สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตราบาป วิสิฐ บทเรียน fund Manager

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



การตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการกองทุนบำเหน็จ บำนาญข้าราชการ (กบข.) ของ วิสิฐ ตันติสุนทร ต่อรักษาการประธานบอร์ด กบข.

ไม่ ได้ทำให้วิบากกรรมของ วิสิฐ จะหมดลง เมื่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) หน่วยใหม่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ไม่ได้หยุดเพียงแค่นี้

การลาออกของ วิสิฐ ในความเห็นของ ธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการ ป.ป.ท. มีความเพียงแค่หยุดการตรวจสอบทางวินัยเท่านั้น แต่ในทางอาญา วิสิฐ จะมีความผิดติดตัวตามไปหรือไม่นั้น ยังเป็นประเด็นที่ต้องมีการตรวจสอบกันต่อไป

เป็นที่เข้าใจได้ประการหนึ่งว่า วิสิฐ ไม่สามารถที่จะตอบสังคมที่ตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมา ถึงความเหมาะสม ความพอดี ความมีธรรมาภิบาลได้อย่างเต็มปากเต็มคำนัก ต่อกรณีที่ผลการตรวจสอบของ ป.ป.ท.พบว่า วิสิฐ มีพอร์ตการลงทุนของตัวเอง และมีพฤติการณ์ที่น่าชวนสงสัยว่า อาจจะมีการใช้ข้อมูลที่ตนเองเป็นหัวหน้าหน่วยงานไปหาประโยชน์เข้าพกเข้าห่อ ตัวเองหรือไม่

เป็นคำถามที่ทำให้ วิสิฐ อยู่ในภาวะกลืนไม่เข้า คายไม่ออก แม้ว่าการที่เขามีพอร์ตหุ้นของตัวเอง โดยใช่ชื่อตัวเองเป็นเจ้าของพอร์ตนั้น เจตนาจะเป็นไปอย่างสุจริต ที่พร้อมให้มีการตรวจสอบก็ตาม ซึ่งในที่สุดเขาก็ทนแรงเสียดทานจากสังคมรอบด้าน ที่ถามหาความมีธรรมาภิบาล และจริยธรรมไม่ได้ จึงได้ตัดสินใจยื่นใบลาออกดังกล่าว

วันนี้ถามว่า วิสิฐ มีความผิดหรือไม่ ยังไม่มีใครตอบได้ แม้ว่า ป.ป.ท.จะออกรายงานผลการตรวจสอบว่า วิสิฐ มีพฤติกรรมและพฤติการณ์สุ่มเสี่ยงว่าจะขัดกับระเบียบของ กบข.ว่าด้วยการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อบัญชีของพนักงาน พ.ศ.2546 ซึ่งลงนามโดย วิสิฐ เอง ใน 3 ประเด็น คือ

1.ระยะเวลาการถือครองหลักทรัพย์ 2.มีการกระทำที่อาจเข้าข่ายลักษณะการทำ Front Running หรือการซื้อ-ขาย หุ้นดักหน้ากองทุน และ 3.มีการกระทำที่อาจเข้าข่ายการซื้อขายหลักทรัพย์ในทางตรงกันข้ามกับการลงทุน ของกองทุน (Against Portfolio) ก็ตาม

หุ้นที่ ป.ป.ท. ยกขึ้นมามี 3 บริษัท คือ บริษัท ยานภัณฑ์ บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ และบริษัท ปตท.

เมื่อถามว่า วิสิฐ มีความผิดหรือไม่ ที่มีพอร์ตเล่นหุ้นของตัวเอง คำตอบชัดเจนว่า ไม่มีความผิดแน่นอน กฎหมายและระเบียบของ กบข. ไม่ได้ห้ามไว้ แต่การที่พนักงานจะมีบัญชีของตัวเองนั้น จะต้องอยู่ในความควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด ต้องมีการขออนุญาตต่อฝ่ายกิจกรรมองค์กรทุกครั้งก่อนจะทำการซื้อหรือขาย และต้องรายงานการซื้อขายภายในระยะเวลาที่กำหนดคือทุกไตรมาส

ถ้า วิสิฐ จะมีความผิดก็คือการฝ่าฝืนระเบียบที่ตัวเองเซ็นมากับมือนั่นเอง เพราะปรากฏว่าเขาไม่ได้ทำการรายงานการซื้อขายหุ้นทั้ง 3 ตัวดังกล่าว แต่กลับทิ้งให้ระยะเวลาเนิ่นนานติดต่อกันกว่า 8 ไตรมาส ขณะที่ยังพบว่า วิสิฐ ยังถือครองหลักทรัพย์ในแต่ละตัวแค่เพียงไม่กี่วันเท่านั้น จากกฎที่ให้ถือไว้ไม่น้อยกว่า 3 เดือน

