สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เที่ยวไทยครึกครื้นฯ ตอน ชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต เสน่ห์ที่ต้องรักษา

โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :นิธิ ท้วมประถม:

ภูเก็ต ชื่อนี้ผมเชื่อว่าทุกคนรู้จักอย่างแน่นอน และผมก็เชื่ออีกว่า หลายต่อหลายท่านได้เคยไปสัมผัสกับเกาะสวรรค์แห่งนี้มาแล้วอย่างแน่นอน
หาดทราย สายลม แสงแดด ชายหาด น้ำทะเลสีคราม ทำให้ภูเก็ตขึ้นไปอยู่ในทำเนียบแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

แต่ภูเก็ตไม่ได้มีแหล่งท่องเที่ยวเพียงแค่นั้น ภูเก็ตได้ซ่อนเสน่ห์ทางวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกของตัวเองไว้อย่างเงียบๆ ผ่านวันเวลามานานนับร้อยปี โดยไม่ได้เปิดตัวเองออกไปให้คนภายนอกได้รับรู้มากนัก และยังคงดำเนินวิถีชีวิตไปตามปกติ

อย่างไรก็ตาม วิถีความเป็นชุมชนเมือง ยากเหลือเกินที่จะเดินคู่ขนานไปกับความเจริญด้านการท่องเที่ยว ที่กลุ่มทุนด้านการท่องเที่ยว ไหลบ่าเข้ามาทำลายความเป็นชุมชนเมืองดั้งเดิม และ แทนที่ด้วยโรงแรม หรือแหล่งท่องเที่ยวเพื่อตอบสนอง นักท่องเที่ยวทั่วโลก

ทั้งๆ ที่ความเป็นชุมชนนั้นคือแหล่งท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมชั้นดี ที่สามารถ “ขาย” ตัวเองได้เป็นอย่างดี

ชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต ถนนถลาง หรือกลุ่ม OLD PHUKET TOWN คือกลุ่มชุมชนที่พยายามจะขายความเป็นภูเก็ต “ขนานแท้” ให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักภูเก็ตมากขึ้น แทนที่จะรู้จักแต่ หาดป่าตอง

การไปภูเก็ตของผมครั้งนี้ ถือว่า “คุ้มค่า” มากจริงๆ ที่ได้มารู้จักความเป็นตัวตนของภูเก็ตที่สืบสานกันมานานกว่าร้อยปี และต้องขอบคุณ “คุณโอ๋” เจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานภูเก็ต ที่ช่วยประสานงานและติดต่อชุมชนเมืองเก่าภูเก็ตนี้ไว้ให้เป็นอย่างดี

ถนนถลาง เป็นถนนที่อยู่กลางเมืองภูเก็ตเลยครับ หาไม่ยาก เพราะอยู่ใกล้กับสำนักงานททท.ภูเก็ต ถ้าจะไปเที่ยวที่นั่นไปสำนักงานททท.ภูเก็ตก่อน แล้วค่อยเดินย้อนขึ้นมาก็ได้

ในวันนั้น ผมได้พบกับตัวแทนชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต ถนนถลาง 4-5 คน ซึ่งเป็นผู้หญิงวัยกลางคนที่แต่งชุดพื้นเมืองภูเก็ต ที่ทำด้วยผ้าลูกไม้ลายละเอียดยิบ ดูคลาสสิกไม่น้อย แถมมีเสน่ห์ในตัวเป็นอย่างดี ทำให้ผมหวนนึกถึงตอนที่ไปประเทศลาว ที่สาวๆ ที่นั่นสวมแต่ผ้าซิ่น ซึ่งเป็นชุดพื้นเมืองของสาวลาวได้อย่างลงตัว และกลายเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีประเทศไหนเหมือน

ที่ น่าสังเกตอีกอย่างคือ กลุ่มของพี่ๆ เหล่านี้มีทั้งคนไทย คนจีน คนมุสลิม เรียกว่าแค่ตัวแทนของชุมชนก็พอจะบอกได้แล้วว่า ชุมชนแห่งนี้เป็นการผสมผสานของวัฒนธรรมของทุกชาติศาสนา ที่หลอมรวมกันแบบสมานฉันท์ โดยไม่ต้องตั้ง คณะกรรมการอะไรให้ยุ่งยากเหมือนนักการเมืองสมัยนี้

พี่ๆ ตัวแทนชุมชนพาผมเดินจากสำนักงานททท.ภูเก็ต ขึ้นมาเพียงนิดเดียวก็ถึงหัวถนนถลาง ที่ถือเป็นถนนที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของภูเก็ต และเป็นย่านการค้าที่เก่าแก่ เป็นถนนประวัติศาสตร์ที่มีอายุกว่า 150 ปีมาแล้ว

