สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

"ดีเอสไอ"ลุยบริษัทแต่งบัญชี จับมือก.ล.ต.สอบเชิงลึก

500 บริษัทในตลาดหุ้นหนาว ดีเอสไอจับมือ ก.ล.ต.ตรวจสอบเชิงลึกบริษัทตกแต่งบัญชี-ไซฟอนเงินตลาดหุ้น เช็กบิลผู้บริหารฉ้อฉลนำเงินเข้ากระเป๋า เชิดลูกจ้าง-คนขับรถเป็นนอมินี หวังป้องประโยชน์ผู้ถือหุ้น สร้างความโปร่งใสตลาดทุน พร้อมเดินหน้าสางคดีเลี่ยงภาษี ตั้งทีมลุยปราบ "นอมินี" รับจ้างต่างด้าวเลี่ยงภาษีซื้อขายบ้านและที่ดินหมื่นล้าน นำร่องแหล่งกบดานอาชญากรรมข้ามชาติ สมุย ภูเก็ต หัวหิน ตราด เชียงใหม่ ก.ล.ต.ระบุตั้งแต�ปี 2547 สั่งให้แก้ไขงบการเงิน 36 แห่ง ฟันบริษัทตกแต่งงบการเงินอีก 7 คดี



พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ปรับระบบงานไปสู่การทำงานเชิงรุก และสร้างระบบการเฝ้าระวังการกระทำความผิดคดีเศรษฐกิจในตลาดเงิน ตลาดทุน เนื่องจากพบการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์มาก ขึ้น โดยเฉพาะการปั่นหุ้น หรือการตกแต่งบัญชีบริษัท โดยผู้บริหารไซฟอนเงินออกจากบริษัทในตลาดหุ้น ซึ่งทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายมหาศาล ที่สุดแล้วเงินที่นำออกจากบริษัทก็จะกลับเข้าสู่กระเป๋าของผู้บริหาร

ทั้ง นี้พฤติการณ์ที่พบมาก คือ กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท ร่วมกันนำเงินออกจากบริษัทใหญ่โดยผ่านบริษัทในเครือ หรือบริษัทลูก ซึ่งกรรมการบริษัทใหญ่จะมีบริษัทในเครือหลายแห่ง ขณะเดียวกันก็จะพบวิธีการหลักๆ คือ 1.มีผลประโยชน์ทับซ้อน (conflic of interest) เช่น ใช้บริษัทในเครือเข้ามาประมูลงาน 2.ให้คนขับรถ คนในบ้าน มาเป็นนอมินี และ 3.ทำหลักฐานเท็จทางบัญชี เป็นต้น

"ดีเอสไอได้เข้า ไปประสาน และอยู่ระหว่างการตรวจสอบร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯและสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งตอนนี้ก็พยายามดำเนินคดีอยู่ 2-3 คดี ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯประมาณ 500 บริษัท ยอมรับว่าการตรวจสอบเป็นเรื่องละเอียดอ่อน พอทำไปแล้วก็สะเทือน แต่ต้องมีมาตรฐาน หลายคดีจะต้องมีคุณภาพ สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนไทยและต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาด หลักทรัพย์ไทยว่ามีระบบและกลไกที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล และผู้ถือหุ้นได้รับประโยชน์สูงสุด นี่คือจุดยืนที่ดีเอสไอเข้ามาทำคดีในตลาดทุน" พ.ต.อ.ทวีกล่าว

อธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยด้วยว่า แนวโน้มอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับการเงิน การธนาคาร และภาษีอากร เพิ่มจำนวนมากขึ้น ที่ผ่านมากรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเป็นคดีพิเศษหลายสิบคดี ซึ่งเป็นคดีที่คำนวณเป็นมูลค่าเงินได้และสามารถปกป้อง เรียกคืน ให้แก่รัฐในคดีพิเศษต่างๆ จำนวน 251 คดี รวมมูลค่าความเสียหาย 100,157.436 ล้านบาท

ทั้งนี้สามารถจำแนกประเภทคดีดังกล่าว ได้แก่ 1)คดีพิเศษเกี่ยวกับภาษีอากร เช่น สำแดงเท็จหลีกเลี่ยงอากร จำนวน 66 คดี มูลค่าความเสียหาย 10,510 ล้านบาท ค่าปรับ/ชำระภาษี 897.702 ล้านบาท 2)คดีพิเศษเกี่ยวกับการเงินการธนาคาร จำนวน 31 คดี มูลค่าความเสียหาย 50,403 ล้านบาท ค่าปรับ 13,800 ล้านบาท

