สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

5 ประเด็นใหม่ ในพ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

5 ประเด็นใหม่ ในพ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

หลังจากที่รอคอยกันมานานในที่สุด "พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2550" ก็ได้ฤกษ์เกิดขึ้นมา ซึ่งถือเป็นการแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพครั้งที่ 3 แล้ว
กรุพเทพธุรกิจ ออนไลน์ : พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฉบับใหม่นี้ เป็นการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ววันที่ "27 มกราคม 2551" ที่ผ่านมา
พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฉบับใหม่นี้ เป็นการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ววันที่ "27 มกราคม 2551" ที่ผ่านมา
โดยได้มีการแก้ไขเนื้อหาสาระใน 5 ประเด็นหลักๆ ด้วยกัน ซึ่งมีผลดีต่อลูกจ้าง และอำนวยความสะดวก แก่บริษัทนายจ้างหลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น การให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถรับโอนเงิน จากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ได้, การจัดตั้งกองทุนที่มีหลายนโยบายได้, การขอคงเงิน, การทยอยรับเงินเป็นงวด และเงื่อนไขการรับเงินสมทบ
พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฉบับใหม่นี้ มีการเปลี่ยนแปลงในประเด็นอะไรที่น่าสนใจบ้าง Fundamentals สัปดาห์นี้ มีเรื่องราวมานำเสนอ
........................................
ใครที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ควรจะสนใจการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปและเกิดขึ้นในพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2550 นี้ เพราะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงจาก พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิมใน 5 ประเด็นหลักที่สำคัญด้วยกัน ซึ่ง "อารยา ธีระโกเมน" หัวหน้าธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บลจ.ทิสโก้ ในฐานะอุปนายกสมาคมและประธานกลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสมาคมบริษัทจัดการลงทุน จะมาอธิบายให้เราได้ฟังกัน
@การรับโอนเงินจาก กบข.
อารยา อธิบายว่า เดิมกฎหมายไม่มีเรื่องนี้การแก้ไขกฎหมาย ทำให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถรับโอนเงินจาก กบข.ได้ โดยต้องเป็นการโอนมาทั้งจำนวน และไม่สามารถโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไป กบข.