สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บิ๊กSCGแจงคดีปลอมใบหุ้น เร่งหาแนวทางดูแลผู้เสียหาย

ประชาชาติธุรกิจ



คดีปลอมใบหุ้นปูนซิเมนต์ไทยบานปลาย ทายาทตระกูล "อมาตยกุล" ส่งทนายความเข้าแจ้งความกองปราบปราม กล่าวหาอดีตพนักงานปูนซิเมนต์ไทยยักยอกทรัพย์และปลอมแปลงเอกสารราชการ ด้านบิ๊ก SCG "กานต์ ตระกูลฮุน" ยันไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่อยู่ระหว่างหาแนวทางดูแลผู้เสียหาย ยอมรับกรณีที่เกิดขึ้นกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานความคืบหน้ากรณีการปลอมแปลงในหุ้น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ว่า นายวรรณพงษ์ รุ่งโรจน์วุฒิกุล ผู้จัดการมรดกตระกูลอมาตยกุล และนายพิบูลย์ศักดิ์ สุขพงษ์ ทนายความ ซึ่งเป็นตัวแทนของนายเกียรติพงศ์ อมาตยกุล อธิบดีศาลแรงงานภาค 6 ทายาทนายวรรโณทัย อมาตยกุล เจ้าของใบหุ้นที่ถูกปลอมแปลงได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ให้ดำเนินคดีกับนายประพันธ์ ชูเมือง อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนหุ้น บริษัทปูนซิเมนต์ไทย ในข้อหาร่วมกันยักยอกทรัพย์และปลอมแปลงเอกสารทางราชการ หลังนายประพันธ์นำใบหุ้นปูนซิเมนต์ไทยจำนวน 2 ใบของตระกูลอมาตยกุลไปแตกเป็นใบหุ้น 12 ใบ แล้วนำไปหลอกขายให้กับนักลงทุน สร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท

นายพิบูลย์ศักดิ์กล่าวว่า หากการสอบสวนของตำรวจพบว่ามีบุคคลอื่นเกี่ยวข้องอยู่ร่วมขบวนการกับนาย ประพันธ์ ก็จะแจ้งความดำเนินคดีเพิ่มเติม ส่วนนายประพันธ์นอกจากการแจ้งความดำเนินคดีในวันนี้แล้ว จะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งอีกทางหนึ่งด้วย

ขณะเดียวกันวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาทางแก้ปัญหาที่เกิด ขึ้นว่า หลังจากเกิดกรณีปลอมใบหุ้นของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย ที่ผ่านมาบริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ไขปัญหาให้กับผู้เสียหาย โดยติดต่อกับผู้เสียหายและดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อเอาผิดกับผู้ปลอมหุ้น อย่างต่อเนื่อง เริ่มจากบริษัทได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยที่สถานีตำรวจนครบาล เตาปูน จากนั้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมกับส่งหนังสือชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตลาดหลักทรัพย์แห่ง ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการเปิดเผยข้อมูลตามหลักบรรษัทภิบาล และเป็นช่องทางการสื่อสารเพื่อให้นักลงทุนได้รับทราบข้อมูลความคืบหน้า

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีความเห็นว่าข้อเท็จจริงทั้งหมดยังไม่มีความชัดเจน ในเบื้องต้นจึงยังไม่สามารถหาข้อสรุปถึงแนวทางการดูแลผู้เสียหายในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทยึดมั่นในนโยบายดำเนินการรับผิดชอบกับผู้ถือหุ้นเป็นอย่างดี เพียงแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องพิจารณาถึงผลกระทบทุกด้านอย่าง รอบคอบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

นายกานต์กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาขั้นตอนการออกใบหุ้นพบว่าเป็นสิทธิ์ของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ในฐานะเป็นนายทะเบียนของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย ดังนั้นบริษัทจึงไม่มีอำนาจดำเนินการออกใบหุ้นได้เอง กรณีนี้จึงอยากให้ผู้ถือหุ้นตรวจสอบการทำธุรกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการถือครองหุ้นอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงถ้าต้องการพนักงานช่วยดูแลหรือประสานงานการทำธุรกรรมเกี่ยวกับหุ้นควร เลือกที่ไว้ใจได้เท่านั้น

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยอมรับว่าได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของ นักลงทุนพอสมควร อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดเหตุการณ์บริษัทได้จัดตั้งคอลเซ็นเตอร์เพื่อสอบถามข้อสงสัยผู้ ถือหุ้นโดยเฉพาะ และจากข้อมูลพบว่าถึงปัจจุบันมีผู้โทรศัพท์เข้ามาสอบถามแล้ว 21 ราย จากจำนวนผู้ถือหุ้นของปูนซิเมนต์ไทยปัจจุบันจำนวนกว่า 3 หมื่นราย สะท้อนว่าผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อมั่นในตัวบริษัท ส่วนการโทรศัพท์สอบถามไปยังศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ เท่าที่ทราบล่าสุดพบว่ามีจำนวน 89 ราย และมีผู้นำใบหุ้นมาให้ดำเนินการตรวจสอบอีกจำนวน 31 ราย

