สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การปฏิเสธรัฐผีปอบ

การปฏิเสธรัฐผีปอบ

โดย ขวัญสรวง อติโพธิ





การปฏิเสธรัฐผีปอบ

พันธมิตร ประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกเดินทัพเพื่อประท้วงและขับไล่รัฐบาลนายสมัครที่ ตนเองขนานนามว่ารัฐบาลหุ่นเชิดขายชาติมาได้ร้อยกว่าวันแล้ว กิจกรรมของพันธมิตรในชั่วร้อยวันนี้เป็นไปอย่างหลากหลาย ล่าสุดนี้ถึงขนาดปิดกระทรวง ยึดทำเนียบรัฐบาล หยุดเดินรถไฟ ปิดสนามบินและท่าเรือ

กิจกรรมที่ท้าทายอำนาจรัฐและก่อความเดือดร้อน เป็นเบื้องต้นต่างๆ นี้ถามว่ามีความถูกต้องชอบธรรมเพียงไร แกนนำพันธมิตรชี้แจงแก่ประชาชนผู้ขุมนุมและสาธารณชนทั่วไปว่า นี่เป็นกระบวนการ "อารยะขัดขืน" (CIVIL DISOBEDIENCE) และสันติวิธี (NON VIOLENCE) แห่งสังคมประชาธิปไตย

กำลังนื้ ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่ากระบวนการที่มีที่มาจากสังคมประชาธิปไตยตะวันตก ที่เรียกว่า CIVIL DISOBEDIENCE นี้คืออะไร มีร่องรอยช่องทางถูกผิดอยู่ในรัฐธรรมนูญของบ้านเราบ้างหรือไม่

เมื่อ เอามาใช้งานแล้วมีแง่มุมให้ต้องคิดต้องชั่งตรองอย่างไรบ้าง จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการตั้งสติพิจารณาสถานการณ์บ้านเมืองของสาธารณ ชน

ความเปลี่ยนแปลงของสังคม

กระบวนการ CIVIL DISOBEDIENCE นั้นเกิดขึ้นตรงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนพลเมืองกับรัฐ จำเป็นต้องทำความเข้าใจความสัมพันธ์นี้ให้ดีเสียก่อน

สมมติว่าจับชีวิตไอ้จุกเด็กอยู่กรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.2300 ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศขึ้นมาดู

พบ ว่าไอ้จุกมีพ่อแม่เป็นไพร่หลวงสังกัดกรมกลาโหม มีตัวตนว่าเป็นชาวย่านตลาดสัมพะนี ครอบครัวตีมีดตีพร้าขาย สมัยนั้นไม่มีชาติไทย ไม่มีพลเมืองไทย ไม่มีรัฐไทย มีแต่พระเจ้ากรุงอยุธยา ขุนนางเจ้านายกับไพร่ทาสและดาวหางฮัลเลย์บนท้องฟ้า

ผ่านไป 200 ปี ในปี พ.ศ.2500 สมมุติว่าไอ้จุกยังไม่หมดเวรมาเกิดเป็นเด็กลูกแม่ค้าในตลาดดาวคะนอง ฝั่งธนบุรี พ่อเป็นคนขับรถเมล์สาย 10 ดาวคะนอง-สนามมวย ในชาตินี้ไอ้จุกไปโรงเรียน ต้องเรียนหนังสือไม่ยังงั้นผิดกฎหมาย ไอ้จุกต้องเคารพธงชาติร้องเพลงชาติเรียนหน้าที่พลเมือง ครูบอกว่าทุกคนต้องเคารพกฎหมาย โตขึ้นต้องเสียภาษี ต้องเกณฑ์ทหาร วันก่อนในทีวีที่ตลาดไอ้จุกเห็นหน้าจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ นายกรัฐมนตรี บอกว่าบ้านเมืองจะเจริญก้าวหน้า ศึกษาดี มีเงินใช้ ไร้โรคา พาให้สุขสมบูรณ์ขอให้ประชาชนเชื่อรัฐบาล

ที่สมมุติมาเล่นๆ นี้หวังจะให้รู้สึกได้จริงๆว่า เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐชาติกับประชาชนพลเมืองที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ อย่างชีวิตไอ้จุกปี 2500 นั้นแท้จริงเป็นภาวะสมัยใหม่ที่คนเราจินตนาการขี้นแล้วก็ยึดติดนำมาตั้งมั่น สถาปนาให้เป็นระบบใช้งานกันเมื่อร่วมร้อยปีมานี้เอง เป็นหนังคนละเรื่องคนละม้วนกับสมัยอยุธยาชัดๆ

