สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภัยมืด...แชร์ลูกโซ่เงินสะพัด 4-5 หมื่นล้าน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เปรมศิริ ฤทัยเจตน์เจริญ



แชร์ลูกโซ่ ภัยมืดที่มาพร้อมกับเศรษฐกิจ "ขาลง" และต้องตะลึง! เมื่อดีเอสไอเผยว่า 2 ปีที่ผ่านมา ห่วงโซ่นี้มีเงินหมุนเวียนมากถึง 4-5 หมื่นล้าน

แม้ว่าจากฐานข้อมูลดีเอไอจะรวบรวมตัวเลขความเสียหายได้ประมาณ 1,426 ล้านบาท จากจำนวนผู้เสียหายทั้งหมดประมาณ 6,400 คน แต่ "พันเอกปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ" ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษหรือ ดีเอสไอ เชื่อว่า มูลค่า "เงินนอกระบบ" สูงมากมายกว่านั้นมาก และตัวเลข 4-5 หมื่นล้านบาท เป็นไปได้มากทีเดียว

เพราะเพียงแค่ 2 ปีเศษ หลังจากที่ตั้งดีเอสไอ ขึ้นรับผิดชอบคดีแชร์ลูกโซ่ในคดีใหญ่ที่มีผู้เสียหายไม่น้อยกว่า 50 คน หรือ มูลค่าความเสียหายต่อ
คดี ที่ไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท ปัจจุบันมีคดีในมือดีเอสไอแล้ว 20 กว่าคดี และแต่ละวงแชร์มีผู้เกี่ยวข้อง "หลักหมื่น" บางคดีสูงถึง "ล้านราย" ทีเดียว

ซึ่งจากหลักฐาน และฐานข้อมูลที่ดีเอสไอรวบรวมได้หลังจาก "ทลายรัง" แก๊งแชร์ลูกโซ่แต่ละรายพบฐานสมาชิกจำนวนมาก

"เราพบว่ามีผู้เสียหายที่เข้ามาฟ้องร้องกับดีเอสไอเพียง 20% ของผู้เสียหายทั้งหมดเท่านั้น"

โดย คดีอีซี่เน็ตเวอร์ค แม้จะมีผู้เสียหายที่เข้าร้องเรียนเพียง 453 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 132 ล้านบาท แต่ฐานข้อมูลของบริษัท ระบุว่ามีสมาชิกมากถึง 5.5 หมื่นราย ซึ่งในคดีนี้ ผู้บัญชาการ ดีเอสไอ คาดว่า ความเสียหายอาจจะมากถึง 1.6-17 หมื่นล้านบาท ทีเดียว

ขณะที่ ซีวันนูเทรี้ยน มูลค่าความเสียหายที่ฟ้องร้องกับดีเอสไอมีเพียง 59 ราย คิดเป็นวงเงินเสียหาย 1.4 ล้านบาท ในระบบฐานข้อมูลบริษัทมีสมาชิกมากถึง 2.7 หมื่นราย

หรือในคดีไทยเน็ตเวิร์ค หรือสยามไลน์ ฐานสมาชิกมากถึง 4 หมื่นราย แต่มีผู้เข้าฟ้องร้องแค่ 598 ราย

แม้ว่าวงเงินลงทุนต่อรายจะไม่สูงมาก เฉลี่ยเพียง 2,900 บาทต่อคน แต่พบว่า สมาชิกส่วนใหญ่ลงทุนมากกว่า 1 หุ้น และเล่นกันมากว่า 1 รอบ

โดยเฉพาะมือแรกๆ เมื่อลงทุนแล้ว "ได้" มักจะเพิ่มวงเงินลงทุนมากขึ้นๆ เพราะเห็นว่า "คุ้ม" ทำให้วงแชร์ใหญ่ขึ้น และแต่ละรายที่ได้รับความเสียหายไม่น้อยกว่า 5 แสนบาทขึ้นไป

"บางรายมากถึงหลักล้าน 2-6 ล้านบาท สูงสุดที่เราพบมีมากถึง 27 ล้านบาท ในคนๆ เดียว

จากที่ทำมาหลายๆ คดี เราพบว่าผู้เสียหายจำนวนมากไม่กล้ามาร้องเรียน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะผู้เสียหายมีหน้าตา มีชื่อเสียงในสังคม เราจึงได้ผู้เสียหายแค่ 20% ของผู้เสียหายทั้งหมด"

