สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สรรพากรไล่บี้′คณะบุคคล′ซิกแซกเลี่ยงภาษี ขีดเส้นตายต้องรายงานข้อมูลก่อน15พ.ค.นี้

ประชาชาติธุรกิจ


" สรรพากร"อุดรูรั่ว สกัดพวกหัวใสตั้งคณะบุคคลเป็นดอกเห็ด ใช้เป็นช่องทางหลบภาษี-สร้างรายจ่ายเทียมให้บริษัทนำไปหักภาษี ระบุบางรายมีชื่อในคณะบุคคลร่วมพันแห่ง ร่อนจดหมายแจ้งถึงคณะบุคคลทั่วประเทศ ต้องรายงานให้กรมสรรพากรรู้ก่อน 15 พ.ค.นี้

นายวินัย วิทวัสการเวช อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากการตรวจสอบฐานข้อมูลของกรมสรรพากรในเบื้องต้น พบว่ามีผู้เสียภาษีมายื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งคณะบุคคลเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้พบรายที่น่าสงสัยมีชื่อร่วมจัดตั้งคณะบุคคลมากกว่า 100 แห่งจนถึง 1,000 แห่ง เพื่อหลบเลี่ยงภาษี นอกจากนี้ยังพบว่าพฤติกรรมมีผู้ถือหุ้นหรือพนักงานในบริษัทแยกออกไปตั้งคณะ บุคคล เพื่อย้อนกลับมารับงานจากบริษัทออกไปทำ โดยทุกๆ ครั้งที่บริษัทมีการจ่ายเงินค่าจ้างจะต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งกรมสรรพากรทุกเดือน

ทั้งนี้รายจ่ายในส่วนนี้บริษัทสามารถนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ ส่วนภาษีหัก ณ ที่จ่าย คณะบุคคลจะนำไปขอคืนกับกรมสรรพากร ซึ่งกรณีนี้กรมสรรพากรตั้งข้อสงสัยว่า อาจจะมีคณะบุคคลบางแห่งจัดตั้งขึ้นโดยไม่ได้มีการประกอบกิจการจริงๆ เพื่อสร้างรายจ่ายเทียมให้บริษัทนำไปหักภาษี

ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ที่เสียภาษีอย่างถูกต้อง กรมสรรพากรได้ยกเลิกการยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งคณะบุคคลทางอินเทอร์เน็ต โดยผู้สนใจจะขอจัดตั้งคณะบุคคลต้องไปติดต่อที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ เพื่อยื่นคำขอจดทะเบียนตามแบบฟอร์มที่กำหนด  โดยเจ้าหน้าที่จะสอบถามข้อมูลอย่างละเอียด

จากนั้นในเดือน เม.ย.นี้กรมสรรพากรจะส่งหนังสือถึงบริษัทผู้สอบบัญชี, ที่ปรึกษาด้านภาษีอากร และผู้เสียภาษีที่มีชื่ออยู่ในห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลมากกว่า 1 แห่ง ขอความร่วมมือให้แจ้งรายละเอียดการดำเนินงานของห้างหุ้นส่วนและคณะบุคคลมา ให้กรมสรรพากรได้ทราบภายใน 15 พฤษภาคมนี้

"มาตรการนี้จะเป็นการขอความร่วมมือให้ผู้ที่อยู่ในข่ายจัดตั้งคณะบุคคล มากกว่า 1 แห่ง จะต้องกรอกแบบฟอร์มกลับมา เพื่อขอข้อมูลจากผู้เสียภาษีเท่านั้น เราคงจะไปห้าม หรือไปบังคับไม่ให้ผู้เสียภาษีตั้งเป็นคณะบุคคลไม่ได้ เพราะในกฎหมายบัญญัติเอาไว้ แต่ถ้าการจัดตั้งมีขึ้นเพื่อเลี่ยงภาษี ไม่สามารถตอบคำถามหรือกรอกข้อมูลลงในแบบฟอร์มที่กรมกำหนด หรือไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทางกรมจะถือเป็นการแจ้งความเป็นเท็จ หากไปตรวจพบในภายหลังจะมีความผิดตามกฎหมาย" นายวินัยกล่าว

นายวินัยกล่าวอีกว่า ผู้อยู่ในข่ายต้องทบทวนและกรอกรายละเอียดในแบบฟอร์ม ล.ป.10.2 พร้อมกับแนบสัญญาการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลส่งไปให้สำนักงาน สรรพากรพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ภายในวันที่ 15 พ.ค.นี้จะมีอยู่ 2 กรณี 

