สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พ.ต.ท.ทักษิณกับที่ดินรัชดา

ทัศนะวิจารณ์

ภูมิคุ้มกันคอร์รัปชั่น

สังศิต พิริยะรังสรรค์ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม



กรุงเทพ ธุรกิจ ออนไลน์ : เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษาคดีทุจริตการซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก จำนวน 33 ไร่ มูลค่า 772 ล้านบาทเศษ ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยา เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันเป็นคู่สัญญา หรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ. 2542

ศาลได้วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองร่วม กันกระทำความผิดในการทำสัญญาจะซื้อจะขายกับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการ เงิน ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นโดยธนาคารแห่งประเทศไทย อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. ม. 100 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์โดยตรงที่จะป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำความผิดในเชิงหลักการเรื่องการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัว กับผลประโยชน์ของรัฐ (หรือผลประโยชน์ของส่วนรวม)

จำเลยที่ 1 มีความผิด โดยศาลวินิจฉัยว่า กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐ มีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประธาน และเงินที่สนับสนุนกองทุนก็มาจากการอุดหนุนของรัฐบาล นอกจากนี้ รมว.คลัง มีอำนาจเข้ามากำกับดูแลกองทุนนี้ โดยผ่านปลัดกระทรวงการคลังที่ทำหน้าที่เป็นรองประธานกรรมการจัดการกองทุน ดังนั้น ในทางปฏิบัติแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี จึงมีหน้าที่โดยตรงที่ต้องใช้อำนาจกำกับดูแลกองทุนนี้ โดยผ่าน รมว.คลัง

เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่ 1 มีผลประโยชน์ส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับที่ดินรัชดา โดยการมอบบัตรประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และลงนามยินยอมให้คุณหญิงพจมาน ภรรยา นำไปทำสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าว ซึ่งศาลถือเสมือนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าทำสัญญาฉบับนี้ด้วยตนเอง จึงเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. 2542 ม. 100 (1) วรรคสาม ที่สำคัญ ก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ว่า ตนเองไม่มีส่วนรู้เห็นต่อการซื้อขายที่ดินแปลงนี้ได้

ความเสียหายของกองทุน และความเสียหายของรัฐอันเกิดจากภรรยาของนายกรัฐมนตรีเสนอตัวเข้าประมูล ที่ดินแปลงนี้มีอย่างน้อยที่สุด 2 ประการ คือ ประการแรก ทำให้ไม่มีบริษัทใดกล้าเข้ามาแข่งขันสู้ราคาด้วย และประการที่สอง กองทุนขายที่ดินแปลงนี้ได้ในราคาที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาก กล่าวคือ กองทุนซื้อที่ดินแปลงนี้จากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอราวัณ ทรัสต์ มาในราคากว่า 2,140 ล้านบาท ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 แต่กลับต้องมาขายให้แก่คุณหญิงพจมานในราคาประมูลขั้นต่ำเพียง 870 ล้านบาท (เพราะไม่มีผู้เข้าประมูลด้วย)

ความผิดจากการมีผลประโยชน์ทับซ้อน ในกรณีนี้ศาลเห็นว่า "ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายให้บริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการและ ประชาชน แต่จำเลยที่ 1 กลับฝ่าฝืนกฎหมาย ทั้งที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลต้องกระทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ประพฤติตนในสิ่งที่ดีงามตามจริยธรรมของนักการเมือง ให้เหมาะสมกับที่ได้รับความไว้วางใจในตำแหน่งหน้าที่อันสำคัญยิ่ง จึงไม่สมควรรอการลงโทษ" ศาลจึงพิพากษาให้ลงโทษจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ 2 ปี ส่วนคุณหญิงพจมานไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. ม. 100 เพราะกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้กำหนดบทลงโทษของคู่สมรสที่กระทำความผิดไว้ มีแต่บทลงโทษสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น พูดง่ายๆ ก็คือ ในกรณีนี้ไม่ใช่ว่าคุณหญิงพจมานไม่ได้กระทำความผิด แต่เป็นเพราะกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้กำหนดความผิดของผู้สมรู้ร่วมคิด ที่มิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐเอาไว้เท่านั้นเอง

