สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เผยพฤติกรรมโจ๋เมืองกรุงใช้อินเทอร์เน็ตจนสุขภาพร่างกายเสื่อม

ASTVผู้จัดการออนไลน์
       วันนี้ (14 พ.ค.) น.ส.ประพิมพ์พรรณ สุวรรณกูฏ นักพัฒนาสังคม สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ (สท.) กล่าวว่า จากการศึกษา เรื่อง ผลกระทบของอินเทอร์เน็ตต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนไทย : กรณีศึกษากรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สำนักทดสอบทางการศึกษาและจิตวิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยศึกษาพฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสารทางอินเทอร์เน็ตของเด็กและเยาวชน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการศึกษา ด้านบันเทิง ด้านลบ และด้านธุระ/ซื้อขาย รวมถึงการศึกษาความสัมพันธ์ของผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่เกิดจากการรับ สื่ออินเทอร์เน็ตด้านต่างๆ กับกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กและเยาวชนในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,584 คน แบ่งเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาจำนวน 851 คน นิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 733 คน เพศชาย 518 คน เพศหญิง 1,067 คน อยู่ในช่วงอายุ 18-20 ปี มากที่สุด 546 คน ส่วนใหญ่บิดาและมารดาจะจบปริญญาตรี อาชีพหลักของครอบครัว พบว่า ประกอบอาชีพค้าขาย ธุรกิจส่วนตัว และเกษตรกร
       
       น.ส.ประพิมพ์พรรณ กล่าวว่า ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมการรับสื่ออินเทอร์เน็ตบันเทิงมาก ที่สุด ได้แก่ รับข่าวสาร พูดคุยติดต่อเพื่อน ดูหนังฟังเพลง เสนอความคิดเห็นในกระทู้ต่างๆ รองลงมาด้านการศึกษา เพื่อใช้ส่งงานให้อาจารย์ทางอีเมล หาข้อมูลในการเรียนหรือเตรียมตัวสอบ ค้นคว้าผ่านห้องสมุดดิจิตอล และแลกเปลี่ยนข่าวสารการเรียนกับเพื่อน ด้านธุระ/ซื้อขาย ได้แก่ ติดต่อธุระ ซื้อขายสินค้า หาข้อมูลสินค้า ทำธุระทางการเงิน จ่ายค่าสินค้าและบริการต่างๆ หาข้อมูลเพื่อการทำงานที่มิใช่การเรียน สร้างรายได้ และด้านลบ ได้แก่ เรื่องราวที่ตอบสนองอารมณ์ทางเพศ ดูคลิปวิดีโอหรือภาพโป๊เปลือย ค้นข้อมูลที่ไม่เหมาะสมหรือเป็นของต้องห้าม นินทาหรือด่าว่ากัน สื่อสารกับเพื่อนในเรื่องที่ไม่อยากให้ผู้ใหญ่รู้ ใช้เพื่อการพนัน เล่นเกมออนไลน์เพื่อการเอาชนะและความสะใจ
       
       “ผล จากการใช้อินเทอร์เน็ตมีผลต่อสุขภาพจิตทางบวกของเด็กและเยาวชนมากที่สุด ได้แก่ ทำให้มีเพื่อนใหม่เพิ่มขึ้น เข้าใจและพอใจกับชีวิตของตนเอง มีความสุขกับสิ่งที่ทำแต่ละวัน สามารถจัดการปัญหาต่างๆ ให้สำเร็จ มีความมุ่งมั่นในการทำภารกิจต่างๆ รู้สึกสนุก เพลิดเพลินใจ รองลงมาคือสุขภาพกาย ในทางลบ ได้แก่ ทำให้อ่อนล้าสายตา สายตาสั้นลง ตาลาย เมื่อยแขน ปวดศีรษะ มึนศีรษะ ปวดก้นกบ หลัง ไหล่ กล้ามเนื้อมือและนิ้ว ร่างกายเมื่อยล้า อ่อนเพลีย ลืมเวลาทานอาหารจนปวดท้อง เพลินจนไม่ได้เข้าห้องน้ำ ทำให้มีผลต่อระบบขับถ่าย และสุขภาพจิตในทางลบ ได้แก่ ทำให้รู้สึกเศร้าโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่สามารถควบคุมสภาพจิตใจตนเองได้ หงุดหงิดกังวลใจกับเรื่องเล็กน้อย ทำงานต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายเสร็จไม่ทัน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างลดลง เบื่อหน่ายท้อแท้กับการดำเนินชีวิต”น.ส.ประพิมพ์พรรณกล่าว
       
