สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ฝ่าหมอกฝน บนดอยอ่างขาง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : พรชัย จันทโสก



เยือนดอยสีหม่นกลางฝนหมอก สัมผัสป่าสมบูรณ์ ณ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง แวะคุยกับชาวปะหล่องที่บ้านนอแล ก่อนเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวง

บนยอดดอยอ่างขางท่าม กลางสายฝนโปรยปราย แม้สีสันอาจไม่ฉูดฉาดเฉกเช่นฤดูหนาว แต่ความหม่นมัวของหมอกฝน แฝงเร้นไปด้วยความลึกลับ ความมีชีวิตชีวา และแอบซ่อนความโรแมนติกไว้ให้นักเดินทางได้ไปค้นหา

ถึงแม้จะเป็นการเดินทางไป สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ในช่วงฤดูฝนซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยชอบนัก เพราะต้องเผชิญทั้งฝนและแดดร้อน สลับกันออกมาคอยต้อนรับอยู่เป็นช่วงๆ แต่สำหรับหลายคนมันคือความตื่นเต้นที่ได้เห็นลมพัดทะลุช่องเขาและมีก้อนหิน ทิ้งตัวลงบนถนนอันลาดชันต่อหน้าต่อตา ยิ่งเมื่อรถไต่ระดับความสูงขึ้นไป เบื้องหน้ายิ่งเต็มไปด้วยไอหมอกฝนลอยละเลี่ยปกคลุมไปทั่วทุกแห่งหน

ขึ้นดอยตามรอยพ่อหลวง

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง ตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีพระราชประสงค์ให้ชาวไทยภูเขาซึ่งพักอาศัยอยู่ตามดอยต่างๆ ทางภาคเหนือเลิกปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย อันเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ป่าไม้และต้นน้ำลำธารของประเทศถูกทำลาย

พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า พื้นที่บริเวณนี้มีภูมิอากาศหนาวเย็น มีการปลูกฝิ่นมาก ไม่มีป่าไม้อยู่เลยและสภาพพื้นที่ไม่ลาดชันนัก ประกอบกับพระองค์ทรงทราบว่าชาวเขาได้เงินจากฝิ่นเท่ากับที่ได้จากการปลูกท้อ พื้นเมือง และทรงทราบว่าที่สถานีทดลองไม้ผลเมืองหนาวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ ทดลองวิธีติดตา ต่อกิ่งกับท้อฝรั่ง จึงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท เพื่อซื้อที่ดินจากชาวเขาในบริเวณดอยอ่างขางส่วนหนึ่ง

จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ เมื่อปี 2512 โดยทรงแต่งตั้งให้ 'หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี' เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งประธานมูลนิธิโครงการหลวง ใช้เป็นสถานีวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ผล ผัก ไม้ดอก เมืองหนาว เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรชาวเขาในการนำพืชเหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพ 

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ตั้งอยู่ในเขตตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 เมตร โดยมีพื้นที่สำหรับวิจัย ทดสอบพันธุ์พืชเขตหนาวจำนวน 1,811 ไร่ มีหมู่บ้านชาวเขาบริเวณรอบสถานีเป็นเขตส่งเสริมและพัฒนาอาชีพรวม 9 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหลวง บ้านคุ้ม บ้านปางม้า บ้านขอบด้ง บ้านป่าคา บ้านนอแล บ้านผมแดง บ้านสินชัย และบ้านถ้ำง๊อบ รวมประชากรประมาณ 6,569 คน

ความสุขผลิบานทุกวัน

สถานีเกษตรหลวงอ่างขางมีสภาพภูมิประเทศสวยงามและอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ สภาพภูมิอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี อุณหภูมิเฉลี่ย 17.7 องศา อุณหภูมิสูงสุด 32 องศาในเดือนเมษายน และอุณหภูมิต่ำสุด -3 องศาในเดือนมกราคม ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,075 มิลลิเมตรต่อปี

คุณสามารถเดินทางขึ้นไปท่องเที่ยวบนสถานีเกษตรหลวงอ่างขางได้ทุกฤดูกาล เพราะที่นี่เป็นสถานีหลักในการวิจัยพืชเขตหนาวของโครงการหลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้ผลเขตหนาว ไม้ป่าโตเร็ว พืชผักสมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ ชาจีนและเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์สนและพันธุ์ไม้แคระชนิดต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งพืชอาหารและยาของชาวเขามากกว่า 50 ชนิด

