สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คนต่างด้าว ตามกฎหมายไทย (1)

คนต่างด้าว ตามกฎหมายไทย (1)

 พ.ต.ท. ดร. ชิตพล กาญจนกิจ
ดร.จุฑาทอง จารุมิลินท์  

    ถ้าพูดว่า “ฝรั่ง” หรือ “คนต่างชาติ” ทุกท่านคงเข้าใจโดยอัตโนมัติว่าหมายถึง บุคคล ที่ไม่ใช่คนไทย โดยผู้พูดสามารถคาดเดาดูเองจากรูปร่างหน้าตา รวมทั้งการแต่งตัวและกิริยาท่าทาง แต่ถ้าพูดถึง “คนต่างด้าว” แล้ว การคาดเดาจากเพียงลักษณะภายนอกดังกล่าวอาจจะไม่ได้คำตอบที่ถูกต้องเสมอไป เพราะคำว่า “คนต่างด้าว” อาจเดาได้ว่ามีเรื่องสัญชาติของคนนั้นเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งก็เป็นการคาดเดาที่ ถูกต้อง เนื่องจาก “คนต่างด้าว” ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 หมายถึง “ผู้ซึ่งมิได้มีสัญชาติไทย” และการได้มาซึ่งสัญชาติไทยนั้นก็ไม่ได้จำกัดแต่เพียงว่า ต้องเกิดโดยพ่อและแม่ ที่มีสัญชาติไทย และเกิดในประเทศไทยเท่านั้น (เรียกว่าการได้สัญชาติโดยการเกิด) การได้สัญชาติอาจได้มาโดยวิธีอื่น เช่น โดยการสมรส ตัวอย่างเช่น นางสาวมิโดริ มีสัญชาติญี่ปุ่น สมรสกับผู้ชายไทยโดยถูกต้องตามกฎหมาย   ถ้านางสาวมิโดริมีความประสงค์จะได้สัญชาติไทย ก็สามารถยื่นขอสัญชาติไทยตามวิธีการที่กำหนดโดยกระทรวงมหาดไทยได้ 

    ใน ช่วงที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านอาจได้ยินคำว่า “คนต่างด้าว” อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงระยะที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการตามที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 (เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2550) ในหน้าหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับก็มีการกล่าวถึงประโยชน์และประเด็น  โต้แย้งของการแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าว คำว่า “คนต่างด้าว” และ “ธุรกิจต่างด้าว” จึงมักมีปรากฏอยู่ในวงสนทนาอยู่เสมอๆ และอาจถูกใช้แทนกัน คอลัมน์ “เข้าใจนโยบายภาษี” ฉบับนี้ จะเป็นตอนที่ 1 ซึ่งจะอธิบายความหมายของคนต่างด้าวตามกฎหมายไทย การเข้าเมืองของคนต่างด้าวและการได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 รวมทั้งการส่งคนต่างด้าวที่กระทำผิดกฎหมายไทยหรือต่างประเทศกลับออกไปนอก ประเทศไทย และในตอนที่ 2 จะอธิบายถึงอาชีพที่คนต่างด้าวไม่สามารถกระทำได้ในประเทศไทยหรืออาชีพที่ ต้องขออนุญาตก่อน ตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 และ  พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 รวมถึงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามประมวลรัษฎากร
 
 1.การเข้าเมืองของคนต่างด้าวและการได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทย

     เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ก่อนที่คนของประเทศหนึ่งจะเดินทางเข้าไปอีกประเทศหนึ่งประเทศใด ก็จะต้องไปขอหลักฐานการอนุญาตให้เข้าประเทศที่ทำเป็นรอยตราประทับหรือเป็น แผ่นกระดาษสติกเกอร์ติดอยู่ในหนังสือเดินทาง หลักฐานดังกล่าวเรียกกันโดยทั่วไปเรียกว่า วีซ่า (VISA) สำหรับประเทศไทยนั้นตามพระราช-บัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ กำหนดว่า “คนต่างด้าว” ซึ่งหมายถึง “บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย” มีสิทธิที่จะเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยได้โดย  จะต้องมีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางที่ถูกต้องและสมบูรณ์ คนต่างด้าวที่ไม่มีหนังสือเดินทางหรือมีแต่ไม่ได้รับการตรวจลงตราในหนังสือ หรือเอกสารใช้แทนหนังสือ เดินทางจากสถานทูตหรือสถานกงสุลในต่างประเทศจะถูกห้ามมิให้เข้ามาในประเทศ ไทย  มีเพียงคนต่างด้าวบางประเภทเท่านั้นที่ผ่านเข้ามาเพียงชั่วคราว เช่น ผู้ควบคุมเรือหรือเครื่องบินซึ่งเพียงแต่แวะเข้ามายังท่าแล้วกลับออกไป หรือคนสัญชาติประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทยที่เดินทางข้ามพรมแดนไปมา ชั่วคราว ที่กฎหมายได้ยกเว้นให้ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือ  เดินทางหรือหนังสือใช้แทนหนังสือเดินทาง
     โดยทั่วไปคนต่างด้าวสามารถเข้ามาในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวได้โดยจะต้อง เข้ามาเพื่อวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง เช่น การปฏิบัติหน้าที่ทางการทูตหรือกงสุล การปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ การท่องเที่ยว การเล่นกีฬา การทำธุรกิจ การลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวง ทบวงกรม  ที่เกี่ยวข้อง การลงทุนหรือการอื่นที่เกี่ยวกับการลงทุนภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการส่ง เสริมการลงทุน การเดินทางผ่านราชอาณาจักร การเป็นผู้ควบคุมพาหนะหรือคนประจำพาหนะที่เข้ามายังประเทศ การศึกษาหรือดูงาน การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์หรือฝึกสอนในสถาบันการค้นคว้าหรือสถาบันการศึกษา2 โดยระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตในการพำนักอยู่ในประเทศไทยก็มีแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ไม่เกิน 30 วัน จนถึง   2 ปี ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของกิจกรรมแต่ละประเภท เช่น ถ้าเข้ามาเพื่อเล่นกีฬาหรือเดินทางผ่านเข้ามาหรือเป็นผู้ควบคุมพาหนะก็ สามารถ อยู่ได้ไม่เกิน 30 วัน แต่ถ้าเข้ามาเพื่อท่องเที่ยว   ก็สามารถอยู่ได้นานถึง 90 วัน และคนต่างด้าว ที่ได้รับอนุญาตนั้นจะต้องไม่ประกอบอาชีพ     หรือรับจ้างทำงาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ได้รับมอบหมาย หรือได้รับอนุญาตตามที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว 
     ในพระราชบัญญัติฯ ได้กำหนดเงื่อนไขที่ห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในประเทศไทย เช่น คนต่างด้าวที่เข้ามาเพื่อมีอาชีพเป็นกรรมกร หรือเข้ามาเพื่อรับจ้างทำงานด้วยกำลังกาย โดยมิได้อาศัยวิชาความรู้หรือการฝึกทางวิชาการ คนต่างด้าวที่เป็นคนวิกลจริต คนต่างด้าวที่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาของไทยหรือคำสั่งที่ชอบด้วย กฎหมายหรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ คนต่างด้าวที่มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชน หรือความมั่นคงของประเทศ หรือมีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเข้ามาเพื่อการค้าประเวณี การค้าหญิงหรือเด็ก การค้ายาเสพติด การลักลอบหนีภาษีศุลกากร โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมีอำนาจที่จะใช้ดุลยพินิจในการที่จะ พิจารณาว่า บุคคลต่างด้าว ผู้ใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมที่จะผ่านเข้ามาในประเทศไทย
     สำหรับการอนุญาตให้คนต่างด้าวมีถิ่น    ที่อยู่ในไทยนั้น ตามปกติแล้วคนต่างด้าวจะไม่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย เว้นแต่กรณีพิเศษที่บุคคลต่างด้าวอาจได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาคน เข้าเมืองและด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีให้มีถิ่นที่อยู่ แบบถาวรในประเทศไทยได้ โดยจะต้องคำนึงถึงเงื่อนไขหลายประการ เช่น ความสัมพันธ์กับบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทยทั้งในแง่รายได้ สินทรัพย์ ความรู้ ความสามารถในด้านวิชาชีพ และฐานะในครอบครัวของคนต่างด้าวกับบุคคลสัญชาติไทย เงื่อนไขด้านความมั่นคงของชาติ และเงื่อนไขอื่นๆ ตามความเหมาะสม แต่การอนุญาตดังกล่าวจะให้ได้ไม่เกินประเทศละ (หรืออาณา-นิคมของประเทศหนึ่ง) 100 คนต่อปี หรือหากเป็นคนไร้สัญชาติจะให้ได้ไม่เกิน 50 คนต่อปี หรือในกรณีที่คนต่างด้าวนำเงินเข้ามาลงทุนในราชอาณาจักรไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ก็อาจได้รับการพิจารณาอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยได้ โดยถึงแม้ว่าจำนวนคนต่างด้าวของประเทศนั้นๆ จะเกินกว่าที่กำหนดไว้ก็ตาม แต่ก็ไม่ให้เกินกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนที่อนุญาตในปีหนึ่งๆ เช่น ถ้าเป็นคนต่างด้าวที่มีสัญชาติใดชาติหนึ่งจะอนุญาตให้ได้ไม่เกิน 5 คน 

