สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มะเร็งเต้านม โรคร้ายอันดับ ๑ ของผู้หญิงชาวกรุง

มูลนิธิหมอชาวบ้าน



ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมเท่าเทียมกัน วงการแพทย์ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่ามะเร็งเต้านมเกิดจากสาเหตุใด จึงยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผลเด็ดขาด วิธีที่ดีที่สุดที่ทำได้ขณะนี้คือ ต้องค้นหามะเร็งเต้านมให้พบโดยเร็วที่สุด ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกก่อนที่มะเร็งจะลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ และทำให้เสียชีวิต

ปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงบางคนมีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่นๆ คือเรื่องของกรรมพันธุ์ และวิถีในการดำเนินชีวิต ผู้หญิงควรหมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของขนาด และรูปร่างของเต้านม อาการบวมที่รักแร้ เพราะต่อมน้ำเหลืองโต ผิวหนังที่เปลี่ยนแปลง เช่น มีรอยบุ๋ม ย่น หดตัว หนาผิดปกติ หรือ บางส่วนเป็นสะเก็ด หัวนมมีการหดตัว คัน หรือแดงผิดปกติ มีเลือดหรือน้ำออกจากหัวนม (ร้อยละ ๒๐ ของการมีเลือดออกเป็นมะเร็ง)

จากสถิติพบว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ (ร้อยละ ๙๐) มีก้อนที่เต้านม แต่อย่าตกใจไป เพราะก้อนในเต้านมที่พบ ใน ๑๐๐ รายมีเพียง ๑๕-๒๐ ราย เท่านั้นที่จะเป็นมะเร็งเต้านม

 

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ มะเร็งเต้านม

๑.      สาเหตุของการเป็นมะเร็งเต้านม ไม่เกี่ยวกับการถูกกระแทก การถูก จับหรือลูบคลำ และมะเร็งเต้านมไม่ใช่เป็นโรคติดต่อ

๒.      ถ้าประวัติครอบครัวมีแม่เป็นมะเร็งเต้านม ลูกสาวก็จะมีความเสี่ยงเพิ่ม ยิ่งถ้าทั้งแม่ พี่สาว หรือน้องสาวเป็นมะเร็งเต้านมพร้อมกัน จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้น

๓.      ผู้หญิงที่ไม่เคยมีลูก จะมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิงที่เคยมีลูกและผู้หญิงที่มีลูกหลังอายุ ๓๐ ปี จะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มมากกว่าผู้หญิงที่ไม่มีลูก

๔.     ผู้หญิงที่มีประจำเดือนครั้งแรกตั้งแต่อายุน้อย เช่น  อายุ ๑๑ ปี ก็เริ่มมีประจำเดือนแล้วและอีกกลุ่มหนึ่งผู้หญิงที่อยู่ในวัยทอง ระหว่างอายุ ๕๐-๕๕ ปี มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม

๕.     ผู้หญิงที่มีประวัติการเป็นซีสต์ (cyst) หรือถุงน้ำ ไม่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม แต่ควรจะตรวจเป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์

๖.      การกินอาหารที่มีไขมันสูงอาจส่งผลและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ผู้หญิงควรกินอาหารที่มีประโยชน์ในสัดส่วนที่เหมาะสม เน้นอาหารที่มีกากใยมากและอาหารไขมันต่ำ รวมถึงออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

๗.     ฮอร์โมนไม่ได้ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม แต่ถ้ามีการใช้ฮอร์โมนในขณะที่มีมะเร็งเต้านมจะทำให้มะเร็งเต้านมเติบโตเร็วขึ้น

สรุปคือ ผู้หญิงทุกคนล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมเท่าๆ กัน เพราะผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมร้อยละ ๗๕ ไม่ได้มีความเสี่ยงที่กล่าวข้างต้น

 

 

ขอขอบคุณ:

ศูนย์ถันยรักษ์ มูลนิธิถันยรักษ์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

โทรศัพท์. ๐-๒๔๑๙-๘๗๔๙-๕๑

บทความจาก : นิตยสารหมอชาวบ้าน ฉบับที่ ๒๘๐ สิงหาคม ๒๕๔๕

view