ได้ ในข้อนี้ชัดเจนคือถ้าเขาย้ายจากการเป็นข้าราชการมาทำงานเอกชน เขาโอนเงินตัวนี้มาได้ด้วย สมมติย้ายจากกระทรวงการคลังมาทำงานที่กลุ่มทิสโก้ เขาก็มาเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มทิสโก้ ในส่วนของเราเหมือนกับว่าในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของกลุ่มทิสโก้เรามีสมาชิกเพิ่มขึ้นมาหนึ่งคน แทนที่เขาออกจากราชการมาร่วมงานกับกลุ่มทิสโก้จะมาเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของ กลุ่มทิสโก้แบบตัวเปล่าๆ ก็มาเป็นสมาชิกเราพร้อมกับเงิน ก่อนหน้านี้เมื่อเขาออกจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จะต้องเกษียณก่อนทำตามเงื่อนไข ทำให้เงิน 100 บาท ถ้าเขาออกจาก กบข.แล้วยังไม่ได้เกษียณ หรือเขาอาจจะทำงานมา 4 ปี เงินก้อนนี้ก็ต้องเสียภาษี แต่ถ้าเอาเงินอยู่ในระบบก็ไม่ต้องเสียภาษี
"ถ้าเรามองกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในภาคเอกชนหรือไม่ว่าจะเป็น กบข. ถ้าเรามองว่าเป็นระบบการออมเพื่อการชราภาพ คือยังเอาเงินทิ้งไว้ในระบบคุณก็ได้ประโยชน์ทางภาษีเหมือนกัน ทั้ง กบข.ทั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเอกชนก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเขาโอนเงินได้อยู่ในระบบ เพียงแต่สังกัดนายจ้างเป็นข้าราชการหรือนายจ้างเป็นเอกชนเท่านั้น"
@จัดตั้งกองทุนที่มีหลายนโยบาย
เดิมถ้าสมาชิกต้องการเลือกลงทุนใน 2 นโยบาย ต้องจัดตั้ง 2 กองทุน (Employee's Choice) แต่ พ.ร.บ.ใหม่ให้กองทุนหนึ่งสามารถที่จะมีนโยบายการลงทุนหลายนโยบายได้ (Master Fund) ได้ ทำให้เราไม่จำเป็นต้องมี 2 กองทุน แต่สามารถมี 1 กองทุนแล้วมีนโยบายย่อยๆ ได้ แต่ผู้จัดการกองทุนต้องแยกทุกอย่างออกจากกันตามนโยบาย ยกตัวอย่าง บริษัท A มี Master Fund 1 กองทุน ที่มีนโยบายย่อย 2 นโยบาย คือ 1)นโยบายแบบผสมที่มีหุ้นไม่เกิน 15% กับ 2)นโยบายที่ไม่มีหุ้นเลยเป็นตราสารหนี้ล้วน การแยกย่อยข้างในบริษัทจัดการจะต้องมีการลงบัญชีค่าใช้จ่ายและรายได้ก็ต้องแยก พูดง่ายๆ ถ้าเราได้กำไรจากการซื้อขายหุ้นก็ต้องไปนโยบายหนึ่ง หรือการเก็บทรัพย์สินก็ตามผู้รับฝากทรัพย์สินก็ต้องเก็บแยกเหมือนกัน คือทุกอย่างเขาต้องการให้แยกแล้วเป็นกุญแจสำคัญที่กฎหมายฉบับนี้ออกมาเพื่อรองรับ
"ในอดีตเราทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ บางครั้งอาจจะเกิดการเคลมข้ามระหว่างกันของสมาชิก สมมตินาย A อยู่นโยบาย 1 นาย B อยู่นโยบาย 2 แล้วนโยบาย 1 หุ้นได้ผลตอบแทนดี นาย A ก็หัวหมอมาบอกว่าในเมื่อทรัพย์สินของกองทุนยังคลุกกันอยู่ ผลตอบแทนที่ดีจากหุ้นจะต้องเอามารวมไว้ในกองทุนใหญ่ ซึ่งจะเกิดความวุ่นวายตามมา วันนี้กำหนดออกมาชัดเจนแล้วว่าต้องแยก รายได้ค่าใช้จ่ายของนโยบาย 1 รายได้ค่าใช้จ่ายของนโยบาย 2 ต้องทำให้ชัดเจนจะได้ไม่เกิดความวุ่นวาย นี่เป็นข้อดี"
อารยา ยังบอกอีกว่า เมื่อเป็น Master Fund แล้วมูลค่าสินทรัพย์สุทธิต้องแยกแต่ละนโยบาย มูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วย (Unit Value) ก็ต้องแยก จากตัวอย่างเดิมกองที่มีหุ้นได้ผลตอบแทน 12% แต่กองตราสารหนี้ได้ 4.5% เพราะฉะนั้นตรง 12% กับ 4.5% มันจะสะท้อนมาในมูลค่าที่เราเรียกว่ามูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วยด้วย เพราะฉะนั้นนาย A