สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ได้รับเช็คลงวันที่ล่วงหน้าถือว่ามีเงินได้เกิดขึ้นเมื่้อไร

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 1690/2548

     ข้อเท็จจริง

    ปี 2534 โจทก์ขายที่ดิน พร้อมตึกแถวแก่นางดลยา ในราคา 10,375,400 บาท ในส่วนราคาที่ดิน 6,300,000 บาท นั้น โจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็ค 7 ฉบับ รวม 4,046,000 บาทได้แล้ว ส่วนอีก 16 ฉบับที่เป็นเช็คลงวันที่สั่งจ่ายล่วงหน้าในปี 2535 และ 2536 รวม 2,254,000 บาท ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ตามกำหนด โจทก์จึงฟ้องผู้สั่งจ่ายทั้งทางแพ่งและทางอาญา แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับเงินจำนวนนั้น ปีภาษี 2534 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเฉพาะเงินที่ได้รับ จำเลยจึงประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้เพิ่มอีก 1,324,810 บาท เบี้ยปรับ 1,814,816 บาท และเงินเพิ่ม 1,291,723.95 บาท ตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 10 โจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการประเมินชอบแล้ว แต่มีเหตุควรผ่อนผันแก่โจทก์จึงลดเบี้ยปรับลงเหลือร้อยละ 50 ตามเอกสารหมาย ล. 3 แผ่นที่ 2

     • โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรกลางโดยฟ้องกรมสรรพากรเป็นจำเลย

     ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยมิให้ถือ จำนวนเงินตามเช็คที่เรียกเก็บไม่ได้ 16 ฉบับ จำนวน 2,254,000 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ในปีภาษี 2534 ส่วนคำขออื่นให้ยก

       จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

       ปัญหาข้อกฎหมาย

      จำนวนเงินตามเช็คอีก 16 ฉบับ รวม 2,254,000 บาท ที่นางดลยาสั่งจ่ายล่วงหน้าในปี 2535 และ 2536 เป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ในปีภาษี 2534 ด้วยหรือไม่?

      คำวินิจฉัยของศาลฎีกา

     ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรนั้น ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่น จะต้องเป็นสิ่งที่ได้รับมาแล้ว ไม่ใช่เป็นแต่เพียงสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับมาในภายหน้า เมื่อเช็ค 16 ฉบับที่โจทก์ได้รับจากนางดลยาในปี 2534 เป็นเช็คที่ลงวันที่ล่วงหน้าสั่งจ่ายเงินในปี 2535 และ 2536 โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำเช็ค ดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารในปีภาษี 2534

     อุทธรณ์ของจำเลยที่กล่าวอ้างว่า เงินได้พึงประเมินประเภทเงินสดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 รวมถึงตราสารที่มีค่าเสมือนเงินสด เช่นตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน และเช็คซึ่งมีลักษณะเป็นตัวเงินประเภทหนึ่งด้วย เมื่อโจทก์ ได้รับเช็คชำระราคาที่ดิน 23 ฉบับ ที่นางดลยา สั่งจ่ายเป็นเงินสดหรือผู้ถือ โจทก์ย่อมสามารถ นำไปซื้อขาย แลกเปลี่ยนใช้หนี้ หรือใช้เป็นหลักประกันในทางธุรกรรมได้ทุกประเภทเต็มตามมูลค่าที่ระบุไว้ในเช็คแต่ละฉบับ โจทก์จึงต้องนำยอดเงินตามเช็ครวมทั้ง 23 ฉบับ มาคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินปี 2534 เพื่อเสียภาษีนั้น เป็นเพียงคำอธิบายลักษณะของตราสารที่มีค่าเสมือนเงินสดว่าจะพึงนำไปใช้จ่ายแทนเงินได้อย่างไรบ้างเท่านั้น แต่ก็ละเว้นเสียไม่อธิบายให้กระจ่างถึงแก่นแท้ว่า ในกรณีที่ตั๋วเงินเหล่านั้นยังไม่ถึงกำหนดใช้เงินดังเช่นเช็คทั้ง 16 ฉบับของโจทก์นั้น หากนำไปซื้อขาย แลกเปลี่ยน บรรดาผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะต้องถูกชักส่วนลด ได้เงินไม่เต็มตามมูลค่าที่ระบุในตั๋วแลกเงินนั้น เพราะผู้รับโอนอาจต้องรับภาระเสี่ยงต่อการไม่สามารถรับเก็บเงินได้ตามกำหนด และเป็นสิทธิโดยชอบของโจทก์ที่จะเลือกใช้วิธีการดังที่จำเลยกล่าวหรือไม่ก็ได้ ทั้งการชำระหนี้ด้วยเช็คนั้น หนี้จะระงับสิ้นไปก็ต่อเมื่อเช็คนั้นได้ใช้เงินแล้วตามมาตรา 321 วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

     เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากคำแถลงรับของคู่ความว่าโจทก์มิได้ใช้วิธีการเช่นนั้นเพื่อให้ได้เงินตามเช็คจำนวนนั้น หากแต่ใช้วิธีเรียกเก็บจากธนาคารตามกำหนดสั่งจ่ายในปี 2535 และ 2536 เช็คจำนวน 16 ฉบับ ที่โจทก์ได้รับมาในปีภาษี 2534 ดังกล่าว จึงเป็นเพียงสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับมาในอนาคต ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับเงินได้พึงประเมินเป็นเงิน 2,254,000 บาท ตามเช็คที่สั่งจ่ายล่วงหน้าจำนวน 16 ฉบับนั้นในปีภาษี 2534 ซึ่งจะต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2534 ด้วย ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนนี้จึง ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น


(โปรดติดตามเนื้อหาเต็มได้ในวารสารสรรพากรสาส์นประจำเดือน พฤษภาคม 2551)

 

จากเวปไซต์สรรพากรสาสน์
สมัครสมาชิกสรรพากรสาสน์ได้ที่ http://www.sanpakornsarn.com/

view