สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คนไทยเสียเงินซื้อยาสูงลิ่วปีละ 4 หมื่นล้าน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



นักวิชาการชี้คนไทยเสียเงินซื้อยาสูงลิ่ว กว่าปีละ 4 หมื่นล้าน ระบุคนไทยซื้อยาแพงกว่าสหรัฐถึง 10 เท่า เหตุ บ.ยาติดสิทธิบัตร-คิดราคาเกินจริง

ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดการเสวนา "การเข้าถึงยาของคนไทย...ทำไมใช้ยาแพง" 

พ.ญ.วันดี โภคะกุล แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ธุรกิจยาทำกำไรมหาศาล จากข้อมูลปี 2534-2544 ในการจัดอันดับธุรกิจที่ได้ผลกำไรสูงสุด 500 อันดับ พบว่าอุตสาหกรรมยามาเป็นอันดับหนึ่ง มีผลตอบแทนร้อยละ 12-18 รองลงมา คือ ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ และพวกอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม และกีฬา

อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์เชิงลึกถึงโครงสร้างของธุรกิจยาจะ พบว่า เป็นธุรกิจที่มีต้นทุนต่ำ โดยเฉพาะค่าวิจัยพบเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ขณะที่ค่าโฆษณาสูงกว่าร้อยละ 13 แต่กลับได้กำไรถึงร้อยละ 15 โดยข้อมูลปี 2544 พบว่าธุรกิจยามีกำไรสูงถึง 47,400 ล้านดอลลาร์ ขณะที่งบวิจัยเพียง 19,076 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

และในปีเดียวกัน ยังพบว่า 10 บริษัทยายักษ์ใหญ่ของโลกมีรายได้รวม 116,678 ล้านดอลลาร์ ในส่วนของคนไทยมีค่าใช้จ่ายยาเฉลี่ย 3 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 43,900 ล้านบาทต่อปี โดยแบ่งเป็นยานำเข้า 20,000 ล้านบาท และยาในประเทศไทยอีก 23,000 ล้านบาท

ดังนั้น หากคิดค่าเฉลี่ยใน 100 บาท คนไทยจะเสียค่ายานำเข้าประมาณ 45 บาท และยาที่ผลิตในประเทศอีก 55 บาท ทั้งนี้ คนไทยใช้ยาราคา แพงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิเช่น สหรัฐอเมริกา ถึง 10 เท่า เป็นเพราะค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ของสหรัฐอเมริกาสูงกว่าไทย 10 เท่า

ขณะที่ ภก.เชิญพร เต็งอำนวย สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน กล่าวว่า ในประเทศไทยหากหมดสิทธิบัตรจะถูกกว่ามากถึง 8 เท่า ยกตัวอย่าง ยาลด ไขมันปกตินำเข้าราคาเม็ดละ 40-50 บาท แต่รัฐสามารถประมูลได้ในราคาไม่ถึง 1 บาท หรือประมาณ 52 สตางค์เท่านั้น หากมองจริงๆ แล้ว คนที่ผลิตยาในไทยแทบไม่ได้กำไรเลย

ขณะที่ รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ได้เปิดเผยข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ที่ได้ทำการสำรวจราคายาทั่วโลก โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น มีการสำรวจข้อมูลการนำส่งยาตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน โดยพบว่า การจัดซื้อยาของภาคส่วนรัฐ แบ่งเป็นยาที่นำเข้าจากต่างประเทศเมื่อเทียบกับยาสากลจะแพงกว่า 4.7 เท่า ส่วนเอกชนนำเข้ายาสูงถึง 7.8 เท่าของราคายาสากล ขณะที่หากเป็นยาสามัญเมื่อเทียบกับราคายาสากล ในส่วนของรัฐนำเข้าแพงกว่า 1.15 เท่า ส่วนที่เอกชนแพงกว่า 1.43 เท่า แสดงว่าประเทศไทยมีการใช้ยาแพงกว่าอย่างเห็นได้ชัด

น.พ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า  การควบคุมราคายานั้น ควรมีการรวมกองทุนประกันสุขภาพให้เป็นหนึ่งเดียว แต่ปัญหา คือ ระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการไม่ยอม ทั้งๆ ที่การดำเนินงานอ่อนแอ โดยเฉพาะระบบประกันสังคม ยังทำงานไม่มีประสิทธิภาพมากนัก ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของแพทย์บางคน มีการปกป้องโรงพยาบาล แต่ไม่ปกป้องผู้ประกันตน ขณะที่ระบบสวัสดิการข้าราชการ เมื่อเบิกได้แพทย์ก็จ่ายยาแพง ทำให้ประเทศไทยเสียงบประมาณในการจ่ายยาโดยใช่เหตุ ทางที่ดีที่สุดควรรวมทั้งสองระบบมาให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เป็นผู้ดูแลแทน

view