สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

องค์กรในมุมมองของนักบัญชี

นักบัญชีกับองค์กร

นิพนธ์ กาญจนพิพัฒน์กุล
ฺB.A.(accounting),H.D.(Auditing)
M.S.(Accounting),CPA_Thailand


    สมัยที่เริ่มเรียนวิชาบัญชีอยู่จนกระทั่งจบการศึกษาออกมาทำงานแล้วหลายปีจะมีหลายครั้งที่นักศึกษาจะได้ยินคำสอนบ้างคำเปรียบเทียบบ้างว่า การที่กำลังวิเคราะห์งบการเงินของกิจการเหมือนการที่แพทย์กำลังวินิจฉัยโรค หรือองค์กรธุรกิจก็เหมือนคนหนึ่งคน   ซึ่งเปรียบเทียบได้ง่ายคือ ในกิจการหรือองค์กรหนึ่งๆ ที่มีการจัดแบ่งหน่วยงานแตกต่างกันไป    มีอะไรที่จะเปรียบเทียบให้เห็นถึงสภาพหลักๆขององค์กรรวมไปถึงพฤติกรรมการทำงานของแต่ละคนและการตัดสินใจของผู้บริหารเมื่อเปรียบเทียบกับร่างกายมนุษย์ได้อย่างชัดเจนบ้าง ถ้าได้ศึกษาจากการทำงานหลายแห่งทั้งที่เป็นกิจการ ครอบครัว , ที่เป็นบริษัทต่างชาติหรือบริษัทร่วมทุน องค์กรของรัฐ จะได้เห็นการทำงานและการตัดสินใจของผู้บริหารที่แตกต่างกันไป ลักษณะการตำเนินกิจการที่มีกลยุทธแตกต่างกันไป บางแห่งใช้การตลาดนำ บางแห่งใช้การผลิตและคุณภาพนำ แล้วแต่ว่าใครจะเป็นผู้บริหารและนำองค์กรว่าเป็นผู้ที่มีประสบการณ์มาทางด้านไหน

    อย่างไรก็ตามไม่ว่าองค์กรจะใช้การบริหารแบบไหนนำองค์กร แต่การนำเสนอรายงานของฝ่ายบัญชียังคงคล้ายกันคือการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายต่างๆในงบกำไรขาดทุน , COMMON SIZE PERCENTAGE , ใช้วิเคราะห์อัตราส่วนต่างๆ ถึงแม้ข้อมูลตามรายงานการเงินต่างๆ  มีความผิดพลาดบ้างซึ่งขึ้นอยู่กับข้อมูลดิบดีเพียงพอหรือไม่ รายงานประจำวันหรือเอกสารหน่วยงานอื่นๆไม่อยากทำเนื่องจากไม่เห็นประโยชน์อะไรนอกจากเปลืองกระดาษ ถ้างบการเงินและรายการวิเคราะห์ต่างๆได้มีการนำมาใช้ในการนำเสนอ แม้จะรู้ว่ามีข้อจำกัดในดัานความถูกต้อง 100 % แต่จะเป็นแนวทางในการบริหารได้ เนื่องจากการตัดสินใจต่างๆเกี่ยวกับการดำเนินการจะมีปัจจัยอื่นนอกจากข้อมูลทางบัญชีมาเกี่ยวข้องอยู่ด้วยเป็นส่วนใหญ่เสมอ การนำข้อมูลทางบัญชีมาใช้แม้ว่าไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซนต์จะทำให้มีการพัฒนาระบบงาน การประสานงาน และปรับปรุงระบบบัญชีและทางเดินเอกสาร รวมถึงรูปแบบเอกสารให้เหมาะสมกับความต้องการอย่างสม่ำเสมอ นักบัญชีและพนักงานระดับบริหารจะมีการพัฒนาในด้านอื่นๆได้มากขึ้น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอของนักบัญชีคือถ้าตัวเลขทางบัญชีไม่ถูกต้องหรือ งบการเงินไม่ลงตัวจะไม่กล้านำเสนอรายงาน เวลาส่วนใหญ่ของนักบัญชีจึงสูญเสียไปกับการหาตัวเลขที่เป็นเศษสิบบาท หรือเศษสตางค์เพื่อให้งบลงตัว โดยที่ไม่คำนึงหลักสาระสำคัญทำให้ไม่สามารถเสนองบการเงินอย่างทันเวลา หรือไม่มีเวลาวิเคราะห์ตัวเลขที่เกิดขึ้นจากงบการเงินเสนอผู้บริหารระดับสูง หรือกรณีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักจะกล่าวอ้างว่าตัวเลขทางบัญชีจะไม่ตรงกับที่แผนกตนเองและมีอาการต่อต้านรายงานต่างๆที่ออกจากแผนกบัญชี เกรงว่าจะเป็นการฟ้องความผิดพลาดในแผนกของตนเอง โดยไม่ได้สนใจจะนำข้อมูลมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการแก้ไขการทำงานในแผนกตนเองหรือไม่

