สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดื่มชา อย่างไรให้ได้ ประโยชน์ ต่อสุขภาพ - รู้เท่าทัน โทษ ที่มีต่อร่างกาย

จาก ประชาชาติธุรกิจ


"ชา" เป็นเครื่องดื่มที่มีมาช้านานกว่า 4,700 ปี นอกเหนือจากการเป็นเครื่องดื่มแก้กระหาย แก้ง่วงแล้ว ยังสามารถช่วยต้านโรคได้อีกด้วย เช่น ต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ของร่างกาย ต้านการอักเสบ ต้านเชื้อจุลินทร์ในลำไส้ ป้องกันตับจากสารพิษและโรคอื่นๆ อีกมากมายที่เกิดจากอนุมูลอิสระ เพราะชามีองค์ประกอบสำคัญ ที่เรียกว่า "แทนนิน" หรือ "ทีโพลีฟีนอล" (Tea Polyphenols) ซึ่งเป็นสารที่สามารถพบมากในพืชเกือบทุกชนิด แต่อาจมีโครงสร้างทางเคมีแตกต่างกันออกไป
สาร "แทนนิน" ในใบชาสดหรือชาเขียว ที่ฤทธิ์ทางยาที่สำคัญ ได้แก่ สารกลุ่ม "คาเทคซินส์" (Catechins) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านโรคภัยหลายประเภท หากดื่มเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม สารสำคัญในใบชามักสลายตัวได้ง่ายและรวดเร็ว เมื่อสัมผัสกับออกซิเจนในอากาศและความร้อน

คำแนะนำเกี่ยวกับการดื่มชา
 
1.สำหรับผู้ที่นิยมจิบชาร้อน สารสำคัญที่เป็นประโยชน์อย่าง "คาเทคซินส์" จะถูกความร้อนทำลายไปเกือบทั้งหมด คงเหลืออยู่เพียงความหอมและรศชาติของชาเท่านั้น แต่หากต้องการได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ยังคงอยากจิบชาร้อน ขอแนะนำให้หันไปดื่มน้ำชาเข้มข้น แบบเดียวกับที่คนจีนแต้จิ๋วนิยมดื่มชาจีนรสเข้มข้นในถ้วยชาใบจิ๋ว คล้ายกับการดื่มกาแฟเอ็กซ์เพรสโซ่ เพราะความเข้มข้นของใบชา จะทำให้มีสารคาเทคซินส์เข้มข้นตามไปด้วย และแม้ว่าจะสลายจากความร้อนไปบางส่วน แต่จะยังเหลือบางส่วนไว้อยู่ พอที่จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ

2.ชาเขียวหรือสารสกัดจากใบชาสด หากนำมาเตรียมเป็นเครื่องดื่มแช่เย็น ความเย็นจะช่วยรักษาคุณค่าของสารสำคัญในใบชาไว้ได้ อย่างไรก็ตาม หากขบวนการผลิตเครื่องดื่มชาเชียวต้องผ่านการต้มหรือทำให้ร้อน ในขบวนการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อนบรรจุลงขวด ปริมาณสารสำคัญจะถูกทำลายไปเช่นกัน

3.การดื่มชาไม่ว่าจะแบบร้อนหรือเย็น ไม่ควรแต่งรสด้วยนมทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นนมข้นหวาน นมสดหรือนมผง เพราะโปรตีนในน้ำนมจะไปจับเข้ากับสารสำคัญในใบชาและทำลายประสิทธิภาพสารออกฤทธิ์ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

4.ผู้ที่ทานวิตามินเสริม เช่น ธาตุเหล็ก เกลือแร่ หรือยาที่คล้ายคลึงกัน ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชาขณะทานยา เพราะสารสำคัญจากใบชาจะไปตกตะกอนธาตุเหล็กหรือเกลือแร่ ทำให้ไม่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมได้ ส่วนการดื่มน้ำชาขณะรับประทานอาหารนั้น แร่ธาตต่างๆ จากผักใบเขียวหรือผลไม้จะถูกสารสำคัญจับไว้ จนดูดซึมเข้าไปในร่างกายไม่ได้เหมือนกัน

5.โทษของการดื่มชาต่อ ร่างกายก็มีรายงานอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกียวกัยสารเทนนิน ซึ่งจะไปตกตะกอนโปรตีนและแร่ธาตุต่างๆ จากอาหารที่รับประทาน ทำให้ลดการดูดซึมของสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย ดังนั้น จึงมีคำแนะนำไม่ให้เด็กดื่มชา ไม่ว่าจะเป็นชาเขียวแช่เย็นหรือว่าชาร้อน เพราะจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร
 
6.ใบชายังมีองค์ประกอบ ให้โทษต่อร่างกาย ที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ คือ ชามีองค์ประกอบของฟลูออไรด์ในปริมาณสูงและสูงกว่าปริมาณที่มีอยู่ในน้ำประปา การที่ร่างกายได้รับเข้าไปทุกวัน จะทำให้เกิดการสะสมมีผลให้ไตวาย เกิดโรคมะเร็งลำไส้ โรคกระดูกพรุน โรคข้อ และโรคเกี่ยวกับกระดูก แต่ผู้ที่ไม่ได้ดื่มชามากเป็นประจำ คงไม่ต้องกังวล

7.ใบชายังมีสารที่ไม่ดีต่อร่างกาย คือ สารที่ชื่อว่า "ออกซาเรท" (Oxalate) แม้ว่าสารชนิดนี้จะมีอยู่น้อย แต่หากชอบดื่มชามากๆ เป็นประจำ จะมีการสะสมสารออกซาเรทในร่างกายได้ สารชนิดนี้มีรายงานว่ามีผลทำลายไต
 
8.ใบชามี "สารเคเฟอีน" ในปริมาณสูง อาจสูงกว่าในเมล็ดกาแฟด้วยซ้ำไป เพียงแต่การดื่มน้ำชานั้น สารแทนนินจะป้องกันหรือลดการดูดซึมคาเฟอีนเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ฤทธิ์การกระตุ้นหัวใจและสมองน้อยกว่ากาแฟมาก

ชากับสปา
การดื่มชามีทั้งโทษและประโยชน์แก่ร่างกาย ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณและความถี่ในการบริโภค ถ้ามากเกินไปอาจเป็นโทษได้ ส่วนผู้ที่นิยมนำสารสกัดจากชาเขียวไปทำสปา โดยการน้ำไปมาส์กหน้าและร่างกายนั้น ควรนำไปผสมกับน้ำเย็นและไม่ควรน้ำไปผสมกับน้ำนม เพราะจะเป็นการทำลายคุณค่าของชา

  คลิกอ่าน ใครชอบดื่ม "ชานม" ดูตรงนี้!!! ......ตรวจหลากยี่ห้อพบ "ไขมันทรานส์-น้ำตาล" อื้อซ่า

**********************
********************************************
  ที่มา นิตยสาร "ฉลาดซื้อ" ฉบับที่ 98 เขียนโดย รศ.ดร.พิมลพรรณ พิทยานุกุล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 
(ติดต่อ "ฉลาดซื้อ" ได้ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 4/2 ซ.วัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 โทรศัพท์ 0-2248-3734-7 โทรสาร 0-2248-3733 อีเมล webmaster@consumerthai.org)
   
view