สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สื่อนอก วิเคราะห์ มาร์ค สู้กับ แม้ว และทิศทางความวุ่นวาย

ASTVผู้จัดการออนไลน์
เอเจนซี - ความวุ่นวายทางการเมืองได้หวนกลับมาอีกในประเทศไทย โดยกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ทำให้เหมืองหลวงต้องอยู่ในภาวะชะงักงัน และทำให้รัฐบาลต้องประกาศให้วันนี้ (10) เป็นวันหยุดราชการ
       
       “กลุ่มคนเสื้อแดง” ที่สนับสนุนทักษิณ เรียกร้องให้รัฐบาลปัจจุบันก้าวลงจากอำนาจ เพื่อจะได้จัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่ ทั้งยังไปประท้วงที่พัทยา ซึ่งกำลังจะจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนในสุดสัปดาห์นี้ด้วย
       
       ใครกำลังต่อสู้อยู่กับใคร
       
       เป็นการต่อสู้ระหว่างนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ และ ทักษิณ ซึ่งถูกถอดลงจากอำนาจโดยการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2006 และขณะนี้ใช้ชีวิตในต่างประเทศ
       
       กลุ่มผู้ประท้วงได้รับเงินทุน และชี้นำแนวทางจากทักษิณ อดีตนายตำรวจที่สร้างอาณาจักรโทรคมนาคมขึ้น ก่อนที่จะผันตัวเข้าสู่การเมือง และกลายเป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2001
       ทักษิณทุ่มใช้เงินรัฐให้แก่คนจนในชนบทและในเมือง เอาชนะใจพวกเขา แต่เขาก็ถูกมองด้วยว่าเป็นเผด็จการ และนักวิจารณ์ ก็กล่าวหาว่า เขาคอร์รัปชัน เหนืออื่นใด เขาถูกกล่าวหาว่าเอียงระบอบสาธารณรัฐในประเทศ ซึ่งเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
       
       สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดทำให้เขาต้องต่อสู้กับชนชั้นนำผู้จงรักภักดีต่อ กษัตริย์ กองทัพ และชุมชนธุรกิจ “เงินเก่า” และเขาก็ถูกโค่นล้มในรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2006
       
       อภิสิทธิ์ ศึกษาที่โรงเรียนอีตัน และมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เป็นตัวแสดงที่ลื่นไหลในเวทีนานาชาติ ใกล้ชิดกับชนชั้นนำกลุ่มนั้นมากกว่า
       
       เขากลายเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนธันวาคม เข้ากุมอำนาจแทนนายกรัฐมนตรีที่ใกล้ชิดกับทักษิณ เขาได้รับเลือกสู่รัฐ ซึ่งต้องขอบคุณผู้ที่แปรพักตร์จากทักษิณ บางคนระบุว่า กองทัพเป็นผู้จัดการการถ่ายโอนอำนาจดังกล่าว
       
       โอกาสที่การประท้วงจะขยายตัวออกไป
       
       นอกจากจะพยายามก่อกวนการประชุมระดับสูงอย่างการประชุมอาเซียนในเมือง พัทยาแล้ว ยังมีเสียงโห่ร้องเล็กน้อยของผู้ประท้วงนอกกรุงเทพฯด้วย ขณะที่พันธมิตรของทักษิณทุ่มทรัพยากรให้กลุ่มผู้สนับสนุนนั่งรถโดยสารเข้ามา รวมตัวกันในกรุงเทพฯ
       
       กลุ่มผู้ต่อต้านทักษิณได้บุกเข้ายึดสนามบินสองแห่งเมื่อเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว ทำให้ต้องปิดสนามบินทั้งสองนี้เป็นสัปดาห์ เจ้าหน้าที่ของสนามบินนานาชาติ ระบุว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นอีก ด้วยการเพิ่มการรักษาความปลอดภัยตามเส้นทางสู่สนามบิน
       
       การประท้วงจะกลายเป็นความรุนแรงได้หรือไม่
       
       อภิสิทธิ์ แสดงความแน่วแน่ว่ารัฐบาลจะไม่ใช้กำลังบดขยี้ แต่กองกำลังความมั่นคงจะตอบโต้หากการประท้วงกลายเป็นความรุนแรง
       
       แล ดิลกวิทยารัตน์ ศาตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า อภิสิทธิ์ได้บทเรียนจากประวัติศาสตร์
       
       “ประวัติศาสตร์ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 แสดงให้เห็นว่า สงครามกลางเมืองและรัฐประหารทุกครั้งในประเทศนี้ถูกกระตุ้นและยับยั้งจาก รัฐบาล ตำรวจ หรือทหาร เป็นฝ่ายเริ่มการบดขยี้” เขากล่าว
       
