สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ผมสงสารประเทศไทย

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :ทีมข่าวการเมือง:


ชื่อของกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กำลังถูกจับตามองว่ามีบทบาทสำคัญในการเข้าไปตรวจสอบโครงการสำคัญของพรรคร่วมรัฐบาลหลายเรื่อง จนกลายมาเป็นปัญหาเสถียรภาพรัฐบาลตามมา

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
ตรวจสอบหนักถึงขนาดมีรัฐมนตรีให้ฉายาว่า “คุณชายละเอียด” จึงมีคำถามว่า รู้สึกท้อไหมต่อสภาพที่เกิดขึ้น

“ผมแฮปปี้มากเลย อย่างน้อยผมมานั่ง 5 เดือน ผมเซฟเงินให้เขาเยอะ แต่ที่ผมเหนื่อย คือ ผมสงสารประเทศไทย เพราะหลายโครงการต้องเสนอแนะ ท้วงติง เช่น โครงการรถเมล์เอ็นจีวี สื่อมวลชนตามประเด็นผิด ประเด็นไม่ใช่เรื่องรถแพง แต่อยู่ที่คุณทำแล้วมีกำไรหรือไม่ หมายความว่า รายได้ของขสมก. จะเพียงพอมาจ่ายเรื่องค่าใช้จ่ายเรื่องรถเมล์เหล่านี้หรือไม่ คำตอบคือ ไม่พร้อม ฉะนั้นก็จะเป็นแหล่งที่ขาดทุนมหาศาลในอนาคต”

มีใครเคยถามบ้างว่า รถเมล์ 4,000 คัน ค่าโดยสารคิดเท่าไหร่ ในเมื่อซื้อมากว่า 6 หมื่นล้านบาท แล้วจะคิดค่าโดยสารเท่าไหร่ เพื่อจะได้เอาเงินมาคุ้มจ่ายค่าเช่า ก็ไม่มีคำตอบ

กอร์ปศักดิ์ เตือนว่า รถเมล์เป็นรถเมล์สำหรับคนยากจนในกรุงเทพฯ ไม่ใช่คนมีสตางค์ คนอยากขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอสแต่ไปได้ไม่ถึงจุด แต่รถเมล์ไปได้ทั่ว ดังนั้นการดำเนินโครงการรถเมล์เป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่รัฐบาลต้องทำ ไม่ควรให้ผิดพลาด

อีกเหตุผลที่กอร์ปศักดิ์ให้ความสำคัญโครงการรถเมล์เอ็นจีวี เนื่องจากสมัยเป็นฝ่ายค้านตรวจสอบเรื่องนี้อย่างหนัก กอร์ปศักดิ์ บอกว่า กรณีว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่จากการจัดหารถมาวิ่ง ถ้ามองว่าคนนั่งมากขึ้น เพราะเป็นแอร์หรือไม่ใช่ คนนั่งมากขึ้นมีกรณีเดียว คือ การจราจรคล่องตัว และรถมาวิ่งทันถึงเร็วหรือไม่ คิดว่าเรื่องนี้คงพิจารณากันอีกหลายรอบ เพราะทางกระทรวงการคลังต้องพิจารณาเรื่องดอกเบี้ยด้วย

ความเป็นคุณชายละเอียด แม้จะเป็นผลดีในการรักษาผลประโยชน์ชาติ แต่ในทางการเมืองย่อมมีผู้ไม่พอใจ ถึงกับมีข่าวออกมาเกี่ยวกับเลื่อยเก้าอี้รัฐมนตรีบ้าง หรือแม้กระทั่งขอย้ายพรรคไปรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่ง

“คุณเข้าใจผิดหมด เรื่องคนในพรรคนี้ ถ้าถามว่าเลื่อยขาผม เนี่ยผิด เพราะไม่มีเลย ส่วนจะเลื่อยขาคนอื่นผมไม่ทราบ จริงๆ แล้วมีคนอยากเป็นรัฐมนตรี แต่คนที่อยากเป็นรัฐมนตรี อยากได้ตำแหน่งผมก็มี ทุกคนอยากเป็นรัฐมนตรีกันทั้งนั้นแหละ แต่ประเด็นว่ามีตัวเลข 40 คน นี่เป็นตัวเลขที่คนที่เขาอยากสร้างข่าวกุขึ้นมา วันนี้ไปถามว่าใครคือ 1 ใน 40 นี่หาไม่เจอเลย เพราะจริงๆ มันไม่ค่อยมี ทีนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร มันเป็นยุทธศาสตร์ของฝ่ายตรงข้ามที่อยู่นอกพรรคร่วมรัฐบาล”