ถนนนี้มีความยาวกว่า 450 เมตร เดินเล่นได้เรื่อยๆ ไม่เหนื่อยมาก เพราะระหว่างทางมีอะไรให้เราดูเยอะมากครับ เริ่มตั้งแต่สถาปัตยกรรมของร้านค้าทั้งสองฟากถนนกว่า 140 คูหานั้นเป็นสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป คือเป็นศิลปะแบบจีนผสมกับยุโรป โดยศิลปะแบบจีนเห็นชัดๆ เลยคือ ประตู ครับ เหมือนในหนังจีนที่เราเคยดูกันนั่นแหละ เป็นประตูไม้ 2 บานขนาดใหญ่ ด้านข้างมีหน้าต่างอีกด้านละบาน ดูเก๋ดีเหมือนกัน ส่วนสถาปัตยกรรมแบบโปรตุเกสนั้นสะท้อนผ่านทางหน้าต่าง ชั้นบนอาคารที่ดูหรูหราไม่น้อยทีเดียว

เสียงของพี่ๆ ตัวแทนชุมชนได้อธิบายความเป็นมาของถนนนี้ ซึ่งทำให้รู้ว่าพี่ๆ ตัวแทนชุมชนอาศัยอยู่ที่ถนนถลางทั้งสิ้น มีกิจการค้าขายอยู่บนถนนแห่งนี้ มีทั้ง ขายผ้า ขายทอง ขายของชำ มีวิถีชีวิตแบบคนภูเก็ตขนานแท้ ผมเริ่มเดินตั้งแต่หัวถนนถลาง มองเอกลักษณ์ของถนน แห่งนี้ ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมประกาศให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ สิ่งแวดล้อม นั่นหมายความว่าอาคาร เหล่านี้จะถูกอนุรักษ์ไว้ในรูปแบบเดิมๆ

ร้านแรกที่ผ่านบนถนนแห่งนี้ ก็ทำให้ผมต้องหยุดเดินเสียแล้ว เพราะเป็นร้านขายอาหารมุสลิมตั้งแต่โรตีไปจนถึงข้าวหมกไก่ แกงกะหรี่ ที่มีให้เลือกทั้งเนื้อและไก่ แกงเปรี้ยว แกงปลา

ตอนแรก บัง เจ้าของร้าน ร้องเรียก ให้ลองชิมโรตีที่ขายกันมานานกว่า 80 ปี ว่าจะ “ร่อย” แค่ไหน ซึ่งต้องยอมรับจริงๆ ว่าอร่อยจริงๆ กับโรตีที่ทอดกรอบพอดีๆ แต่ไม่อมน้ำมัน จะกินกับแกง หรือจิ้มนม น้ำตาล ก็ไม่มีปัญหา

กำลังชิมโรตีกับชานมอยู่ดีๆ บังยกข้าวหมกไก่พร้อมทั้งแกงต่างๆ ที่ขายในร้านมาให้ลองชิม ผลลัพธ์เลยกลายเป็นว่า ผม เสียเวลาอยู่ที่ร้านนั้นเกือบครึ่งชั่วโมง เพื่อลิ้มลองความเป็นภูเก็ตเสียเต็มอิ่ม

ใคร ไปที่ถนนถลาง อย่าลืมไปลองกินอาหารมุสลิมที่หัวถนนถลางนะครับ จะรู้ว่าโรตีจิ้มแกงอร่อยๆ หรือแค่จิ้มน้ำตาล นมข้นหวาน อย่างที่คุ้นเคยนั้นมีรสชาติอิสลามแท้ๆ เป็นอย่างไร

เดินไล่ถนนไปเรื่อยๆ สิ่งที่จะเห็นไม่ได้มีแค่สถาปัตยกรรมเท่านั้นนะครับ แต่เรายังได้เข้าไปชมภายในของตัวบ้านบางหลังให้เห็นกับตาว่าบ้านในสมัยโบราณ นั้นเป็นอย่างไร เพราะลักษณะของบ้านที่นี่เป็นแบบหน้าแคบ แต่ลึกเข้าไปด้านใน บางหลังลึกถึง 200-300 เมตร เรียกว่าไปทะลุถึงอีกถนนได้เลยครับ