การศึกษาวิจัยพืชเมืองหนาวของโครงการหลวง ประกอบไปด้วย 'ไม้ผล' อันได้แก่ สาลี่ พีช พลับ พลัม กีวีฟรุต ราสพ์เบอรี่ สตรอเบอรี่ รวมทั้งไม้ดอกไม้ประดับกว่า 50 ชนิด เช่น กุหลาบสายพันธุ์ต่างๆ บีโกเนีย อาซาเลีย รวมถึงผักและสมุนไพรทั้งในและนอกฤดูกาล การศึกษาวิจัยพันธุ์ไม้โตเร็วทั้งพันธุ์จากต่างประเทศและในท้องถิ่น รวมทั้งไผ่ชนิดต่างๆ ทั้งที่ใช้รับประทานหน่อและใช้ประโยชน์จากลำต้น รวมทั้งชาจีน ลินิน และข้าวสาลี นับเป็นสถานีวิจัยพืชเมืองหนาวที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย

ช่วงหน้าฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนกันยายน ถ้าคุณมาในช่วงนี้จะได้เห็นผลไม้และพืชพรรณาต่างๆ หมุนเวียนกันออกมาโอดโฉมไม่ว่าจะเป็น พลัม สาลี่ พลับ ราสพ์เบอรี่ รวมทั้งผักเมืองหนาวและไม้ดอกไม้ประดับจะได้เห็นตลอดทั้งปี ส่วนไม้ผลขึ้นชื่ออย่างผลบ๊วยจะเก็บเกี่ยวได้ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึง เมษายน สตรอเบอรี่เก็บได้ช่วงเดือนตุลาคมไปถึงเมษายน และกีวีฟรุตเก็บได้ช่วงตุลาคมถึงพฤศจิกายน เป็นต้น รวมทั้งช่วงนี้ยังสามารถชมแปลงสาธิตไม้ดอกกลางแจ้ง โรงเรือนรวบรวมพันธุ์ผัก เรือนดอกไม้ และสวนบอนไซอีกด้วย

การปลูกป่าขยายพรรณไม้ของสถานีเกษตรหลวงอ่างขางจะเป็นการศึกษาปลูกพันธุ์ ไม้ท้องถิ่นและพันธุ์ไม้โตเร็วจากต่างประเทศ ในปี 2524 ได้เริ่มศึกษาพันธุ์ไม้โตเร็วจากต่างประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไต้หวัน จนถึงปี 2530 สามารถคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมในการปลูกบนดอยอ่างขางและพื้นที่สูงอื่นๆ รวม 5 ชนิดพันธุ์ คือ กระถินดอย เมเปิ้ลหอม การบูร จันทร์หอม และเพาโลเนีย ส่วนพันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่ใช้ปลูกเสริม คือ ไม้ไผ่ ไม่ก่อ แอปเปิ้ลป่า นางพญาเสือโคร่ง ซึ่งเป็นไม้ผลัดใบและช่วงฤดูฝนใบจะเขียวชะอุ่ม

สัมผัสหมู่บ้านชาวเขา 

หลังจากชมแปลงเกษตรและศึกษาพรรณไม้แล้วยังมีกิจกรรมต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวเลือกตามความสนใจ ทั้งดูนก ขี่ล่อชมดอย ขี่จักรยานธรรมชาติ แต่อาจจะต้องเสี่ยงกับฝนและพื้นเปียกแฉะบ้าง รวมทั้งการไปศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขาเมื่อพืชเศรษฐกิจเข้ามาและ พลิกชีวิตให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่นซึ่งบริเวณรอบๆ สถานีเกษตรหลวงอ่างขางนี้มีอยู่ด้วยกัน 3 เผ่า ได้แก่ ปะหล่อง มูเซอ และจีนฮ่อ

'หมู่บ้านนอแล' ชาวเขาเผ่าปะหล่องอพยพมาจากจีนยูนนานพูดภาษาปะหล่อง ตั้งอยู่ห่างจากสถานีออกไป 5 กิโลเมตร อยู่ติดกับชายแดนพม่า เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่มีรายได้ค่อนข้างมากจากการทำเกษตรปลูกพืชผักและไม้ ผล เห็นได้จากบ้านแต่หลังมีรถปิ๊กอัพสำหรับไว้ขนส่งผลิตผลทางการเกษตรแทบทุก หลังคาเรือน โดยเฉพาะรายได้จากการขายสตรอเบอรี่ช่วงฤดูที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ประจำสถานีบอกว่าชาวบ้านมีรายได้ตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสนต่อ ครอบครัวเลยทีเดียว 

