สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แฉกลเกมช่อง 3 สูบรายได้ อสมท เสียค่าโง่กว่าหมื่นล้าน-ส่อผิด พ.ร.บ.ร่วมทุน

ASTVผู้จัดการรายวัน


แฉช่อง 3 ตักตวงผลประโยชน์จากรัฐสุดฤทธิ์ ผิดเงื่อนไขสัมปทาน อสมท มาตลอด มิหนำซ้ำขอแก้ไขสัญญาเดิมอย่างมีเงื่อนงำ วิเคราะห์สัญญาตัวใหม่ระหว่าง “อสมท-บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์” ต้นตอปัญหายังส่อเค้าผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ แอบเปลี่ยนคู่สัญญาเฉย พบที่ผ่านมาจ่ายค่าตอบแทนให้รัฐถูกแสนถูกต่อปี แต่ฟันกำไรมหาศาล ประเมินความสูญเสียตลอดอายุสัญญา 20 ปีที่ผ่านมารัฐเสียค่าโง่ไม่ต่ำกว่า หมื่นล้าน แค่เทียบค่าเวลา อสมท ได้จากรายการเดียวเช่น ‘ไร่ส้ม’ยังคุ้มกว่า
       
       กรณีการต่อสัญญาอีก 10 ปี ในการบริหารสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 ของ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) จาก บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะไปหมดอายุในปี 2563 จากเดิมที่จะหมดในปี 2553 นั้น กลายเป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างมากว่าทำได้หรือไม่ อีกทั้งสัญญาเดิมที่ใช้กันอยู่นี้ส่อว่าเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนอย่างมี เงื่อนงำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับรู้กันในวงกว้างนัก
       
       แม้กระทั่ง คณะกรรมการหรือบอร์ด อสมท ชุดใหม่นี้ ซึ่งการประชุมเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ยังได้หยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาด้วย โดยมองว่า เรื่องนี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบ และย้ำว่าสัญญานี้มีความเหมาะสมหรือไม่ อีกทั้งยังมีเรื่องของกฎหมายพ.ร.บ.ร่วมทุนฯเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
       
       **แฉแก้ไขสัญญาทำ อสมท เสียเปรียบ
       
       แหล่งข่าวจากวงการโทรทัศน์ผู้คลุกคลีอยู่วงในคณะกรรมการ อสมท มาหลายสมัย และติดตามเรื่องนี้มาอย่างใกล้ชิด เปิดเผย “ASTVผู้จัดการรายวัน” ถึงเงื่อนงำต่างๆ ว่า เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปดูภาพรวมตั้งแต่ต้น
       
       กล่าวคือ แรกเริ่มเดิมทีช่อง 3 หรือ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ได้ทำสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีบริหารช่อง 3 กับ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ช่วงปี 2511 (ต่อมาเปลี่ยนเป็น องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ อ.ส.ม.ท. และต่อมาก็เปลี่ยนเป็น บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) กำหนดชำระค่าตอบแทนเป็นรายปีรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 42 ล้านบาท
       
       หลังจากนั้นสัญญาก็ครบและได้มีการทำสัญญาและต่อสัญญากันมาตลอด ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2521 รวมทั้งในช่วงต่อมาก็ได้มีการทำสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีแก้ไข เพิ่มเติมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2525
       
       ต่อมา ก็ได้มีการทำสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2530 โดยมีประเด็นหนึ่งที่มีการแก้ไขคือ อ.ส.ม.ท. และช่อง 3 ตกลงขยายเวลาร่วมดำเนินการฯออกไปอีก 20 ปี นับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2533 ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2553
       
       อย่างไรก็ตาม เวลาได้ผ่านไปแค่ปีเศษเท่านั้นเอง ทางบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ได้ทำหนังสือลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2531 ลงนามโดยนายวิชัย มาลีนนท์ ในฐานะกรรมการผู้จัดการ ถึงนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ) โดยมี 3 ประเด็นหลักที่ร้องเรียนมา และมีเนื้อหาหลายประการที่แยกย่อยไป แต่ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นเป้าหมายหลักคือ
       
       การขอให้พิจารณาเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ อสมท ใหม่ เพราะ อ้างว่าตามสัญญาที่มีอยู่ช่อง 3 ไม่ได้รับความเป็นธรรม และมีภาระที่มากมาย
       
       แหล่งข่าว กล่าวว่า นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ต้องมีการแก้ไขสัญญาใหม่อีกครั้งในวันที่ 2 พฤษภาคม 2532 เรื่องการทำสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 และเป็นการแก้ไขที่ ช่อง 3 ได้รับประโยชน์อย่างมาก
       
