สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สำนักกฎหมายขู่ 'ผู้บริหาร' รับผิดละเมิดซอฟต์แวร์

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : สำนักกฎหมายติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ เตือนผู้บริหารองค์กรต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กร แม้จะไม่ทราบว่าเกิดการละเมิดก็ตาม

นายเอ็ดเวิร์ด เคลลี่ หุ้นส่วนบริษัทที่ปรึกษากฎหมายชั้นนำ ติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ ประเทศไทย ที่รับผิดชอบงานตามการมอบหมายของกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) กล่าวว่า ผู้อำนวยการของบริษัทมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ใน องค์กรของตัวเอง แม้จะไม่รับทราบเลยว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้นก็ตาม หรือได้สั่งให้ลูกจ้างใช้แต่สินค้าที่มีลิขสิทธิ์แล้วก็ตาม ไม่ใช่มีเพียงเจตนาดีเท่านั้น

ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายเรื่องสิทธิ ด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทยได้เริ่มหยิบยกขึ้นมาบังคับใช้กันอย่างขันแข็ง อีกครั้งหนึ่ง ทำให้ผู้บริหารบริษัทต่างๆ จำต้องระมัดระวังและตรวจสอบให้แน่ใจว่าบริษัทของตัวปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่ประเทศอื่นๆ ได้กระทำกันเพื่อปกป้องนวัตกรรมของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ และกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมไอที โดยประเทศไทยตระหนักถึงความจำเป็นในการป้องปราบซอฟต์แวร์เถื่อนขั้นเด็ดขาด

กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับปัจจุบันระบุว่า บริษัท ผู้อำนวยการ และผู้จัดการอาวุโสจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อการฝ่าฝืนโดยจะถูกปรับเงินมากถึง 8 แสนบาท และ/หรือจำคุกนาน 4 ปี บวกภาระหนี้สินตามค่าซอฟต์แวร์จริงจากความเสียหายในทางแพ่ง

"ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่บริษัทต่างๆ จะต้องมั่นใจว่าได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อผู้ถือหุ้นและลูกจ้าง ซึ่งหมายความว่าพวกเขาได้ทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทางกฎหมาย ที่เกิดจากการละเมิดลิขสิทธิ์ เราขอแนะนำว่าผู้บริหารบริษัทอย่าได้เสี่ยง เพราะผลที่ตามมานั้นรุนแรง” นายเคลลี่ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญา และมีประสบการณ์ว่าความในคดีความผิดทางลิขสิทธิ์นับร้อยคดี รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้แก่บริษัทสากลและท้องถิ่นในประเทศไทย กล่าว

ปัจจุบันยอดการละเมิดลิขสิทธิ์ และการก็อปปี้ซอฟต์แวร์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ในประเทศไทยมี ประมาณ 78% แม้กฎหมายลิขสิทธิ์จะกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าการละเมิดจะทั้งทางแพ่งและอาญา ซอฟต์แวร์เถื่อนก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของภาคธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวกฎหมายรายหนึ่ง กล่าวว่า สิ่งที่สำนักกฎหมายดังกล่าวระบุ เป็นการขู่เกินจริง ตามกฎหมายฉบับปัจจุบันหากกรรมการ หรือผู้บริหารหน่วยงานที่พิสูจน์ได้ว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำละเมิดของพนักงาน ก็ไม่จำเป็นต้องรับผิด ยกเว้นผู้จัดการฝ่ายไอทีที่เกี่ยวข้องกับการลงระบบซอฟต์แวร์โดยตรงจึงหลีก เลี่ยงไม่ได้

view