สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รายงานพิเศษ : ป.ป.ท. จะกล้าฟัน บอร์ด กบข. หรือไม่?

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน



       ปัญหาเกี่ยวกับกองทุน กบข.ที่ผู้บริหารส่อทุจริตทำผิดกฎหมายทั้งในแง่วินัยและอาญา ส่งผลให้ กบข.ขาดทุนหลายหมื่นล้านเมื่อปี ’51 ล่าสุด “วิสิฐ ตันติสุนทร”ได้ชิงลาออกจากเลขาธิการ กบข.แล้ว คาด เพื่อหนีความผิดหลังถูก คกก.สอบของ ป.ป.ท.สรุปว่าเข้าข่ายผิดทั้งวินัยและอาญา ขณะที่ คกก.สอบอีกชุดของ ก.คลัง กลับส่อว่าปกป้องผู้กระทำผิด ดังนั้น ต้องลุ้นว่า เมื่อกระบวนการตรวจสอบสิ้นสุด ทั้งเลขาฯ และบอร์ด กบข.จะถูกดำเนินคดีหรือไม่ ลำพังเลขาฯ คงไม่เท่าไหร่ แต่บอร์ดนี่สิ น่าหนักใจ เพราะแต่ละคนล้วนระดับบิ๊กๆ ของหน่วยราชการกันทั้งนั้น แล้วใครกันจะกล้าเล่นงานบุคคลเหล่านี้ ป.ป.ท.ช่วยตอบที กล้าหรือไม่?
       
       ปัญหากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.)ประสบภาวะขาดทุนเมื่อปี 2551 ประมาณ 74,000 ล้านบาท จากสินทรัพย์รวมของ กบข.376,000 ล้านบาท และผู้บริหาร กบข.ที่มีนายวิสิฐ ตันติสุนทร เป็นเลขาธิการ ได้หักเงินสะสมของสมาชิกในกองทุนซึ่งมีประมาณ 1.2 ล้านคนเพื่อชดเชยภาระขาดทุนดังกล่าวคนละหลายหมื่นบาท ส่งผลให้สมาชิกจำนวนมากทนไม่ได้ ออกมาร้องเงินคืนจาก กบข.พร้อมขอให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ(ป.ป.ท.)ตรวจสอบ การทำงานของผู้บริหาร กบข.ว่ากระทำการทุจริตหรือไม่ตั้งแต่เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่ง ป.ป.ท.ที่มีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นเลขาธิการ ก็ไม่รีรอ รีบรับตรวจสอบเรื่องดังกล่าว แม้จะถูกผู้บริหาร กบข.ดักคอและพยายามตั้งแง่ว่า ป.ป.ท.มีอำนาจตรวจสอบ กบข.หรือไม่ เพราะ ป.ป.ท.ยังไม่มีคณะกรรมการ
       
       ขณะที่สมาชิก กบข.บางส่วนได้ชุมนุมและเรียกร้องให้รัฐมนตรีคลัง นายกรณ์ จาติกวณิช ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการทำงานของผู้บริหาร กบข.ด้วยอีกทาง ซึ่งนายกรณ์ก็รับลูก ให้มีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจมาตรวจสอบ มีนายสมพล เกียรติไพบูลย์
       
       นอกจากหวังพึ่งผลตรวจสอบของคณะกรรมการชุดต่างๆ แล้ว ยังมีสมาชิก กบข.บางส่วนไปฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้มีคำสั่งให้การบริหารและการลงทุนที่ขาดทุนในปี 2551 ของ กบข.เป็นโมฆะและให้คืนเงินที่ถูกหักเพื่อชดเชยภาวะขาดทุนดังกล่าวแก่สมาชิก ด้วย เนื่องจากผู้บริหาร กบข.ส่อว่าทุจริตทำผิดกฎหมายอย่างชัดเจน เพราะไม่เพียงนำเงินกองทุน กบข.ไปลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยง แต่ยังลงทุนในหุ้นที่ไร้อนาคตและมีประวัติฉาวเรื่องปั่นหุ้นมาแล้ว อย่างบริษัท ยานภัณฑ์ ของนายวิชัย ทองแตง อดีตทนายความประจำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร!
       