    หากต้องการให้ปัญหาดังกล่าวหมดไป จะต้องเป็นหน้าที่ของสมองที่จะต้องส่งสัญญานไปยังส่วนต่างๆของร่างกายให้เกิดการประสานงานกันให้ได้ หากไม่สามารถทำให้ส่วนต่างๆของร่างกายหรือองค์กรประสานงานกันได้ ก็แสดงว่าสมองบกพร่องควรจะแก้ไขที่สมอง

    นักบัญชีควรจะได้เรียนรู้สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งว่า รายงานต่างๆที่ออกจากฝ่ายบัญชีและการเงินถ้ามีการนำเสนออย่าง เหมาะสมกับเวลาและสถานการณ์ จะมีผลที่นำไปสู่การปรับปรุงระบบบัญชีและการรายงาน วิธีการทำงาน การประสานงานและการควบคุมต่างๆในหน่วยงานอื่นได้เสมอแม้ว่ากลยุทธ์ของกิจการจะเน้นให้ใช้การดำเนินกิจการ โดยใช้การนำด้วยกิจกรรมบางกิจกรรมหรือฝ่ายบางฝ่าย

โครงสร้างขององค์กร กับ สรีระของร่างกายมนุษย์

    การเปรียบเทียบถึงสภาพของกิจการกับร่างกายนั่นเหมาะสมอย่างหาสิ่งอื่นมาเปรียบเทียบให้เหมาะสมกว่าได้ยาก ถ้ามองให้ละเอียดแล้วจะเห็นว่าการวางระบบบัญชีและการควบคุมภายในแทบจะเกี่ยวข้องกับการทำงานหลักๆของกิจการทุกส่วนเลยก็ว่าได้ถ้าเข้าใจถึงการทำงานหลักและการสัมพันธ์กันระหว่างหน่วยงานต่างๆในองค์กร แล้วจะสามารถ เข้าใจเรื่องต่างๆเกี่ยวกับระบบบัญชีและการควบคุมภายในได้ง่ายขึ้น แต่การอธิบายให้เข้าใจถึงหลักและ ความสัมพันธ์ให้ง่ายต่อความเข้าใจตามหลักการบริหารแล้วจะเป็นการยาก แต่ถ้าจะเปรียบเทียบองค์กร ธุรกิจหนึ่งกับร่างกายคน ซึ่งเราเห็นอยู่ทุกวัน เราจะสามารถเปรียบเทียบกันได้ง่ายขึ้นดังนี้

    ถ้าเราเป็นคนเปรียบง่ายๆกับกิจการที่ให้บริการ

    ฝ่ายการตลาดและฝ่ายขาย ส่วนนี้เป็นส่วนที่หารายได้เข้ากิจการเปรียบได้กับแขนขา คือแผนกตลาดเหมือนขาช่วยในการเดินไปหาอาหาร เพื่อให้แขนเหมือนฝ่ายการขาย หยิบเข้าปากเพื่อเป็นพลังงานให้กับร่างกายหรือองค์กร

