สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เขาจะกินข้าวกันคำใหญ่ !

เขาจะกินข้าวกันคำใหญ่ !

มรว.ปรีดียาธร เทวกุล

วันนี้ ผมขอยกเรื่องซึ่งรัฐบาลก่อนได้ทำความเสียหายเป็นตัวเงิน และในที่สุดต้องตั้งงบประมาณมาชดเชย ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วและแก้ไขไม่ได้แล้ว เป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้เตรียมการที่จะทำในปริมาณที่มากกว่าและมองเห็นได้ ชัดเจนว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายเป็นตัวเงินอีกเป็นจำนวนสูงมากทีเดียว ไม่ใช่เป็นพันล้าน แต่เป็นจำนวนถึงหลายหมื่นล้านบาท ด้วย ความหวังว่าเมื่อเขียนเรื่องนี้ออกไปแล้วผู้ที่เกี่ยวข้องจะช่วยกัน หยุดยั้ง และผู้อ่านที่เป็นห่วงบ้านเมืองจะได้ช่วยกันปลุกสำนึก ความรับผิดชอบจนรัฐบาลนี้เลิกราโครงการนี้

เรื่องนี้ก็คือเรื่องการ รับจำนำข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดมาก การรับจำนำข้าวนั้นตามปกติจะทำเฉพาะในช่วงเวลาของการเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งมีปริมาณข้าวล้นตลาดมาก การรับจำนำในช่วงนั้นจะช่วยดึงอุปทาน (supply) ข้าวออกจากตลาด ทำให้ราคาข้าว ไม่ลดต่ำเกินไป และหลังจากนั้นเมื่อแรงซื้อเพิ่มขึ้นตามความต้องการในประเทศและเพื่อการส่ง ออก ราคาตลาดของข้าวก็จะทยอยเพิ่มขึ้น และผู้จำนำข้าวก็สามารถไถ่ถอนจำนำมาขายในตลาดด้วยราคาที่สูงขึ้น ได้กำไรมากขึ้น โดยปกติการรับจำนำในช่วงที่ ข้าวนาปีออกสู่ตลาดตอนปลายปี จะทำเป็นจำนวนสูงนับ 2-3 ล้านตัน ส่วนในระยะที่ข้าวนาปรังออกสู่ตลาด จะทำในจำนวนที่น้อยกว่ามาก คือเป็นจำนวนแสนและไม่ถึงล้านตัน แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่รัฐบาลดำเนินการรับจำนำข้าวในช่วงที่ข้าวนาปรังออกสู่ ตลาดเป็นจำนวน สูงถึง 3.5 ล้านตัน ซึ่งไม่มีความจำเป็นใดๆ ทั้งสิ้น เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่ราคาในตลาดสูงอยู่แล้ว กล่าวคือราคาตลาดของข้าวเปลือกเจ้าเฉลี่ยในเดือนพฤษภาคม (ซึ่งมีการเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง) สูงมากถึง 13,297 บาทต่อตัน สูงกว่าราคาตลาดในเดือนเดียวกันของปี 2550 (6,230 บาท/ตัน) ถึง 110%

ในสถานการณ์ที่ราคาตลาดสูงเป็นประวัติการณ์เช่นนี้ไม่มีความจำเป็นใดๆ ทั้งสิ้นที่จะรับจำนำข้าวนาปรัง ซึ่งจำนวนที่เก็บเกี่ยวไม่มากมายเช่นข้าวนาปีและมีความต้องการเพื่อส่งออกรอ อยู่แล้ว แต่รัฐบาลที่ผ่านมาก็ยังอนุมัติให้ดำเนินการทั้งๆ ที่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องคัดค้าน และที่น่าสงสัยมากในการดำเนินการครั้งนี้ก็คือ ตามปกติในการรับจำนำข้าวนั้นกระทรวงพาณิชย์และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ การเกษตรจะต้องดำเนินการร่วมกัน แต่ในครั้งนี้อดีตนายกรัฐมนตรีร่วมกับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบ ให้ ธ.ก.ส.ทำแต่เพียงผู้เดียว เป็นที่กังขาของผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ยังกำหนด ราคารับจำนำสูงมากเป็นประวัติการณ์ คือ รับจำนำข้าวเปลือกเจ้าสูงถึง 14,000 บาท/ตัน ในขณะที่ราคารับจำนำข้าวนาปีเมื่อต้นฤดู (ปลายปี 2550) เป็นเพียง 6,600 บาท/ตัน โดยให้เหตุผลว่าต้องการดึงให้ราคาข้าวเปลือกเจ้าในตลาดสูงอยู่ที่ 14,000 บาท/ตันต่อไป ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เนื่องจาก ราคาข้าวในตลาดนั้นผูกพันอยู่กับราคาส่งออก ราคาข้าวเปลือกเจ้า 14,000 บาท/ตันนี้เมื่อสีเป็นข้าวสารแล้ว ต้นทุนจะสูงกว่าราคาในตลาดโลกไม่สามารถส่งออกได้ และก็เป็นข้อเท็จจริงที่ว่าราคาตลาดของข้าวเปลือกเจ้าได้ลดลงจากเฉลี่ย 13,297 บาท/ตันในเดือนพฤษภาคม เหลือเพียง 12,088 บาท/ตันในเดือนสิงหาคม และมีแนวโน้มที่จะลดลงไปอีกตาม ราคาของตลาดโลก ซึ่งรู้กันอยู่ว่าปริมาณข้าวนาปีที่จะเก็บเกี่ยว สิ้นปีนี้จะออกมามากกว่าปกติ อันเป็นการสนองตอบต่อราคาที่สูง และที่ผ่านมาในปีนี้ปริมาณข้าวนาปีทั่วโลกที่จะออกมามาก ย่อมจะกดให้ราคาข้าวในตลาดโลกลดลงไปจากราคาปัจจุบัน ซึ่งยังนับว่า สูงกว่าปกติอยู่พอควร

