สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บ้านแหลม เพชรบุรี

โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :เรื่อง/ภาพ สุธน สุขพิศิษฐ์:

ปกติทุกปีในวันสงกรานต์ผมจะอยู่แต่ในกรุงเทพฯ ที่ไม่ไปเที่ยวต่างจังหวัดนั้น เพราะไม่อยากไปแย่งหาที่พัก ที่กิน กับผู้คน ยิ่งเรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่

สมมติ ว่าไปทะเลก็หวังจะกินอาหารทะเล แล้วคนทะเลเขาก็หยุดไม่ออกเรือในวันสงกรานต์เหมือนกัน หรือถ้าออกก็ออกน้อยกว่าปกติ เมื่อมีของน้อย แต่คนกินมากของก็ต้องแพงเป็นธรรมดา แล้วเรื่องอะไรที่จะต้องไปแย่งกินของแพงๆ ผมคิดอย่างนี้ครับ

เผอิญวันสงกรานต์ปีนี้ดุหน่อย ท่าทางพาหนะนางสงกรานต์ปีนี้คงเป็นรถเมล์ขสมก. มีไฟลุกไหม้ท่วมคัน อยู่กรุงเทพฯ จึงเหมือนอยู่กลางนรก พอหมดสงกรานต์ปุ๊บคิดว่าหมดคนเที่ยวแล้วก็เลยเผ่นไปเพชรบุรี ตั้งใจไปพักที่ชมทะเลรีสอร์ทที่หาดเจ้าสำราญที่เดิม นั่งเล่นดูทะเลให้สมองใส แล้วให้ร้านเจ๊พรนึ่งปูม้าให้กิน ต้องสบายแน่ๆ

เวลาไปก็เหมือนเดิมอีกเช่นกันที่เข้าทางวัดเขายี่สาร ทะลุบางตะบูน เข้า อ.บ้านแหลม แล้วไปหาดเจ้าสำราญ ซึ่งเดี๋ยวนี้ทางดีมาก และเริ่มมีคนใช้เส้นทางนี้มากขึ้น แต่ถึงจะมากอย่างไรก็ยังขับรถสบายอยู่

ผ่านบ้านแหลมก็นึกถึงผู้ใหญ่นพดล นิยมค้า หรือผู้ใหญ่ตั้น ผู้คุ้นเคยกัน ก็แวะหาเสียหน่อย ผู้ใหญ่ตั้นนี่เก่งหลายอย่าง อาชีพจริงๆ นั้นมีโรงงานทำและซ่อมใบพัดเรือขนาดใหญ่ ใบพัดเรือรบของกองทัพเรือก็ทำที่นี่ รวมทั้งเรือจักรีนฤเบศรด้วย อาชีพรองๆ คือทำนาเกลือและร้านอาหารแลเล ที่ปากอ่าวบางตะบูน

ผมบอกผู้ใหญ่ว่าอยากรู้เรื่องอาหารพื้นถิ่นของบ้านแหลม ที่จริงผู้ใหญ่น่ะก็รู้เรื่องดีอยู่แล้ว แต่ผู้ใหญ่บอกว่า เอาคนเก่าแก่ที่เป็นตัวจริงเสียงจริงจะดีกว่า แล้วจัดการพาไปที่หลังวัดลักษณาราม อันเป็นบ้านของป้าตุ๊ก เกษรมาลา

บ้านป้าตุ๊ก อยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรี ใกล้กับปากอ่าวสู่ทะเล เป็นเรือนไทย ฝาเรือนครัวยังเป็นฝาไม้ไผ่ขัดแตะที่เรียกว่าฝาสำรวจ นั่งคุยเรื่องอาหารพื้นบ้านของบ้านแหลม มีหลายอย่างน่าสนใจ แต่ที่ป้าตุ๊กถนัด จนชื่อเสียงกระฉ่อนไปทั่วเพชรบุรีนั้น เป็นปลาอินทรีเค็มครับ