นอกจากนี้เขายังได้รับการยืนยันจากเหยื่อคดีแชร์ข้าวสารด้วยว่า วงแชร์ใหญ่กว่าดีเอสไอคาดมาก

"มีผู้เสียหายคนหนึ่งที่โทรมาขอบคุณเราที่ตัดโซ่แชร์ข้าวสารลงก่อนได้ ซึ่งเขาพร่ำเตือนพ่อแม่ว่าอย่าไปลงทุนเลย เป็นการหลอกลวง เราก็ถามว่าพ่อแม่คุณเป็นสมาชิกคนที่เท่าไร เค้าบอกว่าล้านกว่า.."

และล่าสุดแชร์น้ำมันที่ดีเอสไอกำลังขอหมายจับมีความเสียหายไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท

ทั้งหมดนี้คือความเสียหายของระบบเศรษฐกิจ 

"แชร์ลูกโซ่" มาพร้อมกับเศรษฐกิจ "ขาลง"

พันเอกปิยะวัฒก์ บอกว่า ตั้งแต่ตั้งดีเอสไอปลายปี 49 คดีแชร์ลูกโซ่หลั่งไหล่เข้ามาราวกับดอกเห็ด จนถึงปัจจุบันส่งฟ้องแล้วประมาณ 34 คดี และยังค้างอีก 12-13 เรื่อง

"ภาพรวมมีผู้เสียหายที่เข้ามาร้องกับเราประมาณ 6 พันกว่าคน และผู้ต้องหาประมาณ 141 คน" และดูเหมือนว่าตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกำลังขยายตัวออกส่วนภูมิภาคอย่างรวดเร็ว ทั้งในภาคเหนือ อีสาน ใต้ ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ หายห่วง.. ถึงขนาดดีเอสไอ บอกว่า แพร่พันธุ์ไวยิ่งกว่าดอกเห็ด

พันเอกปิยะวัฒก์ ย้อนเล่าให้ฟังถึงคดีแชร์น้ำมัน "แม่ชม้อย" ที่เกิดขึ้นราว 30 กว่าปีที่แล้วว่า สถานการณ์เศรษฐกิจตอนนั้น กับตอนนี้แทบไม่ต่างกันเลย ซึ่งเป็นช่วงเศรษฐกิจ "ขาลง" ราคาน้ำมันถีบตัวแพงอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคราคาสูง เงินเฟ้อสูง จะต่างกันแค่ช่วงนั้น
เกิดภาวะขาดแคลนน้ำมัน ทำให้เป็นช่องทางให้ "แม่ชม้อยและพวก" คิดสูตรรวยทางลัดตั้งวงแชร์เก็งกำไรราคาน้ำมัน

หรือในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งเป็นอีกครั้งที่แชร์ลูกโซ่พันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างหนาตา ไม่ว่าจะเป็น แชร์นากหญ้า แชร์เอ็มแอลเอ็ม หรือแม้กระทั่งแชร์สินค้าอุปโภคบริโภคที่มีในทุกภาค

มาเร็ว ไปเร็ว เคลมเร็ว

ปรากฏการณ์แพร่พันธุ์ลูกโซ่นี้ พันเอกปิยะวัฒก์ อธิบายว่า เกิดจากแม่ข่าย ที่ไม่ใช่ใครอื่นแต่เป็นบรรดา "ลูกหม้อ" ของบริษัทแชร์ลูกโซ่ที่แตกหน่อออกมาสร้างโซ่สายใหม่ เพราะเห็นว่า หาเงินง่ายดี แต่ที่น่าสังเกตคือ วงแชร์ลูกโซ่ช่วงหลังๆ วงแชร์จะสั้นลง เปิดเร็วปิดเร็ว

“การดำเนินการแค่ 1-3 เดือน ก็ปิดบริษัท เป็นการเปิดสั้นๆ เท่านั้นเอง เรียกว่าตั้งขึ้นมาเพื่อหลอกลวงโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นพวกที่แตกตัวมาจากแม่ทีมขายตรง แล้วเสนอการขาย เสนอผลตอบแทนที่เร็วกว่า อย่างแชร์ข้าวสารที่เกิดขึ้นในกรุงเทพรอบการจ่ายผลตอบแทน 30 วัน 60 วัน แต่พอไปแตกตัวไปก็ร่นเวลาจ่ายผลตอบแทนเป็น 20 วัน”