บ้านบริเวณนี้ถูกออกแบบให้มีพื้นที่ซักล้าง ที่เรียกว่า จิ้มแจ้ ที่เป็นช่องให้แสงส่องลงมาได้ อยู่บริเวณกลางบ้านเลยครับ ช่องนี้ไม่มีหลังคา จะเปิดโล่งๆ เพื่อให้แสงส่องลงมา ในสมัยก่อนใช้เป็นพื้นที่ซักล้าง และเป็นช่องระบายอากาศไปในตัว เนื่องจากลักษณะของบ้านที่แคบและลึก เลยต้องมีช่องระบายอากาศ ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่น่าทึ่งจริงๆ

เดินมาเรื่อยๆ มาถึงร้านสุนทรสังฆภัณฑ์ ที่ขายทั้งเครื่องสังฆภัณฑ์และเครื่องแต่งกายพื้นเมืองของผู้หญิงภูเก็ต และที่สำคัญมีชุดเจ้าสาวภูเก็ตมาโชว์ให้เราได้เห็นอีกด้วยว่า ในสมัยก่อนชุดเจ้าสาวภูเก็ตเป็นอย่างไร

ดูๆ ไปชุดเจ้าสาวภูเก็ตนั้นได้รับวัฒนธรรมมาจากจีนไม่น้อยทีเดียว เพราะเจ้าสาวต้องนุ่งกระโปรงชุดติดกัน ถือดอกไม้ช่อยาว มีผ้าคลุมแนบศีรษะ และต้องสวมผ้าปาเต๊ะสีสด สวมเสื้อตัวในแขนยาวคอตั้ง สวมเสื้อครุยยาวคลุมทับเป็นเสื้อตัวนอก โดยผ้าที่ใช้ทำเสื้อนั้นเป็นผ้าบาง เบา เรียกว่าผ้าป่านแก้ว

ไม่ใช่แค่ชุดเท่านั้นที่ดูสวย แต่เครื่องประดับเจ้าสาวนั้นยิ่งน่าสนใจไม่น้อย เพราะขณะที่กำลังอธิบายอยู่ พี่ตัวแทนชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของร้านทองก็ควักเครื่องประดับโบราณ ไม่ว่าจะเป็นกำไลข้อมือ กำไลข้อเท้า วงเบ้อเริ่ม พร้อมกับเครื่องประดับอื่นๆ ที่ใส่ไว้กับตัว ไม่ว่าจะเป็นเข็มกลัดเสื้อครุย ที่เรียกว่า โกสัง สร้อยคอที่เป็นสร้อยทอง ที่มีเพชรประดับอยู่เพียบ ต่างหูเพชร อืม... สมกับเป็นเจ้าของร้านทองจริงๆ

ที่นี่ไม่ได้มีแค่โชว์อย่างเดียวเท่านั้นนะครับ แต่หากใครอยากจะสั่งตัดชุดภูเก็ตไว้ใส่ไปงานให้เก๋ไก๋ สบายใจ ไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร ก็สั่งตัดที่ร้านนี้ได้เลยไม่มีปัญหาครับ แต่สนนราคาเท่าไหร่นั้น ถามไถ่กันเองครับ

เดินมาเรื่อยๆ พี่ๆ พาลัดเลาะเข้าไปในบ้านหลังหนึ่ง เพื่อไปยังศาลเจ้าโบราณที่มีอายุกว่าร้อยปี ที่ชื่อว่าศาลเจ้าแสงธรรม หรือศาลเจ้าแต่งก่องต๋อง เดิมศาลเจ้าแห่งนี้ชื่อ ศาลเจ้าซินเจียเก๋ง เป็นศาลเจ้าที่เก่าแก่จริงๆ ครับ เพราะจากหลักฐานภายในศาลเจ้าทำให้รู้ว่า ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 2434 เลยทีเดียว

ภายในผนังของศาลเจ้ามีภาพวาดรูปเทพนิยายของจีนเรื่อง ซิยิ่นกุ้ย ที่ยังเห็นลวดลายได้อย่างชัดเจน ผมยืนมอง ลวดลายเหล่านี้นานเป็นสิบนาทีครับ เพราะทึ่งกับความเก่าและความสมบูรณ์ของลายต่างๆ ที่ยังมีอยู่อย่างสมบูรณ์

ไม่น่าเชื่อว่าจะยังมีศาลเจ้าที่เก่าและสมบูรณ์อย่างนี้บนถนนเส้นนี้

การเดินเที่ยวที่ชุมชนแห่งนี้ไม่ได้มีแค่ให้เดินเที่ยวเท่านั้นนะ ครับ แต่ยังมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสถึงความเป็นพื้นเมืองของภูเก็ต ด้วยก็คือ การพาไปชิมอาหารพื้นเมืองของภูเก็ต นั่นคือ หมี่ภูเก็ต หรือหมี่สะปำ