       กระทั่งเมื่อวันที่ 25 พ.ค.เริ่มมีความคืบหน้าในแง่ผลสอบ กบข.ของคณะกรรมการชุดต่างๆ โดยผลสอบของคณะกรรมการของ ป.ป.ท. เบื้องต้นสรุปว่า การบริหารของ กบข.น่าจะผิดพลาด ไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายและหลักบริหารที่ดี ทำให้ประสบภาวะขาดทุน โดยผู้ที่อยู่ในข่ายปฏิบัติงานผิดพลาดมี 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ เลขาธิการ กบข.และพนักงานของ กบข.บางคน ส่วนกลุ่มที่ 2 คือคณะกรรมการหรือบอร์ด กบข. ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนระดับสูงจากหน่วยราชการต่างๆ
       
       ทั้งนี้ มีรายงานว่า จากการสุ่มตรวจพบผู้บริหาร กบข.รายหนึ่งมีพฤติกรรมซื้อขายหุ้นส่วนตัวและซื้อหุ้นตัวเดียวกับ กบข.โดยไม่ขออนุญาตก่อนตามที่ระเบียบ กบข.กำหนด รวมทั้งขาดส่งรายงานการซื้อขายหุ้นที่กำหนดให้ต้องรายงานเป็นรายไตรมาส รวม 8 ไตรมาส ซึ่งน่าจะเข้าข่ายขัดระเบียบกองทุน กบข.ว่าด้วยการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อบัญชีของพนักงาน พ.ศ.2546 ไม่ เท่านั้นผู้บริหาร กบข.รายนี้ยังซื้อขายหุ้นในลักษณะดักหน้าดักหลังการซื้อขายของ กบข.หลายต่อหลายครั้ง ส่อว่าน่าจะรู้ข้อมูลวงในหรือใช้ประโยชน์จากข้อมูลวงใน(อินไซด์ เทรดดิ้ง) ซึ่งน่าจะเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ด้วย
       
       นายธาริต เผยว่า คณะกรรมการสอบของ ป.ป.ท.เห็นว่า การซื้อหุ้นดักหน้าดักหลังของผู้บริหาร กบข. ถือว่าเป็นความผิดทั้งในแง่จรรยาบรรณ วินัยและอาญา โดยความผิดอาญา เข้าข่ายผิดกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฐานนำข้อมูลวงในไปซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้อื่น นอกจากนี้ยังเข้าข่ายผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เกิดความเสียหายต่อองค์กรด้วย โดย ป.ป.ท.พร้อมจะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไป หากรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและคณะกรรมการสอบเห็นพ้องไปในทางเดียวกัน
       
       ด้าน กบข.ได้ออกแถลงการณ์(25 พ.ค.) ยืนยันว่า การดำเนินการของ กบข.ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และนโยบายบอร์ด กบข. โดยมีการวิเคราะห์และควบคุมความเสี่ยง ตลอดจนปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล
       
       ขณะที่ นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ กบข.ยอมรับ มีการซื้อขายหุ้นส่วนตัวจริง แต่ยืนยันไม่ได้ขาดส่งรายงานการซื้อขายหุ้นแต่อย่างใด เพียงแต่ส่งล่าช้าเท่านั้น และว่า ต้องรอดูว่าบอร์ด กบข.จะทำอย่างไรต่อไป เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังผลสอบของคณะกรรมการสอบของ ป.ป.ท.ระบุว่า นายวิสิฐเข้าข่ายผิดทั้งวินัยและอาญา ปรากฏว่า นายวิสิฐได้ตัดสินใจลา ออกจากตำแหน่งเลขาธิการ กบข.เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.โดยอ้างว่าเพื่อแสดงความรับผิดชอบกรณี กบข.ขาดทุนและกรณีที่ถูกระบุว่าไม่ปฏิบัติตามระเบียบ กบข. อย่างไรก็ตามนายวิสิฐ ยืนยันว่า ตนไม่ได้มีเจตนากระทำผิดหรือหาประโยชน์จาก กบข.แต่อย่างใด!?!
       
