สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ก.เกษตรฯ เตรียมร่างทีโออาร์รับมือลำไยแห้งล้น

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



เชียงใหม่ - กระทรวงเกษตรฯ เปิดเวทีแจงมาตรการรับมือลำไยในฤดูกาลปี 52 หลังคาดการณ์มีผลผลิตทะลักกว่า 5.7 แสนตัน พร้อมวางแผนทำลายลำไยค้างสต๊อก

นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหรณ์ เปิดเผยหลังการประชุมสัมมนาการบริหารจัดการลำไย ปี 2552 โดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯในภาคเหนือเข้าร่วมประมาณ 100 คน ว่า ผลผลิตลำไยในฤดูกาลปี 2552 นี้ คาดว่ามีประมาณ 5.7 แสนตัน เป็นผลผลิตใน 8 จังหวัดภาคเหนือราว 4.4 แสนตัน ลำไยจะออกมากตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. - 20 ส.ค. กระทรวงฯจึงกำหนดมาตรการช่วยเหลือและบริหารจัดการลำไยปี นี้โดยจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายบริหารจัดการโครงการทั้งสิ้น 569.05 ล้านบาท แบ่งเป็นเงิจจากการกู้ยืมคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) 370 ล้านบาท และเงินจากขาดจก คชก. 199.05 ล้านบาท

ส่วนมาตรการช่วยเหลือแบ่งเป็นวงเงิน 120 ล้านบาท สำหรับเป็นทุนหมุนเวียนอัตราดอกเบี้ยปีละ 1% เป้าหมายช่วยกระจายผลผลิต 2 หมื่นตัน สนับสนุนเงินทุนจ่ายขาด คชก.วงเงิน 60 ล้านบาท เป็นค่าจ้างเหมาขนส่งและบริหารจัดการผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต 8 จังหวัด กก.ละ 2 บาท เป้าหมาย 3 หมื่นตัน สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน คชก. วงเงิน 250 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยปีละ 1% เพื่อผลิตลำไยแปรรูปสีทอง เป้าหมาย 3 หมื่นตัน

สนับสนุนเงินทุนจ่ายขาด คชก วงเงิน 75 ล้านบาท แก่เกษตรกร สหรณ์ ฯลฯ ที่ร่วมโครงการกระจายผลผลิตไปต่างประเทศ กก.ละ 2.50 บาท เป้าหมาย 3 หมื่นตันสด และสนับสนุนเงินทุนจ่ายขาด คชก. วงเงิน 50 ล้านบาท เป้าหมายสด 1 แสนตัน เพื่อแปรรูปเป็นลำไยอบ แห้งทั้งเปลือกแก่กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และผู้ร่วมโครงการกู้ยืมเงินจากธ.ก.ส. และธานคารกรุงไทย โดยสนับสนุนดอกเบี้ยปีละ 5% ระยะเวลา 1 ปี

นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า คณะกรรมการฯคาดหวังทั้งลำไยสด และช่อ ผู้ส่งออกจะซื้อในราคาที่ประกันไว้ คือ เอเอ กก.ละ 18 บาท เอ กก.ละ 14 บาท บี กก.ละ 10 บาท และ ซี กก.ละ 6 บาท ส่วนรูดร่วง เอเอ กก.ละ 12 บาท เอ กก.ละ 8 บาท และบี ละ 6 บาท

คณะกรรมการฯจะเร่งดำเนินมาตรการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ปีนี้จะไม่มีการรับจำนำและในวีนที่ 1 ก.ค.นี้จะเริ่มดำเนินการตามแผนงานทันที โดยได้รับแจ้งจากกรมบัญชีกลางว่าจะโอนเงินให้กระทรวงฯในเร็วๆนี้ และจะโอนเงินต่อให้กรมต่างๆภายในวันศุกร์หน้า เบื้องต้นคาดว่าในช่วงเวลา 50 วันจะกระจายลำไยสดสู่ตลาดในประเทศได้ 5 หมื่นตัน และลำไยสดส่งออกต่างประเทศ 5 หมื่นตัน

สำหรับลำไยอบแห้งค้างสต็อกปี 2546 / 2547 เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ครม.ได้อนุมัติงบประมาณ 90 ล้านบาท ทำลายลำไยดัง กล่าวแล้วโดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯดำเนินการ คณะกรรมการที่ประกอบด้วยหน่วยงานเกี่ยวข้องจะเร่งประชุมวางแผนงานสรุปผลการ ดำเนินงานให้เร็วที่สุดตามขั้นตอนการดำเนินงานตามระเบียบพัสดุของราชการ จะมีการร่างทีโออาร์ กรอบบริหารและจัดจ้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค.และพร้อมทำลายได้ในเดือน ก.ย. ซึ่งอยู่ในช่วงหมดฤดูกาลลำไยแล้ว

"ขอให้ความเชื่อมั่นและรับประกันว่าขั้นตอนทั้งหมดจะทำอย่างโปร่งใส รัดกุม และรับประกันจะไม่มีลำไยหลุดรอดออกจากคลังในช่วงนี้ได้ ขั้นตอนทุกอย่างมีคณะกรรมการตรวจสอบชัดเจนตั้งแต่การตรวจนับในคลัง หน้าคลัง ถ้ามีลำไยไม่ครบตามจำนวนจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้อง และจะมีการติดตั้งจีพีเอสรถบรรทุกทุกคันที่ขนลำไยเก่าทั้งหมดออกจากคลัง" นายธวัชชัยกล่าว

นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า สำหรับลำไยค้าง สต็อกปี 2546 / 2547 ที่หายไปจากคลังในภาคเหนือ ทราบว่าอยู่ระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยได้รับรายงานว่าได้จับกุมผู้ต้องหา 4 ราย และกำลังขยายผลถึงผู้เกี่ยวข้อง ส่วนลำไยใน คลังที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การคลังสินค้า (อคส.) ซึ่งยังมีสัญญากับเอกชน แต่ที่ผ่านมาพบมีการนำออกคลังโดยไม่ผ่านการทุบเปลือก จนถูกอายัดรถบรรทุกลำไยที่ สภ.สันป่าตอง ได้ดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้วเช่นกัน

สำหรับรูปแบบการทำลายลำไย จะทำลายด้วยวิธีบดอัดแน่นหรือบดเปลือกแตก ณ บริเวณหน้าคลังจัดเก็บ และขนส่งไปเผาเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาหรือทำลายด้วยวิธีฝังกลบในหลุมฝังกลบ ที่ได้มาตรฐานสิ่งแวดล้อม

view