แต่ไม่ได้พาไปกินเฉยๆ นะครับ ชุมชนที่นี่พาไปดูวิธีการทำถึงในครัว ซึ่งแม่ครัวที่จะมาทำให้กินนั้น เป็นชาวภูเก็ตดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ที่นี่ด้วย

เราต้องเข้าไปในบ้าน ซึ่งมีอาม่าอยู่ เพราะอาม่านี่แหละครับจะผัดหมี่สะปำให้เรากินจริงๆ แบบจะจะกับตาทีเดียว และที่สำคัญ ครัวที่ใช้ทำกับข้าวนั้นเป็นครัวโบราณครับ เตาไฟที่ใช้เป็นเตาที่เรียกว่า โพ ซึ่งเป็นเตาดิน หรือปูนก่อสูงขึ้นจากพื้น ด้านล่างของเตาโล่ง ไว้สำหรับเก็บฟืน ด้านบนทำเป็นช่องไฟประมาณ 3 ช่อง สำหรับหุงต้มอาหารได้พร้อมกัน 3 อย่างเลยครับ แจ่มจริงๆ

อาม่าเตรียมเครื่องปรุงหมี่สะปำไว้อย่างพรักพร้อม ซึ่งผมเองเห็นเครื่องปรุงทั้งหลายแล้วก็คันไม้คันมืออยากทำหมี่สะปำด้วยมือ ของตัวเองเสียหน่อย ไม่น่าจะยาก

ซึ่งพี่ๆ ก็ยินยอมให้ผมได้ลองทำโดยมีอาม่าคอยเป็นที่ปรึกษาอยู่ใกล้ๆ ผมก็ขยับตะหลิวอย่างมั่นใจ เทน้ำมันลงกระทะ รอจนน้ำมันร้อนได้ที่ สิ่งแรกที่แปลกใจคือ เครื่องปรุงที่ใช้ หอมซอยละเอียดที่ใส่ลงไปเป็นอย่างแรก ไม่ใช่กระเทียมสับอย่างที่ผมคิด

อาม่า บอกว่า ที่ใช้หอมซอยก็เพื่อให้หอมชวนน้ำลายไหล ผมเจียวหอมจนกลิ่นเริ่มหอม แต่ไม่ต้องถึงเกรียมเป็นหอมเจียวนะครับ แค่พอสุกก็พอ แล้วใส่เครื่องปรุงอื่นตามลงไป ก็คือเนื้อสัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง ปลาหมึก ตามแต่ใจจะชอบ

ตามด้วยผักครับ ไม่ต้องแปลกใจครับ ตามด้วยผักกวางตุ้ง แต่เป็นในส่วนของก้านที่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อที่จะได้สุกเร็วๆ และไม่กระด้าง พอผักเริ่มสุกก็ใส่เส้นหมี่สะปำลงไป ซึ่งตรงนี้ละครับ ทำผมสับสนทีเดียว เพราะเมื่อใส่เส้นแล้วเริ่มผัดกับน้ำมันและเครื่องที่อยู่ในกระทะ อาม่าก็ใส่ซีอิ๊วหวานยี่ห้อพื้นเมืองยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งผมก็จำไม่ได้ว่ายี่ห้ออะไร น่าเขกหัวตัวเองจริงๆ

แต่เมื่อใส่ซีอิ๊วไปแล้ว เส้นหมี่ก็ยังไม่นิ่ม ทำให้ผมตัดสินใจเอาตะหลิวตัดเส้นเพื่อให้เส้นหมี่สั้นลง โดยหวังว่าจะทำให้เส้นนิ่มลง หรือสุกว่างั้นเถอะ

แต่เส้นก็ไม่นิ่มเสียที จนกระทั้งอาม่าเอาน้ำซุปใส่ลงไปในกระทะ เส้นหมี่ที่แสนจะแข็งก็นิ่มลงทันตาเห็น เล่นเอาผมมึนไปเลย นี่เป็นเคล็ดลับอีกอย่างที่ผมเชื่อว่าหลายคนไม่รู้ เวลาที่ซื้อเส้นหมี่สะปำมาผัดกินเองที่บ้านจะได้รู้กันไว้

หลัง จากนั้นอาม่าก็เอาใบผักกวางตุ้ง ที่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ มาใส่เป็นอย่างสุดท้าย พร้อมกับปรุงรสด้วยการใส่น้ำตาลเพียงปลายช้อนและน้ำปลาเท่านั้น ก็เป็นเสร็จพิธี