กอร์ปศักดิ์ ออกตัวว่า เขาต้องการที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นหลัก จึงไม่อยากออกมาตอบโต้ทางการเมือง เพราะถ้าหากให้ความสนใจเรื่องนี้มาก ทำให้การทำงานด้านเศรษฐกิจไม่ได้ อีกทั้งคนจะมองว่าทำเพื่อการเมือง

อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ของทีมงานในพรรคประชาธิปัตย์ มองปรากฏการณ์ข่าวที่มีผลกระทบ กอร์ปศักดิ์ 2 เรื่อง คือ 1.ความปั่นป่วนภายในพรรคประชาธิปัตย์ 2.ข่าวพรรคฝ่ายค้านว่า มีคนประชาธิปัตย์จะไปเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งเห็นตรงกันว่า นี่คือ “ยุทธศาสตร์ของพ.ต.ท.ทักษิณ”

“ยุทธศาสตร์ของพ.ต.ท.ทักษิณ มีอยู่ 2-3 อย่าง ยุทธศาสตร์ที่ 1 คือ ให้รัฐบาลทำงานยาก งานจะได้ไม่สำเร็จ คือ การทำเรื่องภายในให้เกิดความปั่นป่วน ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้รัฐบาลทำงานไม่ได้ จะต้องมี 1.ตัวรัฐมนตรีทำงานไม่ได้ คนโน้นย้ายพรรค คนนี้แย่งรัฐมนตรี 2.เรื่องม็อบที่จะเกิดขึ้นเป็นจุดๆ เช่น ก่อนหน้านี้มีม็อบลิ้นจี่ ซึ่งข้อเท็จจริงไม่น่ามีเหตุผลที่เกิดขึ้น หรือการชุมนุมของกลุ่มสมัชชา ไม่ว่าจะแก้ปัญหา อย่างไรก็จะเกิดม็อบ หรือแม้แต่อนาคตที่จะมีการเคลื่อนไหวของม็อบมันสำปะหลังออกมาแสดงความไม่พอ ใจนโยบายประกันราคามันสำปะหลัง”

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การให้ข่าวจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ด้วยการประโคมข่าวเลือกพรรคเพื่อไทย ได้พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศ เพราะเก่งเศรษฐกิจ โดยจะเลือกปูทางว่า ทักษิณอยู่ต่างประเทศลงทุนทำธุรกิจเยอะแยะ เช่น ทำเหมืองทองคำ ซื้อเกาะ ทำอะไรก็มีแต่ผลกำไร แต่ถึงกระนั้นก็ไม่มีใครถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณเอาเงินลงทุนมาจากที่ไหน

สำหรับโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร กลายเป็นปัญหาคาราคาซังมาหลายยุคสมัย ส่งผลให้รัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก ก็อยู่ในความดูแลของกอร์ปศักดิ์เช่นเดียวกัน

กอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า คงจะต้องใช้คำว่าวิธีการช่วยเหลือเกษตรกร ด้วยวิธีไหนดี เดิมเคยใช้ระบบจำนำ ปัจจุบันนี้สินค้าบางตัวอาจจะไม่ต้องใช้ระบบจำนำแล้ว สินค้าบางตัวอาจจะยังต้องใช้อยู่ แต่มันสำปะหลังถึงเวลาที่ต้องเริ่มให้ความมั่นใจกับเกษตรกรได้ว่า วันนี้เขาจะไม่มีคำว่าขาดทุน ประเด็นคือ อาจจะกำไรไม่มาก แต่ไม่มีขาดทุน เราจึงตั้งราคาตลาด ว่าเราจะประกันราคาที่ 1.70 บาท