    ฝ่ายผลิตเป็นส่วนที่สร้างพลังงานเพื่อให้ร่างกายมีพลังในการที่จะไปบริการให้กับลูกค้า เปรียบได้กับกระเพาะอาหาร/ลำไส้ที่เป็นส่วนที่ย่อยอาหารและดูดซึมเพื่อสร้างพลังงาน

    ฝ่ายบุคคลธุรการ/จัดซื้อ เปรียบได้กับ ตับ/ไต อวัยวะภายในต่างๆ ที่กรองเลือด/น้ำและ สร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายเพื่อให้ร่างกายสมดุลย์แข็งแรง

    ฝ่ายบริหาร เหมือนกับส่วนศรีษะของร่างกาย ที่จะมอง สัมผัสด้วยเสียง กลิ่น และใช้สมองคิดเพื่อที่จะให้องค์กรเดินทางไปอย่างถูกต้อง ไม่สะเปะสะปะ ไปตกหลุมตกร่องที่ไหน

    ฝ่ายบัญชี/การเงิน เหมือนกับหัวใจที่เป็นส่วนที่ปั๊มเลือด คือเงิน ไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย บางครั้งจะแสดงอาการป่วยให้เรารู้สึกตัว เช่นตื่นเต้นกว่าปกติ เหนื่อยง่าย หรือสุดท้ายปวดบีบที่หัวใจหมายความคุณกำลังเป็นโรคหัวใจ ถ้าเป็นธุรกิจก็คือองค์กรคุณกำลังมีปัญหา เลือดไหลไม่คล่อง ถ้าหนักคือตายหมายถึงเจ๊ง   

    การเปรียบเทียบเช่นนี้ เป็นความพยายามในฐานะนักบัญชีเพื่อให้คิดว่า แผนกบัญชี/การเงิน สำคัญที่สุดในองค์กร หรือไม่ ?

    เปล่าเลย

    ที่เปรียบเทียบเช่นนี้ต้องการให้เห็นว่าคนเราไม่ควรใส่ใจในเฉพาะส่วนที่เห็น คนเราพยายามสร้างกล้ามเนื้อแขนขา พยายามแต่งหน้าแต่งตาเพื่อให้ส่วนศรีษะ หรือร่างกายส่วนต่างๆดูดี บางครั้งเราลืม ลืมที่จะหาอะไรดีๆใส่สมองที่อยู่ในศีรษะที่ดูดี หรือพยายามหาของดีๆแต่งให้ส่วนร่างกายดูหรูหราหรือหาของกินอร่อยรสชาติดีทำให้ติดรสชาติและกินให้มากเกินความจำเป็น ทำให้กระเพาะ/สำไส้ทำงานหนัก คนมักไม่ใส่ใจ ส่วนที่เป็นอวัยวะภายใน ตับ/ไต โดยเฉพาะหัวใจซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของร่างกาย ดังนั้น คนจึงมักเป็นโรคหัวใจ โรคที่ติดอันดับต้นๆของโรคที่ทำให้คนตายต่อปี...................องค์กรก็เช่นกัน

    แล้วคนรุ่นใหม่เขาทำกันอย่างไร คนรุ่นใหม่เริ่มที่จะดูแลตัวเองโดยบริหารไม่เพียงเฉพาะให้ร่างกายดูดี แต่เริ่มที่จะบริหารให้แข็งแรงดูดีทั้งส่วนที่เป็นร่างกายภายนอกและภายใน การบริหารภายในเป็นสิ่งที่น่าเบื่อแต่จำเป็นต้องทำ เคยสังเกตุไหมการบริหารหัวใจไม่สามารถทำได้ด้วยหัวใจเองแต่ต้องใช้อวัยวะที่เป็นส่วนภายนอก นั่นหมายความว่าในองค์กรควรจะมีการดำเนินการใดๆที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ ที่ช่วยให้อวัยวะทุกส่วนเป็นไปได้อย่างแข็งแรงทุกส่วนใกล้เคียงกัน แต่ทั้งหมดเกิดจากการคิดและสั่งการให้ทำของสมอง