เป็นธรรมดาที่การกำหนดราคาจำนำที่สูงกว่าราคา ตลาดย่อมดึงดูดให้มีคนนำข้าวมาจำนำกันอย่างเต็มที่จนถึงจำนวน 3.5 ล้านตัน ข้าวเปลือกตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ราคาจำนำที่สูงดังกล่าวทำให้ผู้ที่ นำข้าวมาจำนำแล้วไม่ยอมไถ่ถอนคืนและทิ้งให้เป็นของรัฐทั้งหมด ข้าวทั้ง 3.5 ล้านตันยังอยู่ที่ ธ.ก.ส. ถ้าจะขายออกตามราคาตลาดในวันนี้ (11,800-11,900 บาท/ตัน) ก็จะขาดทุนทันทีเป็นจำนวนอย่างน้อย 7,350 ล้านบาท แต่การขายข้าวจำนวนมากขนาด 3.5 ล้านตันออกต้องใช้เวลาพอควร ถ้าเร่งขายออกเร็ว ก็จะกดราคาตลาดให้ต่ำลงอย่างรวดเร็ว ข้าวนาปีก็กำลังจะออกมาซึ่งจะทำให้ราคาตลาดลดลงอยู่แล้ว เชื่อได้ว่าจำนวนขาดทุน จากการขายข้าวปริมาณ 3.5 ล้านตันดังกล่าวจะมากกว่า 7,350 ล้านบาท เป็นไปได้ค่อนข้างมากว่าคงจะขาดทุนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาทในที่สุด

เป็นความบกพร่องของอดีตนายกรัฐมนตรีและอดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยแท้ ที่ไม่ยอมฟังคำทัดทานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่รู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี ถ้าจะพูดไปไม่ใช่ เรื่องยากที่จะมองเห็นได้ว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรับจำนำข้าวนาปรังดัง อธิบายแล้วข้างต้น เห็นได้ไม่ยากว่าการรับจำนำในราคาสูงกว่าราคาตลาดโลกนั้นไม่สามารถรักษาให้ ราคาตลาดยังสูงอยู่ในระดับนั้นต่อไปได้ และเห็นได้ไม่ยากว่าทำแล้วจะขาดทุน อย่างแน่นอน ซึ่งในที่สุดก็จะต้องตั้งงบประมาณมาชดใช้ ทั้งสองท่านนั้นฉลาดเฉลียวน่าจะมองเห็นสิ่งต่างๆ ที่อธิบายได้ชัดเจนตั้งแต่แรกแล้ว แต่ทำไมจึงตัดสินใจทำลงไปทั้งที่ขัดกับความเห็นของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ผู้สันทัดกรณี มีวาระ ซ่อนเร้นใดอยู่หรือ ?

ผลขาดทุนกว่า 10,000 ล้านบาทเมื่อเทียบกับราคาตลาด ย่อมหมายถึงมีผู้ได้รับประโยชน์มากกว่าที่ควรจะเป็นไปตามราคาตลาด (ซึ่งสูงอยู่แล้ว) เป็นจำนวนมาก ผลประโยชน์นี้ตกเป็นของชาวนาผู้เป็นเจ้าของข้าวดั้งเดิมเท่านั้นหรือ ? หรือว่าพ่อค้าและ โรงสีแบ่งประโยชน์ไปด้วยในฐานะเป็นตัวกลางที่นำข้าวมาจำนำ ในฐานะผู้ที่เอื้อเฟื้อโกดังในการรับจำนำหรือในฐานะที่ซื้อข้าวมาจากชาวนาใน ราคาตลาดแล้วนำมาจำนำต่อ ? นอกจากนี้พ่อค้าและโรงสีเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับนักการเมืองและต้องดูแล ความสัมพันธ์เหล่านั้นเพื่อได้ประโยชน์ดังกล่าวด้วยหรือไม่ ?เป็นคำถามที่ผมฝากให้ท่านผู้อ่านช่วยคิดต่อ