แต่เมื่อตักหมี่สะปำขึ้นจากกระทะ เสียงอาม่าโวยวายขึ้นมาทันทีว่า ทำไมหมี่อั๊วเป็นอย่างนี้ ก็เส้นหมี่สะปำที่ผมผัดไม่ได้เป็นเส้นยาวแบบที่ควรจะเป็น แต่กลายเป็นเส้นเล็กๆ เหมือนกับไส้เดือนยังไงไม่รู้

เสียงอาม่ายังโวยวายอยู่เป็นระยะ แต่ผมทำหูทวนลม เพราะมองไปที่จานหมี่ สะปำของผมแล้ว น่าเกลียดจริงๆ แต่ลองชิมดูแล้วรสชาติไม่เลวเหมือนกัน ใส่พริกน้ำส้มลงไปอีกนิด แหล่มใช้ได้เหมือนกันแฮะ ครั้งหน้าจะไปผัดกินที่บ้าน คอยดู ไม่ใช่ไส้เดือนอย่างนี้แน่

นอกจากอาหารแล้ว ยังมีของว่างที่ เป็นขนมพื้นเมืองของคนภูเก็ตอย่าง ข้าวเหนียวหีบ ที่อร่อยมากครับ เวลากินต้องจิ้มกับสังขยาครับ ตัวข้าวเหนียวนั้นมีรสชาติเหมือนข้าวเหนียวตัดที่ผ่านการอัดด้วยแบบ จนข้าวเหนียวที่เป็นเม็ดๆ ถูกบีบเป็นเนื้อเดียวกันจนเป็นแป้ง

ผมจิ้มข้าวหีบเข้าปากไปหลายต่อหลายชิ้น แบบลืมความอ้วนเลยครับ อร่อยจริงๆ ครับ และไม่เคยกินมาก่อน แถมยังได้กลั้วคอด้วยกาแฟโบราณที่ชงโดยฝีมืออาม่าแท้ๆ แบบที่ผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ การชงก็ใช้กาแฟผงตราดาวทอง ที่ต้องชงผ่านถุงชงกาแฟแบบโบราณ ผสมกับน้ำตาลประมาณ 5-6 ช้อนโต๊ะต่อ 1 หม้อกาแฟ ซึ่งอร่อยจริงๆ อาม่า บอกว่า กินเป็นประจำทุกวัน ไม่มีอาการตาค้างเหมือนกับกาแฟปัจจุบันทั่วไป

ผมเดินออกจากบ้านอาม่าแบบอิ่มกายและอิ่มใจกับความเป็นพื้นเมืองของ ภูเก็ต เสน่ห์แห่งพื้นบ้านที่ชุมชนถนนถลางได้รวมตัวกันพยายามรักษาความเป็นถิ่นไว้ อย่างน่าชื่นชม

ไปภูเก็ตครั้งหน้า ไปดูความเป็นภูเก็ตจริงๆ เสียหน่อยเถอะครับ ชุมชนนี้มีบริการนำเที่ยวโดยชาวชุมชนเอง โดยติดต่อได้ที่เบอร์ 08-3590-4828, 08-1693-1938 แล้วท่านผู้อ่านจะได้รู้จักภูเก็ตจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร

ออกจากถนนถลาง ผมแวะไปที่แหลมพรหมเทพ เพื่อหวังว่าจะชมพระอาทิตย์ตกดินเสียหน่อย แต่ปรากฏว่าวันนั้นคนเพียบ ที่จอดรถยังล้นออกมาด้านนอกถนน ส่วนบริเวณจุดชมวิวนั้นมีแต่หัวนักท่องเที่ยวเต็มไปหมด เล่นเอาเซ็งไม่น้อยเหมือนกัน กว่าจะหามุมถ่ายรูปได้ กุมขมับเลย แต่มาถึงแล้วก็ต้องรอครับ ได้รูปแล้วต้องรีบเผ่นออกมาแล้ว ไม่อย่างนั้นมาเจอรถติดบนแหลมพรหมเทพแน่

แต่ไม่เป็นไร ไปดูวิวเมืองภูเก็ตตอน กลางคืนบนเขารังก็ได้ แต่แหม... ดวงดีจริงๆ ขึ้นไปบนเขารัง ปรากฏว่าไฟดับหมดทั้งเขาอีก มืดสนิทครับ คราวนี้ได้เห็นวิวเมืองภูเก็ตแบบเต็มๆ แสงไฟระยิบระยับจับตาจริงๆ แต่ชมวิวไปก็ระแวงไปด้วย ไม่ไหวครับ นั่งพักเดียว กลับดีกว่า

view