สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เงินได้ค่าที่ปรึกษากฎหมายของคณะบุคคลถือเป็นเงินได้ประเภทใด

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 821/2549

ข้อเท็จจริง

โจทก์ ทั้งสองสำเร็จการศึกษาวิชากฎหมาย ได้รับปริญญานิติศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโจทก์ที่ 1 สำเร็จการศึกษา เป็นเนติบัณฑิตไทยจากสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เป็นเนติบัณฑิตจากลินคอล์นอินน์ ประเทศสหราชอาณาจักร กับได้รับใบอนุญาตเป็นทนายความจากสภาทนายความ ส่วนโจทก์ที่ 2 ได้รับประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายธุรกิจจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โจทก์ทั้งสองร่วมกันเป็นคณะบุคคลพร่างพราว มีวัตถุประสงค์เป็นที่ปรึกษากฎหมายและภาษีอากร ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) ปีภาษี 2544 แสดงเงินได้ที่โจทก์ทั้งสองได้รับเป็นค่าที่ปรึกษากฎหมายว่าเป็นเงินได้ตาม มาตรา 40(6) จำนวน 985,440.80 บาท คำนวณเป็นภาษีจำนวน 68,461.71 บาท แต่เจ้าพนักงานประเมินประเมินว่า เงินได้จำนวนดังกล่าวเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(2) คำนวณเป็นภาษีจำนวน 115,588.16 บาท และให้โจทก์ทั้งสองชำระภาษีส่วนที่ขาดเป็นจำนวน 47,126.94 บาท กับเงินเพิ่มตามมาตรา 27 คำนวณถึงวันที่ 31 มกราคม 2546 จำนวน 7,069.04 บาท ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเลขที่ 2007170/1/102998 ลงวันที่ 15 มกราคม 2546 โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยว่า เงินได้ตามมาตรา 40(6) เป็นสิทธิเฉพาะตัว โจทก์ทั้งสองเป็นคณะบุคคล เงินได้ค่าที่ปรึกษากฎหมายรายพิพาทจึงเป็นเงินได้ ตามมาตรา 40(2) การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบแล้ว ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.2/อธ3/15/29/47 โจทก์ทั้งสองจึงอุทธรณ์โดยฟ้องกรมสรรพากรกับพวกเป็นจำเลย ต่อศาลภาษีอากรกลาง

ศาล ภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาเพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหนังสือแจ้งการประเมิน เลขที่ 2007170/1/102998 ลงวันที่ 15 มกราคม 2546 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.2/อธ3/15/29/47 ฉบับลงวันที่ 26 เมษายน 2547 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ปัญหาข้อกฎหมาย

เงินได้ค่าที่ปรึกษากฎหมายของโจทก์ ทั้งสองเป็นเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(2) หรือ (6)?

คำวินิจฉัยของศาลฎีกา

คดี มีปัญหาวินิจฉัยตามคำอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ว่า เงินได้ค่าที่ปรึกษากฎหมายของโจทก์ทั้งสองเป็นเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(2) ตามความเห็นของจำเลยทั้งสี่ หรือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(6) ตามความเห็นของโจทก์ทั้งสอง โดยจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า เงินได้รายพิพาทไม่ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(6) เพราะโจทก์ทั้งสองเป็นที่ปรึกษาอย่างเดียวโดยไม่ได้ว่าความหรือฟ้องร้องคดี ด้วย และเงินได้ตามมาตรา 40(6) เป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่อาจบังคับใช้ในกรณีเป็นคณะบุคคลเช่นโจทก์ทั้งสอง

พิเคราะห์ แล้ว ประมวลรัษฎากร มาตรา 40(2) บัญญัติว่า "เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้" มาตรา 40(6) บัญญัติว่า "เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือวิชากฎหมาย...." ตามบทกฎหมาย ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ประมวลรัษฎากร บัญญัติให้เงินได้จากวิชากฎหมายเป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระและเป็นเงินได้ ประเภทหนึ่งต่างหากจากเงินได้ประเภทอื่น โจทก์ทั้งสองสำเร็จการศึกษาวิชากฎหมาย เงินได้รายพิพาทเป็นเงินได้ที่โจทก์ ทั้งสองได้รับมาจากการเป็นที่ปรึกษากฎหมาย จึงเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(6) หามีบทบัญญัติว่าการประกอบวิชาชีพกฎหมายจะต้องว่าความหรือฟ้องร้องคดีด้วย ไม่ ทั้งไม่มีบทกฎหมายบัญญัติห้ามผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายรวมกันเป็นคณะบุคคล ประกอบวิชาชีพกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่หามีบทกฎหมายหรือเหตุผลสนับสนุนไม่ ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าทนาย ความชั้นอุทธรณ์ 600 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง

ข้อคิดเห็น

เงิน ได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 แต่รวมกับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แล้วต้องไม่เกิน 60,000 บาท (ประมวลรัษฎากร มาตรา 42 ทวิ) ส่วนเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 40(6) หักค่าใช้จ่ายเป็น การเหมาได้ร้อยละ 30 ถ้าเป็นเงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระอื่นที่มิใช่การประกอบ โรคศิลป หรือจะเลือกหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรก็ได้ (ประมวลรัษฎากร มาตรา 44, พระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2502 มาตรา (6))

เงิน ได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) และเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) ต่างเป็นเงินได้ที่มีที่มาจากการรับทำงานให้แก่ผู้อื่น คงต่างกันที่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) มีที่มาจากการรับทำงานโดยใช้ความรู้ความชำนาญ ในวิชาที่กำหนดไว้ในมาตรา 40(6) ส่วนเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 40(2) มีที่มาจากการรับทำงานโดยมิได้มีข้อจำกัดว่าจะต้องใช้ความรู้ความชำนาญใน วิชาใด นอกจากนี้ ยังต่างกันที่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) จะเป็นเงินได้ที่ได้รับในจำนวนไม่แน่นอน ได้รับมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณงานหรือผลงาน ส่วนเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) จะเป็นเงินได้ที่ได้รับในจำนวนแน่นอน มิได้ขึ้นอยู่กับปริมาณงานหรือผลงานเป็นสำคัญ ดังมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 502/2526 (ประชุมใหญ่) วินิจฉัยว่า "เงินได้ของโจทก์ที่ได้รับจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นรายเดือน เป็นค่าตอบแทนจากการปฏิบัติหน้าที่ประจำในการรักษาผู้ป่วยซึ่งเป็นพนักงาน และลูกจ้าง ณ สถานพยาบาลของการไฟฟ้าฯ เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) จึงหักค่าใช้จ่ายได้ตามมาตรา 44"

ที่ ปรึกษากฎหมายแม้จะต้องใช้ความรู้ความชำนาญในวิชากฎหมายทำงานให้แก่ผู้อื่น แต่เงินได้ที่ได้รับจะถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) ต่อเมื่อเป็นเงินได้ที่ได้รับตามปริมาณงานหรือผลงานที่ทำให้แก่ผู้ว่าจ้าง มิได้รับในจำนวนแน่นอน หากเป็นการได้รับในจำนวนแน่นอน มิได้ขึ้นอยู่กับปริมาณงานหรือผลงานเป็นสำคัญแล้ว เงินได้ที่ได้รับจะถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 502/2526 (ประชุมใหญ่) ดังกล่าว

คดี นี้โจทก์ทั้งสองกล่าวในฟ้องว่าเงินค่าตอบแทนที่โจทก์ทั้งสองได้รับจากการให้ คำปรึกษาทางกฎหมายขึ้นอยู่กับปริมาณงานหรือผลงาน จำเลยกับพวกมิได้ให้การโต้แย้ง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าเงินได้ที่โจทก์ทั้งสองได้รับขึ้นอยู่กับปริมาณงาน หรือผลงาน เมื่อการประกอบวิชา ชีพอิสระทางกฎหมายมิได้จำกัดเฉพาะการว่าความในศาล แต่รวมถึงการให้คำปรึกษาทางกฎหมายด้วย เงินได้ที่โจทก์ทั้งสองได้รับจากการให้คำปรึกษาทางกฎหมายจึงถือเป็นเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 40(6)

แม้ จะให้คำปรึกษาในนามคณะบุคคลก็ไม่ทำให้เงินได้ดังกล่าวกลายเป็นเงินได้พึง ประเมินตามมาตรา 40(2) ดังความเห็นของจำเลยกับพวก เพราะจะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) หรือ (6) ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่างานที่ทำนั้นเป็นงานที่ใช้ความรู้ความชำนาญใน วิชาที่กำหนดไว้ในมาตรา 40(6) หรือไม่ และค่าตอบแทนที่ได้รับนั้นได้รับในจำนวนแน่นอนมิได้ขึ้นอยู่กับปริมาณงาน หรือผลงานหรือไม่ มิได้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่าผู้มีเงินได้เป็นบุคคลธรรมดาหรือคณะบุคคล แม้จะเป็นคณะบุคคล แต่ถ้าใช้ความรู้ความชำนาญในวิชาที่กำหนดไว้ในมาตรา 40(6) ในการทำงานให้แก่ผู้ว่าจ้าง และได้รับค่าตอบแทนตามปริมาณงานหรือผลงานแล้ว เงินได้ ที่ได้รับก็ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) อีกประการหนึ่ง ประมวลรัษฎากร มาตรา 56 วรรคสอง กำหนดให้คณะบุคคลมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยมิได้มีข้อยกเว้น ว่าคณะบุคคลจะมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) ไม่ได้ คณะบุคคลจึงมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) ได้ แม้แต่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลก็มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) ได้ ดังเช่นที่มีบัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ฉะนั้น เงินได้ที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นคณะบุคคลได้รับจึงเป็นเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40(6) ตามที่ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรได้วินิจฉัยไว้

 

จากเวปไซต์สรรพากรสาสน์

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view