เป็นการใช้จำนวนผลประโยชน์ตอบแทนมาเป็นตัวล่อใจ

โลกบนเน็ตจริงหรือหลอก

ความพลิกแพลงของแชร์ลูกโซ่ยัง พัฒนาการตามโลก อินเทอร์เน็ตจึงถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้วงแชร์ ซึ่งในช่วงหลังเริ่มมีมากขึ้นทั้งรูปแบบของแชร์น้ำมัน การลงทุนในเงินตราต่างประเทศ

“ถ้าเราเข้าไปในเว็บของโคโรนี อินเวสท์เราจะพบว่ามีตารางการลงทุนแสดงให้เห็นผลที่เราลงทุนไป ทำให้น่าเชื่อถือมากขึ้น”

นอกจากตารางการลงทุนแล้วภายในเว็บไซต์เหล่านี้จะมีคำแนะนำการลงทุนให้ สามารถศึกษาได้ด้วยตัวเองอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยเหยื่อที่ต้องการลงทุนจะได้รับพาสเวิร์ดสำหรับการเข้าเช็คข้อมูลได้ทุก วัน โดยการลงทุนต้องลงทุนขั้นต่ำ 3 แสนบาทขั้นต่ำ ซึ่งจะได้รับผลตอบแทน “ทุกวัน”

หากนักลงทุนสามารถหาสมาชิกเพิ่มจะได้รับค่าตอบแทนอีกทางหนึ่งด้วย

“เงินระดับแสน คนก็จะหลงเชื่อ แต่พอครบ 100 วัน ครอบรอบการลงทุนจะเอาเงินออกจากระบบก็ออกไม่ได้ ถึงจะรู้ว่าถูกหลอก”

แต่ก็มีเหยื่อหลายรายที่ถูกหลอกซ้ำแล้วซ้ำอีก หลังจากที่ขาดทุนเหยื่อจะได้รับการติดต่อจากแก๊งมิจฉาชีพ..

“จะมีการติดต่อกลับมาว่าถ้าไม่อยากให้เงินที่ลงไว้ตอนแรกสูญให้นำเงิน ก้อนใหม่มารักษาสภาพเงิน 3 แสนที่ลงไว้ แล้วรอบหน้าถ้าได้จะคืนทั้งต้นทั้งดอก”

บางรายยังถูกข่มขู่กลายๆ ว่าถ้าไม่นำเงินมาลงอีกหรือผิดสัญญาจะถูกฟ้องกลับฐานผิดสัญญา หรือแม้แต่สัญญาว่าไม่สามารถเอาผิดบริษัทได้

แสนเสียดายเงินแสนที่ลงไปแล้ว แล้วก็ทำท่าจะหายวับไป จึงจำใจลงเงินอีกก้อนหวังจะเอาคืนแบบคูณสอง
...แต่แล้วทั้งเงินเก่า เงินใหม่ ก็เข้ากระเป๋าแก๊งต้มตุ๋นไปหมด

พันเอกปิยะวัฒก์ บอกว่า ปัจจุบันการใช้รูปแบบการใช้หลอกลวงเงิน ระดมทุนผ่านอินเทอร์เน็ต เพราะไม่ต้องจดทะเบียนตั้งบริษัท ไม่ต้องลงทุนทำออฟฟิศ แค่เช่าพื้นที่เว็บไซต์แล้วพัฒนาเว็บให้ดูน่าเชื่อถือ โดยทำหลายภาษาให้เลือก ล่าสุดที่พบ ได้แก่ แชร์น้ำมัน แชร์ทองคำ ที่เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นตามความผันผวนของราคาน้ำมัน และทองคำ ที่ทำให้หลายคนหลงเชื่อว่า ราคาสวิงแบบนี้จะทำ “กำไร” ได้

ลงทุนไม้กฤษณา จริงหรือหลอก?