เกษตรกรจะได้รู้ว่าฉันจะปลูกดี ไม่ปลูกดี ปลูกได้เท่าทุน ฉันได้เท่าไหร่ ถ้าต้นทุนฉัน 1.40 บาท กำไร 0.30 บาท ฉันอยู่ได้ไหม บางคนเก่งกว่าเพราะมีวิธี ใช้ปุ๋ยชีวภาพลดต้นทุนได้เหลือ 1.20 บาท ปลูกดีกว่า จะได้ตัดสินใจได้ และเดินมาที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) บอกว่าจะปลูกเท่าไหร่กี่แปลงแล้วจดทะเบียนก่อน

ธ.ก.ส.จดทะเบียนเสร็จก็จะมีเวลาหลายเดือนที่จะไปดูได้ว่ามีที่ดิน แปลงนั้นแปลงนี้จริงไหมทั่วประเทศ เราจะมีบัญชี กระทรวงเกษตรฯ เองจะรู้ชัดเจนว่า ปีนี้มันสำปะหลังมีอยู่ในมือเท่าไหร่ ยกเว้นคนที่ไม่ได้เข้าโครงการ เมื่อรู้อย่างนั้น แล้วเราก็จะรู้สภาพ ตลาดเราในมือ กระทรวงพาณิชย์ก็จะเดาออกว่าในอนาคต มันส่งออกมีเท่าไหร่ เราก็ทำยุทธศาสตร์ ที่วางไว้ได้ดีขึ้น นี่คือภาพใหญ่

ในแง่ของเกษตรกรโครงการนี้จะดี เพราะเกษตรกรทุกคนได้ เดิมโครงการรับจำนำเป็นโควตาที่ต้องแย่งกัน หมายความว่าพื้นที่นี้เกษตรกร 3 แสนราย อาจจะได้เพียง 5,000 ราย อีก 2.5 หมื่นรายไม่ได้ด้วย ยังต้องขายถูกอยู่ จึงช่วยเกษตรกรไม่ได้ครบ แต่ระบบที่ว่านี้เกษตรกรทุกคนที่มาขึ้นทะเบียนกับธ.ก.ส. สามารถมีหลักประกันได้ ทีนี้เมื่อผลผลิตออกมาสู่ตลาด ถึงเวลาที่ทำสัญญากับธ.ก.ส. ว่าห้ามขุดก่อน 6 เดือน เดือนที่ 7 ก็ขุดออกมา เราไม่รู้ว่าขายได้เท่าไหร่ สมมติขายได้ 1.60 บาท เขาก็จะมาเบิก 0.10 บาท จากธ.ก.ส. เราก็ไม่ต้องเก็บสินค้าไว้ในมือ แค่เอาบิลมาเคลม ธ.ก.ส. ต้องไปคิดว่าจะป้องกันโกงได้อย่างไร เพราะอาจจะมีพฤติกรรมที่โกงได้ จะต้องไปทำระบบขึ้นมา

ตรงนี้ทุกคนที่อยู่ในโครงการก็จะได้ประโยชน์หมด ซึ่งหาก เกษตรกรมีวิธีการที่ขายได้ 1.90 บาท ก็ไม่ต้องใช้เงินประกัน เพราะได้ราคาสูงกว่า เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่ดี เกษตรกรทุกคนได้รู้ว่า ไม่มีขาดทุน และกำไรเท่านี้ก็อยู่ได้ ถ้าราคาตลาดขึ้นก็รับไปเต็มๆ ถ้าราคาตลาดต่ำกว่าก็จะช่วยพยุง

สำหรับความแตกต่างของวิธีการใหม่กับวิธีการเดิมนั้น รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ต่างกันเยอะ เพราะ 1.เรารับจำนำหัวมันสด เราต้องเอามาแปรสภาพ เพราะเก็บหัวมันสดไม่ได้เราต้องแปรรูปมาเป็นแป้งมัน กระบวนการแปรรูปเราต้องเสียสตางค์ และไม่มีใครรู้ว่าค่าใช้จ่ายในการแปรรูปพันล้านไปตกถึงมือใครบ้าง เพราะสูตรที่ใช้ค่อนข้างต่างกัน เพราะหัวมันสดแปรมาเป็นแป้งมันกี่เปอร์เซ็นต์ แปรเป็นมันเส้นกี่เปอร์เซ็นต์ เป็นตัวเลขตายตัว แต่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรตรวจสอบยาก

ตรงนี้เป็นจุดรั่วไหลจุดแรก พอเป็นแป้งมัน หรือมันเส้น ไปเก็บแล้ว ทั้ง เรื่องคุณภาพ ก็ต้องเสียค่าเช่าในการเก็บรักษา ถึงเวลาประมูลก็โดนอีก วิธีการที่ทำเราจ่ายเงินสดอย่างเดียว ของไม่ได้อยู่กับเรา พ่อค้ามันสำปะหลังเป็นคนซื้อเองขายเอง เราจ่ายเฉพาะส่วนต่าง

“งานของเราคือการพูดคุยกับเกษตรกรว่า 1.70 บาท รับได้นะครับ ตรงนี้เป็นงานใหญ่ของเรา ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ไปคุยแล้ว คณะอนุฯ ตลาดที่ผมดูแลอยู่ให้ ผมไปคุยกับสหกรณ์ทั้งหลายว่าต้นทุนของคุณเท่าไหร่ ซึ่งแต่ละแห่งก็แตกต่างกันไป แต่ราคา 1.70 บาทนั้น เขารับได้ ทีนี้ต้องมาดูว่าโรงงานเอทานอล เขาบอกว่าเขาซื้อหัวมันสดที่ราคา 1.70 บาท เขารับได้ ตลาดก็เดินได้ ส่งออก ก็บอกรับได้ เกษตรกรอาจจะหงุดหงิดเล็กน้อย แต่เป็นเรื่องเราจะต้องช่วยเกษตรกรในการลดต้นทุนให้เขาต่อไป ในเฟสที่ 2 เรื่องปุ๋ย หรืออะไรต่อไป ตอนนี้ 1.70 บาท ต่อไปอาจจะเป็น 1.80-1.90 บาท”

วิธีการใหม่นี้ กอร์ปศักดิ์ บอกว่า จะเดินหน้าเฉพาะ มันสำปะหลังก่อน ส่วนการประกันราคาข้าว อยู่ในความรับผิดชอบของคุณประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง แต่สิ่งที่คุณประดิษฐ์คิด คือเอาไปใส่ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า หากวันพุธที่ 3 มิ.ย. ครม. อนุมัติในหลักการ ตลาดล่วงหน้าจะได้เดินได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีวิธีการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศเจรจาได้อยู่แล้ว ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์บอกว่าทำไม่ได้ เพราะต้องเข้ามาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ แต่กระทรวงการต่างประเทศ บอกไม่ต้องเข้า เลยให้กฤษฎีกาไปดูว่าเข้าหรือไม่ ไม่มีใครคิดว่าต้องเข้า มันไม่ใช่สนธิสัญญา กรมการค้าต่างประเทศจึงเหมาะ

ข้าวโพดก็เจรจาได้ ฟิลิปปินส์อยากได้ ถ้าเราจำเป็นต้องขายถูกจริง เราขาย จีทูจีดีกว่าได้บุญคุณกัน แต่มันต้องมีหน่วยงานที่พร้อมที่จะทำ และกรมการค้าต่างประเทศไปไกลได้ถึงขนาด เรียกว่าการแลกเปลี่ยนสินค้า

มุมมองของกอร์ปศักดิ์ ดูจะสวนทางกับมุมมองของรัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาล แต่คำตอบสุดท้ายที่จะตัดสินในเรื่องนี้คือ ใครกันแน่ที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน...

กอร์ปศักดิ์ เล่าว่า ในอดีตเราไม่เคยมีสินค้าเกษตรอยู่ในมือมากขนาดนี้ มูลค่าเป็นแสนล้าน เราเป็นเจ้าตลาด ประเด็นคือ ถ้าเราจะจำหน่าย แล้วใครเก่งในการจำหน่าย นักการเมืองหรือ ไม่มีทาง หรือจะให้ครม. ขายของก็ไม่ได้ พูดกันตรงๆ ผมหรือ ...ไม่มีปัญญาหรอก (เสียงดัง) มันก็มีแนวความคิดหลายทางจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ในที่สุดจึงมีข้อเสนอให้มีคณะทำงานขึ้นมา โดยให้คุณพรทิวาแต่งตั้ง