 2.การส่งคนต่างด้าวที่กระทำผิดกฎหมายไทยหรือต่างประเทศกลับออกไปนอกประเทศไทย

     การพิจารณาให้คนต่างด้าวกลับออกไปนอกประเทศสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายกรณี เช่น ถูกพิจารณาว่าเป็นบุคคลที่มีพฤติการณ์เป็นภัยต่อสังคมหรือจะก่อเหตุร้ายให้ เกิดอันตรายต่อความสงบสุขและปลอดภัยของประชาชน หรือเป็นบุคคลที่น่าเชื่อว่าเข้ามาเพื่อการค้าประเวณี  การค้าหญิงและเด็ก การค้ายาเสพติด  การลักลอบหนีภาษีศุลกากรหรือประกอบกิจการอื่นที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นบุคคลที่ถูกศาลไทยพิพากษาว่ากระทำผิดที่มิใช่ลหุโทษหรือประมาท หรือเป็นบุคคลที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต  หรือการอนุญาตสิ้นสุดหรือถูกเพิกถอน
     คนต่างด้าวที่จะต้องออกไปจากประเทศไทยเหล่านี้ จะต้องออกเดินทางผ่านทางช่องทางที่กำหนดไว้ให้ เช่น ตามด่านตรวจคนเข้าเมืองต่างๆ ในทันที หรือหากอยู่ระหว่างรอการส่งกลับ  คนต่างด้าวจะต้องมาพบเจ้าหน้าที่ตามเวลาและสถานที่ที่กำหนดเพื่อรายงานตัว หรืออาจถูกกักตัวไว้ก็ได้ นอกจากนี้หากเป็นกรณีคนต่างด้าวที่ได้กระทำผิดอาญาประเภทอื่นๆ หรืออาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศด้านอื่นๆ แม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐาน เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจใช้วิธีการประสานงานกับสถานทูตเพื่อขอให้ยกเลิกหนังสือ เดินทางแล้วขอให้เดินทางออกประเทศในทันทีก็ได้
      สำหรับในกรณีที่เป็นบุคคลโดยไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างด้าวที่ต้องหมายจับ ในความผิดที่ได้กระทำลงในต่างประเทศ และต่างประเทศได้ขอให้ทางการไทยพิพากษาให้เป็นผู้ร้ายข้ามแดนซึ่งเมื่อถูก จับกุมตัวได้จะต้องถูกให้ออกจากประเทศโดยมีการเพิกถอนหนังสือเดินทางโดย อัตโนมัติ ในกรณีของคนต่างด้าว เช่น Mr. Edwin van der Bruggen ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับความผิดฐานฟอกเงินและถูกทางการของประเทศเบลเยี่ยม ออกหมายจับ หรือ Mr. John Mark Karr ซึ่งถูกกล่าวหาว่าฆาตกรรมเด็กหญิงนักแสดงในประเทศสหรัฐอเมริกาชื่อ JonBenet Ramsey และหลบหนีเข้ามาเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย โดยผู้ต้องหาทั้ง 2 รายดังกล่าวถูกจับกุมและดำเนินการผ่านกระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (Extradition)     ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการดังต่อไปนี้ 
