สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ถึงเวลาแก้ปัญหาเรื่องอีไอเออย่างเป็นระบบ/คอลัมน์ส่องความคิด

จาก โพสต์ทูเดย์

รายงานโดย :คบเด็กสร้างบ้าน:



ยังคงเป็นเรื่องทอล์กออฟเดอะทาวน์ในวงการ อสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะเรื่องการก่อสร้างคอนโดมิเนียม ที่ผ่านมาการขออนุญาตก่อสร้างจะใช้มาตรา 39 ทวิ ตามกฎหมายควบคุมอาคาร เพราะสามารถก่อสร้างได้ทันทีหลังยื่นแจ้งต่อเจ้าพนักงานไม่เกิน 79 ห้อง

แต่เมื่อโครงการก่อสร้างไปแล้วช่วงหนึ่ง จึงยื่นขอแก้ไขแบบเพิ่มจำนวนห้องจากหน่วยงานท้องถิ่น ไปพร้อมๆ กับการยื่นขออนุญาตอีไอเอภายหลัง ทำให้เกิดปัญหาตามมา โดยเจ้าของโครงการรายนั้นต้องเฉือนพื้นที่ขายให้กลายเป็นที่ว่าง ขณะที่ผู้บริโภคที่ซื้อโครงการไปแล้วแต่ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ เพราะติดปัญหาเรื่อง อีไอเอ

นิศากร โฆษิตรัตน์ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เล่าให้ฟังว่า ได้เพิ่มประกาศเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม เพื่อเป็นการป้องกันโครงการที่ตั้งใจทำห้องพักเกินจำนวน 80 ยูนิตขึ้นไป หรือมีพื้นที่รวมเกิน 4,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต่อไปไม่สามารถใช้มาตรา 39 ทวิ ลักไก่ก่อสร้างก่อนรายงานอีไอเอจะได้รับการอนุมัติ

อย่างไรก็ตาม สผ.เองก็ไม่ได้โหด แต่ก็เตรียมออกประกาศเพิ่มเติม ที่ถือว่าเป็นการผ่อนปรนให้กับเจ้าของโครงการ โดยหากโครงการประเภทที่พักอาศัย โรงแรม เคยมีผู้ประกอบการที่เคยทำอีไอเอ ก็สามารถนำมารายงานอีไอเอฉบับนั้นประยุกต์ใช้ได้ เพื่อช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ และยังเป็นการช่วยย่นระยะเวลาการก่อสร้างให้กับผู้ประกอบการด้วย

แต่ทั้งนี้ ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า โครงการนั้นจะต้องอยู่ในผังเมืองสีเดียวกัน อยู่ทำเลเดียวกัน ลักษณะการใช้อาคารเดียวกัน จำนวนห้องและจำนวนชั้นใกล้เคียงกัน โครงสร้างอาคารเหมือนกันกับโครงการที่รายงานอีไอเอได้รับการอนุมัติแล้ว

ปัจจุบันสผ. อยู่ระหว่างการยกร่างและจะคัดเลือกรายงานอีไอเอของโครงการที่ผ่านมาที่ดีที่ สุดในแต่ละประเภท การใช้ในแต่ละผังสี ในแต่ละทำเล เพื่อเป็นรายงานต้นแบบ คาดว่าจะเสร็จภายใน 2 เดือนข้างหน้า ก่อนจะเปิดรับฟังความคิดเห็นและเสนอต่อรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม เพื่ออนุมัติและประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

จะว่าไปแล้ว ประกาศกระทรวงทรัพยากรฯ ฉบับใหม่นี้ ถือเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการจัดทำอีไอเอ และรอการอนุมัติอีไอเอ แต่ตัวประกาศเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมยังมีความเข้มงวดเท่าเดิม และยังเปิดโอกาสให้ว่า ถ้าผู้ประกอบการรายใดไม่เห็นด้วย หรือไม่อยากใช้แนวทางปฏิบัติดังกล่าว ก็สามารถที่จะว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษากลับมาทำรายงานอีไอเอได้เหมือนที่ผ่าน มา

และหากมีการนำโครงการตัวอย่างที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ที่ถือว่าเป็นโครงการต้นแบบและได้มาตรฐานมาใช้เป็นตัวอย่าง ก็สามารถช่วยผู้ประกอบการประหยัดไปได้เป็นหลักแสนถึงหลักล้านบาท

แนวทางปฏิบัติที่ดีอย่างนี้ ผู้ประกอบการควรจะเลือกนำไปใช้

ไม่เพียงเท่านั้น ทางสผ. เองหลังจากที่มีการขึ้นทะเบียนบริษัทที่มาทำรายงานอีไอเอแล้ว เพราะที่ผ่านมารายงานของบริษัทที่ปรึกษาที่มีปัญหา ส่วนใหญ่ก็ใช้ไฟลิงที่เป็นเท็จ บางปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่น่าจะพลาด และปล่อยเรื่องดังกล่าวเข้ามาทำให้โครงการก่อสร้างไม่สามารถดำเนินการได้ โดยอยู่ระหว่างการปรับปรุงหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนของคนที่จะมาสอบเป็นผู้ ที่รายงานอีไอเอ แล้วจะมีการต่ออายุระยะยาว เช่น 3 ปี เป็น 5 ปี เหมือนกับเป็นมาตรฐานเคพีไอ

ขณะเดียวกัน ในอนาคตสผ. ยังมีแนวทางที่ต้องการขยายคนที่ทำทางด้านอีไอเอให้มากขึ้น เหมือนกับเป็นสภาวิชาชีพ ที่ทำทางด้านวิทยาศาสตร์ทางด้านอีไอเอ ซึ่งมีรูปแบบเหมือนกับสภาวิศวกรรม แพทยสภา สภาสถาปนิก เพื่อต้องการทำให้งานด้านสิ่งแวดล้อมมีประสิทธิภาพ และเป็นป้องกันปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น

เพราะนับวันปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมถือเป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

view