กบข.เป็นเงินของข้าราชการกว่า 1.2 ล้านรายทั่วประเทศ ที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมีเงินกองทุนกว่า 3 แสนล้านบาทในส่วนของสมาชิก และรวมกับเงินที่รัฐบาลฝากให้บริการอีกว่า 8 หมื่นล้านบาท ถือว่าเป็นกองทุนที่เกือบจะใหญ่ที่สุดในระบบ

ผลการดำเนินงานในปี 2551 ที่ผลตอบแทนติดลบ 5% หรือประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาทนั้น แม้จะเป็นประเด็นที่นำมาสู่การร้องเรียนของข้าราชการ จนเป็นที่มาของการตรวจสอบการบริหารงาน กบข.ของ วิสิฐ โดย ป.ป.ท.ก็ตาม แต่หลังจากที่ ป.ป.ท.รับทราบข้อมูลในเชิงลึก ได้รับคำอธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้ผลตอบแทนของ กบข. ติดลบ 5% นั้น ก็พอจะยอมรับได้และไม่ติดใจว่า การขาดทุนนั้น เป็นผลมาจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ที่กระทบตลาดหุ้นอย่างรุนแรงในปีที่ผ่านมานั่นเอง

ในวันนี้เรื่องของ วิสิฐ จะยังไม่จบ แม้ว่าจะลาออกแล้วก็ตาม ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามต่อ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบของทีมนายปกรณ์ มาลากุล ณอยุธยา ที่รับภารกิจจากบอร์ดของ กบข.ให้เป็นประธานตรวจสอบทางวินัย ที่ยังยืนยันว่าจะเดินหน้าตรวจสอบต่อไป และจะประชุมกันครั้งแรก 5 มิ.ย.นี้ ผลจะออกมาเป็นเช่นไร

นอกจากนี้ยังต้องติดตามผลการประชุมคณะกรรมการ กบข. วันที่ 8 มิ.ย.นี้ ที่จะได้ประธานบอร์ดคนใหม่คือ นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ปลัดกระทรวงการคลัง นั่งหัวโต๊ะ จะพิจารณาใบลาออกของ วิสิฐ ว่าจะอนุมัติหรือไม่ หรือว่าจะมีการตั้งแนวทางสอบสวนเพิ่มเติม ขณะที่ฟากของ ป.ป.ท.จะดำเนินการอย่างไรต่อไป รวมไปถึงการแต่งตั้งเลขาธิการ กบข.คนใหม่จะเป็นใครด้วย

ประเด็นสำคัญต่อกรณีของ วิสิฐ นั้น สะเทือนต่ออุตสาหกรรมกองทุนรวมหรือไม่อย่างไร เป็นประเด็นคำถามที่หลายฝ่ายสอบถามไปถึงบรรดาผู้จัดการกองทุนต่างๆ ที่รับผิดชอบบริหารเงินของลูกค้า โดยเฉพาะบรรดากองทุนหุ้นต่างๆ ที่มีบรรดาผู้จัดการกองทุนมืออาชีพ (Fund Manager) นั่งบริหารอยู่นั้น จะมีพฤติกรรมและพฤติการณ์ เหมือนกรณีที่เกิดขึ้นกับ กบข.หรือไม่ เพราะกฎหมายไม่ได้ห้าม Fund Manager มีพอร์ตของตัวเอง

ปัจจุบันขนาดเงินกองทุนรวม ที่เป็นทั้งกองทุนหุ้นและกองทุนตราสารหนี้ ที่บริหารโดยบริษัทจัดการกองทุน (บลจ.) ประมาณ 22 แห่ง มีเม็ดเงินให้บริหารอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท

ในประเด็นที่มีความเป็นห่วงนี้ ทำให้ ก.ล.ต.ต้องออกมายืนยันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนว่า ก.ล.ต. มีหลักเกณฑ์กำกับดูแล บลจ.ที่จะห้ามพนักงาน ผู้บริหาร และ บลจ. ซื้อขายหลักทรัพย์โดยเอาเปรียบผู้ลงทุนหรือกองทุน รวมทั้งมีระบบการควบคุมดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงานเพื่อป้องกันมิ ให้พนักงานนำข้อมูลภายในไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ ซึ่งก็ไม่ต่างจากกฎระเบียบของ กบข.

วิบากกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมดต่อ วิสิฐ ผู้ที่เคยได้ชื่อว่าเป็นผู้จัดการกองทุนที่เก่งหาตัวจับยาก กำลังเป็นตราบาปที่ติดตัวเขาไปอีกนานแสนนาน และจะเป็นบทเรียนของบรรดา Fund Manager ต่างๆ ให้ขบคิดอย่างหนัก ไม่ควรเล่นกับความรู้สึกของเจ้าของเงินตัวจริง แม้การเปิดพอร์ตเล่นหุ้นจะเป็นไปโดยสุจริตก็ตาม

view