สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ก.ล.ต.กล่าวโทษ5บิ๊ก"SECC"ทุจริตสินทรัพย์

ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้บริหารSECC จำนวน 5 คน กรณีทุจริตต่อทรัพย์สินของบริษัท 1.4 พันล้านบาท ระบุอาจมีผู้เกี่ยวข้องอีกมาก

กรุงเทพ ธุรกิจ ออนไลน์ : จากที่ปรากฏข่าวว่า รถยนต์ของ บริษัท เอส.อี.ซี. ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (“SECC”) หายไปจากบัญชีจำนวนมาก ภายหลังจากที่นายสมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ ประธานกรรมการบริษัทได้หลบหนีไปเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2551

สำนัก งาน ก.ล.ต. ได้เข้าตรวจสอบการดำเนินงาน ของบริษัท เอส.อี.ซี.ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (“SECC”) ซึ่งรวมถึงสินค้าคงคลังของบริษัท ปรากฏว่า ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2551 มีรถยนต์ คงเหลืออยู่ในบัญชีสินค้าคงเหลือจำนวน 501 คัน รวมมูลค่า1,425,777,958.53 บาท  แต่ปรากฏว่า รถยนต์จำนวน 493 คัน มูลค่าประมาณ 1,409 ล้านบาท ไม่สามารถระบุได้ว่าอยู่ที่ใด และน่าเชื่อว่าไม่มีอยู่จริง 

การตรวจสอบดังกล่าว พบการกระทำผิดในหลายลักษณะต่างกรรมต่างวาระ  ในชั้นนี้ สำนักงาน ก.ล.ต.  จึงได้ดำเนินการกล่าวโทษกรรมการและผู้บริหารของบริษัท SECC  2 ราย  เนื่องจากมีพยานหลักฐานที่น่าเชื่อว่า มีการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535  ในประเด็น ดังนี้

1. นายสมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ ในฐานะประธานกรรมการที่รับผิดชอบการดำเนินงานและได้รับมอบหมายให้จัดการ ทรัพย์สินของบริษัท ได้เบียดบัง ยักยอกเงินของบริษัทด้วยการจัดทำเอกสารอันเป็นเท็จ ในการสั่งซื้อสินค้ารถยนต์ที่ไม่มีจริง เพื่อเป็นเหตุอำพรางให้ต้องจ่ายเงินจากบัญชี SECC ให้แก่ตนเอง หรือบุคคลอื่น เพื่อซื้อสินค้ารถยนต์ที่ไม่มีจริงนั้น ทำให้บริษัท SECC  ได้รับความเสียหาย ประมาณการในเบื้องต้นสำหรับปี 2551 มีการจ่ายเงินเป็นค่ารถยนต์ที่ไม่มีอยู่จริง จำนวน 196 คัน มูลค่าประมาณ 597.9  ล้านบาท

การกระทำข้างต้นของนายสมพงษ์ฯ เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 307  308  311 และ 313 แห่งพระราช บัญญัติหลักทรัพย์ฯ  โดยมีนางสาวนิภาพร คมกล้า ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน  เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือและ สนับสนุน  เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 315 ประกอบมาตรา 307   308 และ 311  แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน 

2. นายสมพงษ์ร่วมกับนางสาวนิภาพรจัด ทำเอกสารอันเป็นเท็จ ในการสั่งซื้อสินค้ารถยนต์ที่ไม่มีจริง และจัดให้มีการบันทึกบัญชีซื้อรถยนต์ที่ไม่มีอยู่จริง ทำให้จำนวนรถยนต์ที่แสดงบัญชีเป็นสินค้าคงเหลือ เป็นเท็จ  ไม่ตรงต่อความเป็นจริง การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 312 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ การกระทำข้างต้นมีบริษัทแอปเปิล กรุ๊ป จำกัด บริษัทคิว อาร์ ออโต้ คาร์ จำกัด และนายกฤช เอกมงคลการ ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัททั้ง 2 แห่งข้างต้น เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน และให้ความสะดวกในการดำเนินการซื้อรถยนต์ จ่ายเงิน และจัดทำเอกสารเท็จ ซึ่งไม่ตรงต่อความเป็นจริง  เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 315 ประกอบมาตรา 307   308   311  และ 312 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน

สำนักงาน ก.ล.ต. จึงได้ดำเนินการกล่าวโทษนายสมพงษ์  วิทยารักษ์สรรค์ นางสาวนิภาพร  คมกล้า นายกฤช  เอกมงคลการ บริษัทแอปเปิล กรุ๊ป จำกัด และบริษัทคิว อาร์ ออโต้ คาร์ จำกัด ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษในวันนี้ (26 ธันวาคม 2551)

นายธีระชัย  ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “กรณี SECC เป็นเรื่องที่ผู้ลงทุนและลูกค้าของบริษัทได้รับผลกระทบมาก สำนักงาน ก.ล.ต. ไม่ได้นิ่งนอนใจจึงเร่งดำเนินการตรวจสอบเพื่อหาผู้กระทำผิด

ซึ่งในชั้นนี้พบว่ามีบุคคลและ นิติบุคคลที่เข้าข่ายกระทำผิดรวม 5 ราย และยังพบว่าอาจมีผู้ที่เกี่ยวข้องในกรณีนี้เข้าลักษณะกระทำผิดในเรื่องอื่นๆ อีก ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริงเพิ่มเติมและจะเร่งดำเนินการต่อไป”

อนึ่ง กรณีที่ปรากฏข่าวก่อนหน้านี้ว่า ผู้ลงทุนบางรายขายหุ้น SECC แล้วไม่ได้รับชำระเงินจากบริษัทหลักทรัพย์ และอาจมีเจ้าหน้าที่การตลาดกระทำการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน สำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ต่อไป