       ส่วนความคืบหน้าผลสอบของคณะกรรมการชุดที่มีนายสมพล เกียรติไพบูลย์ เป็นประธานที่กระทรวงการคลังตั้งขึ้น ปรากฏว่า ออกมาในทางตรงกันข้ามผลสอบของคณะกรรมการของ ป.ป.ท. โดยสรุปว่า นาย วิสิฐได้ทำตามหลักเกณฑ์ทุกประการและได้รักษาผลประโยชน์ของสมาชิกตามสมควร ส่วนที่กองทุนขาดทุนเกิดจากผลกระทบจากตลาดหุ้นทั่วโลกลดลง
       
       อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสอบชุดนายสมพล ยอมรับว่า นายวิสิฐและพนักงาน กบข.บางส่วนมีการลงทุนซื้อหุ้นส่วนตัว ซึ่งเป็นหุ้นที่ กบข.ลงทุนอยู่ด้วย โดยไม่ได้ขออนุญาตตามระเบียบ แต่คณะกรรมการสรุปว่านายวิสิฐและพนักงาน กบข.ไม่ได้เจตนา แต่ตั้งข้อสังเกตว่า หุ้นที่พนักงาน กบข.ซื้อนั้นจำนวนไม่มาก แต่หุ้นที่นายวิสิฐซื้อเป็นจำนวนที่มีนัยสำคัญ และบางตัวมีการซื้อหลายรอบ กระทรวงการคลังจึงได้ตั้งกรรมการขึ้นอีก 1 ชุดเพื่อดูว่า นายวิสิฐมีการใช้ข้อมูลวงในเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือไม่ มีนายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)เป็นประธาน โดยจะให้เวลา 30 วัน
       
       ด้านรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ได้ประชุมพิจารณาผลสอบ กบข.ของคณะกรรมการสอบของ ป.ป.ท.เมื่อวานนี้(3 มิ.ย.) ซึ่งก่อนหน้านี้ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการ ป.ป.ท.บอกว่า หากที่ประชุมเห็นพ้องไปในทางเดียวกัน ก็จะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ไต่สวนและดำเนินการทางอาญากับผู้บริหาร กบข.ต่อไป แต่ปรากฏว่า เมื่อประชุมแล้ว ยังไม่มีมติดังกล่าว เนื่องจากนายพีระพันธุ์ได้สั่งให้ ป.ป.ท.ตรวจสอบเชิงลึกอีกหลายประเด็น เช่น เรื่องการซื้อหุ้นบริษัท ยานภัณฑ์ มูลค่า 200 ล้านบาท ที่อาจมีลักษณะเอื้อประโยชน์ต่อบุคคล ส่วนในแง่บอร์ด กบข.นั้น ต้องตรวจสอบว่า เหตุใดบอร์ดจึงไม่ทำหน้าที่ตัดสินใจเองเกี่ยวกับการลงทุนซึ่งเป็นไปตามที่ กฎหมายกำหนด แต่กลับให้คณะอนุกรรมการจัดการลงทุนแทน ซึ่งต้องเชิญบอร์ดมาชี้แจง หากพบว่าไม่มีเจตนาทุจริต ก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดทางอาญา
       
       นายธาริต ยังเผยด้วยว่า นอกเหนือจากเรื่องซื้อหุ้นบริษัท ยานภัณฑ์ และการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายของบอร์ด กบข.แล้ว ยังมีการออกกฎกระทรวงเพื่อวางหลักเกณฑ์การลงทุนที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายด้วย โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด 3 กลุ่ม ทั้งระดับบอร์ด กบข. ผู้ปฏิบัติการ และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในการลงทุนประมาณ 7 คน
       
       แม้ขณะนี้จะยังไม่สามารถเอาผิดผู้บริหารหรือบอร์ด กบข.ได้ ขณะที่นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ กบข.ก็ชิงลาออก ราวกับต้องการตัดตอนหรือหนีความผิด ลองไปฟังความรู้สึกของผู้ได้รับผลกระทบจากการขาดทุนของ กบข.กันบ้าง ซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากสมาชิก กบข.
       