โรคที่เกิดในองค์กร

    หากเราคิดว่าร่างกายคือองค์กร และองค์กรคือร่างกายแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าต้องมีโรคภัยไข้เจ็บหรืออาจมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับร่างกายได้ ดังนั้นองค์กรที่ดีต้องพร้อมเหมือนร่างกายที่มีสุขภาพดีพร้อมที่จะต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บหรือเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว องค์กรจะแข็งแรงหรือไม่แข็งแรงเราต้องรู้ตัวเราเอง แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าร่างกายเราแข็งแรงดีไม่มีโรคภัย สิ่งที่จะทำให้เรารู้คือ การตรวจร่างกาย การตรวจร่างกายเหมือนการตรวจสอบที่ไม่ใช่การตรวจสอบตามปกติที่เหมือนกับการตรวจร่างกายเพื่อออกใบรับรองแพทย์หรือทำประกัน(ตรวจสอบงบการเงินแสดงความเห็นทุกปี) แต่การตรวจร่างกายหมายถึงการตรวจสอบต่างๆเป็นการเฉพาะ เช่น การตรวจสอบการดำเนินงาน การตรวจสอบด้านการเงิน การตรวจสอบมาตรฐานการทำงานในส่วนงาน เป็นต้น แต่ถ้าองค์กรใดมีกำลังพออาจจะจัดหาเครื่องมือในการตรวจสอบเป็นของตนเองเหมือนกับการตั้งส่วนงานตรวจสอบภายใน หรือ ส่วน ISO ในองค์กรตนนั้นเอง แต่อย่างไรก็ตามเรายังคงต้องใช้การตรวจสอบจากภายนอกอยู่ดี ถึงแม้ว่าเราจะมีความพร้อม มีพนักงานที่เก่ง มีเครื่องมือที่ดี เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์ที่ยังคงมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถแก้ไขได้คือการเรียนรู้หรือความเคยชิน คงต้องให้คนภายนอกมาช่วยตรวจเพื่อความคิดเห็นที่แตกต่าง สิ่งที่เราคิดว่าไม่มีปัญหาในมุมมองที่แตกต่างสิ่งนั้นอาจเป็นตนเหตุของโรคได้ (สังเกตุดูว่าแพทย์ส่วนใหญ่ทราบว่าอาการของโรคเป็นอย่างไรอาจหายาหรือดำเนินการรักษาตนเองบ้าง แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่งต้องให้แพทย์คนอื่นรักษาอยู่ดี) การตรวจสอบที่เป็นการเฉพาะนั้นอาจพบความปกติหรือไม่ปกติก็ได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องพบสาเหตุของโรคทุกครั้งที่ตรวจ แต่หากตรวจพบความผิดปกติ ในมุมมองที่แตกต่างทั้งปัญหาและข้อแนะนำหากเรานำมาวิเคราะห์โดยใช้ศักยภาพภายในองค์กรของเราเองเราอาจจะสร้างระบบการควบคุมขึ้นเหมือนกับร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง หรือหากเราไม่พร้อมคนที่พบมักจะมีความสามารถที่จะให้ความเห็นในการแก้ไขได้ นั้นเป็นการป้องกันไม่ใช่การรักษา เช่นเดียวกับหลักการแพทย์สมัยใหม่ที่เน้นการป้องกันด้วยการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีมากกว่าคอยรักษาเมื่อเจ็บไข้

    องค์กรต้องตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ ทำไมต้องต้องตรวจแล้วเมื่อตรวจสอบแล้วไม่เจอจะคิดอย่างไรเปลืองไหม อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น การตรวจสอบก็เหมือนกับตรวจสุขภาพประจำปี เราตรวจเพื่อต้องการทราบว่าร่างกายเราจะเกิดปัญหาหรือไม่ เราคงไม่ดีใจที่คิดว่าคุ้มค่าเงินหากเราตรวจแล้วเราพบว่าเราเป็นโรคร้าย แต่เราจะดีใจที่เราพบสิ่งบอกเหตุของโรคเพื่อที่เราจะป้องกันมากกว่า ทั้งการตรวจตามโปรแกรมการตรวจเบื้องต้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องทราบปัญหาในทุกเรื่องหรือจะต้องพบโรคทุกโรค การตรวจโรคตามปกติอาจพบสัญญานบอกเหตุของโรคที่ร่างกายเป็นและหาได้ง่าย แต่มีการตรวจประเภทหนึ่งที่อยู่ในโปรแกรมการตรวจสอบประจำปี แต่มักจะไม่พบหรือพบเพียงแต่สิ่งบอกเหตุที่อาจเป็นหรือไม่เป็นก็ได้ คือ มะเร็ง

