สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ย้อนรอย... ทุจริตที่ดินรัชดา ก่อนศาลฎีกาฯชี้ชะตา"แม้ว-อ้อ" 17 ก.ย. โทษสูงสุดจำคุก 10 ปี - ริบทรัพย์

ย้อนรอย... ทุจริตที่ดินรัชดา ก่อนศาลฎีกาฯชี้ชะตา"แม้ว-อ้อ" 17 ก.ย. โทษสูงสุดจำคุก 10 ปี - ริบทรัพย์

จากมติชนออนไลน์

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการ เมืองนัดฟังคำพิพากษาคดีการทุจริตจัดซื้ดที่ดิน ถนนรัชดาภิเษก มูลค่า 772 ล้านบาทจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นจำเลยในวันพุธที่ 17 กันยายน

หมายเหตุ : "มติชนออนไลน์" ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำพิพากษาคดีการทุ จริตจัดซื้ดที่ดิน ถนนรัชดาภิเษก มูลค่า 772 ล้านบาทจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นจำเลยในวันพุธที่ 17 กันยายน 2551   เพื่อให้เข้าใจที่มาที่ไปของคดีนี้ ก่อนมีคำพิพากษาประวัติศาสตร์ จึงขอนำคำฟ้องของคดีดังกล่าวซึ่งนายเศกสรร บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษที่นายพชร ยุติธรรม อัยการสูงสุด(ขณะนั้น) ลงนามเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2550มานำเสนอ
----------------------------------------------- ข้อ 1 จำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่กำหนดและกำกับนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน และนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 88, 211, 212 และมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลและบังคับบัญชาให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทใน ฝ่ายบริหารปฏิบัติงาน
โดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485, พ.ศ.2528 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้กำกับดูแล เป็นหน่วยงานของรัฐ และเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมาย มีคณะกรรมการจัดการกองทุนประกอบด้วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประธานกรรมการ และมีผู้จัดการกองทุนเป็นเลขานุการ โดยรัฐบาลกำหนดให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯมีอำนาจเพิ่มยอดเงิน รับภาระประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงิน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดหาเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุน เพื่อการฟื้นฟูฯ พ.ศ.2541 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ออก พ.ร.ก.กำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดหาเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกอง ทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ พ.ศ.2549
ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ และเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการของกองทุน
ข้อ 2 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2538 กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯได้ซื้อที่ดินของบริษัทเงินทุน (บง.) เอราวัณ ทรัสต์ จำกัด จำนวน 2 แปลง เป็นเงิน 4,889,379,500 บาท สำหรับแปลงข้อพิพาทนี้ติดถนนเทียนร่วมมิตร แขวง-เขตห้วยขวาง กทม. รวม 13 โฉนด เนื้อที่รวม 35-2-69 ไร่ ราคา 2,140,357,500 บาท และเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2546 ได้ดำเนินการประมูลขายที่ดินแปลงดังกล่าว โดยกำหนดราคาขั้นต่ำ 870 ล้านบาท และผู้เข้าประมูลจะต้องวางเงินมัดจำการยื่นซอง 10 ล้านบาท ปรากฏว่ามีผู้แสดงความจำนงจะซื้อ 8 ราย แต่มีผู้ลงทะเบียนยื่นซองเสนอราคาและชำระเงินมัดจำ 10 ล้านบาท เพียง 3 ราย คือ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ทองหล่อ เรสซิเด้นท์ จำกัด และบริษัท แสนสิริ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) แต่ผู้ลงทะเบียนยื่นซองเสนอราคาทั้ง 3 รายดังกล่าว ไม่เสนอราคาประมูลมาให้พิจารณาจึงมีการยกเลิกการประมูลขายที่ดินขั้นต้น
ต่อมากองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯได้รังวัดแบ่งแยกที่ดินแปลงดังกล่าวใหม่ โดยกันส่วนที่เป็นสาธารณะประโยชน์ออก การแบ่งแยกที่ดินจาก 13 โฉนด เหลือเพียง 4 โฉนด เลขที่ 2298, 2299, 2300 และ 2301 เหลือเนื้อที่เพียง 33-0-78.9 ไร่ แล้วประกาศประมูล เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2546 โดยกำหนดให้ผู้เข้าประกวดราคาต้องวางเงินมัดจำการยื่นซองเป็นเงินถึง 100 ล้านบาท ซึ่งเกิน 10% ตามที่ระบุในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเป็นระเบียบที่นำมาใช้ในการปฏิบัติ มีผู้ซื้อแบบ 4 ราย แต่มีผู้ยื่นซองเสนอราคาและชำระเงินมัดจำการยื่นซอง 3 ราย คือ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เสนอราคา 730,000,000 บาท, บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เสนอราคา 750,000,000 บาท และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สมรสจำเลยที่ 1 เสนอราคา 772,000,000 บาท