“คณะทำงานชุดนี้ คือ คนขายตัวจริง แต่ครั้นจะให้ประธานองค์การคลังสินค้า (อคส.) มาเป็นประธาน คนก็ยังไม่รู้จักเลย อีกทั้งอคส. มีหน้าที่ดูแลคลังสินค้า เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำให้ระบบพิกลพิการ ดังนั้นผมมองว่าวิธีดีที่สุดคือ ต้องเอาข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นประธาน ประเด็นของผมคือ จะต้องเป็นข้าราชการรับผิดรับชอบได้ ถ้าให้พวกเรานักการเมืองมาเป็นคงไม่มีปัญญาหรอก”

ข้อเสนอให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นประธาน กอร์ปศักดิ์ เปิดเผยว่า มาจากเขา เนื่องจากกรมการค้าต่างประเทศมีคนอยู่ทั่วทุกประเทศ รู้ตลาด และเชื่อว่า ใครก็ตามที่มาเป็นอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศสั่งไม่ได้

ถามว่าวิธีการดังกล่าวเป็นความต้องการจับแยกระหว่างผู้จำหน่ายกับ ผู้ดูแลไม่ให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน กอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า สินค้าทั้งหมด อย่างข้าวมีอยู่กว่า 200 โกดัง เวลาเราซื้อ ทาง โกดังก็บอกข้าวดีหมด เราจ่ายเงินถูกหมด เราก็ไปเช่าโกดัง บอกเขามีหน้าที่เก็บรักษา เราให้ค่าเช่าทุกเดือน เวลาเราจะขาย เราต้องไปดับเบิลเช็ก ฉะนั้นผมก็พร้อมที่จะเสียเงิน นี่เป็นเงื่อนไขของผม จึงต้องสำรวจว่า สภาพปัจจุบันเป็นอย่างไรและอันไหนที่มันแย่แล้ว เราจะขายตรงนั้นก่อน แล้วตามราคาสภาพ ประมูลโปร่งใส ส่วนจะขายเท่าไรอย่างไร เป็นเรื่องของกรมการค้าต่างประเทศ และเมื่อเป็นการขายส่งออกไปนอกประเทศ จะมีผลกระทบต่อตลาดข้าวในโลก ฉะนั้นนโยบายเราก็บอกว่า ยุทธศาสตร์การขายต้องมาคุยกับคนเป็นประธานอนุกรรมการตลาด ซึ่งมีรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน จากนั้นมาคุยกับคนเป็นประธานดูแลสินค้าเกษตร (สินค้าเกษตร 5 ชนิด ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีแต่ละคนดูแล)

ถ้าเป็นข้าวต้องมาคุยกับนายกรัฐมนตรีวงเล็กๆ ก่อน จะขายกี่แสนก็ปิดเป็นความลับ แต่งานนี้เราบอก ข่าวมันออกไปในตลาด ข้าวราคาขึ้นแล้ว.... ตอนนั้น 450 เหรียญสหรัฐ พอเราบอกจะขายหมด ข้าวมันลงวูบเลย เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องมียุทธศาสตร์การค้าขาย ซึ่งราชการไม่เก่งเลย แต่ราชการที่เก่ง คือ กรมการค้าต่างประเทศ เพราะเป็นอาชีพเขา และเวลาเราขายโกดังนี้ เราขายราคาถูกเพราะของห่วย แต่ว่าความห่วยนี้มันมีคนรับผิดชอบไง คือ พวกเซ็นรับดูแล ต้องจ่ายค่าปรับ และใครที่มาเข้าโครงการต้องมีกล้องวงจรปิด เราจ่ายค่าเช่าให้ คือ ถ้าเราทำระบบนี้เข้าไป จะมีความรัดกุม หากมีขบวนการทุจริตเข้ามาแสวงหาประโยชน์เมื่อถ้าทำตามระบบนี้ คนที่จะโกงต้องทำได้อย่างเดียวคือ ฮั้วพ่อค้าเวลาประมูล ซึ่งเราต้องหาวิธีป้องกันให้มีผู้เล่นเยอะๆ

“แม้จะป้องกันทุจริตไม่ได้ทั้งหมด แต่ว่าความรั่วไหลจะน้อยลง และมีคนรับผิดชอบ และมีตัวเล่นได้เยอะที่จะช่วยคานกันเอง”

view