3)คดีพิเศษฉ้อโกงประชาชน จำนวน 51 คดี มูลค่าความเสียหาย 3,295 ล้านบาท 4)คดีพิเศษฮั้วประมูล 14 คดี มูลค่าความเสียหาย 34,964 ล้านบาท 5)คดีพิเศษเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน 89 คดี มูลค่าความเสียหาย 983 ล้านบาท

และ 6)คดีพิเศษเกี่ยวกับการบุกรุกที่ดิน/ป่าไม้/ออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ จำนวน 52 คดี มีพื้นที่ถูกบุกรุก 16,646 ไร่ มูลค่าความเสียหายประมาณ 2 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังสามารถตัดวงจรการฉ้อโกงสถาบันการเงิน โดยนำเอกสารสิทธิที่ออกโดยมิชอบมาเป็นหลักทรัพย์ในการกู้เงินจากสถาบันการ เงินจำนวนมากแล้วปล่อยให้เป็นหนี้เอ็นพีแอล

นอกจากนี้นโยบายสำคัญ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่จะต้องร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อต่อยอดการพิสูจน์ความผิด และใช้มาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด ได้แก่ งานปราบปรามการบุกรุกที่ดินของรัฐและการทำลายทรัพยากรป่าไม้ และคดีนอมินีที่สนับสนุนให้คนต่างด้าวเข้ามาซื้อขายบ้านและที่ดินโดยการหลบ เลี่ยงภาษีสรรพากร โดยจะเริ่มโครงการนำร่องในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ เชียงใหม่ และตราด ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มีการร้องเรียนมากที่สุด และพบว่าการลงทุนส่วนใหญ่เป็นการฟอกเงินจากแก๊งมาเฟียข้ามชาติ ซึ่งไม่มีการนำเงินจากการซื้อขายบ้านและที่ดินเข้าประเทศไทยและหลบเลี่ยง ภาษีอีกด้วย

ขณะนี้ได้ตั้งทีมงานพนักงานสอบสวนเพื่อเร่งดำเนินการ ในเรื่องนี้แล้ว อย่างไรก็ตามจะต้องสร้างความเข้าใจและทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมที่ดิน องค์กรท้องถิ่น รวมทั้งผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการท่องเที่ยวด้วย

ด้าน นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า การตรวจสอบงบการเงินของบริษัทจดทะเบียน ทาง ก.ล.ต.จะมีการดำเนินการเป็นปกติอยู่แล้ว โดยมีทีมงานเฉพาะภายในที่เชี่ยวชาญติดตามงบการเงินที่ส่งเข้ามาว่าถูกต้อง ตามหลักมาตรฐานสากลหรือไม่ หากพบรายการที่ลงบัญชีผิดปกติ จะให้ชี้แจงและแก้ไขให้ถูกต้อง และหากพบสิ่งที่ผิดปกติจนนำไปสู่การกระทำที่ผิดกฎหมาย จะมีการส่งเรื่องให้ทาง ดีเอสไอตรวจสอบเชิงลึกต่อไป

"งานตรวจสอบ บริษัทที่ตกแต่งบัญชี ก.ล.ต.ต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานเพื่อพิสูจน์ทราบ ที่สำคัญภายหลังพบมูลความผิดก็จะมีการส่งเรื่องให้กับทางดีเอสไอตรวจสอบใน เชิงลึกอยู่แล้ว" นายธีระชัยกล่าว

ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักงาน ก.ล.ต.รายงานว่า ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน มีบริษัทจดทะเบียนที่ถูกสั่งให้แก้ไขงบการเงินทั้งหมด 36 แห่ง สำหรับกรณีที่มีการกล่าวโทษบริษัทจดทะเบียนที่กระทำผิดเกี่ยวกับการตกแต่งงบ การเงิน (ไม่รวมกรณีทำงบการเงินเท็จหรือส่งล่าช้า) ตั้งแต่ปี 2546 ถึงปัจจุบันมีทั้งหมด 7 คดี ได้แก่ ปี 2546 มี 1 คดี คือ กรณี บมจ.รอยเนท (ROYNET), ปี 2547 มี 1 คดี กรณี บมจ.กรุงเทพผลิตเหล็ก (BSI)

ปี 2548 จำนวน 2 คดี กรณี บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น (PICNI) และ บมจ.ไดโดมอน กรุ๊ป (DAIDO) ปี 2549 จำนวน 3 คดี ได้แก่ บมจ.เซอร์คิทอีเลคโทรนิคส์อินดัสตรีส์ (CIRKIT), PICNI และ บมจ.เพาเวอร์-พี (POWER) ส่วนปี 2550 ถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการกล่าวโทษ

จาก ประชาชาติธุรกิจ
view