       นายไพฑูรย์ พิมพ์ทอง รองประธานเครือข่ายสมาชิก กบข.แห่งประเทศไทย บอกว่า ดีใจที่ข้อเรียกร้องของเครือข่ายสมาชิก กบข.ประสบผลสำเร็จ คือ เลขาธิการ กบข.ลาออก พร้อมย้ำ บอร์ด กบข.ก็ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกเช่นกัน และว่า ถึงแม้ผู้บริหาร กบข.จะลาออก การเรียกร้องเงินที่ถูก กบข.หักไปชดเชยภาระขาดทุนก็จะยังต้องดำเนินต่อไป
       
       “ดีใจ ที่การทำงานของเราที่ผ่านมานั้น เป็นแรงที่ผลักดันให้ท่านเลขาฯ เกิดความรับผิดชอบว่า ตัวเองนั้นทำผิด นี่ก็เป็นข้อหนึ่งที่เราเรียกร้องว่าให้เลขาธิการลาออก (ถาม-คุณวิสิฐ บอกว่า ไม่ได้เจตนากระทำผิดหรือหาประโยชน์ใดใดจาก กบข. คิดว่าฟังได้มั้ย?) แล้วทำไมท่านถึงลาออกล่ะ ถ้าท่านยังแน่วแน่ว่าท่านทำถูกต้อง ทำไมท่านถึงลาออกล่ะ ผมก็ตอบแทนท่านไม่ได้ว่าท่านถูกหรือผิด แต่เราตั้งประเด็นว่าทำไมท่านถึงลาออกล่ะ (ถาม-แล้วในแง่เงินที่ถูกหักไปชดเชยภาวะขาดทุน เรายังต้องเรียกร้องมั้ย แม้จะมีการลาออกแล้ว?) เรียกร้อง ในส่วนที่เรียกร้องตรงนั้น มันจะต้องมีคนสั่ง คนสั่งก็คือศาลใช่มั้ย ที่จะสั่งให้มีการคืนเงินสมาชิก ดังนั้นพวกเราก็แนะนำให้สมาชิกได้ฟ้องร้องกันต่อไปว่า ที่เราขาดทุนไป 1 หมื่นบ้าง 2 หมื่นบ้างในปี 2551 นั้น และผู้ที่เกษียณอายุราชการในปี 2551 ก็ขาดทุนไปเยอะแยะ เพราะไม่ใช่ความผิดของเขาใช่มั้ย ดังนั้นที่ท่านประวิทย์ สิทธิถาวร ที่ท่านนำร่องในการฟ้องร้องต่อศาลปกครองนั้น ตอนนี้ผมในฐานะผู้รับผิดชอบตรงนี้ ก็ขอร้อง เพราะในทีมงานของเรานั้น ได้ดาวน์โหลดออกมาเพื่อที่จะมาปรับปรุงในส่วนของเราจะฟ้องร้องต่อไป เพราะฉะนั้นการจะได้คืน ก็คงจะมีคนสั่งก็คือศาล”
       
       ขณะที่ พล.ต.สมชัย วรามิตร ข้าราชการบำนาญ กองทัพบก ซึ่งเป็น 1 ในสมาชิก กบข.ที่ร้องให้ ป.ป.ท.ตรวจสอบผู้บริหาร กบข.ที่บริหารขาดทุน ก็มองว่า นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ กบข.ลาออกเพื่อหนีความผิดทางวินัย พร้อมเห็นว่า คำอ้างของนายวิสิฐที่ว่าไม่ได้เจตนากระทำผิดหรือหาประโยชน์จาก กบข.นั้น ฟังไม่ขึ้น เพราะถ้าไม่ได้ทำผิด แล้วจะลาออกเพื่ออะไร พล.ต.สมชัย ยังเรียกร้องไปยังรัฐบาลหรือสำนักงบประมาณด้วยว่า แม้ผู้บริหาร กบข.จะลาออก แต่เรื่องต้องไม่ยุติ เพราะต้องมีการคืนเงินที่สมาชิก กบข.ถูกหักเพื่อชดเชยภาวะขาดทุนจากความผิดพลาดของผู้บริหาร กบข.ด้วย
       