CIVIL DISOBEDIENCE ถูกจินตนาการขึ้นมาอย่างไรในรัฐและสังคมสมัยใหม่

เสรีชนพลเมืองกับรัฐ


เสรี ชนคือปัจเจกชนที่ถือว่าอิสระและเสรีภาพความเป็นไทในการกำหนดและดำเนินชีวิต ตนเองคือสิ่งสำคัญที่สุด ขณะเดียวกันก็ตระหนักดีว่ามนุษย์เราจำเป็นต้องอยู่ร่วมกันข้องเกี่ยวกันเป็น สังคมใหญ่ การร่วมกันคิดอ่านสร้างสรรค์ดูแล "สภาพการอยู่ร่วมกัน" ที่ดีและถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์ค้นหาละช่วยกันจินตนาการมาตลอด สำหรับสังคมสมัยใหม่คำตอบก็คือ สิ่งที่เรียกกันง่ายๆว่า "รัฐสมัยใหม่"

" รัฐ" (STATE) เป็นตัวตนที่กฎหมายมหาชนสร้างขึ้น ไม่ว่าจะต่างกันอย่างไร แต่หลายสำนักคิดก็อธิบายตรงกันว่า เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการอยู่ร่วมกัน ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ (มาตรา 75-87) จะเห็นได้ถึงการพยายามระบุหน้าที่สาธารณะต่างๆ ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นแนวนโยบายด้านความมั่นคง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านศาสนา สังคม การสาธารณสุข การศึกษาและวัฒนธรรม ด้านกฎหมายและการยุติธรรม เป็นต้น

เสรีชนที่ตกลงปลงใจที่จะเข้าเป็น สมาชิกของรัฐนั้นเรียกว่าเข้าไปเป็น "พลเมือง" (CITIZEN) มองจากฝั่งรัฐแล้วรัฐได้ประโยชน์จากการมีพลเมืองมาสังกัดอยู่สองประการคือ ได้ความชอบธรรมเพราะอำนาจอธิปไตยที่รัฐต้องมีนั้นได้ปรากฏพลเมืองขึ้นมาเป็น เจ้าเข้าเจ้าของเป็นตัวเป็นตนเด่นชัดไม่เลื่อนลอย ขณะเดียวกันรัฐก็ได้ความเป็นเอกภาพเพราะได้อาศัยความเป็นพลเมืองรวบคนทั้ง หมดในประเทศเข้ามาเป็นสมาชิกเหมือนๆ กัน

หันมามองจากจุดยืนของเสรีชน การตกลงเข้าไปเป็นพลเมืองของรัฐนั้นนอกจากจะได้รับผลประโยชน์และความมั่นคง จากการทำหน้าที่สาธารณะต่างๆ ของรัฐแล้ว สิ่งที่ได้รับการประกันและดูแลสอดส่องรักษาจากรัฐก็คือ สิทธิและเสรีภาพพื้นฐานต่างๆ ของพลเมือง ในรัฐธรรมนูญหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ก็ปรากฏบัญญัติไว้ถึง 43 มาตรา

ยก ตัวอย่างเช่น ความเสมอภาค สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิในทรัพย์สิน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน เสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคม สิทธิชุมชน เป็นต้น

นอกจากสิทธิ เสรีภาพทั่วๆ ไปในฐานะพลเมืองดังกล่าวข้างต้นแล้ว รัฐยังต้องมีหน้าที่ประกันสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองในการดำเนินชีวิต และบทบาททางการเมืองของตนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยให้ลุล่วงโปร่งใสตามหน ทางแห่งประชาธิปไตยอีกด้วย

เท่าที่กล่าวมานี้ดูว่า พลเมืองจะมีแต่ได้ แต่ในความเป็นจริงพลเมืองก็ต้องมีหน้าที่ตอบแทนรัฐด้วยการเคารพกฎหมาย เสียภาษี เกณฑ์ทหาร (ดูรัฐธรรมนูญหมวด 4 หน้าที่ของชนชาวไทย มาตรา 70-74)