    โรคมะเร็งผมเปรียบเสมือนกับการทุจริต เป็นโรคเกิดจากการกินดีอยู่ดี กินอาหารอย่างไม่เลือกหรือตามใจปาก เกิดจากเซลล์ในร่างกายไม่ใช่เชื้อจากภายนอก ที่น่าสังเกตุคือ มะเร็ง มักเกิดในร่างกายไม่ค่อยเกิดในที่ที่เราเห็นอย่างชัดเจน หรือมีน้อยมากที่เกิดให้เราเห็นภายนอกร่างกายให้เราเห็นได้ถนัดๆ และมักจะเกิดที่อวัยวะที่อันตรายหลายแห่งไม่ว่าจะเป็นกระเพาะ ลำไส้ ปอด หรือตับ ไม่เว้นแม้กระทั่งอวัยวะที่เกิดขึ้นกับที่ที่เราคิดว่าไม่น่าเกิดและไม่อยากให้เกิดคือ มะเร็งสมอง เหมือนกับที่ผมเคยตรวจพบเจ้าของทุจริตในกิจการตนเอง

    หากคนเป็นมะเร็งสมองมักจะตาย กิจการที่เจ้าของทุจริตเสียเองมักไม่รอด ฉันใดฉันนั้น

Tags : องค์กร การวิเคราะห์งบการเงิน นิพนธ์ กาญจนพิพัฒน์กุล นักบัญชี สอบบัญชี ภาษี

ความคิดเห็น

  1. 1
    108acc
    108acc 13/11/2009 00:18
    ขอบคุณที่แนะนำครับ
    แต่สิ่งที่ผมเขียนผมไม่ได้ เขียนให้ความหมายว่า บัญชีคืออะไร หรือ ทำบัญชีแล้วได้อะไร หรือผลลัพธ์ของบัญชีคืออะไร ถ้าผมคิดทำแค่วัตถุประสงค์แค่นั้น ก็คงจะเขียนว่า " บัญชีคือการบันทึกข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและสรุปผลให้เห็นถึงทรัพย์สิน หนี้สิน ทุนของบริษัทที่ลงไป รวมถึง กำไรขาดทุน " แต่ผมคิดมันง่ายไป เพราะ

    ๑.ถ้าผมจะบอกคนว่า บัญชีคือการสรุปออกมาเป็นกำไรขาดทุน แล้วละก็ วิชาชีพบัญชีคงถูกดูถูกน่าดู เหมือนกับที่ผมเคยเห็นผู้บริหารหลายท่านก่อนที่จะได้คุยกันเป็นเรื่องเป็นราว มักบอกว่า ดูบัญชีง่ายก็ดูที่บรรทัดสุดท้ายของงบกำไรขาดทุน ก็พอ ถ้าคุณไม่คิดอะไรก็คงหัวเราะชอบใจไปกับเขา แต่ผมไม่เพราะผมคิดว่า ที่คุณทำมาทั้งหมดมันมีประโยชน์อะไร
    นั้นคือคำตอบในบทนำ ว่าทำไมเขาถึงดูถูกบัญชีที่นักบัญชีบางคนทำออกมา เพราะมันใช้ได้เท่าที่เขาว่ามา ไม่สามารถได้ใช้เท่าที่เราทำไป

