สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แฉลำไยในโกดัง'อตก.'ล่องหนกว่า1หมื่นตัน

นักวิชาการแฉลำไยในโกดัง อ.ต.ก.ล่องหนกว่า1หมื่นตัน เหลือ50,000ตัน คาดโจรกรรมไปขายปนของใหม่ ด้านทัพภาค3 เผยยกเลิกคณะทำงานฯทุบเปลือกแล้ว เหลือสัญญา อคส.อีก 2หมื่นตัน

กรุงเทพ ธุรกิจ ออนไลน์ : รศ.ดร.พรชัย เหลืองอาภาพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานชีวมวล คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)  เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแนวทางจัดการลำไยอบแห้ง ปี 2546 - 2547 ที่ค้างสต็อกในโกดังจำนวน 60,000 ตัน  2 แนวทาง คือนำไปแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์เพื่อมอบให้เกษตรกร และประสานกับนักวิชาการ เพื่อหาวิธีการนำลำไยไปผลิตเป็นเอทานอล หลังยกเลิกสัญญากับเอกชนที่ประมูลลำไยได้แต่ไม่สามรถรับมอบลำไยได้ตามสัญญา เมื่อเดือน มี.ค. 2551 ที่ผ่านมา

โดยจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณา  แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าและปรากฎว่าล่าสุดมีข่าวลำไยอบแห้ง ในความรับผิดชอบขององค์การตลาดเพื่เกษตรกร (อ.ต.ก.) ถูกโจรกรรมออกไปกว่า 200 ตัน จากโกดังในอ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่

ศูนย์พลังงานชีวมวล เคยเสนอแนวทางแก้ปัญหานำไลไยอบแห้งค้างสต็อกมาผลิตเอทานอล ส่วนที่เหลือจากการผลิตจะนำมาทำปุ๋ยชีวภาพแจกจ่ายเกษตรกร จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ลำไยถูกโจรกรรม เชื่อว่าลำไยที่ค้างสต็อกอยู่จากจำนวน 60,000 ตัน ขณะนี้อาจเหลืออยู่เพียง 50,000 ตัน สูญหายไปประมาณ 10,000 ตัน ซึ่งลำไยอบแห้งที่เหลือคาดว่ามีเพียง 20% เท่านั้นที่มีคุณภาพ ส่วนที่เหลือเสียหายแทบทิ้งหมด เนื่องจากถูกเก็บไว้ในโกดังนานกว่า 4 - 5 ปี ในสภาพโกดังร้อน มีน้ำฝนรั่ว ถูกแมลงและหนูเจาะ แต่เพราะยังมีลำไยส่วนดีปะปนอยู่จึงมีความพยายามนำออกไปคัดแยกและปนกับลำไย ใหม่ส่งขายในตลาด โดยเฉพาะในฤดูหนาวจีนมีความต้องการบริโภคลำไยสูง

รศ.ดร.พรชัย กล่าวว่า ทางออกในการแก้ปัญหาไม่ให้ลำไยอบแห้งทั้งหมดเล็ดลอดปะปนกับลำไยใหม่ในตลาด กระทรวงเกษตรฯต้องหาหน่วยงานที่มีองค์ความรู้ มีผู้เชี่ยวชาญ และมีเทคโนโลยีเข้ามาทำลายลำไยที่เหลืออย่างมีคุณค่า เพราะ หากปล่อยไว้อาจกระทบกับตลาดและสร้างปัญหาไม่สิ้นสุด รวมทั้งสิ้นเปลืองค่าเช่าโกดัง "สิ่งที่น่าเป็นห่วงเวลานี้ คือ กระทรวงเกษตรฯเปิดขายลำไยอบแห้งให้เกษตรกรที่สนใจนำไปทำปุ๋ย คิดค่าทุบเปลือก กก.ละ 50 สตางค์  ที่ผ่านมามีคนมาลงชื่อจองลำไยในโกดังจำนวนมาก แต่เมื่อตรวจสอบว่าคนที่มาลงชื่อส่วนใหญ่ไม่ใช่เกษตรกร แต่เป็นพ่อค้าคนกลาง"รศ.ดร.พรชัยกล่าว

พ.อ.จิตติวัศร์ ศรสุวรรณ์ อดีตคณะทำงานเกี่ยวกับการทุบเปลือกลำไยอบแห้ง ปี 2546 - 2547 จากกองทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า คณะทำงานในส่วนของทหารที่ได้รับมอบหมายให้ควบคุมการทุบเปลือกลำไยก่อนส่งมอบ ให้เอกชนที่ประมูลได้ ได้ยุติการทำงานไปแล้ว เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯได้ยกเลิกสัญญาระหว่าง อ.ต.ก.กับเอกชน แต่ยังมีคณะทำงานทุบเปลือกของทหารอีก  1 ยังทำการทุบเปลือกส่งมอบให้เอกชนตามสัญญาระหว่างองค์การคลังสินค้า (อคส.)และเอกชน  โดยมีปริมาณลำไยที่ซื้อขายจำนวน 20,000 ตัน

view