จินตนาการที่เสรีชนตกลงใจเข้าเป็นพลเมืองของรัฐแล้วมีข้อแลกเปลี่ยนผูกมัดซึ่งกันและกัน มีเป็นอย่างนี้

แต่ ในความเป็นจริงไม่มีเสรีชนเป็นคนๆ มายืนเกาหัวตัดสินใจว่าจะเข้าเป็นพลเมืองกับรัฐดีหรือไม่ จะตกลงกันอย่างนั้นอย่างนี้ จริงๆ แล้วเมื่อคนเราเกิดมาก็ถูกกำหนดฝ่ายเดียวให้เป็นพลเมืองและมีหน้าที่พลเมือง แปะติดหน้าผากไปจนตาย การบังคับสมมุติให้เป็นพลเมืองและมีหน้าที่ที่เป็นพลเมืองนี้ ทุกสำนักคิดพยายามหาคำอธิบายมาตลอดว่า มีขอบเขตและความชอบธรรมเพียงใด

ถึง จุดใดมีจุดใดหรือไม่ที่มนุษย์จะมีเสรีภาพที่จะปฏิเสธหน้าที่พลเมืองดังกล่าว และเรียกจุดแห่งการปฏิเสธหน้าที่นั้นว่าเป็นการปฏิเสธความเป็นพลเมืองของ เสรีชนหรือการไม่ยอมรับนับถือรัฐอีกต่อไป คำตอบน่าจะยังคงอยู่ในจินตนาการของความสัมพันธ์และข้อตกลงระหว่างรัฐกับเสรี ชนพลเมืองอยู่ดี

การทรยศต่อประชาชนพลเมือง

รัฐธรรมนูญ มาตรา 69 บัญญัติว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการ ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้"

รัฐธรรมนูญ มาตรานี้ต้องทำความเข้าใจกันเป็นพื้นฐานว่าเมื่อช่วง "การกระทำใดๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้" ถือว่ามีความผิดเป็นปัญหาแล้ว "ตัวการปฏิบัติการเข้าไปใช้อำนาจปกครองประเทศโดยมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่ บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้" ก็ต้องถือว่ามีความผิดเช่นกัน หนักกว่าการทำผิดในการหาช่องทางเข้าไปมีอำนาจเสียด้วยซ้ำ

ความผิดไป จากวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งวิธีการได้มาซึ่งอำนาจและการใช้ อำนาจปกครองประเทศนี้เองถือได้ว่ารัฐได้กระทำการทรยศหักหลังประชาชนพลเมือง ไม่ทำตามหลักการและความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ได้ตกลงกันไว้

การ กระทำของรัฐเช่นไรบ้างที่ถือได้ว่าทรยศต่อพลเมือง ทำจนพลเมืองเห็นว่าสูญสิ้นเหตุผลในการมีอยู่ของรัฐ จนต้องใช้สิทธิของเสรีชนปฏิเสธความผูกพันกับรัฐ

1 ไม่ยึดถือ ไม่สร้างสรรค์ซ้ำทำลายความเสมอภาคในการอยู่ร่วมกันเป็นบ้านเมือง

คน เราต่างคนต่างอยู่และเอาเปรียบกันได้จึงต้องมีรัฐเพื่อเป็นตัวกลางในการอยู่ ร่วมกันอย่างเสมอภาคไม่ให้คนรังแกกัน เอาเปรียบกัน จะพัฒนาบ้านเมืองรัฐก็ต้องมองและมุ่งประโยชน์โดยรวม หลักการเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นหากรัฐละเลยไม่เอาธุระดูแลก็ถือว่าบกพร่องต่อหน้าที่อยู่แล้ว แต่หากว่าชั่วถึงขนาดลงมือยักยอกอำนาจรัฐอย่างถึงรากถึงโคนเสียเอง เพื่อประโยชน์โดยมิชอบของขบวนการใดหรือคนกลุ่มใดก็ต้องถือว่ายิ่งทรยศต่อ ประชาชนพลเมืองและชั่วอย่างสุดสุด หมดเหตุผลและความชอบธรรมในการให้อยู่ในอำนาจรัฐอีกต่อไป