ปลาอินทรีเค็มของป้าตุ๊กนั้น ในหมู่ข้าราชการทั้งบ้านแหลม และเพชรบุรี รวมมาถึงกรุงเทพฯ ด้วย มักจะซื้อไปเป็นของฝากให้ผู้ใหญ่ อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ต้องหาของดีที่สุดฝากกัน

เมื่อฟังวิธีการทำปลาอินทรีเค็มของป้าตุ๊กแล้ว เป็นการลบความคิดเก่าๆ ในสมองที่เกี่ยวกับการทำปลาเค็มที่เคยได้ยินมาอย่างสิ้นเชิง เรียกว่าคนละเรื่องเลย

ผมยังนึกว่าเรือจับปลาเมื่อได้ปลาอินทรีแล้ว ต้องใส่ช่องน้ำแข็งเลย ปรากฏว่าไม่ใช่ อย่างแรก ปลาอินทรีที่ได้มานั้นต้องจากเรืออวนลอยอย่างเดียว ไม่ใช้เรืออวนลาก เพราะเรืออวนลอยปลาจะไม่ช้ำ เรืออวนลอยนั้นหมักปลาอินทรีด้วยเกลือไม่หมักปลาด้วยน้ำแข็ง

เมื่อเรือมาถึงบ้านแหลม แม่ค้าที่เป็น Network กับป้าตุ๊กจะคัดเลือกขนาดปลามาให้โดยเฉพาะ โดยตัวไม่เล็กไปหรือใหญ่ไป ตั้งแต่กิโลหกขีดถึงสองกิโลเท่านั้น

ป้าตุ๊กบอกว่าเมื่อปลามาแล้วต้องเอามาเข้าเกณฑ์มาตรฐานของป้าตุ๊ กก่อน เมื่อคัดเลือกความนิ่มความแข็งของเนื้อปลาแล้ว ก็ทำให้มันจืด อันนี้แหละครับที่ผมเคยคิดว่า ปลาเค็มต้องหมักเกลือให้เค็มแล้ว ตากแดดให้แห้ง

ปรากฏว่าของป้าตุ๊กไม่ใช่ เพราะปลาแช่เกลือมาจากทะเลแล้วต้องทำให้จืด โดยเอาปลาแช่น้ำ 4 ชั่วโมงแล้วถ่ายน้ำทิ้ง แช่น้ำใหม่ แล้วถ่ายน้ำทิ้ง ทำอย่างนั้นอยู่ 3 ครั้ง แล้วก็เอาตากห้อยหัวลง ต้องตากอยู่ในร่มคือชายคาบ้านป้าตุ๊กนั่นเอง ตากอยู่ 2 วันถึงใช้ได้ เนื้อจะแข็งกำลังดี ถ้าเลย 2 วันแล้วยังขายไม่หมด ก็เอาแผ่นพลาสติกมาคลุมไว้เพื่อไม่ให้เนื้อปลาแข็งไปกว่านั้น

ป้าตุ๊กจะทำปลาอินทรีเค็มครั้งละ 100 กิโลถึง 150 กิโล น้ำหนักปลาอินทรีเมื่อเป็นปลาเค็ม จะหนักเท่าเดิม คือ กิโลหกขีดถึงสองกิโล ราคาขายจะกิโลละ 280 บาท ซึ่งคนซื้อนั้นจะต้องซื้อทั้งตัวครับ ไม่แบ่งเป็นชิ้นขาย

ผมนั้นอยากกินมาก เพราะขนาดนั่งอยู่นั้น หัวผมเกือบโดนหัวปลา ก็ยังไม่มีกลิ่นตุปลาเค็มแม้แต่น้อย แต่จนใจว่าอยู่คอนโด ซึ่งถ้าทอดปลาอินทรีเค็มเมื่อไหร่เป็นต้องถูกทุบประตูแน่