       “ทาง รัฐบาลต้องเข้ามาจัดการ เพราะคนที่ออกไปหรือคนที่อยู่คือข้าราชการ เป็นผู้สนองนโยบาย แล้วก็มาบอกว่านี่คือเงินก้อนสุดท้ายนะที่คุณจะได้รับ แหม! วาดภาพซะสวยหรูเลยว่าคุณจะเป็นอย่างนี้ๆ นะ ข้าราชการที่เราอดออม เราได้น้อยๆ มา เขาบอกว่า น้ำซึมบ่อทรายเนี่ย เรายังมาโดนโกงอย่างนี้อีก มันเจ็บใจนะ แล้วมันเป็นบอร์ด(กบข.)นะ คุณก็ได้เบี้ยอะไรต่ออะไรทุกปี ได้เยอะด้วย ผมจะถามเลยว่า บอร์ดต่างๆ เป็นสมาชิก(กบข.)หรือเปล่า มาเพื่อเอาตำแหน่ง เอาเงิน เป็นบอร์ดเท่านั้นเอง แต่ผลที่คุณทำตกอยู่กับพวกสมาชิกทั้งหลายทั่วประเทศ ข้าราชการ 2-3 แสนคน มันถูกต้องเหรอ เอาเงินเขามาหมุน เอาเงินเขามาปู้ยี่ปู้ยำ มันไม่ถูกต้อง คุณต้องรับผิดชอบอย่างลูกผู้ชายว่า การบริหารทุกอย่างเนี่ย คุณล้มเหลว จริงอยู่(สมาชิก กบข.)คนหนึ่ง(สูญเงิน)แค่ 6-7 หมื่น แต่คนเป็นพันคนนะที่เกษียณปีที่แล้วเป็นพันๆ คน คนละ 7 หมื่นอย่างต่ำ”
       
       ด้าน นายประวิทย์ สิทธิถาวร อัยการพิเศษฝายคดีศาลแขวง 5 สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะสมาชิก กบข.ที่ฟ้องต่อศาลปกครองหลังได้รับผลกระทบจากกรณีที่ กบข.ขาดทุน โดยฟ้องทั้ง กบข.-นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ กบข.-คณะกรรมการหรือบอร์ด กบข.และนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้การบริหารงานที่ขาดทุนของ กบข.ในปี 2551 เป็นโมฆะ พร้อมทั้งให้คืนเงินที่ถูก กบข.หักไปชดเชยภาระขาดทุนคืนตนด้วย เผยกับวิทยุ ASTV ผู้จัดการว่า หลังจากฟ้องศาล ศาลไม่รับฟ้องในส่วนที่ฟ้องเลขาธิการ กบข.และบอร์ด กบข. เนื่องจากตามกฎหมายมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ.2539 ระบุว่า ถ้าพนักงานของรัฐไม่สังกัดหน่วยไหนโดยเฉพาะ ให้กระทรวงการคลังเข้ามารับผิดแทน ดังนั้นตนจึงต้องเปลี่ยนเป็นการฟ้องกระทรวงการคลังแทน
       
       นายประวิทย์ ยังพูดถึงกรณีที่นายวิสิฐ ลาออกจากเลขาธิการ กบข.ด้วยว่า น่าจะลาออกตั้งนานแล้ว เพราะไม่ใช่ผิดแค่วินัย แต่ผิดอาญาด้วย
       