       น.ส.ประพิมพ์พรรณ กล่าวอีกว่า การใช้อินเตอร์เน็ตของเด็กและเยาวชนยังเกิดผลกระทบด้านสังคม คือ ถูกหลอก เกิดอาชญากรรมเจอคนที่พูดไม่ดีรู้สึกแย่ ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น อยากไปเจอเพื่อนๆ น้อยลง รู้จักแต่คนที่เล่นเกมที่รุนแรง อยู่ในโลกความฝัน ทำให้ไม่ค่อยรู้เรื่องภายนอก ใช้เวลาในโลกแห่งความเป็นจริงน้อยลง พูดคุยกับพ่อแม่น้อย ไม่คุยกับคนรอบข้าง บางครั้งทำให้ทะเลาะกันเพราะมีความคิดเห็นต่างกัน
       
       ทั้งนี้ เด็กและเยาวชนยังแสดงความเห็นในการจัดการเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม เช่น ควรมีกฎหมายสั่งปิด ปราบปราม เพื่อการสร้างสื่อที่ดีต่อสังคม การสมัครเข้าใช้ ออกมาตรการควบคุมอายุผู้เข้าชม รณรงค์ให้ผู้คนรู้จักละอายใจที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์เหล่านั้น หรือมีขั้นตอนการลงโทษ ประการแรกควรจะตักเตือน ถ้าเพิกเฉยก็ควรจะตักเตือนอีกครั้ง แต่ถ้ายังไม่สนใจควรปิดชั่วคราวเพื่อให้เจ้าของจัดการแก้ไข ถ้าไม่แก้ไขก็สั่งปิดถาวร คอยตรวจสอบ เว็บไซต์ต่างๆ อยู่เป็นประจำ บางเว็บไซต์ก็ไม่สมควรปิด เพราะไม่ได้มีแต่ผลเสียเสมอไป ควรจัดการให้ถูกจุดถูกเรื่องมากกว่า
       
       “อยาก ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลมากขึ้น เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและการละเมิดโดยการนำภาพคนอื่นมาตัดต่อให้เกิดความ เสียหาย ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานด้วยไม่ใช่ปล่อยให้เล่นเพลิน แต่ส่วนหนึ่งก็ยังมองเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมยังมีประโยชน์เพื่อบำบัดอารมณ์ใน พื้นที่ส่วนตัวไม่ก่อปัญหากับบุคคลอื่นๆ นอกจากนั้นอยากให้มีการปรับปรุงเว็บไซต์ต่างๆ ให้มีเนื้อหาสาระผสมผสานกับความบันเทิง และมีพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนมากขึ้น” นักพัฒนาสังคมกล่าว
       
       น.ส.ประพิมพ์พรรณ กล่าวด้วยว่า ข้อ เสนอแนะเชิงนโยบายจากงานวิจัยครั้งนี้ คือ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากการใช้อินเตอร์เน็ตของ เด็กและเยาวชนไทย ซึ่งพบว่าเนื้อหาที่มีอยู่มากกว่า 1,000 ล้านเว็บไซต์ทั่วโลกมีทั้งส่วนที่เป็นประโยชน์และที่ก่อให้เกิดโทษ จึงควรมีมาตรการที่เข้มงวด มีประสิทธิภาพในการจัดการและป้องกันปัญหาที่เกิดจากอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะด้านเนื้อหา หรือรูปภาพต่างๆ โดยการออกข้อบังคับเพื่อปราบปรามสิ่งยั่วยุที่อาจจะมีอยู่มากเกินไปในสังคม ไทย

view