สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เรียนรู้ข้อกฎหมายจากคดีทุจริตคลองด่าน

เรียนรู้ข้อกฎหมายจากคดีทุจริตคลองด่าน



ดำเนิน ทรัพย์ไพศาล
บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2551 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้อ่านคำพิพากษาคดีเลขที่ อม.2/2550 ระหว่างอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจหน้าที่ ตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจ เพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือ ผู้อื่นและเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 33, 84, 148 และ 157 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 โดยมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลย 10 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และให้ริบพระเครื่องผงสุพรรณเลี่ยมทอง โดยถือว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิด

 

ผมเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชนทั่วไป และเป็นคดีที่น่าจะถือได้ว่าเป็นอุทาหรณ์และบทเรียนที่บรรดาผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง หรือข้าราชการการเมืองน่าจะได้รับทราบไว้จึงขออธิบายข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

 

ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องในคดีนี้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อ พ.ศ. 2550 ด้วยเหตุนี้ จำเลยจึงได้ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นในประเด็นสำคัญ คือ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2542 มีอำนาจในการพิจารณาคดีนี้หรือไม่ ทั้งนี้ เพราะหลักกฎหมายที่สำคัญตามประมวลกฎหมายอาญาของไทย ก็คือ บุคคลจะต้องได้รับโทษทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในกระทำนั้น บัญญัติเป็นความผิดและได้กำหนดโทษไว้

 

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ ว่า พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวไม่ได้บัญญัติขึ้นใหม่เพื่อใช้บังคับแก่จำเลยคน เดียว แต่ใช้กับบุคคลใดก็ตามที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งถูกฟ้องในคดีที่มีมูลแห่งการกระทำความผิดตามมาตรา 9 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น ศาลฎีกาฯ จึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ มาตรา 9 บัญญัติไว้ดังนี้ครับ

 

"มาตรา 9 ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีดังต่อไปนี้

 

(1) คดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่น ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น

 

(2) คดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาบุคคลตาม (1) หรือบุคคลอื่นเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดทางอาญาตาม (1)"

 

ผมขอเรียนท่านผู้อ่านเพิ่มเติมว่าการจัดตั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเพียงการจัดตั้งศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาคดี ประเภทใดประเภทหนึ่งเป็นการเฉพาะเท่านั้น ในทำนองเดียวกับการจัดตั้งศาลภาษีอากร ศาลแรงงาน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเมื่อมีคดีประเภทตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งแต่ละศาลเกิดขึ้น ก็จะต้องมีการพิจารณาและพิพากษาโดยศาลดังกล่าว กรณีจึงไม่ถือว่าเป็นการใช้กฎหมายอาญาให้มีผลย้อนหลังแต่อย่างใด

 

มาตราของประมวลกฎหมายอาญาที่อัยการสูงสุดอ้างถึง เพื่อขอให้ศาลสั่งลงโทษจำเลยที่สำคัญคือมาตรา 148 และมาตรา 157 และแม้ว่าศาลฎีกาฯ จะลงโทษจำเลยตามมาตรา 148 เพียงมาตราเดียว แต่ผมขออนุญาตชี้แจงบทบัญญัติของกฎหมายทั้ง 2 มาตรา ซึ่งบัญญัติไว้ดังนี้ครับ
 "มาตรา 148 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือ ประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือประหารชีวิต"

 


 "มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

 


 ศาลฎีกาฯ รับฟังข้อเท็จจริงว่ามีการข่มขืนใจหรือจูงใจให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและ เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดิน จังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี ออกโฉนดที่ดินตามฟ้องจำนวน 5 แปลง โดยไม่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย พฤติการณ์ที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะเป็นการข่มขืนใจ ก็คือ จำเลยซึ่งเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้เคยเรียกหัวหน้าฝ่ายทะเบียนที่ดินไป ต่อว่ากรณีการออกโฉนดที่ดินล่าช้าและกลั่นแกล้งด้วยการย้ายตำแหน่งหน้าที่ใน ลักษณะกลั่นแกล้ง และลดชั้น จำเลยเคยเรียกเจ้าพนักงานที่ดินสมุทรปราการ สาขาบางพลี ไปพบที่บ้านเพื่อขอให้รีบออกโฉนด และข่มขู่ แสดงอำนาจ เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินสมุทรปราการ สาขาบางพลีไม่สนองความต้องการ ก็ถูกย้ายไปเป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปัตตานี จำเลยเคยเรียกปลัดกระทรวงมหาดไทยและอธิบดีกรมที่ดินไปพบ เพื่อเร่งรัดให้มีการออกโฉนดที่ดิน

 

นอกจากนี้ เมื่อมีการนำโฉนดที่ดินไปมอบให้จำเลยที่บ้าน จำเลยก็ได้มอบพระเครื่องผงสุพรรณเลี่ยมทองคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินที่เกี่ยว ข้องด้วย พฤติการณ์เหล่านี้ ทำให้ศาลเห็นว่าจำเลยได้ใช้อำนาจข่มขืนใจหรือจูงใจเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและ เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี ให้ออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

 


 ศาลฎีกาฯ เห็นว่าพระเครื่องผงสุพรรณเลี่ยมทองเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำ ความผิด จึงมีคำสั่งให้ริบตามอำนาจที่ระบุไว้ในมาตรา 33 แห่งประมวลกฎหมายอาญาซึ่งบัญญัติไว้ดังนี้ครับ

 

 "มาตรา 33 ในการริบทรัพย์สิน นอกจากศาลจะมีอำนาจริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้อีกด้วย คือ

 

(1) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้ หรือไม่ไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือ
 (2) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยได้กระทำความผิด

 

เว้นแต่ทรัพย์สินเหล่านี้เป็นทรัพย์สินของผู้อื่น ซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด"

 

แม้ว่าศาลจะมีอำนาจกำหนดโทษจำคุกจำเลยตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือประหารชีวิตตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 148 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ก็ตาม แต่ศาลฎีกาฯ ก็ได้ใช้ดุลยพินิจกำหนดโทษจำเลยในคดีนี้ตามพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของ จำเลยไว้เพียง 10 ปี และคดีนี้มีอายุความ 15 ปี นับแต่วันที่จำเลยหลบหนีครับ

 

 ****
บทความนี้ เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่



จากกรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์
view