สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดต้นเหตุโศกนาฏกรรม"บิ๊ก"คลัง ล้วนโยงใยคดีภาษีหุ้น"ชิน"!!โดนอ่วมทั้งวินัย-อาญา-ลดซี

ประชาชาติธุรกิจ

เปิดต้นเหตุโศกนาฏกรรม"บิ๊ก"กระทรวงคลัง ล้วนโยงใยคดีภาษีหุ้น"ชิน" !! เผยรายชื่อข้าราชการระดับสูงโดนคดีทั้งวินัย-อาญา รวมถึงโดนลดตำแหน่งซีขรก. ฤา"ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล "จะไม่ใช่รายสุดท้าย ?? 
 


บรรดาข้าราชการระดับสูงเหล่านี้ต้องเผชิญวิบากกรรมอย่างหนักหน่วงล้วนเริ่มจากการพัวพันการช่วยเหลือผู้มีอำนาจในคดีการเลี่ยงภาษีการโอนหุ้นชินคอร์ปมูลค่า 738 ล้านบาทระหว่างคุณหญิงพจมาน ชินวัตร กับนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ทั้งสิ้น 

และแล้วนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลังก็เป็นข้าราชการระดับสูงรายล่าสุดของกระทรวงการคลังที่ถูก อ.ก.พ.กระทรวงการคลังไล่ออกจากราชการ ฐานทุจริตต่อหน้าที่ในการแต่งตั้งรองอธิบดีกรมสรรพากร 4 คนไม่ชอบด้วยกฎหมายเมื่อปี 2545 (ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร) ซึ่วมีความผิดทางอาญตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และยังมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการซึ่งเป็นไปมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2552 



นายศุภรัตน์ มิใช่ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลังเพียงคนเดียวที่ต้องปิดฉากชีวิตราชการลงอย่างเจ็บปวด ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันายน 2549 มีข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลังจำนวนมากประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับนายศุภรัตน์ 



เริ่มจากกลุ่มข้าราชการที่ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐานเดียวกับนายศุภรัตน์ เพียงแต่ว่า เกษียณอายุราชการไปหมดแล้ว จึงโดนเพียงคดีอาญาเท่านั้น ประกอบด้วย 1.นายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง 2.นายสมหมาย ภาษี อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง(อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกรคลัง) 



ขณะที่ข้าราชการสังกัดสำนักงาน ก.พ.ที่ประสบชะตากรรมพร้อมกันได้แก่ คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ผิดวินัยร้ายแรงฐานประมาทเลินเล่อทำให้ราชการเสียหายอย่างร้ายแรงและนายเมธี ภมรานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารและการจัดการ สำนักงาน ก.พ.โดนคดีอาญา 



ก่อนหน้านั้นข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลัง 5 รายประกอบด้วย นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร, นายวิชัย จึงรักเกียรติ อดีตผู้อำนวยการ.สำนักงานกฎหมาย กรมสรรพากรและอดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ, น.ส.สุจินดา แสงชมพู อดีตนิติกร 9, น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีตนิติกร 8และอดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย และ น.ส.กุลฤดี แสงสายัณห์ อดีตนิติกร 7 ว. ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2549 ว่า เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา และมีความผิดวินัยร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 กรณีละเว้นการเก็บภาษีการโอนหุ้นชินฯระหว่างนายบรรณพจน์ กับ น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี คนรับใช้ จำนวน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท ผ่านตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งการซื้อขายหุ้นดังกล่าว ผู้ซื้อและผู้ขาย ได้เสียค่าธรรมเนียมแก่โบรกเกอร์ เป็นเงิน 7.38 ล้านบาท จนข้าราชการทั้ง 5 รายถูก อ ก.พ.กระทรวงการคลังไล่ออกจากราชการ 



แม้ต่อมาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา ศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้องคดีที่อัยการเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องข้าราชการทั้ง 5 รายเป็นจำเลย แต่อธิบดีศาลอาญาได้มีความเห็นแย้งองค์คณะผู้พิพากษา จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในแวดวงกฎหมาย ขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ ดังนั้น จำเลยทั้ง 5 คนจึงยังไม่พ้นบ่วงกรรม
  