เมื่อใดที่ รัฐถูกฉกเอาไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนเช่น ทำช่องทีวีของรัฐเป็นกระบอกเสียงทางการเมือง เทงบพัฒนาให้พื้นที่ฐานเสียง ปั้นอุ้มชูสาวกให้ขึ้นเป็นอธิบดี ผู้ว่าฯ ปลัดกระทรวง แก้สัญญาสัมปทานลดค่าสัมปทานให้บริษัทของนายกรัฐมนตรี ใช้นโยบายต่างประเทศสร้างประโยชน์ทางธุรกิจหากินกับประเทศเพื่อนบ้าน นั่นแสดงว่านักเลือกตั้งกำลังทรยศต่อประชาชนพลเมือง

2 หลักการพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ สิทธิและเสรีภาพของปัจเจกถูกละเมิดปฏิเสธอย่างไม่ไยดี

การ เป็นรัฐนั้นต้องการการผนวกและประสานคนในสังคมเข้าด้วยกันให้มากที่สุด การให้และประกันสิทธิเสรีภาพต่างๆ แก่ประชาชนพลเมืองโดยเสมอหน้าคือ การประสานคนในเชิงพลเมือง (CIVIC INTEGRATION) การดูแลการเลือกตั้งลงคะแนนเลือกผู้แทนให้บริสุทธิ์ยุติธรรม การพัฒนาธรรมรัฐและส่งเสริมโอกาสกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองคือ การประสานคนในเชิงการเมือง (POLITICAL INTEGRATION) และการสร้างกับปฏิบัติตามนโยบายสาธารณะต่างๆ เพื่อความสุขของประชาชนทุกฐานะคือ การประสานคนในเชิงสังคม (SOCIAL INTEGRATION) รัฐต้องถือหลักการและทำหน้าที่เหล่านี้

การทำพรรคการ เมืองไม่ให้รับคนดีๆ มีบรรทัดฐานแต่กลายเป็นข่ายร้านเซเว่นฯขายเสื้อวินรับคนซี้ซั้วมาให้ประชาชน เลือก การนำตัวแทนประชาชนที่ได้มาเลี้ยงดังสัตว์ในคอกหมดอิสระและความหลากหลาย การแทรกแซงทำลายการตรวจสอบทุกชนิดทั้งในและนอกระบบ การคบและสร้างมาเฟียในจังหวัดต่างๆเป็นฐานการเมืองจนประเทศเงียบงันมืดมนหมด อนาคตและทางเลือก การสร้างข่ายธุรกิจการเมืองในทุกวงการจนสิ้นความเป็นธรรมในการแข่งขันทางการ ค้า การกำเริบใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบเพื่อรักษาฐานอำนาจทางการเมือง

ตัวอย่าง เหล่านี้ล้วนชี้ให้เห็นถึงการทรยศต่อประชาชนพลเมืองปฏิเสธและละเมิดสิทธิและ เสรีภาพของปัจเจก ทั้งละทิ้งทำลายหน้าที่สำคัญคือการประสานผู้คนให้ยึดโยงกันเป็นสังคมที่เข้ม แข็ง มีความสุขและมีวุฒิภาวะดูแลตนเองได้

กรณีการทรยศของรัฐต่อ ประชาชนพลเมืองดังได้กล่าวมาทั้งสองประการนี้ หากเห็นแจ่มแจ้งแล้วก็ยังอยู่ที่ว่าผู้ที่เห็นนั้นจะมีอาการของขึ้นแค่ไห นปัญหาจึงเลื่อนมาที่ระดับคุณธรรมความเจ็บร้อนถือถูกเกลียดชั่ว การเอาธุระเรื่องของส่วนรวม

พลเมืองที่จะใช้ CIVIL DISOBEDIENCE ต้องมีฐานเหตุผลทางคุณธรรมที่ชัดแจ้งมากว่าเป็นการต่อสู้ที่มาจากจิตใจที่ กระจ่างใสและเข้มแข็งจริงๆ จนเห็นเป็นจุดกำเนิดที่เน้นว่าต้องมีองค์ประกอบเป็นสิทธิในทางคุณธรรม (MORAL RIGHT) เป็นอย่างนี้ก็มีผลทำให้แนวทางการต่อสู้เป็นไปโดยสงบและสันติไปในตัวอยู่ แล้ว