สมพงษ์’หนีไม่พ้น ยักยอก600ล้าน

โพสต์ทูเดย์ — ก.ล.ต. ทำงาน เร็ว ส่งดีเอสไอเชือด “สมพงษ์” พร้อมพวกรวม 5 ราย

ฐานทำเอกสารเท็จ ยักยอกเงิน SECC เฉียด 600 ล้าน โทษหนักจำคุก  5-10 ปี และปรับ

รายงาน ข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า วานนี้ สำนักงานก.ล.ต. ได้ดำเนินการกล่าวโทษนายสมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ น.ส.นิภาพร คมกล้า นายกฤช เอกมงคลการ บริษัท แอปเปิล กรุ๊ป และบริษัท คิว อาร์ ออโต้ คาร์ ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

สมพงษ์

สาเหตุที่กล่าวโทษครั้งนี้ เกิดขึ้นภายหลังสำนักงานก.ล.ต. เข้าไปตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัท เอส.อี.ซี. ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (SECC) ซึ่งรวมถึงสินค้าคงคลัง พบว่า ณ วันที่ 15 ธ.ค. มีรถยนต์คงเหลืออยู่ในบัญชีสินค้าจำนวน 501 คัน รวมมูลค่า 1,425,777,958.53 บาท แต่รถยนต์จำนวน 493 คัน มูลค่าประมาณ 1,409 ล้านบาท ไม่สามารถระบุได้ว่าอยู่ที่ใด และน่าเชื่อว่าไม่มีอยู่จริง

การตรวจสอบยังพบการกระทำผิดในหลายลักษณะต่างกรรมต่างวาระ จึงได้ดำเนินการกล่าวโทษนายสมพงษ์ ในฐานะประธานกรรมการบริษัท ได้เบียดบัง ยักยอกเงินของบริษัท ด้วยการจัดทำเอกสารอันเป็นเท็จในการสั่งซื้อสินค้ารถยนต์ที่ไม่มีจริง จากบริษัท แอปเปิล กรุ๊ป และบริษัท คิว อาร์ ออโต้ คาร์ เพื่อเป็นเหตุอำพรางให้บริษัทต้องจ่ายเงินให้แก่ตนเองหรือบุคคลอื่น ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย โดยมีน.ส.นิภาพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุน ทั้งนี้บริษัททั้งสองมี นายกฤช เอกมงคลการ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ

“ประมาณการในเบื้องต้นสำหรับปี 2551 มีการจ่ายเงิน เป็นค่ารถยนต์ที่ไม่มีอยู่จริงจำนวน 196 คัน มูลค่าประมาณ 597.9 ล้านบาท”

การกระทำของนายสมพงษ์เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 307, 308, 311 และ 313 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์พ.ศ.2535 ส่วนความผิดของน.ส.นิภาพรเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 315 ประกอบมาตรา 307, 308 และ 311

ทั้งนี้ความผิดตามมาตรา 307 308,309 และ313 ต้องระวางโทษหนักจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสน-1 ล้านบาท และปรับเป็นเงินสองเท่าของราคาทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ได้กระทำการฝ่าฝืน

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการก.ล.ต. กล่าวว่า กรณี SECC เป็นเรื่องที่ผู้ลงทุนและลูกค้าของบริษัทได้รับผลกระทบมาก สำนักงานก.ล.ต. ไม่ได้นิ่งนอนใจจึงเร่งดำเนินการตรวจสอบเพื่อหา ผู้กระทำผิด

“ในชั้นนี้พบว่ามีบุคคลและนิติบุคคลที่เข้าข่ายกระทำผิดรวม 5 ราย และยังพบว่าอาจมีผู้ที่เกี่ยวข้องในกรณีนี้เข้าลักษณะกระทำผิด ในเรื่องอื่นๆ อีก ซึ่งอยู่ระหว่าง รวบรวมข้อเท็จจริงเพิ่มเติมและ จะเร่งดำเนินการต่อไป” นายธีระชัย กล่าว

นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทางตลาดหลักทรัพย์จะต้องหันมาให้ความสำคัญในการดูแลและให้ความคุ้มครองกับ ผู้ถือหุ้นเป็นหลักมากขึ้น หลังเกิดกรณี SECC

“ผมเพิ่งมอบหมายให้คุณ ศักรินทร์ ร่วมรังษี และสุภกิจ จิระประดิษฐ์กุล ไปปรับปรุงระบบการดูแลผู้ถือหุ้นที่สามารถเตือน นักลงทุนตั้งแต่แรก โดยให้ยึด กรณีบริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น (PICNI) และ SECC เป็นกรณี ตัวอย่าง

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า SECC จะครบกำหนดวันชี้แจงข้อเท็จจริงการตรวจสอบพิเศษในวันที่ 30 ธ.ค. นี้ว่า ยังไม่มีผู้สอบบัญชีรับรองงบ ก็อาจจะมีผลต่อคุณสมบัติต่อ การเป็นบริษัทจดทะเบียนได้ ซึ่ง ต้องให้ทางบริษัทชี้แจงว่าจะมี แนวทางแก้ไขหรือฟื้นฟูแผนการดำเนินงานอย่างไร และหากไม่มีทางออกก็อาจเข้าข่ายถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ได้

ด้านแหล่งข่าวจากวงการหลักทรัพย์กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) ได้ชำระค่าขายหุ้นให้แก่นักลงทุนที่ซื้อหุ้น SECC บิ๊กล็อตเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสงสัยว่านักลงทุนรายนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับนายสมพงษ์ และยังต้องชี้แจงก.ล.ต. ถึงเหตุผลการชะลอจ่ายเงินก่อนหน้านี้

view