"ถึงตอนนี้อยากให้ทางผู้เสียหายรอดูผลความคืบหน้าอีกสักระยะ เนื่องจากการดำเนินการทุกอย่างต้องทำตามขั้นตอน ด้วยความรอบคอบ ชัดเจน และโปร่งใส"

ก่อนหน้านี้กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย ได้ทำหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทได้มีมติให้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงกรณีที่มีผู้ปลอมแปลงใบหุ้นสามัญของบริษัท โดยระบุรายละเอียดว่า วันที่ 30 มกราคม 2552 ที่ผ่านมา ได้รับแจ้งจากบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ว่ามีการปลอมแปลงใบหุ้นสามัญของ บริษัท 2 ใบ รวม 672,000 หุ้น คิดเป็นมูลค่าหุ้นขณะนี้ประมาณ 67 ล้านบาท ซึ่งจากที่ได้ตรวจสอบภายในบริษัท พบว่าแบบฟอร์มใบหุ้นสามัญสูญหายรวม 34 ใบ ได้แก่ ในหุ้นเลขที่ 0025001-0025034 จึงได้แจ้งความและยกเลิกใบหุ้นที่สูญหายแล้ว ขณะเดียวกันได้ตั้งข้อสงสัยว่าพนักงานของบริษัทคนหนึ่งอาจจะมีส่วนเกี่ยว ข้องกับเรื่องนี้ แต่ขณะนี้พนักงานคนดังกล่าวได้หลบหนีไปแล้ว จึงได้แจ้งความดำเนินคดี และขอให้ศาลอาญาออกหมายจับเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กรณีปลอมใบหุ้น บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย ถูกเปิดเผยขึ้นภายหลังจากที่ทายาทนายวรรโณทัย อมาตยกุล ตรวจสอบพบว่า ในหุ้นที่นายวรรโณทัยถืออยู่ตั้งแต่ปี 2546 รวม 6.72 แสนหุ้น และได้ฝากไว้กับนายประพันธ์ ชูเมือง เจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนหุ้นส่วนของ บมจ.ซิเมนต์ไทย ได้ถูกนำไปปลอมแปลงเอกสารโดยแยกเป็นใบหุ้น 12 ใบ จากนั้นนายประพันธ์ได้แจ้งความว่าใบหุ้นสูญหายไปบางส่วน ก่อนขอให้ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทยออกใบหุ้นให้ใหม่ และนำออกขาย โดยที่นายวรรโณทัยไม่รับรู้ จนกระทั่งนายวรรโณทัยเสียชีวิต และมีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกจึงทราบปัญหาที่เกิดขึ้น


อมาตยกุลฟ้องเรียก200ล.มือฉกปลอมหุ้นปูนใหญ่

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"อมาตยกุล" ดำเนินการฟ้องเรียก 200ล้านให้ดำเนินคดีกับนายประพันธ์ ชูเมือง ในข้อหาร่วมกันยักยอกทรัพย์และปลอมแปลงใบหุ้น

 นาย พิบูลย์ศักดิ์ สุขพงษ์ ทนายความอิสระ ที่รับผิดชอบดูแลคดีใบหุ้นปลอมของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ SCC ทั้งในคดีอาญาและคดีแพ่ง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2552 นายวรรณพงษ์ รุ่งโรจน์วุฒิกุล ผู้จัดการมรดกตระกูลอมาตยกุล และ ตัวเอง ซึ่งเป็นตัวแทนของนายเกียรติพงศ์ อมาตยกุล อธิบดีศาลแรงงานภาค 6 เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ให้ดำเนินคดีกับนายประพันธ์ ชูเมือง อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนหุ้น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ในข้อหาร่วมกันยักยอกทรัพย์ และปลอมแปลงเอกสารทางราชการ

 หลังจากนายประพันธ์นำใบหุ้นปูนซิเมนต์ไทย 2 ใบ ของตระกูลอมาตยกุล ไปทำการแตกใบเป็น 12 ใบ แล้วนำไปหลอกขายให้กับนักลงทุนทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งสร้างความเสียหายมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท โดยมูลค่านี้คำนวณจากวันที่ทรัพย์ถูกละเมิดรวมกับดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี 

ส่วนคดีทางแพ่งนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเอกสาร และตัวเองได้เดินทางมาตลาดหลักทรัพย์ เพื่อติดต่อขอให้พนักงานสอบสวน เข้าสอบปากคำเจ้าหน้าที่ และหาหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จากบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) ในวันที่ 2 มี.ค. นี้

เขากล่าวอีกว่า หากการสอบสวนของตำรวจ พบว่า มีบุคคลอื่นเกี่ยวข้องอยู่ร่วมขบวนการกับนายประพันธ์ รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องรับรู้กระบวนการปลอมแปลงเอกสาร ไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์ ศูนย์รับฝาก (TSD) บริษัท หลักทรัพย์ และ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้ที่ดูแลระบบการซื้อขายหุ้นทั้งหมด ต้องชี้แจงข้อเท็จจริง รวมถึงระบบซื้อขายได้ และหากไม่มีหน่วยงานใดออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น จะยื่นฟ้องร้องต่อศาลให้ดำเนินคดี

view