    ๒.เรื่องของการเปรียบเทียบสรีระมนุษย์ ต้องตอบว่า ถ้าคุณเคยคุยกับฝ่ายต่างๆที่โตมาตามสายงาน มักจะได้ยินการบอกว่า ผลิตคือหัวใจ ตลาดคือหัวใจ แล้วก็เน้นกันไปกับส่วนงานนั้นๆ ผมจึงเขียนส่วนนี้ออกมา เพราะมันคือวิธีการอธิบายเพื่อให้เข้าใจว่า แต่ละส่วนในองค์กรก็เหมือนร่างกายมันสำคัญหมดเพราะแต่ละส่วนทำงานต่างกันแต่ประสานกัน
    ไม่ใช่คิดว่าอะไรสำคัญก็ เน้นไปตามนั้น จนทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการที่ไม่สนใจเรื่องการบริหารการเงินและการใช้รายงานทางบัญชี ซึ่งเป็นงานในวิชาชีพผม

    ๓.เรื่องของโรคที่เกิดขึ้นในองค์กร คือการอธิบายให้กับผู้บริหารฟังเกี่ยวกับเรื่องของความจำเป็นในการสร้างระบบการตรวจสอบและสอบยัน โดยเฉพาะการควบคุมเรื่องการใช้เงินและการทุจริต ที่เน้นเรื่องโรคโดยเฉพาะมะเร็งเพราะคนจะกังวล ถ้าคนเข้าใจและเริ่มกังวลก็จะสนใจ เมื่องสนใจก็จะให้ความร่วมมือมากขึ้น มันคือ กุศโลบาย

    ๔.ที่ยาวและอ่านยากเพราะมันคือ เอาเรื่องที่ต้องการเขียน ๓ ตอน มารวมกันอยู่ในตอนเดียว และ จัดวรรคไม่ดี

    ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ผมเล่าและอธิบายให้ผู้บริหารของลูกค้าผม ฟัง

    อย่างที่ว่าไว้ เวปนี้เป็นเวปองค์กร เราทำเพื่อให้บริการกับลูกค้าเราและหน่วยงานที่ทำงานด้วยกัน
    ที่เราอธิบายไว้ในบทความ ก็เพราะเราถือว่าการที่ลูกค้าได้อ่านคือการได้คุยกับลูกค้าเรา
    ส่วนผลพลอยได้อย่างอื่นคือ ถ้าเจ้าหน้าที่ในองค์กรเราเข้าใจ เขาจะเข้าใจและใส่ใจในงานบัญชีที่เขาทำมาขึ้น ในขณะเดียวกันถ้าจำเป็นเขาอาจจะเป็นผู้อธิบายเรื่องเหล่านี้ให้ลูกค้าแทนเรา ถ้าจะให้เขาเข้าใจพอที่จะเข้าใจที่จะอธิบายได้ก็คงต้องรู้มากหน่อย ถ้าสงสัยไม่เข้าใจก็ถาม
    ในขณะเดียวกัน คุณในฐานะนักบัญชีเก่า คุณไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงของเด็กรุ่นใหม่หรือครับ ว่าเขาโตได้ไม่เร็วพอ
    แล้วเราก็ไปโทษเขาว่าเด็กเดียวนี้ไม่สู้งาน สนใจงานน้อยลง ก็แล้วแต่คนคิดน่ะครับ
    ส่วนผมถ้าคิดก็คงคิดว่าเป็นเพราะเขาไม่รู้ว่างานที่เขาทำไปสำคัญอย่างไร ถ้าจะโทษก็ต้องโทษว่า คนรุ่นเก่าๆ บอกเขาน้อยเกินไป
    ถ้าคนรุ่นเก่ากว่าเราเห็น คงว่าเราได้ว่า เอาแต่โทษเด็กมัน ทำไมไม่สอนเหมือนที่ผม จำจี้จำไช สอนคุณ
  2. 2
    นักบัญชีเก่า
    ท่านเปรียบเปรยซับซ้อนเกินไป แนะนำให้ใช้ภาษาพื้น ๆ เข้าใจง่าย ๆ เพื่อผู้อ่านจะได้เข้าใจง่ายขึ้น ถ้าพูดถึงเรื่องบัญชี ก็คงสรุปที่กำไร - ขาดทุนเท่านั้น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view