       “มัน ควรจะลาออกตั้งนานแล้ว เพราะไม่ได้ผิดแต่ทางวินัยนะ เขาผิดทางคดีอาญาด้วย ในฐานะที่เป็น จนท.ของรัฐ มีหน้าที่ และทำผิดหน้าที่โดยทุจริต การที่ทุจริตเพราะอะไร คือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐมันชัด มีหน้าที่ดูแลเงินของข้าราชการ และโดยทุจริตเนี่ย เบียดบังเงินของราชการไปเป็นเงินส่วนตัว ทำให้พวก ขรก.เสียหาย ก็เข้าองค์ประกอบแล้ว สรุปแล้วก็ วินัยก็ต้องลาออก และอาญาก็ต้องถูกดำเนินคดี (ถาม-เจ้าตัวบอกว่า เขาไม่ได้เจตนากระทำผิดหรือหาประโยชน์ใดใดจาก กบข.?) เขาไม่เจตนา แล้วเขาไปซื้อหุ้นล่วงหน้าได้มั้ย สมมติเขารู้ว่าบริษัท A เนี่ย บอร์ดมีคำสั่งให้ไปซื้อบริษัท A ในราคา 40 บาท เขาในฐานะเป็นเลขานุการของบอร์ด และเป็นเลขาธิการขององค์กรด้วย เขาก็ไปซื้อดักไว้ 40 บาท แล้วมาขาย กบข.45 บาท ซื้อเป็นล้านๆ หุ้นน่ะ กำไรไม่รู้เท่าไหร่ แค่นี้ก็ทุจริตแล้ว และพอรู้ว่าบอร์ดจะขาย ก็รีบไปทำการขายไว้ก่อน สมมติว่าบอร์ดรู้ว่าราคานี้มันจะเหลือ 30 บาท ตัวเองก็รีบขายไปก่อน ตัวเองถือไว้ 35 ขายไปก่อน เวลาบอร์ดซื้อ 30 บาท ตัวเองจะได้ไม่ขาดทุน นี่คือที่ดักหน้าดักหลัง กับพวกอีก 6 คนนะต้องถูกดำเนินคดีอาญา”
       
       “นอกจากนี้บอร์ดก็ต้องถูกดำเนินคดีอาญาด้วย เหตุผลเพราะกฎหมาย กบข.เขาบอกว่า บอร์ดมีอำนาจหน้าที่บริหารเงินทั้งหลายแหล่นี้ มีอำนาจสั่งซื้อหุ้นไม่ซื้อหุ้นได้ แต่ดำเนินคดีกับบอร์ดคงยาก เพราะมีแต่ตัวใหญ่ๆ ทั้งนั้นเลย เช่น อัยการสูงสุด เป็นผู้แทนบอร์ดอยู่ในนั้น เลขากฤษฎีกาหรือรองผู้ว่าฯ สตง.หรือตัวแทนศาล เต็มไปหมดน่ะ การที่จะดำเนินคดีกับกรรมการหรือบอร์ดได้ ก็ต้องไปดูมติของคณะกรรมการในครั้งนั้นๆ ว่า ลงมติว่ายังไง ถ้าลงมติไม่เห็นด้วย ก็ไม่ผิด ถ้าลงมติเห็นด้วยในการซื้อขายหุ้น หุ้นปั่น ก็มีความผิดคดีอาญา รู้มั้ยว่า กบข.ซื้อหุ้นปั่นของ บ.ยานภัณฑ์ คือ ยานภัณฑ์เขาถูกดำเนินคดีข้อหาปั่นหุ้น ถูกปรับไปหลายสิบล้านบาทเมื่อเดือน เม.ย.2550 และปี 2551 กบข.ก็ยังไปซื้อหุ้นเพิ่มอีกตั้งหลายสิบล้านหุ้น อย่างนี้ทุจริต 100% เลย และทุกวันนี้มูลค่าหุ้นก็เหลือแค่ 1.40 บาทแค่นั้น จากราคาพาร์ 5 บาท และตัวเองไปซื้อไว้ 13 บาทกว่า เวลานี้มูลค่าหุ้นเหลือแค่ 1.20-1.30 บาทประมาณนี้ แล้วคิดว่าอย่างนี้น่าจะรู้หรือไม่รู้ เพราะตัวเองอยู่ในวงการ และเป็นกองทุนขนาดใหญ่ต้องรู้ก่อนใครเพื่อนเลย”

       
       นายประวิทย์ ยังพูดถึงกรณีที่ผลสอบของคณะกรรมการ ป.ป.ท.และคณะกรรมการของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับ กบข.ออกมาต่างกันว่า เป็นเรื่องที่คาดหมายได้อยู่แล้วว่า คณะกรรมการของกระทรวงการคลังต้องช่วย กบข.อยู่แล้ว ในเมื่อคนตั้งคณะกรรมการดังกล่าวก็คือ กบข.ซึ่งเป็นผู้กระทำผิด
       