นอกจากแชร์น้ำมัน ทองคำ ที่เป็นดีเอสไอกำลังดำเนินคดีอยู่ การลงทุนในสวนกฤษณา ไม้หอมที่กำลังแพร่หลายเมื่อปีที่ผ่านมาก็กำลังถูกดีเอสไอจับตาว่าจะเข้า ข่ายแชร์ลูกโซ่หรือไม่

“รูปแบบน่ากังขา ซึ่งเรากังตรวจสอบอยู่ว่าการใช้ยาเข้าไปทำปฏิกิริยาหากไม่ได้ผลตามกล่าวอ้าง ก็อาจจะเป็นการฉ้อโกง หรือหลอกลวงประชาชนได้”

ซึ่งขณะนี้ดีเอสไอได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบแผนการตลาด รวมทั้งการเพาะปลูกว่าได้ผลตามกล่าวอ้างจริงหรือไม่ หรือเป็นแค่ “กล” คิดขึ้น ซึ่งพันเอกปิยะวัฒก์ ยอมรับว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จ่ายผลตอบแทนที่ระบุตามสัญญา จึงยังไม่สามารถดำเนินการใดใดได้มากนัก

คนมีสีมีเอี่ยว งานหนักดีเอสไอ

สิ่งที่น่าวิตกของคดีแชร์ลูกโซ่ พันเอกปิยะวัฒก์ ระบุว่า เมื่อใดก็ตามที่ผู้เสียหายยังได้รับผลประโยชน์ตอบแทนก็จะยังไม่ร้องทุกข์ กล่าวโทษ แต่เมื่อบริษัทปิดตัวหนีไป ผู้เสียหายจึงค่อยมาแจ้งความ

“หมายความว่าช้าไปแล้ว เราไม่สามารถติดตามเงินคืนให้ได้ แต่ถ้าเค้ารู้ตัวแล้วมาแจ้งเราก็ยังมีโอกาสตามจับยึดอายัดทรัพย์ไว้คืนให้ ประชาชนได้”

ที่แย่ยิ่งกว่า คือ ช่วงหลังเริ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปร่วมขบวนการ หรืออยู่เบื้องหลังการกระทำความผิด ทำให้ยากต่อการสืบสวนสอบสวนเหมือนกัน ซึ่งต้องใช้เวลาและพยานหลักฐานที่มั่นคงจึงจะขอยื่นคำร้องต่อศาลขอหมายค้น จึงจะจับกุมได้

“คดีไทยมาร์ท ไทยเน็ตเวิร์ก รวมทั้งแชร์น้ำมัน เราพบว่ามีอุปสรรคพอสมควรกับการทำงาน อาจจะเป็นเพราะเค้าใช้เลือกเป้าหมายการลงทุนสูง โดยดูราคาน้ำมัน ทองคำที่มาชักชวน แล้วมาเลือกกลุ่มเป้าหมาย และ กำหนดแผนการลงทุนที่ค่อนข้างสูง  ซึ่งกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ 1 แสนบาท แต่ต้องลงทุนอย่างต่ำ 3 แสนบาทเป็นอย่างน้อย ซึ่งต้องเป็นคนมีรายได้ดีพอสมควร มีฐานะทางสังคมดีพอสมควร ซึ่งการมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องทำให้ยากต่อการทำงาน”

เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม แทนที่ต้องวิ่งตามจับผู้กระทำผิดทั่วประเทศ พันเอกปิยะวัฒก์ จึงพยายามป่าวร้องให้ประชาชนตื่นตัว และไม่ให้หลงตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

โดยใช้สมมติฐานว่า ประชาชนไม่รู้ เพื่อประชาสัมพันธ์บอกกล่าวให้ทั่วถึง เพื่อตัดโซ่ให้ขาดอย่างรวดเร็วก่อนมีเหยื่อสูญเสียทรัพย์ไปมากกว่านี้

“เรามีการแจ้งเตือนประชาชนผ่านทั้งเว็บไซต์ ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งขยายไปในวิทยุชุมชน เพื่อเตือนภัยให้ถึงระดับหมู่บ้าน ถือเป็นการทำงานเชิงรุกในปีนี้”

สังเกตง่ายๆ นี่แหล่ะ “แชร์ลูกโซ่”

สำหรับวิธีง่ายๆ ที่จะดูว่าแชร์ลูกโซ่ หรือการเงินนอกระบบ พันเอกปิยะวัฒก์ ให้ข้อสังเกตง่ายๆ ว่า