อีกหมู่บ้านหนึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลกันมากนักคือ 'หมู่บ้านขอบด้ง' อยู่ห่างจากสถานีประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านที่ชาวเขาเผ่ามูเซออาศัยอยู่ อาชีพหลักคือเกษตรกรรมและจำหน่ายของที่ระลึก เช่น กำไลหญ้า 'อิบูแค' ถ้าเทียบสองหมู่บ้านนี้จะเห็นว่าหมู่บ้านขอบด้งค่อนข้างยังบริสุทธิ์ดั้ง เดิม ชาวบ้านยังมีวิถีชีวิตเรียบง่ายอยู่กับธรรมชาติ ต่างกับกับหมู่บ้านนอแลที่พัฒนาและทันสมัยมากกว่า

จะม๋อ ผู้นำหมู่บ้านขอบด้งคนปัจจุบัน เล่าถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครั้งประทับเฮลิคอปเตอร์เสด็จมายังหมู่ บ้าน เขามีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯรับเสด็จพร้อมพี่ชายช่วงปี 2514-2517 จากนั้นเสด็จมาอีกหลายครั้ง ตอนนั้นชาวบ้านยังปลูกฝิ่นและสูบฝิ่น เขาบอกว่าในหลวงทรงแนะให้หันมาปลูกกาแฟแทนการปลูกฝิ่น

ครั้งหนึ่งมีผู้หญิงนำกำไลซึ่งถักจากหญ้าอิบูแคสวมพระหัตถ์ให้กับในหลวง เมื่อก่อนกำไรยังไม่ได้มีการย้อมสี ตอนหลังถึงได้มีการย้อมให้มีสีสันสวยงามขายเป็นของที่ระลึก จะเห็นว่าเมื่อเข้าไปในอาณาเขตหมู่บ้านจะมีทั้งผู้หญิงและเด็กนำกำไรมาขาย แก่ผู้มาเยือน

หากคุณได้มาเยี่ยมชมสถานีเกษตรหลวงอ่างขางควรพักค้างคืนสักคืนเพราะ บรรยากาศที่นี่สุดแสนโรแมนกติก ถ้าฟ้าเปิดอาจจะได้ชมแสงดาวพร่างพราย อากาศบนดอยแม้จะเป็นช่วงหน้าร้อนแต่อุณหภูมิสูงสุดยังอยู่แค่ 20 องศาเท่านั้น เรียกว่ากำลังเย็นสบาย ตื่นเช้ามาสามารถเดินชมพรรณไม้ เหล่าแมลงดอมดมดอกไม้หลากชนิด ฟังเสียงนกฮัมเพลงให้สุขสำราญใจ

พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวง

หลังจากชมต้นทางหรือแหล่งเพาะปลูกแล้วลองมาท่องเที่ยวเชิงศึกษาด้าน อุตสาหกรรมการเกษตรแปรรูปและสถานที่รวบรวมและจัดแสดงแนวพระราชดำริในการ พัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบ้าง นั่นคือ พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง) ตั้งอยู่ที่บ้านยาง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

ชุมชนบ้านยางเดิมเป็นชาวจีนอพยพจากมณฑลยูนนานมายังดอยอ่างขางเมื่อ ปี 2497 เนื่องจากปัญหาด้านการเมือง ต่อมาในปี 2498 หน่วยงานความมั่นคงของไทยจัดสรรพื้นที่ให้ชาวจีนกลุ่มนี้ลงมาตั้งถิ่นฐานที่ เชิงดอยอ่างขางบริเวณบ้านยาง ในอดีตนั้นเกษตรกรชาวเขาและชาวจีนยูนนานที่อาศัยอยู่บนดอยอ่างขางปลูก ท้อเป็นหลัก แต่เนื่องจากการขนส่งผลผลิตลงจากดอยยากลำบาก พ่อค้าจึงกดราคารับซื้อท้อในราคาถูกมาก เมื่อปี 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโรงงานทำท้อกระป๋องขึ้นที่บ้านยาง เพื่อรองรับวัตถุดิบและเพิ่มมูลค่าผลผลิตด้วยการแปรรูป และต้นปี 2516 โรงงานถาวรก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการ นับเป็นโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปแห่งแรก