เวลาเข้าออกคอนโด ต้องเอาถุงกระดาษคลุมหัว แล้วอีกอย่างปลาตัวหนึ่ง ไม่รู้จะกินหมด พ.ศ.ไหน ก็เลยไม่ได้ซื้อมาครับ

พอเสร็จจากเรื่องปลาอินทรีเค็มป้าตุ๊ก สมาชิกในบ้านป้าตุ๊กซึ่งท่าทางคงเป็นอาจารย์ ที่ไหนสักแห่ง ชวนให้ไปดูศาลเจ้าของดีของบ้านแหลม ซึ่งห่างกันแค่มุดรั้วสังกะสีเข้าไปเท่านั้น

เป็นศาลเจ้าที่ผมไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อนเลยครับ ชื่อศาลเจ้ากวนอู เป็นศาลเจ้าในเรือนไทย แต่หลังคานั้นเปลี่ยนเป็นมุงกระเบื้องใหม่แล้ว ส่วนฝาเรือนหรือฝาศาลเจ้ายังเป็นฝาไม้ปะกนอยู่ ทาสีเขียวซึ่งผมว่าสีนั้นคงมาทาทีหลัง ดั้งเดิมคงเป็นสีไม้เหมือนเรือนทั่วไป

หน้าบันไดมีจารึกอักษรจีนอยู่ เมื่อขึ้นบันไดสักสามขั้น ผ่านเข้าไปข้างใน งามมาก ทั้งแผ่นตัวป้ายหนังสือจีน และตัวกรอบแท่นไหว้ และชั้นในที่เป็นแท่นที่ตั้งรูปเทพอวนอู กรอบไม้ฉลุเป็นศิลปะจีนเข้าขั้นชั้นเยี่ยม และที่สำคัญคือตั้งแต่มีศาลเจ้านี้ขึ้นมายังไม่ผ่านมือใครปรับปรุงแก้ไขหรือ เพิ่มเติมอะไรเลย ของดั้งเดิมทั้งหมด สวยมากครับ คนที่สนใจโบราณสถานที่มีคุณค่าน่าจะเข้าไปดูครับ เห็นว่าขาดทุนทรัพย์ซ่อมแซมดูแลเหมือนกัน เผื่อมีอะไรช่วยๆ กันได้

ข้างๆ ศาลเจ้าเป็นเรือนไทยเตี้ยๆ นั่นก็น่าสนใจอีกอย่าง เป็นฝาถัง เห็นมีฝาสำรวจด้วย คงเป็นครัว เป็นเรือนไทย Folk Art ที่หาดูยากเหมือนกัน

กว่าจะออกจากบ้านแหลม แสงสีแดงของดวงอาทิตย์ตกที่สาดฟ้าเกือบหมดแล้ว ผ่านนาเกลือเห็นกองเกลือยามนี้สวยจริงๆ จะหยุดถ่ายรูปก็ไม่ได้ เดี๋ยวจะเข้าหาดเจ้าสำราญมืดไป

ไปถึงชมทะเลรีสอร์ท เอาเมื่อค่ำแล้ว เลยต้องรีบออกไปหาอะไรกิน พักนอนหลับสบาย เช้าก็เหมือนเดิม อาหารเช้าเป็นรายการที่ผิดแผนผิดแบบอีกเช่นกัน เป็น Steam Crabs Breakfast ปูม้านึ่งกับน้ำจิ้ม Seafood กับกาแฟ สำหรับเจ๊พร คนนึ่งปูให้กินนั้น ต้องโทร.สั่งล่วงหน้า เพราะปูไม่ได้มีทุกวันหรือมีน้อย เมื่อกินอิ่มแล้วก็กลับมานั่งเล่นหน้ารีสอร์ตสบายมากครับ นี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่คุ้มค่า หลังวันสงกรานต์

(ป้าตุ๊ก เกษรมาลา โทรศัพท์ 032-481-256 ชมทะเลรีสอร์ท โทรศัพท์ 032-441-386 เจ๊พร โทรศัพท์ 032-478-113)

view