1. มีการชักชวนมาลงทุนแล้วจ่ายผลตอบแทนสูง ในระยะเวลาอันสั้น โดยมากมักล่อใจกันในระดับ 10% เศษๆ หรืออาจจะถึง 20% ต่อปีเลยทีเดียว ถือเป็นผลตอบแทน “เกินจริง” ซึ่งไม่มีทางที่เศรษฐกิจช่วงขาลงจะสามารถได้ผลตอบแทนได้สูงขนาดนี้ได้ง่าย

2. ไม่เน้นการขาย “สินค้า” แต่เน้นการบอกต่อหา “สมาชิก” ใหม่ๆ ให้ได้มากๆ แล้วได้รับค่าหาสมาชิก (อาจมาในรูปที่ว่า สามารถฝากขายสินค้าได้ เพื่อรับเปอร์เซ็นต์ส่วนต่างไป หรือหากสินค้าขายไม่ได้ให้ดาวน์ไลน์ หรือสมาชิกใหม่รับช่วงสินค้านั้นไปเลย)

3. ค่าสมัครสมาชิกแรกเข้า หรือค่าสินค้า “แพงเกินจริง” และบางครั้งมีลักษณะ “บังคับขาย” สินค้า

4. การลงทุนช่วงแรกมักจะได้รับผลตอบแทน แต่เมื่อผ่านไปได้ไม่นาน จะได้รับผลตอบแทนไม่สม่ำเสมอ บางครั้งมีการล่อหลอกให้ลงทุนเพิ่มเพื่อรักษาเงินลงทุนเก่าไว้

ถ้าไม่ชัวร์ว่า การลงทุนนั้นเข้าข่ายหรือไม่พันเอกปิยะวัฒก์ แนะนำให้ตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือดีเอสไอ โดยสังเกตจากประเภทการลงทุนให้ถูกต้อง เช่น

ขายตรง ที่มีแผนการตลาดซับซ้อน สามารถตรวจสอบกับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ส.ค.บ. www.ocpb.go.th

สินค้าเกี่ยวข้องกับ "ดัชนี" ราคาหุ้น น้ำมัน ทองคำ ตรวจสอบ ชี้เบาะแสได้ที่เว็บไซต์ก.ล.ต. หรือ แจ้งเรื่องมาได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน (Help Center) ของ ก.ล.ต. ที่หมายเลข 02-263-6000 หรือ เข้ามาคลิกที่ “ร้องเรียน” ที่มุมขวาของเว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th  หรือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สินค้าราคาเกษตรล่วงหน้า ตรวจสอบที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า หรือผ่าน เว็บไซต์ http://www.aftc.or.th

กรณีเกี่ยวข้องกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สามารถแจ้งกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (ปศท.)

แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าเข้าข่ายประเภทไหนสามารถตรวจสอบ และสอบถามได้ที่ ดีเอสไอ โดยตรง หรือ http://www.dsi.go.th

รวมทั้งสามารถร้องเรียนไปยังสายด่วน 1359 ของกลุ่มป้องปรามการเงินนอกระบบ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

ผู้เสียหายยังสามารถเข้าแจ้งความต่อตำรวจท้องที่ เพื่อดำเนินคดีฐานฉ้อโกงหรือฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญาได้อีกทาง หนึ่งด้วย (กรณีฉ้อโกงตาม ม.341 ควรร้องทุกข์ หรือฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายใน 3 เดือนนับแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้นจะขาดอายุความเพราะเป็นความผิดต่อส่วนตัว)

แม้ว่ามีข้อความจำกัดสิทธิระบุในสัญญา แต่ผู้เสียหายก็สามารถแจ้งความได้ (ในบันทึกข้อตกลงหรือสัญญา ระบุข้อจำกัดความรับผิดว่า “การทำสัญญากับบริษัท มิได้เกิดจากการถูกหลองลวง แสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงอันควรบอกให้แจ้ง อันจะเป็นการขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน  เป็นต้น

รวมทั้งสละสิทธิเรียกร้องในทางแพ่ง ทั้งนี้ หากผู้ลงทุนดำเนินคดีอาญาหรือแพ่งต่อบริษัท บริษัทจะดำเนินคดีฐานแจ้งความเท็จ หรือฟ้องเท็จ”)

view