สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ศาลนัดไต่สวนคดี13พืชอันตราย เอื้อต่างชาติ

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



เอ็นจีโอยื่นส.ว.รสนา สอบออกประกาศ 13 พืชอันตราย ด้านนักวิชาการแฉกระทรวงอุตฯ-กรมวิชาการเกษตร เอื้อบ.ข้ามชาติ ยื่นศาลปกครองนัดไต่สวน 23 ก.พ.

กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายสุขภาพวิถีไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฯ เข้าร้องเรียนต่อ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา โดยรับเรื่องจะเร่งดำเนินการ เพราะถือเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นเรื่องของปากท้องประชาชน

นายทองหล่อ ขวัญทอง เกษตรกร จ.ยโสธร กล่าวว่า พวกเราเกษตรกรทั่วทุกภูมิภาคได้รับความเดือดร้อนจากกรณีกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศพืชสมุนไพร 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 1 บัญชี ข. ซึ่งกลุ่มตนเห็นว่าเป็นการเร่งการประกาศบังคับใช้เร็วเกินไป ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากประกาศดังกล่าว ทั้งนี้ จากการตรวจสอบติดตามการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า มีเงื่อนงำและไร้ธรรมาภิบาล สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติเป็นอย่างมาก

"พืชสมุนไพรที่ขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตราย 13 ชนิดนั้น เกษตรกรสามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นสารควบคุมศัตรูพืชมานานแล้ว เนื่องจากไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดผลตกค้างที่เป็นอันตรายต่อทั้งตัวเกษตรกรและผู้บริโภค อีกทั้งยังส่งผลให้เกษตรกรที่ไม่สามารถทำสารเพื่อควบคุมศัตรูพืชได้เอง ต้องหันไปพึ่งสารเคมีที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศแทน"

นายทองหล่อ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาแม้ทั้งสองหน่วยงานคุ้มครองผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและคุ้มครองเกษตรกร แต่กระบวนการดังกล่าวกลับเป็นไปอย่างรวบรัด มีการขอรับรองมติจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายก่อนการออกประกาศฯเป็นไปโดยมิชอบ และไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ จะอ้างว่าประกาศดังกล่าวเพื่อกลุ่มตนจึงเห็นว่าเป็นการเพิ่มภาระให้เกษตรกร ทั้งที่ขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีนโยบายใด ๆ ออกมาเป็นรูปธรรมในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว การดำเนินการของกระทรวงอุตสาหกรรมและกรมวิชาการเกษตรกลับยังเป็นการตอกย้ำ สร้างปัญหาให้ชาวเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งกลุ่มของพวกเรายังตั้งข้อสังเกตว่าคำประกาศดังกล่าวมีเจตนาเอื้อ อำนวยประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการเคมีเกษตรและบรรษัทข้ามชาติหรือไม่

นายสมคิด หอมเนตร นักวิชาการอิสระ จากจ.อุดรธานี กล่าวว่า ตนได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้คุ้มครองและประกาศยกเลิกคำประกาศ ของกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมวิชาการเกษตร แล้ว โดยฟ้องนายชาญชัย  ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม นายธีระ วงศ์สมุทร  รมว.เกษตรและสหกรณ์ นางรัชดา สิงคาลวนิช อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  รวมถึงอธิบดีกรมปศุสัตว์

ทั้งนี้ เนื่องจากประกาศฉบับดังกล่าวส่งผลดีต่อเกษตรเคมี ซึ่งเป็นระบบทุนเกษตรผูกขาดแบบครบวงจรเอื้อประโยชน์แก่บรรษัทข้ามชาติ ผู้ผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์ ที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย และสิทธิมนุษยชนในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น

นายสมคิด กล่าวอีกว่า ตนจะขอให้ศาลเรียกข้อมูลเอกสารหลักฐานจาก กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ เนื่องจากสารเคมีบางส่วน เช่น สารคอปเปอร์ ซัลเฟต(Copper Sulphate) และ ซัลเฟอร์(Sulfur) ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนของดีเอสไอ เมื่อมีประกาศราชกิจจานุเบกษาประกาศรายชื่อสมุนไพรทั้ง 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตราย สารเคมีต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาก็จะถูกยกเลิกไปด้วย ซึ่งเท่ากับว่าการลักลอบนำสารเคมีต้องห้ามดังกล่าวไม่ผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ ตนเรียกร้องให้ประชาชนและเกษตรกรที่ได้ผลกระทบจากประกาศดังกล่าวเข้าร่วม เป็นพยานในวันที่ 23 ก.พ. เวลา 09.00 น. ห้องไต่สวน 3 ที่ศาลปกครองด้วย

view