กระทั่งคณะกรรมการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯอนุมัติให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชนะการประมูลและกำหนดให้จำเลยที่ 2 นำเงินมาชำระก่อนวันที่ 29 ธันวาคม 2546 ต่อมาได้ทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิพร้อมส่งมอบที่ดินวันที่ 30 ธันวาคม 2546 โดยการทำนิติกรรมจำเลยที่ 1 ได้ลงนามยินยอมพร้อมแสดงสำเนาบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทข้าราชการ การเมือง ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
การประกาศขายที่ดินโดยวิธีประกวดราคาวันที่ 25 พฤศจิกายน 2546 น่าเชื่อว่ามีการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพราะ 1)การประกวดราคาไม่กำหนดราคาที่ดินขั้นต่ำ 2)กำหนดวางเงินในการยื่นซอง 100 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่า 10% ของราคากลาง และ 3)มีการยกเลิกข้อจำกัดเรื่องความสูงในการก่อสร้างอาคาร ภายหลังที่จำเลยที่ 2 ประมูลได้ทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้น
ข้อ 3 เมื่อระหว่างวันที่ 3-30 ธันวาคม 2546 ต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้บังอาจร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ
3.1 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามความใน มาตรา 100 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และ พ.ศ.2544 และจำเลยที่ 2 คู่สมรสของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ ดังกล่าว ได้ร่วมกันเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขาย ที่ดิน 4 โฉนด เลขที่ 2298, 2299, 2300 และ 2301 เนื้อที่ 33-0-78.9 ไร่ ดังกล่าวที่ทำสัญญากับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดีดังกล่าว จึงเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม โดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 หมวด 9 มาตรา 100
3.2 จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการการบริหารสินทรัพย์ของกองทุน เมื่อจำเลยที่ 1 ให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สมรสในการทำสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขายที่ดิน 4 โฉนด แปลงดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียทำให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯได้รับความเสียหาย อันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
ข้อ 4 คดีนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯซึ่งเป็นผู้เสียหายได้มายื่นคำร้องกล่าวโทษและ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มีมติให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ดำเนินคดีจำเลยที่ 1 และที่ 2 อัยการสูงสุด จึงได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันเป็นคู่สัญญา หรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี และเป็นเจ้าพนักงานและผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการ ใดเข้าไปมีส่วนได้เสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตัวเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้นเป็นเจ้าพนักงานและผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4, 100 และ 122 ประกาศคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่องกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามความใน มาตรา 100 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2544 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 86, 90, 91, 152 และ 157 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2502 มาตรา 8, 13 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 กันยายน 2549
โดยขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาพิพากษา ลงโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมาย และขอให้ศาลสั่งริบเงินจำนวน 772 ล้านบาท ที่จำเลยทั้งสองใช้ในการกระทำความผิด และริบที่ดินตามโฉนด เลขที่ 2298, 2299, 2300 และ 2301 ถนนเทียนร่วมมิตร แขวง-เขตห้วยขวาง กทม. ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดของจำเลยที่สองด้วย
อนึ่ง -สำหรับข้อหาตามความผิดที่ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ชินวัตรถูกกล่าวหามีระวางโทษดังนี้
@ การกระทำขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯมาตรา 100 กำหนดโทษให้ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
@ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 บัญญัติว่า  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน  มีหน้าที่จัดการหรือดุแลกิจการ เข้ามีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการ นั้น ต้อง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท
@ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 บัญญัติว่า  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยทุจริต ต้อง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
view