูกต้อง แต่ข้อเท็จจริงภายหลังปรากฏว่า ผลดำเนินงานของบริษัท ขาดทุนถึงประมาณ 271 ล้านบาท  ฐานะของ บงล.ธนไทย ที่ประเมินจากงบการเงิน ซึ่งดูเหมือนว่าแข็งแกร่ง แต่ไส้ในแท้จริงกลับกลวง โดยมีการปิดบังอำพรางข้อมูลไว้ เพื่อจะหลอกขายกิจการให้นักลงทุนกลุ่มอื่น
กลุ่มไพโรจน์กิจจาและกลุ่มเตชะอุบล ต้องสูญเงินลงทุนประมาณ 688 ล้านบาท เพราะหลังจากเทคโอเวอร์ "ธนไทย" ได้เพียงประมาณ 1 ปี กิจการก็ถูกสั่งปิด เพราะฐานะการเงินของบริษัทอ่อนแอ จนเกิดปัญหาขาด สภาพคล่อง กลุ่มผู้ถือหุ้นที่เจ็บสาหัสคือ กลุ่ม "เตชะอุบล" เพราะวิกฤติปี 2540 ทำให้กิจการในกลุ่มต้องล่มสลาย โดยนอกจาก บงล.ธนไทย จะถูกปิดแล้ว บงล.คันทรี่ ซึ่งเพิ่งเทคโอเวอร์มาในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ก็ถูกปิดตาย พร้อมกับ บงล.ธนไทย ส่วนบริษัท คันทรี่ (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของโครงการคันทรี่ มารีน่า ริมแม่น้ำบางปะกง ที่ยังเป็นแท่งคอนโดร้าง ตั้งอยู่ก่อนถึงโรงไฟฟ้าบางปะกง ก็กลายเป็นลูกหนี้เอ็นพีแอล และอยู่ระหว่างการปรับ โครงสร้างหนี้ ในช่วงที่กลุ่ม "เตชะอุบล" ยื่นฟ้องผู้ตรวจสอบบัญชี บงล.ธนไทย ตัวแทนกลุ่มเตชะอุบลประกาศว่า จะทำให้คดี "ธนไทย" ให้เป็นคดีตัวอย่าง และทำให้บรรดาผู้ตรวจสอบบัญชีต้องรู้สำนึกในสิ่งที่ตัวเอง จะต้อง รับผิดชอบ กลุ่มเตชะอุบลและกลุ่มไพโรจน์กิจจา เรียกค่าเสียหายจากผู้ตรวจสอบบัญชีกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งตอนนั้นไม่มีใครคิดว่า กลุ่มผู้ถือหุ้น บงล.ธนไทยจะชนะ แต่วันนี้ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้ผู้ตรวจสอบบัญชี ต้องร่วมกันชดใช้แล้ว ในการรับรองงบการเงินอันเป็นเท็จ ซึ่งไม่อาจระบุว่าเกิดจากความบกพร่องในหน้าที่ หรือเกิดจากความจงใจ ร่วมมือกับผู้บริหารบริษัทแต่งบัญชี คดีบงล.ธนไทย เป็นคดีตัวอย่าง ที่นักลงทุนควรจะนำ ไปแบบอย่าง เพื่อทวงสิทธิความเสียหายคืน โดยเฉพาะความเสียหายที่เกิดจากการแต่งบัญชี หรือแสดงข้อมูล งบการเงิน อันเป็นเท็จ แต่ผู้ตรวจสอบบัญชีกลับรับรองความถูกต้องในงบการเงิน เพราะปัจจุบัน เชื่อว่ายังมี พฤติกรรมอำพรางข้อมูลงบการเงินอยู่ มีการแต่งบัญชี เพื่อสร้างภาพให้คนภายนอกเห็นว่า ฐานะการเงิน หรือการดำเนินงานของบริษัทดูดี โดยเฉพาะการแต่งบัญชีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กรณี บงล.ธนไทย ไม่ควรจะจบเพียงแค่คำพิพากษาของศาล ไม่ควรจะจบเพียงแค่ ผู้เสียหายได้รับการชดใช้ แต่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้น ในการทบทวนความเข้มงวดในมาตรการกำกับหรือตรวจสอบงบการเงิน เข้มงวดด้านจรรยาบรรณของ ผู้ตรวจสอบบัญชี ผู้บริหารและเจ้าของบริษัทจดทะเบียน และถ้าตรวจสอบพบบริษัทจดทะเบียนแห่งใดแต่งบัญชี ตบตานักลงทุน จะต้องเล่นงานให้หนัก ต้องเอาแบบอย่างของผู้ถือหุ้น บงล.ธนไทย โดยฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก ผู้ตรวจสอบบัญชีให้เข็ด  ฟ้องดำเนินคดีอาญาผู้บริหารหรือเจ้าของบริษัทขี้โกงให้เข็ด โดยไม่ละเว้น ค่าเสียหาย จำนวน 688 ล้าน ที่ต้องชดใช้ จากการรับรองงบการเงินที่มีข้อมูลอันเป็นเท็จ คงทำให้บรรดาผู้ตรวจสอบบัญชี หัวหดกันบ้างจะทำตัวเป็นมือปืนรับจ้าง สักแต่เซ็นรับรองงบการเงิน สักแต่จะรับเงินผลประโยชน์ จากเจ้าของหุ้น เหมือนก่อนไม่ได้แล้วเพราะพลาดท่าถูกฟ้อง บริษัทตรวจสอบบัญชี มีสิทธิเจ๊งง่ายๆ เช่นเดียวกับผู้ตรวจสอบบัญชี บงล.ธนไทย

คอลัมน์เดินสวนกระแส : เช็คบิล ผู้สอบบัญชี
Source - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (Th)
Monday, October 20, 2003 05:08

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

ความคิดเห็น

  1. 1
    10/11/2015 00:43

    ถ้ายังไม่ทราบอ่านใหม่ครับ

  2. 2
    สุนิสา
    สุนิสา Email 08/11/2015 17:14

    ผิดจรรยาบรรณทางบัญชีในด้านใด

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view