สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดบันทึกกฤษฎีกามัดคอ มท.2 แจกเงินหลวง-ส่อเก้าอี้กระเด็น

ประชาชาติธุรกิจ


เปิดบันทึกกฤษฎีกามัดคอ มท.2"บุญจง วงศ์ไตรรัตน" แจกเงินหลวง500พร้อมนามบัตร-ส่อเก้าอี้กระเด็น

นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือ มท.2 อาจกลายเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลนายอภสิทธิ เวชชาชีวะ ที่ต้องตายน้ำตื้นเป็นรายแรก
เมื่อนายบุญจงพร้อมนายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมการปกครอง และนายอำเภอโชคชัย ร่วมแจกผ้าห่ม พร้อมด้วยเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้จากงบประมาณของ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)ให้กับผู้ขอรับการสงเคราะห์ ครอบครัวผู้ประสบความเดือดร้อน ตามระเบียบสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย และไร้ที่พึ่ง พ.ศ.2547  ต.ด่านเกวียน อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา คนละ 500 บาท รวม 100,000 บาทที่บ้านพักส่วนตัวของนายบุญจงเอง
 
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่มอบเงินให้แก่ช่าวบ้านคือ นางกาญจนา วงศ์ไตรรัตน์ อดีต ส.จ.นครราชสีมา ภริยาของนายบุญจง โดยมีการแจกนามบัตร ระบุชื่อ ส.ส.บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา ซึ่งมีเบอร์โทรศัพท์มือถือพร้อมกันไปด้วย
นายบุญจงกล่าวว่า การมอบเงินช่วยเหลือนี้ ดำเนินการตามระเบียบกระทรวง พม. โดยผู้ที่รับมอบได้ขึ้นทะเบียนกับทางอำเภอ และมีการตรวจสอบรายชื่อเรียบร้อยแล้ว จึงได้มามอบที่บ้านของตน มีนายอำเภอเป็นผู้รับมอบเงินดังกล่าวมาตามระเบียบ และในสัปดาห์หน้าจะมีอีกกลุ่มมอบเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ เพราะการแจกเงินช่วยเหลือยังไม่ทั่วถึง 
  นายบุญจงกล่าวว่า ส่วนการแจกนามบัตรของตนนั้น ทำมา 7-8 ปีแล้ว และเป็นเรื่องปกติของคนที่นี่ ที่ชาวบ้านก็มักจะขอนามบัตรตน เพื่อติดต่อโทร.ขอความช่วยเหลือสายตรงได้ตลอดเวลา
ผู้สื่อข่าวถามถึงความ เหมาะสมในการนำอดีต ส.จ.ที่เป็นภรรยา มาร่วมแจกเงิน นายบุญจงกล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่นักการเมืองท้องถิ่นจะมาร่วมงานช่วยเหลือประชาชน และที่สำคัญก็มีนายอำเภอมาร่วมด้วย เราทำงานร่วมกันตลอดเวลาอยู่แล้ว และการแจกเงินนั้นดีกว่า ที่จะซื้อของแจก เพราะจะทำให้มีปัญหาตามมาอย่างเรื่องปลากระป๋อง แต่การจากเงินผู้ที่ได้รับก็สามารถนำไปใช้สอยตามที่ต้องการได้

ประเด็นของเรื่องนี้ คือ การที่นำงบประมาณหลวงมาแจกจ่ายให้แก่ราษฎรที่บ้านของ ส.ส.ซึ่งเป็นรัฐมนตรีที่เป็นผู้บังคับบัญชาของนายอำเภอและอธิบดีกรมการ ปกครอง พร้อมกับแจกนามบัตรของตนเองในฐานะ ส.ส.เป็น การกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266(1) ที่ห้าม ส.สใช้สถนะหรือตำแหน่งเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือ ของพรรคการเมืองไม่ว่าโดยตรงหรือโดยทางอ้อม ในการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของราชการหรือไม่

"มติชนออนไลน์"ได้ตรวจสอบความเห็นทางกำหมายในเรื่องนี้พบว่า มีบันทึกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา(เรื่องเสร็จที่ 573/2551)เคยให้ความเห็นในลักษณะทำนองเดียวกันไว้ว่า อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ตาม และอาจเป็นเหตุให้ผู้กระทำการเช่นนั้นถูกถอดถอนได้ตามรัฐธรรมนูญ

รายละเอียดของบันทึกดัง กล่าว กรุงเทพมหานครได้มีหนังสือ ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2550  ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า ตามที่กรุงเทพมหานครได้จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 และงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2551 เสร็จแล้ว ซึ่งมีประเด็นปัญหาคือ การใช้จ่ายงบแปรญัตติของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการวิสามัญที่สภา กรุงเทพมหานครแต่งตั้ง จะมีการติดข้อความบนสิ่งของหรือปิดประกาศว่าเป็นงบประมาณของกรุงเทพมหานคร โดยการเสนอของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครในโครงการต่างๆ ได้หรือไม่ อย่างไร

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) มีความเห็นว่า เมื่อมาตรา 284 ว่าด้วยเรื่องสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ให้นำบทบัญญัติมาตรา 266 ]มาใช้บังคับกับสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี ด้วยโดยอนุโลม 

โดยบทบัญญัติดังกล่าว ได้ห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อ ประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม 

กรณีการ ติดข้อความบนสิ่งของหรือปิดประกาศว่า เป็นงบประมาณของกรุงเทพมหานครโดยการเสนอของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จึงอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามหมวด 12 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่ 2 การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และอาจเป็นเหตุให้ผู้กระทำการเช่นนั้นถูกถอดถอนได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย

จากบันทึกของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวเห็นได้ว่า "การติดข้อความบนสิ่งของหรือปิดประกาศว่าเป็นงบประมาณของกรุงเทพมหานครโดยการเสนอของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร" กับการ "แจกเงินหลวงพร้อมกับนามบัตรของ ส.ส."มีนัยยะที่ไม่แตกต่างกัน

นอกจากนั้นการนำเงินหลวงยังมาแจกที่ให้แก่ชาวบ้านที่บ้านพักของรัฐมนตรีที่เป็นผู้บังคับบัญชาของอธิบดีกรมการปกครองและนายอำเภอ แทนที่จะแจก ณ ที่ว่าการอำเภอก็มีนัยยะในลักษณะเดียวกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า เป็นการเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามหมวด 12 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่ 2 การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และอาจเป็นเหตุให้ผู้กระทำการเช่นนั้นถูกถอดถอนได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ดังนั้น ถ้าพรรคฝ่ายค้านต้องการทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง สามารถเข้าชื่อกันจำนวน 1 ใน 10 ของ ส.ส.ที่มีอยู่ ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ถอดถอนนาย บุญจง เพราะมีการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญทั้งในฐานะ ส.ส.และรัฐมนตรีตาม มาตรา 91 และมาตรา 182(7) และจะพ่วงการยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ฐานการละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอีกกระทงหนึ่งก็น่าจะทำได้
-------------------------------------------------------
รัฐธรรมนูญ ฯมาตรา266
 
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและ สมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือ สมาชิกวุฒิสภาเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น

(2) การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือ

(3) การให้ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมืองพนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น พ้นจากตำแหน่ง
view