สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พ่อค่ะ...หนูรู้พ่อเหนื่อย

รายงานโดย :สวลี ต้นกุลรัตน์:โพสต์ทูเดย์


คงจะไม่ว่ากัน ถ้าจะขอยืมพื้นที่ตรงนี้ปฏิบัติภารกิจส่วนตัว ยกสิบนิ้วพนมก้มกราบ “พ่อ”ถึงจะผ่านวันพ่อไปแล้ว ก็ไม่สน เพราะพ่อเรารักได้ทุกวันไม่ต้องรอ
ไหนๆ ก็ใช้เป็นพื้นที่ส่วนตัวแล้ว ขอแอบนินทาพ่อตัวเองสักหน่อย

พ่อเป็นผู้ชายประเภทพูดน้อย ไม่ค่อยตี แต่ถ้าครั้งไหนที่พ่อหยิบไม้เรียว แปลว่าความผิดครั้งนี้ไม่ธรรมดา ผิดกับแม่ เพราะแม่จะพูดเยอะ และตีหยุมหยิม

และตั้งแต่จำความได้ ไม่เคยได้ยินพ่อบ่น พ่อไม่เคยบอกว่า “พ่อเหนื่อย”

ครอบครัวเราอาจจะเป็นหนึ่งในครอบครัวไทยหลายๆ ครอบครัวที่ อภิชาติ สิริผาติ เขียนไว้ในหนังสือชื่อ Happy Richy Family จัดการเงินให้บ้านรวย ว่า เพราะความห่วงใยทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวของเราเป็นแบบ “เธอรับรู้แค่ความสุขของฉันก็พอ แต่ไม่ต้องรู้เรื่องความทุกข์”

นวพร เรืองสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการ บริหารเงินส่วนบุคคล เขียนถึงครอบครัวของ “แวนด้า” ลูกสาวคนเดียวของคุณพ่อวัยเกษียณ ไว้ในหนังสือทุ่งดอกเบี้ย ใน ตอนที่ชื่อว่า ทุกปัญหาหนี้มีทางออก ว่า แวนด้าไม่ใช่คนมือเติบ แต่เป็นเพราะกิจกรรมในมหาวิทยาลัยทำให้เธอต้องใช้เงินค่อนข้างมาก

“ทุกครั้งที่หญิงสาวขอเงินไปทางบ้าน คุณพ่อผู้แสนจะใจดีจะส่งเงินมาให้ตามที่ขอเสมอ ส่วนคุณแม่นั้นบ่นปอดๆ แปดๆ ไปตามเรื่อง แต่ก็ไม่เคยขัดคุณพ่อ”

แวนด้า ไม่เคยรู้เลยว่าเงินที่พ่อส่งมาให้เป็นเงินทีได้จากการนำสินทรัพย์ในบ้านไป เปลี่ยนเป็นเงิน และก็ไม่รู้ด้วยว่าพ่อกับแม่เตรียมจะขายที่ดินผืนเดียวที่มีอยู่เพื่อส่งเธอ เรียน

อภิชาติ บอกเอาไว้ว่า ความผิดพลาดทางการเงินหลายอย่างในครอบครัว เกิดจากลูกเข้าใจฐานะการเงินของพ่อแม่ผิดไปจากที่เป็นจริง

และคงจะไม่ผิดถ้าจะบอกว่า ลูกๆ มักจะเข้าใจว่าพ่อแม่รวยกว่าความเป็นจริง

เรื่องแบบนี้ทำให้นึกถึงละครน้ำเน่าในฉากเปิดเรื่อง ที่อยู่ดีๆ พ่อก็เดินมาบอกคนในครอบครัวว่า “เราล้มละลาย” โดยที่คนในครอบครัวไม่เคยมีใครระแคะระคาย มาก่อน ทำให้ต้องส่งลูกสาว (นางเอก) ไปแต่งงานกับเจ้าหนี้หนุ่มรูปหล่อ (พระเอก) เพื่อขัดดอก แต่สุดท้ายเรื่องก็จบลงอย่างมีความสุข

แต่ชีวิตจริงจะมีสักกี่คนที่ทุกอย่าง จบลงด้วยรอยยิ้ม

“ที่น่าแปลกคือ... การหันหน้าเข้าปรึกษาหารือกันในครอบครัว มักเป็นเรื่องที่คนเป็นหนี้เลือกทำเป็นอย่างสุดท้าย ทั้งๆ ที่ควรจะทำเป็นเรื่องแรก เพราะเป็นคนที่มีผลกระทบโดยตรง” นวพร ตั้งข้อสังเกต

สาเหตุที่ทำให้พ่อแม่ไม่บอกความจริงกับลูก คงเป็นเพราะไม่อยากให้ลูกเป็นทุกข์ เพราะคิดว่าลูกไม่จำเป็นต้องรู้ (จนกว่าปัญหานั้นจะหนักหนาจนเกินเยียวยา) ซึ่งเป็นผลจากความสัมพันธ์แบบร่วมสุข ทุกข์ไม่ต้องรู้ ที่อภิชาติ บอกว่า นี่ต่างหาก ที่เป็น “บ่อเกิดของรูรั่วที่เราพยายามจะ อุดมันอยู่”

เพราะเมื่อไม่ต้องการคนในครอบครัวให้รับรู้ความทุกข์ จึงทำให้ไม่มีการวางแผนการเงินร่วมกันในครอบครัว และการ วางแผนทางการเงินก็มักจะเป็น “เรื่องส่วนตัว” เหมือนกับคำศัพท์ในภาษาอังกฤษที่ว่า “Personal Finance”