     1.เริ่มต้นจากการที่มีประเทศผู้ร้องขอผ่านสถานทูตในประเทศไทยขอให้คน ต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย (ไม่ว่าจะโดยผิดกฎหมายหรือถูกกฎหมาย) ตามที่มีชื่อปรากฏในเอกสารการร้องขอทางการทูตว่าได้กระทำผิดอย่างหนึ่งอย่าง ใดในประเทศผู้ร้องขอ และขอให้ทางการไทยส่งตัวบุคคลดังกล่าวกลับไปดำเนินคดีในประเทศผู้ร้องขอใน ฐานะผู้ร้ายข้ามแดน
     2.กระทรวงการต่างประเทศซึ่งรับหนังสือร้องขอดังกล่าวจะส่งเรื่องไปยัง กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอให้พิจารณาว่าคนต่างด้าวตามที่ถูกร้องขอเข้าหลักเกณฑ์ที่จะถูก พิจารณาเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ได้หรือไม่ (ซึ่งปกติจะต้องกระทำความผิดในประเทศ ผู้ร้องขอซึ่งมีอัตราโทษมากกว่า 1 ปี ขึ้นไป) หากเห็นว่าอยู่ในข่ายที่จะส่งตัวได้ จะร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้ศาลออกหมายจับคนต่างด้าวนั้น ซึ่งจะอยู่ในฐานะจำเลยตามหมายจับผู้ร้ายข้ามแดน
     3.สำนักงานอัยการสูงสุดจะส่งหมายจับผู้ร้ายข้ามแดนมาให้สำนักงานตำรวจแห่ง ชาติเพื่อดำเนินสืบจับคนต่างด้าวดังกล่าว และกระทรวงมหาดไทยจะแจ้งเรื่องดังกล่าวมาให้ตำรวจทราบอีกทางหนึ่ง
     4.สำนักงานตำรวจแห่ง(โดยฝ่ายตำรวจสากล) จะแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบดำเนินการสืบหาตัวบุคคลต่างด้าวตามหมายจับ
     5.หลังจากที่สามารถจับกุมได้แล้ว จะนำตัวส่งมอบให้พนักงานอัยการเพื่อส่งฟ้องเป็นผู้ร้ายข้ามแดน
     6.พนักงานอัยการจะดำเนินการฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลเพื่อให้ศาลพิพากษาให้คนต่างด้าวผู้นั้นเป็นผู้ร้ายข้ามแดน
     7.ศาลจะพิจารณาตัดสินให้คนต่างด้าว    ที่ถูกจับกุมอยู่ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนและรอ ส่งตัวออกนอกประเทศภายใน 3 เดือน นับแต่มีคำพิพากษา
     8.สำนักงานอัยการจะส่งหนังสือแจ้งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบถึงคำพิพากษา ศาลดังกล่าวเพื่อให้เตรียมการส่งตัวคนต่างด้าวดังกล่าวกลับออกนอกประเทศ ไทย  
     9.สำนักงานตำรวจจะมอบหมายให้ฝ่ายตำรวจสากล กองการต่างประเทศ เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการประสานงานและเตรียมการส่ง ผู้ร้ายข้ามแดน โดยจะประสานงานกับสถานทูตที่ร้องขอเพื่อนัดหมายวันเวลาในการรับตัว โดยหน่วยงานตำรวจที่เกี่ยวข้องและตำรวจสากลจะรับตัวผู้ต้องหาจากเรือนจำและ ส่งมอบตัวคนต่างด้าวดังกล่าวให้กับเจ้าหน้าที่ผู้แทนของประเทศผู้ร้องขอตาม วันเวลาที่ได้นัดหมายไว้

(อ่านต่อฉบับหน้า)


จากเวปไซต์สรรพากรสาสน์

view