1) ประสงค์จะดำเนินการต่อไป กรณีนี้จะต้องระบุในแบบ ล.ป. 10.2 ข้อ 1-6 ให้ถูกต้อง โดยขอให้ระบุชัดเจนว่า ธุรกิจอยู่ในสถานะของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล ซึ่งมีหลักในการพิจารณาคือ กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะหมายถึง สัญญาที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปมาทำกิจการร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันผลกำไรที่ได้จากการทำกิจการนั้น

ส่วนกรณีของคณะบุคคล ตามประมวลรัษฎากรจะมีความแตกต่างจากห้างหุ้นส่วนสามัญตรงที่การจัดตั้งคณะ บุคคลขึ้นมาไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันผลกำไร โดยกรมสรรพากรจะขอความร่วมมือให้ผู้ที่อยู่ในข่ายดังกล่าวกรอกข้อมูลให้ถูก ต้องตามความเป็นจริง หากพบว่ามีบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นตัวการไปกระทำการหลีกเลี่ยงภาษีจะมีความผิด ตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดเอาไว้ว่า "ผู้ใดจงใจแจ้งข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามลักษณะนี้มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และถูกปรับตั้งแต่ 2,000-200,000 บาท

กรณีที่ 2) หากไม่ประสงค์จะดำเนินการต่อไป ให้กรอกข้อมูลในแบบ ลป.10.2 ในข้อ 1-4 และข้อ 8 ส่งไปยังสำนักงานสรรพากรพื้นที่ พร้อมบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี เพื่อให้กรมสรรพากรนำไปปรับปรุงฐานข้อมูลให้ถูกต้องต่อไป

ทั้งนี้คณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญปัจจุบันเสียภาษีเสมือนบุคคลธรรมดา ทั้งนี้รายได้ที่ได้จากการทำธุรกิจสามารถนำมาหักลดหย่อนส่วนบุคคล, หักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย, ประกันชีวิตได้ จากนั้นจะนำเงินได้สุทธิมาคำนวณเสียภาษีเงินได้ในอัตราก้าวหน้าในอัตรา 5%, 10%, 20%, 30% และ 37% ตามลำดับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ที่จดทะเบียนก่อตั้งคณะบุคคลส่วนใหญ่จะประกอบวิชาชีพอิสระ อาทิ แพทย์ ตัวแทนประกัน สถาปนิก วิศวะ ทนายความ ผู้สอบบัญชี ดารา พิธีกรโทรทัศน์ เป็นต้น

โดยก่อนหน้านี้ทางกรมสรรพากรได้ระบุว่า มีกรณีร้านแว่นตาแห่งหนึ่งที่มีแฟรนไชส์ 100 แห่ง ได้ใช้การจัดตั้งคณะบุคคล แจ้งว่าแต่ละแห่งมีรายได้ 1 ล้านบาท สามารถหักค่าใช้จ่าย 80% ทำให้ยอดรายได้คงเหลือแค่ 2 แสนบาท หักลดหย่อนได้อีก 60,000 บาท จึงเหลือรายได้ที่ต้องเสียภาษีแค่ 140,000 บาท เสียภาษีเพียง 4,000 บาท แฟรนไชส์ 100 แห่ง เสียภาษีรวม 4 แสนบาท แต่หากตั้งเป็นนิติบุคคล แฟรนไชส์ 100 แห่ง รวมรายได้ 100 ล้านบาท นำมาหักค่าใช้จ่ายได้ 80% มีรายได้เหลือ 20 ล้านบาท หักลดหย่อนได้อีก 60,000 บาท เหลือเงินได้นำมา 19,940,000 บาท ทำให้ต้องจ่ายภาษีถึง 6-7 ล้านบาท

นอกจากนี้เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้ออกประกาศว่า มีพฤติการณ์ของการหลีกเลี่ยงภาษี หรือฉ้อโกงภาษี โดยการจัดตั้งคณะบุคคลเป็นเท็จ สร้างรายจ่ายเท็จ ทำให้เสียภาษีน้อยลงหรือไม่ต้องเสียภาษี หรือมีการขอคืนภาษี โดยวิธีการจัดตั้งคณะบุคคลเป็นเท็จขึ้นมาหลายๆ คณะ โดยแต่ละคณะบุคคลจะมีชื่อของผู้มีเงินได้อยู่ในทุกคณะบุคคล เพื่อเป็นการกระจายฐานเงินได้ของผู้มีเงินได้ที่แท้จริง ทำให้เสียภาษีในอัตราต่ำ นอกจากนี้คณะบุคคลยังมีการขอคืนภาษี โดยอ้างว่าถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่งกรมสรรพากรไว้

view