ที่เขียนมาข้างต้นนั้น เป็นสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว ป้องกันอะไรไม่ได้อีกแล้ว ผลขาดทุนที่จะเกิดขึ้นเมื่อขายในที่สุดกว่า 10,000 ล้านบาทนั้น ผู้ที่ตัดสินใจทั้งสองท่านก็คงไม่ยอมรับผิดชอบ เป็นกรรมของประเทศชาติจริงๆ แต่ยังมีแผนการรับจำนำข้าวอีก 2 โครงการที่รัฐบาลปัจจุบันตั้งใจทำเพิ่มเติม โครงการแรกเป็นข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่ให้ขยายการรับจำนำ ข้าวนาปรังจาก 3.5 ล้านตัน เป็น 4.5 ล้านตัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่สุดเพราะข้าวนาปรังนั้นออกมาตั้งแต่เดือน พฤษภาคม ขณะนี้ เกือบครบ 5 เดือนไม่น่าจะมีข้าวนาปรังเหลืออยู่ในมือชาวนาแล้วนอกจากจำนวนที่เก็บไว้ บริโภค ข้าวนาปรังดังกล่าวน่าจะได้เปลี่ยนมือไปอยู่ที่พ่อค้าและโรงสีหมดแล้ว ที่น่าเป็นห่วงก็คือคณะรัฐมนตรีได้กำหนดราคารับจำนำไว้ที่ 14,000 บาท/ตัน ทั้งที่ราคา ข้าวเปลือกในตลาดปัจจุบันไม่เกิน 12,000 บาท/เกวียน เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่พ่อค้าและโรงสีซึ่งซื้อข้าวมาแล้วจากชาวนา สามารถนำข้าวดังกล่าวมาจำนำกับ ธ.ก.ส.ได้ในราคา 14,000 บาท/ตัน ได้กำไรง่ายๆ โดยไม่ต้องทำอะไรเลยราว 2,000 บาท/ตัน เป็นที่น่าสังเกตว่ามีการอนุมัติขยายการรับจำนำครั้งนี้อย่างรีบร้อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์นำเสนอ ครม.ในวันที่ 16 กันยายน ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งหลังจากถูกรัฐธรรมนูญตัดสินคดีแล้ว และเป็นช่วงรอยต่อที่รอนายกรัฐมนตรีคนใหม่อยู่ การประชุม ครม.วันที่ 16 กันยายนนั้นเป็นการประชุมที่มีรักษาการนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่ประชุม และขณะนี้ได้มีการรับจำนำข้าวนาปรังเพิ่มเติมจาก เป้าเดิม 3.5 ล้านตันขึ้นมาอีกหลายแสนตันแล้ว ในที่สุดก็คงจะ รับจำนำกันครบ 4.5 ล้านตันจนได้ ข้าว 1 ล้านตันส่วนเพิ่มนี้รับจำนำสูงกว่าราคาตลาดวันเดียวกันถึงเกวียนละกว่า 2,000 บาท ถ้าขายออกทันทีก็จะขาดทุนอย่างน้อย 2,000 ล้านบาท แต่กว่าจะขายออกราคาคงจะลดต่ำลงไปอีกตามสภาวะของตลาดโลกและตลาดในประเทศซึ่ง รู้กันอยู่แล้ว และน่าจะขาดทุนอีกไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท จึงมีคำถามเช่นเดียวกันว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรักษาการนายกรัฐมนตรี ซึ่งอนุมัติในเรื่องนี้จะรับผิดชอบกับผลการขาดทุนครั้งนี้หรือไม่ เพราะเป็นการกระทำที่เห็นได้ชัดว่าจะขาดทุนอย่างแน่นอน ส่วนผลประโยชน์จะตกถึงมือใครบ้างนอกจากพ่อค้าและโรงสีนั้น เป็นสิ่งที่คาดเดากันได้ไม่ยาก