ที่ลงทุนในนโยบาย 1 อาจจะมีสินทรัพย์สุทธิที่ 17 บาทต่อหน่วย ส่วนนาย B ที่ลงทุนในนโยบายที่ 2 อาจจะอยู่ที่ 12 บาทต่อหน่วย เพราะฉะนั้นพอสมาชิกออกไปก็จะได้ผลตอบแทนไปตามมูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วยของนโยบาย ที่ตัวเองเลือกอยู่ เพราะฉะนั้นตัวกองทุนไม่มีประโยชน์ที่จะทำมูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วยรวม เพราะไม่ได้มีใครได้อะไรตรงนั้นเลย
"เดิมเรื่องลงทุนมันแยกชัดเจนอยู่แล้วเพราะเป็นคนละกอง แต่ความชัดเจนตรงนั้นก็ทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้นเมื่อเป็น 2 กอง ก็ต้องมีข้อบังคับของแต่ละกอง มีคณะกรรมการกองทุนของแต่ละกอง มันก็รุ่มร่าม งานจัดการมันก็เยอะ แต่แบบใหม่คือข้อบังคับไม่ต้องแยกเพราะเงินสะสมเงินสมทบที่ใส่เข้าหรือเกณฑ์การใส่เงินเข้าของ นายจ้างไม่ได้เกี่ยวกับว่าเราอยู่นโยบายการลงทุนไหน จึงทำให้ตัว Master Fund ซึ่งมีข้อบังคับเดียวดีกว่า เขาส่งเงินที่เดียว เพียงแต่มีรายละเอียดบอกแค่นั้นเองว่านาย A อยู่ที่ไหน นาย B อยู่ที่ไหน นโยบายไหน แล้วไม่ได้มีผลกระทบกับการที่มีนโยบายย่อยๆ ออกไป ลดความยุ่งยากของนายจ้างลงไปได้มาก"
@ให้สมาชิกคงเงินไว้ในกองทุนได้
อารยาอธิบายว่า เดิมกองทุนไม่ได้กำหนดในเรื่องการคงเงินเอาไว้แต่สมาชิกที่ออกจากงาน สามารถขอรับเงินในกองทุนโดยไม่มีภาระภาษีถ้าคงเงินไว้ไม่เกิน 1 ปีและไม่มีการจ่ายเงิน ออกจากกองทุน โดยสมาชิกต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพจากกองทุนโดยเปลี่ยนฐานะเป็นเจ้าหนี้ ไม่มีสิทธิได้รับดอกผลเพิ่มเติมจากเงินที่คงไว้ แต่ พ.ร.บ.ใหม่อนุญาตให้สมาชิกคงเงินไว้ใน กองทุนได้ตามระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 90 วันนับแต่วันที่ออกจากงานและยังคงให้เป็นสมาชิกต่อไป (ตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อบังคับกองทุน) และมีสิทธิได้รับดอกผลจากการคงเงินเอาไว้
นั่นหมายความว่า ณ วันที่คุณออกจากงานสมมติวันที่ 31 ธ.ค.2550 มูลค่าต่อหน่วยอยู่ที่ 11 บาท คุณขอคงเงินไว้ 120 วัน ณ วันที่ 120 ถ้ามูลค่ามันขึ้นไป 19 บาท คุณก็ได้ 19 บาท ถ้ามูลค่ามันลดลงมา 10 สตางค์ คุณก็ได้เท่ากับ 10 สตางค์ไป ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ 100 บาท วันที่คุณออกจะยังเป็น 100 บาทเท่านั้นในวันที่คุณออก โดยของเดิมลูกจ้างคงเงินได้ไม่เกิน 1 ปี
ข้อกำหนดให้คงเงินได้ไม่น้อยกว่า 90 วันนี้เป็นการบอกขั้นต่ำไม่ได้บอกปลายทางที่จำกัดแล้ว ซึ่งขั้นต่ำตรงนี้จะทำให้เข้าใจผิดได้ คือสำนักงาน ก.ล.ต.บอกว่าระยะเวลาขั้นต่ำที่ บลจ.ต้องเปิดให้สมาชิกที่ออกจากงานสามารถคงเงินได้ คือเราต้องเปิดให้สมาชิกคงเงินได้ไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่ไม่ได้หมายความว่าสมาชิกจะขอคงน้อยกว่านั้นไม่ได้ ใครจะขอคงน้อยกว่านั้นก็ได้ แต่ผู้ให้บริการหรือ บลจ.ต้องเปิดอย่างน้อย 90 วัน แต่ถ้าจะขอคงเงินนานกว่านั้น เราก็สามารถทำให้ได้
"ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นกับว่าข้อบังคับกองทุนต้องกำหนดไว้ด้วย ถ้ากองข้อบังคับกองทุนบอกว่าการขอคงเงินในแต่ละคนเขาให้ไม่เกิน 1 ปี เพราะฉะนั้นไกลสุดที่นาย A จะขอได้ก็คือ 1 ปีเท่านั้น ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละกองทุน เพราะตัวข้อบังคับสามารถลิมิตได้"
อารยา บอกว่า ทุกวันนี้ถ้าเขายังเป็นพนักงานอยู่คณะกรรมการกองทุนสามารถที่จะติดต่อกับสมาชิกได้ เพราะอยู่ในบริษัทเดียวกัน สาขาอะไรก็แล้วแต่ เขาก็ยังติดต่อกันได้อยู่ แต่เมื่อพนักงานคนนี้ออกจากงานอาจจะย้ายลงไปอยู่จังหวัดนราธิวาส คณะกรรมการการกองทุนส่งข้อมูลอะไรทั้งหลายก็ลำบากขึ้น ถ้าคุณให้คงเงินเอาไว้ในกองทุนได้แบบไม่มีกำหนด คณะกรรมการกองทุนเองก็บอกว่าไม่ไหว ถ้าเกิดเขาทำไปวันหนึ่งข้างหน้าจะลำบากแล้วโอกาสที่เงินนั้นจะเสียไปในที่สุดมันจะมี เขาก็เลยให้กองทุนสามารถลิมิตได้ว่าคุณจะให้คงเงินไม่เกินกี่ปี จะกำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน แต่ตัว บลจ.จะต้องเปิดไว้ไม่น้อยกว่า 90 วัน หรือมากกว่านั้น
"แต่การที่เขาให้เป็นสมาชิกกองทุนต่อไปเพียงเพื่อเขาจะได้รับประโยชน์เกิดขึ้นได้เท่านั้นเอง ในกรณีนี้เหมือนกับแม้เขาไม่เป็นลูกจ้าง แต่เขาก็เป็นสมาชิกต่อไปได้ เงินก็ยังอยู่ในกองทุนได้"
@จ่ายเงินให้กับสมาชิกเป็นงวด
อารยาบอกว่าเดิมเมื่อสมาชิกสิ้นสมาชิกภาพ ต้องรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพียงครั้งเดียวทั้งจำนวนภายใน 30 วันและสิ้นสมาชิกภาพจากกองทุน แต่ พ.ร.บ.ฉบับใหม่เมื่อสมาชิกสิ้นสมาชิกภาพเปิดโอกาสให้ "สมาชิกที่เกษียณ" ขอรับเงินเป็นงวดได้และยังเป็นสมาชิกของกองทุนต่อไปได้ตามระยะเวลา ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุนแล้วระหว่างการรับเงินเป็นงวดไม่ต้องจ่ายเงินสะสมเงินสมทบเข้า กองทุน คำถามคือในระหว่างที่ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องภาษีและสำนักงานคณะกรรมการกำกับ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยังไม่ได้กำหนดเกณฑ์การรับเงินเป็นงวดและ ไม่ได้มีการแก้ไขข้อบังคับกองทุน สมาชิกที่เกษียณอายุจะสามารถดำเนินการได้อย่างไรบ้าง ถ้าเขายังไม่อยากรับเงินเป็นก้อน
"ถ้าสมมติเขาอยากรับเงินเป็นก้อนมันก็จบ ก็รับเงินเป็นก้อนไปเหมือนเดิมได้รับสิทธิประโยชน์ ทางภาษี 100% อยู่แล้ว ถ้าคุณอยากจะรับเงินเป็นงวดๆ ไป คุณก็ลองไปดูว่ากองทุนรวม ที่เขาออกประเภทต่างๆ มีโปรดักท์หลายหลากจะมีประเภทที่ขายคืนหน่วยอัตโนมัติมั้ย มันจะเหมือนกับการรับเงินเป็นงวดที่จะทยอยจ่ายเงินออกมาให้คุณเป็นงวดได้เหมือนกัน แล้วคุณได้ประโยชน์ทางภาษีเต็มที่อยู่แล้ว เพราะเป็นกองทุนรวม ไม่ต้องเสียภาษี เข้าออกเมื่อไรก็ได้ตามกองทุนรวมนั้น ในแง่ของการรับเงินเป็นงวดกับภาษีถ้าอยากจะทำเลยยังไม่ยาก เพราะยังมีทางออกในรูปของกองทุนรวมได้"