       “รู้ ล่วงหน้าอยู่แล้ว เพราะเหตุว่า(คณะกรรมการ)ชุดของกระทรวงการคลังที่ตั้งขึ้นนั้น เขาต้องช่วยเหลือ กบข.อยู่แล้ว กบข.เป็นคนตั้ง และตั้งเพื่อมาสอบเอาผิดเขา แล้วมันจะสอบเอาผิดได้ไงในเมื่อคนที่ตั้งคือผู้กระทำผิด ใช่มั้ย เพราะเหตุนี้ไง ป.ป.ท.เขาถึงไม่ส่งคนเข้าไปเป็นกรรมการร่วมกับชุดที่ กบข.หรือกระทรวงการคลังตั้งขึ้น นี่คือเหตุผล และเขาเป็นผู้สังเกตการณ์ และเป็นผู้สังเกตการณ์ก็กีดกันไม่ให้เขาร่วมฟัง ซึ่งมันส่อพิรุธ มันพิรุธมานานแล้วล่ะ แม้แต่การชี้แจงให้ตัวแทนกับสมาชิก 1 ล้านกว่าคน เขาก็ไม่ยอมชี้แจงว่าเขาขาดทุนเท่าไหร่ ขาดทุนจากหุ้นตัวไหน เพราะอะไรถึงขาดทุน และทำไมถึงมาหักเงินจากสมาชิก ข้ออ้างพวกนี้มันไม่มีเลย เพราะเมื่อตอบไม่ได้ เขาก็เลยงุบงิบๆ และเวลาเขาแถลงการณ์ในหนังสือพิมพ์น่ะ มันคนละประเด็นกันเลย ประเด็นหลักเขาไม่พูด เขาไปพูดประเด็นย่อย พูดคนละเรื่อง ประเด็นหลักๆ ว่า กฎหมายเขาห้ามคุณไปลงทุนน่ะ แล้วคุณไปลงทุนได้ยังไง กฎหมายมาตรา 5 เขาห้ามนะ เขาบอกไว้ชัดเลยว่า เงินนี้เป็นหลักประกันนะ และสถาบันนี้เป็นสถาบันเงินออมนะ ไม่ใช่สถาบันลงทุน เพราะเหตุนี้ไงถึงได้เอาหลักว่า การลงทุนต้องมีความเสี่ยง เอาหลักนี้มาใช้ไม่ได้ เพราะเหตุว่า กฎหมายเขาไม่ได้บอกว่าให้เป็นสถาบันลงทุน เขาบอกเป็นสถาบันเงินออม”
       
       นายประวิทย์ ยังฝากถึงเพื่อนสมาชิก กบข.ที่อยากได้เงินคืน หลังถูกผู้บริหาร กบข.หักจากบัญชีเพื่อชดเชยภาระขาดทุนว่า สามารถดำเนินการได้ 2 ทาง ถ้าอยู่ต่างจังหวัด แนะนำให้ฟ้องศาลจังหวัดนั้นๆ ด้วยตนเอง เหมือนที่ตนฟ้องต่อศาลปกครองกลางใน กทม. ซึ่งที่ผ่านมา มีสมาชิก กบข.จากจังหวัดต่างๆ มาพบตนเพื่อขอคำฟ้องไปดัดแปลงเปลี่ยนชื่อเพื่อฟ้องแล้วหลายราย แต่หากเป็นสมาชิก กบข.ใน กทม.หรือปริมณฑล ถ้าไม่อยากฟ้องด้วยตัวเอง จะใช้วิธียื่นร้องสอดเข้ามาในคดีของตนก็ได้ โดยสามารถยื่นร้องสอดได้เป็นร้อยเป็นพันคน ซึ่งเชื่อว่า การฟ้องศาลเป็นวิธีที่จะเป็นประโยชน์กับสมาชิก กบข.มากที่สุดแล้ว!!
เป็นประธาน และแม้คณะกรรมการสอบจะประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยราชการต่างๆ แต่ก็ไม่สามารถเรียกความเชื่อถือได้เท่าที่ควร เพราะตัวแทนจากหน่วยงานราชการแทบทุกหน่วยก็ล้วนแล้วแต่ไปนั่งเป็นคณะกรรมการ หรือบอร์ด กบข.อยู่ การมีส่วนได้เสียของกรรมการสอบ ย่อมทำให้คาดหวังได้ยากว่า คณะกรรมการจะกล้าชี้ผิดตัวเองหรือพวกพ้องหรือไม่?

view