สำหรับนายศุภรัตน์นั้น แม้จะถูกไล่ออก ก็ยังมีช่องทางผ่อนหนักเป็นเบา เพราะตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มีการแต่งตั้ง"คณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม(ก.พ.ค.)" ขึ้นมาทำหน้าที่แทน ก.พ.ในการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์จากข้าราชการที่ถูกปลดออก-ไล่ออกซึ่ง ก.ค.พ.มีอิสระในการใช้ดุลพินิจตามกฎหมายไม่ต้องอยู่ภายใต้มติ ครม.เหมือนกับ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ. )ที่ต้องทำตามมติคณะรัฐมนตรีที่มีมติให้ไล่ออกข้าราชการที่ทุจริตออกจากราชการโดยไม่สามารถลดหย่อนโทษได้ 



ขณะที่ ก.พ.ค.สามารถพิจารณาลดหย่อนโทษจากไล่ออกเป็นปลดออกได้ ซึ่งกระทรวง ทบวง กรม ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัย ก.พ.ค.มิเช่นนั้นให้ถือว่า เป็นการจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น(มาตรา 116 พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ ) 



นอกจากนั้ยัง มีนักกฎหมายบางส่วนมองว่า ก.พ.ค.เป็นองค์กรกึ่งตุลาการ ถ้าพิจารณาแล้วไม่เห็นด้วยกับ ป.ป.ช.อาจเปลี่ยนฐานความผิด ลงโทษไม่ถึงขั้นไล่ออกได้ ซึ่งต้องดูกันต่อไปเพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไว้แล้ว ก.พ.ไม่สามารถเปลี่ยนฐานความผิดตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูลไว้ได้ 



แต่ประเด็นคือ ก.พ.ค.มีสถานะทางกฎหมายเช่นเดียวกับ ก.พ.หรือไม่ 



แต่การที่ ก.พ.ค.จะลดหย่อนโทษนั้นต้องมีเหตุผลที่อธิบายได้อย่างหนักแน่น เพราะมิเช่นนั้นจะเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้ข้าราชการทุจริตประพฤติมิชอบมากกว่า"พิทักษ์คุณธรรม" 



อย่างไรก็ตาม นอกจากด่านทางวินัยแล้ว นายศุภรัตน์ต้องโดนคดีอาญต้องถูกส่งฟ้องศาลอาญาซึ่งอาจกินเวลานานนับสิบปีเช่นเดียวกับนายสมใจนึก เองตระกูลและนายสมหมายภาษีซึ่งถึงเวลานั้นก็คงชราภาพแล้ว 



แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ บรรดาข้าราชการระดับสูงเหล่านี้ต้องเผชิญวิบากกรรมอย่างหนักหน่วงล้วนเริ่มจากการพัวพันการช่วยเหลือผู้มีอำนาจในคดีการเลี่ยงภาษีการโอนหุ้นชินคอร์ปมูลค่า 738 ล้านบาทระหว่างคุณหญิงพจมาน ชินวัตร กับนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ทั้งสิ้น 



เพราะรองอธิบดีทั้ง 4 คนที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่า ได้รับการแต่งตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมายโดย 2 คนมีการล็อกสเป๊กไว้แล้ว รายหนึ่งคือ นายช.นันท์ เพ็ชญไพศิษฏ์ เคยถูก ป.ป.ช.สอบในคดีนี้ แต่รอดมาได้ 



อีกรายคือนายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา อดีตอธิบดีกรมบัญชีกลางที่รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ที่ถูกกล่าวหาว่า ตั้งขึ้นมาเพื่อฟอกนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ 



ขณะที่นายวิชัย จึงรักเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย(ต่อมาเป็นผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) ถูก ป.ป.ช.ลงมติว่า ละเว้นการไม่เก็บภาษีการโอนหุ้น จนถูกกระทรวงการคลังไล่ออกจากราชการพร้อมกับนายศิโรตม์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากรและถูกดำเนินคดีอาญา 



แต่ในที่สุดทุกคนต้องถูกลดตำแหน่งเหลือซี 9 เพราะคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด 



ความจริงเรื่องข้าราชการช่วยเหลือผู้มีอำนาจโดยมิชอบ โดยหวังลาภ ยศ สรรเสริญต้องประสบชะตากรรมมาแล้วมากมายแต่ดูเหมือนว่า เป็นบทเรียนที่ไม่เคยมีใครจดจำ และยังดำเนินการอย่างขะมักเขม้นอยู่ในกรมสรรพากรในขณะนี้ 



ดังนั้นเป็นไปได้ว่า นายศุภรัตน์อาจไม่ใช่ข้าราชการกระทรวงการคลังรายสุดท้ายที่ต้องปิดฉากลงด้วยน้ำตา

 

.........

 

ที่มา : มติชนออนไลน์ 19 พ.ค.2552

view