อย่างไรก็ตาม อารยา มองว่า ถ้าคนที่เกษียณแต่อายุในกองทุนยังไม่ถึง 5 ปี อันนี้จะมีลุ้นว่าจะทำยังไงดี เชื่อว่า บลจ.ส่วนใหญ่ยังไม่กล้าฟันธง กองทุนเขาก็คงต้องมีการคำนวณภาษีของคุณไว้ก่อน เพราะถือว่าเงื่อนไขเดิมยังอยู่คืออายุในกองทุนไม่ถึง 5 ปี สมมติคุณเกษียณวันที่ 30 มิ.ย.2551 แต่ว่าอายุกองทุนยังไม่ถึง 5 ปี แล้วมีคนเปิดโปรดักท์ที่ขอรับเป็นงวดได้ แต่ภาษียังไม่ได้ออกมาชัดเจนก็ต้องออกมา ณ วันที่ 30 มิ.ย.2551 เช่นกัน คือทุกอย่างจะเคลียร์เป็นในวันที่ขอคงเงิน วันที่ขอรับเงินเป็นงวด เพราะสรรพากรกลัวว่า คนจะใช้อันนี้เป็นช่องว่าขอคงไปอีกแค่ปีเดียวแล้วค่อยเอาออกเพื่อรับประโยชน์ทางภาษี
@เขียนเงื่อนไขในการรับเงินสมทบ
อารยาบอกว่า การกำหนดเงื่อนไขในการรับเงินสมทบ (Vesting Clause) ในกฎหมายเดิม คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่าข้อบังคับสามารถกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาในการจ่าย เงินสมทบได้ แต่ต้องเป็นเงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่เหมาะสมและมีเหตุผลพอสมควร ซึ่งใน พ.ร.บ.ใหม่ได้มีการเพิ่มบทบัญญัติในตอนท้ายมาตรา 9 (8) ว่าข้อกำหนดนั้นจะต้องไม่ตัดสิทธิของลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร
ทั้งนี้แนวทางของสำนักงาน ก.ล.ต.เพื่อที่จะให้ได้เงินของนายจ้าง 100% ไม่ควรจะต้องกำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องอยู่กับเขาเกิน 10 ปี ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่โหดเกินไป หรือทำงาน 15 ปีถึงจะได้ 100% นายจ้างก็โหดเกินไป เพราะฉะนั้นถ้าบริษัทมาจดข้อบังคับใหม่ ก.ล.ต.ในฐานะนายทะเบียนจะไม่รับจด แต่เข้าใจว่าที่นายจ้างกำหนดเงื่อนไขไว้เช่นนั้น นายจ้างอาจจะไม่อยากให้มีการออกจากงานสูงเกินไปแต่มันแล้วแต่อุตสาหกรรมด้วยว่ากัน เป็นรายอุตสาหกรรมว่าจะให้กันยังไง แล้วต้องไม่ตัดสิทธิโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เว้นแต่เป็นเหตุให้นายจ้างเสียหายร้ายแรงหรือลาออกจากกองทุนโดยไม่ลาออกจากงาน เพราะเชื่อว่าบริษัทส่วนใหญ่ที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เขาตั้งใจจะให้เป็นสวัสดิการกับลูกจ้าง อยู่แล้ว คงไม่ได้มาหวังกำไรขาดทุนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอะไร
"ตัวอย่างข้อบังคับที่เป็นเหตุให้นายจ้างเสียหายร้ายแรง เช่น เหตุที่เขาให้ออกอาจจะไม่ให้เงินสมทบเลย แต่เหตุที่ให้ออกคือพนักงานสูบบุหรี่ ถ้าพนักงานบริษัททั่วไปถือว่าโหดร้ายเกินไป แต่ถ้าธุรกิจนั้นเป็นธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันการสูบบุหรี่ หมายถึงชีวิตของผู้ร่วมงานและหมายถึงกิจการของนายจ้างอันนั้นเขาอาจไล่ออกได้ แล้วไม่ให้เงินสมทบได้ เป็นตัวอย่างที่เห็นชัด"
ทั้งหมดนี้คือสาระสำคัญใน 5 ประเด็นหลักที่ได้มีการแก้ไขใน พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 ที่มีผลบังคับใช้แล้ว

สรวิศ อิ่มบำรุง

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view