ลำพังการต่อต้านโดยสันติวิธีหากไม่มาจากฐานคุณธรรมที่แท้จริง แล้วก็หาใช่ CIVIL DISOBEDIENCE ไม่และอาจเป็นเพียงขบวนการของคนป่วยเจ็บทางจิตใจหรือพวกมีความบ้าในกิจกรรม ต่อต้านเผด็จการล้วนๆ ก็เป็นได้

การแปล CIVIL DISOBEDIENCE ว่าเป็นการขัดขืนโดยสงบหรือมีอารยะจึงเป็นคำแปลที่ผิด CIVIL DISOBEDIENCE ในทางประวัติศาสตร์มิได้มีสาระอยู่ตรงนั้น แต่อยู่ที่ความเข้มแข็งในคุณธรรมและคำอธิบายต่อตัวเองและผู้อื่นอันกระจ่าง เท่านั้นว่า รัฐอย่างนี้ผู้มีสติปัญญารู้ถูกผิดและกล้าหาญในทางคุณธรรมย่อมไม่อาจยอมรับ ได้อีกต่อไป

หากเกิด CIVIL DISOBEDIENCE ตามความหมายข้างต้นขึ้นจริงๆ ในสังคม เมื่อนั้นย่อมแสดงได้ว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่บกพร่องอย่างใหญ่หลวงกำลังเกิด ขึ้นในสังคมนั้น สมองของคนทุกคนจะคล้ายๆกับว่าถูกกระชากให้หันมาทบทวนความนึกคิดและจุดยืนของ ตนเองว่าจะยอมจำนนอยู่ใต้สภาพอย่างนี้หรือไม่ สภาพอย่างนี้จะทำให้เกิดความไม่เป็นสุขทางความคิดกระจายไปทั่วในสังคม

คนทุกคนที่ยังพอมีความคิดอยู่จึงเป็นเป้าหมายของกระบวนการ CIVIL DISOBEDIENCE โดยนัยนี้

รัฐผีปอบ

หาก ย้อนไปพิจารณาถึงฐานความผิดในการทรยศต่อประชาชนพลเมืองคือ การยักยอกอำนาจรัฐเพื่อประโยชน์โดยมิชอบจนสูญสิ้นเหตุผลในการมีอยู่ของรัฐ คือ ความเสมอภาคประการหนึ่งและการปฏิเสธหลักการพื้นฐานในรัฐธรรมนูญและละเมิด สิทธิเสรีภาพของปัจเจกอีกประการหนึ่ง

ทั้งสองประการนี้พูดกันตรงๆ รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนักการเมืองพรรคไทยรักไทยทั้งพรรค กับรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช กับนักการเมืองพรรคพลังประชาชน และพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค ทำกันหมด คนพวกนี้พากันเข้ามานั่งในอำนาจรัฐและร่วมกันทรยศต่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง มาร่วมหกเจ็ดปีเข้านี่แล้ว

อันที่จริงเมื่อเกิดเรื่องเกิดราว คณะรัฐบาลและตัวนายกรัฐมนตรีทั้งรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลสมัครมักจะตกเป็นเป้า เป็นตำบลกระสุนตกถูกโจมตี แต่ถ้ามองในแนวทาง CIVIL DISOBEDIENCE ว่ามีรัฐที่กำลังทรยศต่อประชาชนพลเมือง เราจะพบว่านักการเมืองที่ทั้งอยู่ในรัฐบาลและพรรครัฐบาลทั้งที่อยู่ในอำนาจ บริหารและนิติบัญญัติคือเหล่า ส.ส.ผู้ทรงเกียรติทั้งหลายนั่นแหละร่วมกันมีส่วนทรยศต่อประชาชนพลเมืองทั้ง สิ้น ปฏิเสธไม่ได้

เป็นอย่างนี้จึงเปรียบเสมือนว่ารัฐไทยกำลังถูกฝูง นักการเมืองผีปอบเข้ามาสิงสู่จนเสรีชนพลเมืองที่มีใจเป็นธรรมไม่อาจยอมรับ การมีอยู่ดำรงอยู่ของรัฐผีปอบอย่างนี้ได้ ต้องช่วยกันลงมือค้นหาวิธีไล่ผีปอบเดี๋ยวนี้