ส่วนจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้สืบเนื่องจากการเกิดภัย พิบัติจากน้ำท่วมและดินโคลนถล่มครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 8-9 ตุลาคม 2549 โดยสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ตำบลแม่งอน และตำบลแม่ข่า รวมถึงโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) ที่ได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด

จากนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงมีพระราชดำริให้ฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ใน รูปแบบพิพิธภัณฑ์พื้นที่ที่มีชีวิต (Living Site Museum) ซึ่งเป็นพื้นที่ศึกษารวบรวมและนำเสนอองค์ความรู้ผ่านนิทรรศการ วัตถุสะสม หลักฐานทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้เชิงนิเวศน์ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมประเพณี เพื่อแสดงให้เห็นถึงกระบวนการแก้ไขปัญหา และพัฒนาประเทศแบบบูรณาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่และความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างแท้จริง
 
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ

ไหนๆ ก็มาเชียงใหม่แล้ว ถ้าต้องการศึกษาเรียนรู้พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต หรือพื้นที่สำหรับให้ประชาชนเข้าไปเรียนรู้และปฏิบัติได้จริง ลองแวะไป โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2526 จนถึงปัจจุบัน โดยมุ่งศึกษาและทดสอบเพื่อหารูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ของภาคเหนือทั้งด้านการรักษาและพัฒนาป่าไม้ การอนุรักษ์ดินและน้ำ และการเกษตรกรรมต่างๆ สาธิตและเผยแพร่ผลการศึกษาแก่ส่วนราชการและประชาชน ด้วยพื้นที่โครงการประมาณ 8,500 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่กวง

ที่นี่มีการจัดหลักสูตรการฝึกอบรมต่างๆ หลากหลาย อาทิเช่น หลักสูตรฝายต้นน้ำลำธารเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาที่ยั่งยืน การเพาะเห็ดเศรษฐกิจ การปลูกผักปลอดสารพิษ การปลูกและการขยายพันธุ์ไม้ผล การเลี้ยงสุกร การเลี้ยงไก่ การเลี้ยงโคเนื้อ การเลี้ยงโคนม การเลี้ยงกระต่าย การเลี้ยงแพะนม การเพาะเลี้ยงกบและการขยายพันธุ์กบ เป็นต้น

กิจกรรมการเดินป่าศึกษาธรรมชาตินับว่าได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวโดย เฉพาะช่วงหน้าฝนอย่างนี้คุณจะได้พบกับฝูงผีเสื้อสีสันสวยงามและบรรดาแมลง ต่างๆ บนเส้นทางเดินป่าระยะทาง 1.5 กิโลเมตร ระหว่างทางจะได้พบเห็นป่าไม้เบญจพรรณ กล้วยไม้ดิน เห็ด และชมฝายหินกั้นน้ำใสแจ๋ว รวมทั้งสามารถขึ้นไปชมวิวบนจุดชมเรือนยอดไม้

โชคดีคุณอาจจะได้เห็นสัตว์ป่าจำพวกกระต่าย นกยูง ไก่ป่า หรือนกเป็ดน้ำและนกป่านานาชนิดที่เข้ามาอาศัยอยู่ในป่าบริเวณนี้เพิ่มขึ้น เรื่อยๆ

    * การเดินทาง

การเดินทางจากกรุงเทพฯไปสถานีเกษตรหลวงอ่างขางมีสายการบินไปเชียงใหม่ทุก วัน จากนั้นต้องเดินทางด้วยรถยนต์หรือรถโดยสารประจำทางจากเชียงใหม่ผ่านถนน เชียงใหม่-ฝาง ทางหลวงหมายเลข 107 ผ่านอำเภอเชียงดาว ส่วนการเดินทางไปพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง) จากเชียงใหม่มุ่งหน้าสู่อำเภอฝางด้วยเส้นทางหลวงหมายเลข 107 ระยะทาง 150 กิโลเมตร ถึงแยกอ่างขางแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก 9 กิโลเมตร เปิดทำการวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 08.30-17.00 น.สอบถามโทร.053-293630 หรือ www.firstroyalfactory.org

------------------------

    * ที่พัก

สามารถพักได้ที่ รีสอร์ทธรรมชาติอ่างขาง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ 160 กิโลเมตร มีห้องพักซูพีเรียจำนวน 72 ห้องและห้องชุด 2 ห้อง ออกแบบตกแต่งด้วยไม้สัก มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน สอบถามที่พักโทร.053-450120 หรือ 0-2255-3960

view