ข้อโต้แย้งของทักษิณต่อคำพิพากษาของ ศาลในประการแรก ว่า ไม่มีหลักฐานว่าเขา คอร์รัปชัน "ผมได้ฟังคำตัดสินเมื่อวันก่อนและจนถึงตอนนี้ผมยังคงสับสน เพราะไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีการฉ้อฉล คอร์รัปชัน หรือกระทั่งการใช้อำนาจในทางมิชอบที่เกี่ยวเนื่องกับการประมูล" ประการที่สอง เห็นว่าตัวเองกำลังถูกรังแกจากระบบตุลาการ เขากล่าวว่า "ผมถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงอย่างง่ายๆ เพียงเพราะว่าผมเป็นนักการเมืองคนหนึ่งเท่านั้นเอง ผมผิดเพราะผมเป็นนักการเมืองที่ประสบความสำเร็จ" หรือ "ทั้งรู้สึกนึกขันปนขมขื่นกับคำตัดสินที่ไร้เหตุผล" และ ประการที่สาม เขาเชื่อว่ากำลังถูกชนชั้นสูงรังแก "ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับผม ล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำที่เกิดจากแรงขับเคลื่อนทางการเมือง" หรือ "เขาใช้กระบวนการยุติความเป็นธรรมครับ"

ผมเห็นว่าพฤติกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้กระทำความผิดจริงตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. ว่าด้วยการมีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยการทำให้ภรรยาชนะการประมูลที่ดิน และทำให้รัฐได้รับความเสียหายจากการต้องสูญเสียรายได้ที่ควรจะเป็น

และกรณีก็ชัดเจนอีกว่าเป็นการทุจริต หรือการคอร์รัปชันของ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะเป็นการแสดงออกถึงความเสื่อมโทรมทางด้านคุณธรรมและจริยธรรมของนายก รัฐมนตรี ที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น กล่าวคือ คุณทักษิณมุ่งรักษาผลประโยชน์ของครอบครัวตนเองยิ่งกว่าจะรักษาผลประโยชน์ของ รัฐ ความหมายของคอร์รัปชันในแง่นี้ เป็นมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับในอารยประเทศทั่วโลก

คุณทักษิณพยายามป่าวร้องว่า ตนเองไม่ได้คอร์รัปชันแต่กำลังถูกรังแก ถ้าเช่นนั้น คอร์รัปชันในความหมายของคุณทักษิณคืออะไร ผู้เขียนพบว่าในขณะที่เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ 5 ปี คุณทักษิณพูดถึงความหมายของการคอร์รัปชันเพียง 2 รูปแบบเท่านั้นเอง คือ "การกินเปอร์เซ็นต์หัวคิวกับการฮั้วประมูล"

คุณทักษิณอาจไม่ทราบว่าตั้งแต่ปี 2542 ที่องค์การสหประชาชาติสรุปว่า รูปแบบของการ คอร์รัปชันในโลก ไม่ได้มีแต่การกินเปอร์เซ็นต์หัวคิวกับการฮั้วประมูลที่เป็นการทุจริตแบบ ดั้งเดิม เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการละเมิดระเบียบราชการ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว การเบี่ยงเบนทรัพยากรของรัฐให้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว การเข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม การเล่นพรรคเล่นพวก การบังหลวง การกำหนดราคาการจัดซื้อจัดจ้างให้สูงกว่าความเป็นจริง และการทุจริตในการเก็บภาษีและการประเมินผลภาษี ฯลฯ รวมทั้งในระยะหลังความหมายของคอร์รัปชันยังครอบคลุมถึงการมีผลประโยชน์ทับ ซ้อนในบางเงื่อนไขด้วย

view