ประเด็นต้องชัดเจนว่า ผู้ที่เคลื่อนไหวไม่ใช่พวกขบถหรือปฏิเสธรัฐ หากแต่ต้องการจะร่วมกันไล่ปอบออกไปแล้วเอารัฐกลับมาเป็นของส่วนรวม ต้องขอวิงวอนให้ผู้ที่ยังมีความคิดจงตัดสินใจเดี๋ยวนี้ว่าจะเป็นเสรีชนหรือ คนยอมจำนน หากคำถามนี้เข้าเป้าและมีคนเริ่มคิดอ่านตามมามากขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือหลักฐานว่านี่คือปรากฏการณ์ CIVIL DISOBEDIENCE ที่แท้จริง

ส่งท้าย

กระบวน การ CIVIL DISOBEDIENCE ของฝรั่งหรือการปฏิเสธรัฐผีปอบของเสรีชนคนไทยที่พันธมิตรประชาชนเพื่อ ประชาธิปไตยกำลังพยายามคิดอ่านปรับใช้กับสังคมไทยนั้นกำลังเข้มข้นเต็มที

คำ อธิบายถึงความชั่วร้ายเลวทรามของรัฐผีปอบที่มีนายสมัครเป็นหัวหน้ามี ส.ส.พรรครัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลเป็นบริวารนั้น ฟังดูหลายประเด็นก็เข้าทางว่าเป็นรัฐที่ได้กระทำการทรยศหักหลังประชาชน พลเมืองจริงและมีสิทธิทางคุณธรรมที่จะปฏิเสธรัฐชนิดนี้

แต่ขอบเขตและ ความถูกต้องชอบธรรมของการลงมือปฏิบัติการปฏิเสธรัฐผีปอบนั้นมีอยู่แค่ไหน "บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี" ตามมาตรา 69 นั้นลงมือกระทำอย่างไรถึงไม่ผิดกฎหมาย และ "เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ" ตามมาตรา 63 นั้นทำอะไรได้บ้าง นี่ก็ยังไม่มีความชัดเจน

อย่างไรก็ตาม เห็นได้ว่าสังคมของเรากำลังเดินเข้ามาพบกับบทเรียนบทใหม่ทางการเมืองอย่าง สำคัญ ผ่านกรณีพันธมิตร CIVIL DISOBEDIENCE ของสังคมประชาธิปไตยฝรั่งกำลังถูกปฏิบัติและลองถูกลองผิดขนาดหนัก

น่า วิตกว่าถ้าสังคมเราไม่เกิดการสรุปเรียนรู้อย่างถูกต้องกับประสบการณ์ ของกระบวนการปฏิเสธรัฐผีปอบของพันธมิตรครั้งนี้ ต่อไปการปฏิบัติการอารยะขัดขืนโดยสันติวิธีจะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือ เคลื่อนไหวทางการเมืองที่เละตุ้มเป๊ะขนาดหนัก ใครจะขัดขืนหรือขับไล่รัฐโดยสันติวิธียังไงก็ได้แล้วแต่จะตีความกล่าวอ้าง

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะมีส่วนช่วยให้การพูดคุยและครุ่นคิดเรื่อง CIVIL DISOBEDIENCE หรือ

การปฏิเสธรัฐผีปอบในวันนี้และวันข้างหน้าตั้งหลักได้ดีขึ้นกว่าเก่า รู้เรื่องและเข้าใจกันหาถูกหาผิดได้มากกว่าเดิม

สุด ท้ายนี้มีข้อสังเกตว่าเคยดูหนังผีฝรั่งเห็นว่าผีฝรั่งนั้นไล่ไม่สู้ยาก แต่ถ้าใครเคยดูหนังผีไทยเวลาไล่ผีปอบจะเห็นว่าไล่กันโหดมาก ผู้หญิงที่โดนผีปอบสิงจะถูกหมอผีมัดและเฆี่ยนด้วยหวายลงอาคมจนยับเยินเจียน ตายกว่าผีจะยอมออกจากร่าง

หวังเป็นอย่างยิ่งอีกทีว่าหัวหน้าผีปอบ ทั้งสองตัวที่สิงรัฐไทยของเราอยู่นั้นจงยอมออกไปเสียที คืนรัฐไทยมาให้ประชาชนเอาไปสร้างบ้านสร้างเมืองกันใหม่ อย่าให้ลงแรงกันมาก ประเทศชาติเราเสียหายมากพอแล้ว ไม่ไหวแล้ว

จากมติิชน ออนไลน์
view