ทั้งๆ ที่ “นักการเงินย้ำนักหนาว่า เรื่องเงินเป็นเรื่องของทั้งครอบครัว” ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารเงินอย่าง นวพร ระบุไว้

“ถ้าเราจน ต้องบอกว่าจน” เป็นวิธีคิดที่ อภิชาติ ได้มาจาก สมิธ ครอบครัวที่เขาหยิบเอาแนวคิดเรื่องการบริหารเงินของครอบครัวมาถ่ายทอดให้พวกเรารับรู้

“ต้องให้ลูกๆ หรือสมาชิกในครอบ ครัวรับรู้ฐานะที่แท้จริงของครอบครัว และรู้ว่าจะใช้ชีวิตได้ในระดับใด อะไร ที่เกินฐานะ”

เช่นเดียวกับที่ นวพร บอกไว้ว่า การรู้ความจำกัดของเงินที่มีจะทำให้หลายๆ อย่างที่คิดว่าเป็นของจำเป็น กลายเป็นของไม่จำเป็นไปก็ได้

นวพร บอกว่า พ่อแม่ที่รักลูกด้วยการให้เงินตามคำขอ และปิดบังไม่ให้ลูกรู้ฐานะที่แท้จริงของครอบครัว รวมถึงการไม่สอนเรื่องการใช้เงินให้กับลูก ไม่ใช่การรักลูกในทางที่ถูกต้อง แต่เป็นการทำลายอนาคตของลูก

“แท้ที่จริงพ่อกับแม่เช่นนั้นกำลังวางแผนทำลายอนาคตของลูกอย่าง เลือดเย็นที่สุด ด้วยการกักกันเขาไว้ในโลกของความฝัน ในโลกที่ทุกอย่างมีได้ไม่จำกัด ในโลกที่ทุกอย่างได้มาตามที่ปรารถนา”

แต่จะบอกลูกเพียงแค่ว่า “เราจน” อย่างเดียวไม่ได้ เพราะถ้าตามทฤษฎีของ ที ฮาร์ฟ เอคเกอร์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ถอดรหัสลับสมองเงินล้าน (Secret of the Millionare Mind) บอกว่า ทุกประโยค เกี่ยวกับเงินที่ได้ยินตอนเด็กๆ จะถูกฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก และกลายเป็นแผนผังที่กำหนดชะตาชีวิตทางการเงินในอนาคตของเด็กคนนั้น

และเราก็คาดเดาไม่ได้ว่า เด็กที่ถูก ตอกย้ำถึงความแร้นแค้นของครอบครัวจะเติบโตขึ้นมาเป็นคนแบบไหน

คงเป็นเพราะเหตุนี้ทำให้ สมิธ บอกกับ อภิชาติ ว่า ไม่ใช่แค่บอกกับลูกว่า เราจน แต่ต้องอธิบายให้เด็กเห็นด้วยว่า การไม่รวยไม่ใช่เรื่องน่าอายและไม่ใช่สิ่งไม่ดี เพราะเราสามารถภูมิใจในตัวเองได้ แม้ว่าเราจะอยู่กันแบบจนๆ โดยเฉพาะเวลาที่ ลูกถามคุณพ่อว่า ทำไมเขาถึงไม่มีอย่าง ที่เพื่อนมี

แต่ อภิชาติ เห็นว่า สิ่งที่ยากที่สุดกลับเป็นตัวของพ่อแม่เองต่างหาก ที่จะยอมรับว่าการไม่รวยไม่ใช่สิ่งเลวร้าย

“จุดเริ่มต้นที่ยากอาจจะอยู่ที่ตัวพ่อแม่เองที่ต้องยอมรับ และภูมิใจในฐานะของตัวเองที่จะทำให้ลูกเห็นว่า มันไม่ใช่ สิ่งด้อยอะไรเลย”

นวพร แนะนำว่า เด็กที่อยู่ในวัยอุดมศึกษา น่าจะต้องเข้ามารับรู้และเข้าใจที่มาของเงินที่ใช้จ่ายกันอยู่ในครอบครัว และจำนวนเงินที่มีอยู่อย่างจำกัด เขาควรจะ มีส่วนช่วยในการวางแผนการใช้จ่ายของครอบครัว

“เมื่อพูดถึงการวางแผนทางการเงิน ถึงแม้แต่ละคนจะมีอิสระในการวางแผนการเงินของตัวเองตามควร แต่จะไม่ใช่แค่การวางแผนของแต่ละคนเท่านั้น แผนการเงินหลักของครอบครัวถือเป็น สิ่งสำคัญอย่างยิ่ง” อภิชาติ ระบุ

พร้อมกับบอกว่า แผนการเงินของครอบครัวไม่ใช่แค่เป็นรากฐานสำคัญของครอบครัว แต่ยังช่วยให้สมาชิกในครอบครัวมีฐานะการเงินที่มั่นคงตามไปด้วย

เมื่อเป็นแบบนี้ พ่อก็ไม่ต้องเหนื่อยแต่เพียงลำพัง

เพราะแม้พ่อจะไม่เคยพูด หรือลูกจะไม่เคยถาม แต่ก็รู้ว่าพ่อเหนื่อย เพราะฉะนั้นอย่ามัวแต่พูดว่า “จะทำเพื่อพ่อ” เพราะถึงเวลาที่ต้องลงมือทำจริงๆ แล้ว “พ่อของพวกเรา” เหนื่อยมากแล้ว

view