       “ตราบใดก็ตามที่รัฐบาลสามารถอดทนต่อการยั่วยุ และสามารถควบคุมตำรวจและทหารได้ ผมคิดว่าเราจะไม่เห็นการจลาจล หรือการต่อสู้ในท้องถนนอย่างกว้างขวาง”
       
       มีโอกาสบ้างไหมที่จะมีการเจรจาระหว่างทักษิณและอภิสิทธิ์
       
       รัฐบาลได้เสนอการเจรจา แต่ไม่ชัดเจนว่า มีความจริงใจมากแค่ไหน เพราะข้อเรียกร้องสำคัญหลังของทักษิณ คือ การจัดการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งพรรคที่โปรทักษิณจะได้รับชัยชนะ ได้ปฏิเสธการเจรจาล่วงหน้าก่อนแล้ว
       
       ข้อเสนอการเจรจาอาจจะเป็นการใช้เวทีนานาชาติ เพื่อแสดงว่า รัฐบาลมีท่าทีที่เป็นมิตร การเสนอการเจรจาครั้งหนึ่งเกิดขึ้น ขณะที่อภิสิทธิ์กำลังเป็นจุดเด่นในที่ประชุมสุดยอด จี20 ที่กรุงลอนดอน ในฐานะตัวแทนของอาเซียน
       
       ทักษิณ ถูกพบว่า มีความผิดในข้อหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และหลบหนีคดีในต่างประเทศ เขาอาจจะต้องการนิรโทษกรรมแก่ตัวเอง และพันธมิตรที่ถูกสั่งห้ามลงเล่นการเมืองจากข้อหาโกงการเลือกตั้งและข้อหา อื่นๆ แต่ก็ยากที่จะได้รับจากศาล
       
       เปรมคือใคร
       
       ผู้ประท้วงยังได้พุ่งเป้าโจมตีไปที่ เปรม ติณสูลานนท์ โดยได้เดินขบวนไปล้อมบ้านพักของเขาและเรียกร้องให้ลาออกเหมือนกับอภิสิทธิ์
       
       เปรม วัย 88 ปี อดีตพลเอกและนายกรัฐมนตรี สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ในฐานะประธานองคมนตรี เขาเป็นหัวหน้าที่ปรึกษาทางการเมืองของกษัตริย์
       
       ทักษิณ แหกจารีต โดยระบุไม่กี่วันมานี้ ว่า เปรมเป็นผู้บงการการก่อรัฐประหารในปี 2006
       
       “ตามขบนธรรมเนียมแล้ว ทำเนียบองคมตรีเป็นสถาบันที่เป็นตัวแทนของกษัตริย์ และก่อนการประท้วงครั้งนี้ แทบจะไม่มีใครโจมตีโดยตรงเลย” ศาสตราจารย์แล กล่าว
       
       “ผมคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังคงมีความรู้สึกเช่นเดียวกัน และยุทธศาสตร์นี้จะส่งผลในทางตรงข้ามในที่สุด”
       
       ทั้งหมดนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหรือไม่
       
       เศรษฐกิจแขวนอยู่บนเส้นดายอยู่แล้ว ตามรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) มีแนวโน้มว่า จะหดตัวมากถึง 4 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ เพราะยอดการส่งออกลดฮวบและผลกระทบจากความวุ่นวายในปีที่ผ่านมา ซึ่งกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างหนัก
       
       เจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟที่เดินทางมาเยือน ชี้แนะในเดือนนี้ ว่า ประเทศไทยได้ “สร้างความอดกลั้น” ต่อการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาล ดังนั้น ความวุ่นวายจะไม่ได้แตกต่างไปมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
       
       อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงอาจจะกระทบกับการท่องเที่ยว ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งอาจจะบ่อนทำลายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์
       
       และตลาดการเงินล่ะ
       
       ตลาดร่วง 1.4 เปอร์เซ็นต์ ในปีนี้ ล้มเหลวกับแนวโนมฟื้นตัวเหมือนกับตลาดในเอเชียอื่น ชาวต่างชาติได้กลับมาแต่อาจจะถอนตัวไปง่ายๆ อีกครั้ง ถ้าปัญหาความวุ่นวายแย่ลงไปอีก
       
       พันธบัตรรัฐบาลได้อานิสงส์จากความรังเกียจตลาดหุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออัตราดอกเบี้ยยังคงต่ำลง
       
       ค่าเงินบาทยังคงทรงตัว และได้แรงหนุนจากบัญชีเดินสะพัดเกินดุล

view