สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เล็งเปิดเสรี13ธุรกิจในอีก3ปีข้างหน้า

โพสต์ทูเดย์


เล็งเปิดเสรีธุรกิจบัญชี 3 ภายใต้กฎหมายต่างด้าวครั้งใหญ่ หลังผลศึกษาพบ 17 ธุรกิจพร้อมแข่งขัน 3-7 ปีข้างหน้า
คณิสสร นาวานุเคราะห์
นายคณิสสร นาวานุเคราะห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาทบทวนธุรกิจที่จะเปิดเสรีให้คนต่างด้าวเข้ามา ประกอบธุรกิจตามบัญชีแนบท้าย 3 ของพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจและส่งเสริมการลงทุนจากต่าง ประเทศ

ในการทบทวนธุรกิจตามบัญชี 3 จะพิจารณาตามข้อเสนอของ สำนักวิจัยเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) ที่กรมฯ ได้ว่าจ้างให้ทำการศึกษาธุรกิจที่ควรเปิดเสรี ซึ่งมีทั้งหมด 17 ธุรกิจ

แบ่งเป็น 13 ธุรกิจ ที่ควร เปิดเสรี แต่ให้เวลาปรับตัว 3 ปี ได้แก่ กิจการบริการทางวิศวกรรม ก่อสร้าง กิจการนายหน้าหรือ ตัวแทน ค้าปลีก ค้าส่ง กิจการโฆษณา โรงแรม ขายอาหารและเครื่องดื่ม บริการด้านคอมพิวเตอร์ การบริหารงานควบคุมคลังสินค้าและบริหารงานขนส่งภายใน การบริหารให้คำปรึกษาทางธุรกิจและการจัดการ ธุรกิจโรงเรียน ธุรกิจด้านบันเทิงหรือโรงมหรสพ

สำหรับ 2 ธุรกิจที่ควรเปิดเสรี แต่ให้เวลาปรับตัว 4-6 ปี ได้แก่ การขายทอดตลาดและกิจการเพาะขยายหรือปรับปรุงพันธุ์พืช อีกหนึ่งธุรกิจ คือ การค้าภายในผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลทางการเกษตรพื้นเมือง เป็นธุรกิจที่ควรเปิดเสรี แต่ให้เวลาปรับตัว 7 ปี สุดท้ายคือ ธุรกิจโรงรับจำนำ อาจสงวนไว้หรือเปิดเสรีในอนาคต

“ตามข้อเสนอของสวค. ได้เสนอแนวทางการเปิดเสรีไว้ 3-4 แนวทาง คือ ธุรกิจที่พร้อมจะเปิดเสรีภายใน 3-7 ปี หรือมากกว่า และธุรกิจที่ไม่ควรเปิดเสรีเลย การพิจารณาธุรกิจที่จะเปิดเสรียึดหลักผลประโยชน์ของชาติ ความสามารถของผู้ประกอบการ และข้อตกลงที่ไทยไปเจรจาการค้าภายในกรอบต่างๆ” นายคณิสสร กล่าว

ขณะเดียวกัน จะมีอีก 5 ธุรกิจที่ให้สวค. ศึกษาเพิ่มเติมว่าควรเปิดเสรีหรือไม่ ได้แก่ สำนักงานผู้แทน สำนักงานภูมิภาค บริการให้คำปรึกษาการบริหารจัดการธุรกิจ บริษัทในกลุ่มในเครือ ธุรกิจรับจ้างผลิต และธุรกิจทุนออกเงินกู้

สำหรับธุรกิจที่มีหน่วยงานเฉพาะหรือมีกฎหมายเฉพาะดูแลอยู่ จะให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องเป็นผู้พิจารณาและอนุญาต เหลือเพียงแค่แจ้งให้กรมฯ รับทราบ เพื่อลดปัญหาความซ้ำซ้อน มี 20 ธุรกิจ เช่น ธนาคาร กิจการให้กู้ยืม ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย โรงรับจำนำ

คลังสินค้า โรงเรียน โรงมหรสพ การค้าหลักทรัพย์ การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาการลงทุน เป็นต้น

นายคณิสสร ชี้แจงด้วยว่า ข้อมูลการจัดตั้งนิติบุคคลและยกเลิกจัดตั้งนิติบุคคลที่ปรากฏใน สื่อก่อนหน้านี้ ไม่ใช่ตัวบ่งชี้ทิศทางเศรษฐกิจไทย เป็นเพียงการเก็บสถิติข้อมูลเท่านั้น

การชี้วัดทิศทางเศรษฐกิจต้องใช้หลายปัจจัยประกอบ การเปรียบเทียบสถิติยอดจัดตั้งหรือยกเลิกบริษัทต้องมองเป็นรายไตรมาส

“ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การจัดตั้งและยกเลิกไม่ถือว่าผิดปกติ ปลายปีจะมียอดยกเลิกบริษัทมาก ส่วนต้นปียอดจัดตั้งก็มากเช่นกัน ซึ่งยอดยกเลิกเดือนม.ค. ปีนี้ เพิ่มแค่ 0.31% เทียบม.ค. ปีก่อน ไม่ถือว่าผิดปกติ” นายคณิสสร กล่าว

view