อีกโครงการหนึ่งที่เตรียมจะทำซึ่ง มีขนาดใหญ่กว่าที่ทำมาแล้ว และจะก่อให้เกิดความเสียหายทางการเงินในจำนวนที่สูงกว่ามากก็คือ การรับจำนำข้าวนาปีที่จะออกมาตอนปลายปี โดยคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้ตั้งเป้าให้รับจำนำถึง 8 ล้านตัน ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดที่เคยทำมา และกำหนดราคารับจำนำไว้สูงกว่าตลาดคือ 14,000 บาท/ตันเช่นกัน สำหรับข้าวเปลือกเจ้า (และ 16,000 บาท/ตันสำหรับข้าวเปลือกหอมมะลิ ซึ่งจะขอไม่พูดถึงในการอธิบายเรื่องผลขาดทุน ในที่นี้ เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับราคาข้าวเปลือกเจ้าในลักษณะเดียวกัน) ทั้งๆ ที่คาดเดาได้ว่าราคาตลาดสำหรับข้าวเปลือกเจ้า ในช่วงนั้นคงจะอยู่ที่ 10,000-11,000 บาท/ตัน ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าที่เคยเป็นมาทุกปี และเป็นราคาที่ชาวนาได้กำไรอยู่แล้ว ผมเห็นด้วยว่าควรเข้ารับจำนำบ้างเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกกดราคา ลงไปต่ำกว่า 10,000 บาท/ตัน ทั้งนี้เพื่อให้ชาวนามีรายได้ และมีกำไรดีพอควร แต่การที่จะกำหนดให้รับจำนำสูงถึง 14,000 บาท/ตัน ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดโลกนั้นผู้ที่ได้ประโยชน์จะเป็นเฉพาะผู้ที่นำข้าวมาจำนำ 8 ล้านตันเท่านั้น ข้าวนาปีที่ออกมามีจำนวนกว่า 21 ล้านตัน ข้าวเปลือกส่วนที่เหลืออาจจะต้องขายต่ำกว่า 10,000 บาท/ตันก็เป็นได้ เพราะเมื่อพ่อค้ารู้ว่ามีข้าวจำนวนมากถึง 8 ล้านตันอยู่ในมือหน่วยงานของรัฐ

ข้อมูลดังกล่าวจะกดราคาข้าวในตลาด ไม่ให้เพิ่มขึ้นได้และอาจจะลดลงไปอีกด้วย ที่แน่ชัดก็คือหน่วยงานของรัฐที่รับข้าวจำนวน 8 ล้านตันนี้ไว้ เมื่อขายข้าวออกไปจะขาดทุนถึง 24,000-30,000 ล้านบาท ซึ่งต้องตั้งงบประมาณนำภาษีของประชาชนมาชดใช้ในที่สุด และเป็นที่โจษจันกันในวงการข้าวต่างจังหวัดแล้วว่าพ่อค้าข้าวและโรงสีเริ่ม เจรจาซื้อข้าวจากชาวนาไว้ก่อนที่ข้าวนาปี จะออกในราคาตลาดปัจจุบัน ซึ่งชาวนาพอใจและมีกำไรเพื่อ เตรียมไว้สำหรับนำมาจำนำในราคา 14,000 บาท/ตัน ได้กำไรอย่างสบายๆ อย่างน้อย 2,000 บาท/ตัน ผลประโยชน์ส่วนเพิ่ม จากการรับจำนำ 8 ล้านตันครั้งนี้มากมายเหลือเกิน จะตกถึงมือใครบ้างสุดที่จะเดา แต่เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นเลยเพราะราคาตลาดก็สูงอยู่แล้ว ที่แน่ชัดก็คือหน่วยงานของรัฐจะขาดทุนสูงมากอย่างน้อยอีก 24,000 ล้านบาท และในที่สุด ต้องตั้งงบประมาณมาชดใช้

เรื่องนี้อนุมัติโดย กขช.แล้วแต่ยังปฏิบัติไม่ได้จนกว่าครม.จะอนุมัติ ผมหวังว่าเมื่อมีการนำเรื่องนี้เข้า ครม. รองนายกรัฐมนตรีที่คุมด้านเศรษฐกิจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นนักวิชาการและเข้าใจเรื่องนี้อยู่แล้วน่าจะคัดค้านโครงการที่จะเกิด ความเสียหายทางการเงินเช่นนี้ เพราะถ้า โครงการที่เห็นได้ชัดขนาดนี้ยังผ่านไปได้ ความเชื่อถือในตัวท่าน ทั้งสองจะหมดไปทันที

ท้ายที่สุดผมอยากถามศาลปกครองหรือผู้ทรงคุณวุฒิ ในด้านกฎหมายว่า ในกรณีที่นักการเมืองดำเนินการหรือตัดสินใจ ในเรื่องที่เห็นได้ชัดตั้งแต่แรกว่าจะเกิดความเสียหาย จนในที่สุดก็มีความเสียหายเป็นตัวเงินเกิดขึ้นจริงนั้น เรามีหนทางที่จะดำเนินการให้นักการเมืองผู้นั้นรับผิดชอบในลักษณะใดได้บ้าง และเอาผิดได้หรือไม่ ไม่ว่าเป็นทางแพ่งหรือทางอาญา ใครรู้ช่วยบอกผมที เพื่อจะเอาไว้ใช้ป้องกันความเสียหายของบ้านเมืองต่อไป
view