       เขาอธิบายว่า เรื่องนี้ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ได้แทงเรื่องนี้เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2531 มอบหมายให้ ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและในฐานะประธานบอร์ด อ.ส.ม.ท. เวลานั้นเป็นผู้รับผิดชอบ และก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการฯขึ้นมาดำเนินการ ซึ่งว่ากันว่าคณะกรรมการฯชุดนั้นมีทั้งนายทหารและตำรวจระดับสูงร่วมเป็น กรรมการด้วย
       
       ทั้งนี้ในหนังสือที่บริษัท บางกอกฯทำถึงนายกรัฐมนตรีเวลานั้น ในข้อที่ 3. ระบุไว้ว่า “ตามสัญญาฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2530 กำหนดให้บริษัทบางกอกฯชำระค่าตอบแทน และหรือค่าเช่าคิดตามรายรับก่อนหักค่าใช้จ่ายในอัตราร้อยละ 6.5 ที่บริษัทบางกอกฯได้รับจากการประกอบกิจการส่งโทรทัศน์สีในแต่ละปี แต่ภายใน 20 ปีแรกต้องไม่ต่ำกว่า 1,205,150,000 บาท ส่วน 10 ปีหลังต้องไม่ต่ำกว่า2,002,390,000 บาท รวม 30 ปีต้องไม่ต่ำกว่า 3,207,540,000 บาท
       
       โดยบริษัทบางกอกฯอธิบายว่า ตามสัญญาครั้งแรกนั้น กำหนดค่าตอบแทนที่บริษัทฯต้องชำระให้กับ อ.ส.ม.ท. เป็นรายปีเป็นการแน่นอน ค่าตอบแทนไม่คำนวณจากรายรับของบริษัท แต่ประการใด ครั้นตามสัญญาในครั้งที่ 2 ก็ได้กำหนดค่าตอบแทนที่บริษัทฯต้องชำระให้แก่ อ.ส.ม.ท. คำนวณจากรายรับในอัตราร้อยละ 6.5 ที่บริษัทฯได้รับจากการประกอบกิจการในแต่ละปีแต่ไม่ต่ำกว่าอัตราที่กำหนด เป็นการแน่นอนเป็นรายปี เพราะการทำสัญญาครั้งที่ 2 นั้น บริษัทฯไม่ต้องลงทุนในการก่อสร้างหรือจัดหาเครื่องมือแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี ระหว่างปฏิบัติงานตามสัญญาครั้งที่ 2 กิจการของบริษัทฯในแต่ละปีก็ไม่มีรายได้ที่จะคำนวณเป็นค่าตอบแทนชำระแก่ อ.ส.ม.ท. ในอัตราร้อยละ 6.5 หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ไม่สามารถปฏิบัติได้ .......”
       
       ช่อง 3 ได้เสนอในท้ายหนังสือสรุปว่า ขอให้ปรับปรุงสัญญาของบริษัทฯ ที่มีต่อ อ.ส.ม.ท. กำหนดค่าตอบแทนที่บริษัทฯต้องชำระแก่ อ.ส.ม.ท. เป็นรายปีเป็นการแน่นอนด้วย โดยไม่ต้องนำรายรับในการดำเนินการของบริษัทฯมาคำนวณแต่อย่างใด
       
       “มองให้ดีนี่คือเกมที่บริษัทฯบางกอกวางไว้ ในการที่จะลดจำนวนการจ่ายให้กับ อ.ส.ม.ท.และสร้างความได้เปรียบให้กับตัวเอง” แหล่งข่าวระบุ
       
       **จุดเปลี่ยนขอแก้ค่าตอบแทนจากเปอร์เซ็นต์เป็นจ่ายคงที่
       
       จากนั้น การพิจารณาของคณะกรรมการฯชุดดังกล่าวก็ทำงานมาเรื่อย และได้มีการพิจารณากันในหลายประเด็นตามที่บริษัทบางกอกฯร้องขอมา และในที่สุดก็เข้าทางช่อง 3
       
       การแก้ไขสัญญาก็มีขึ้นตามสัญญาว่า “สัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สี แก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 3” ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2532 ในยุคที่มีนาย ราชันย์ ฮูเซ็น เป็นผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท.
       
       เพราะโดยสรุปประเด็นเกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทน ได้มีการเปลี่ยนแปลงใหม่โดยสาระสำคัญ ซึ่งระบุในข้อที่ 7 ว่า “ให้ยกเลิก ข้อความตามสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สี แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ลงวันที่ 16 ก.ค. 2530 ข้อ 9. วรรคแรก และเอกสารผนวก 5 แนบท้ายสัญญาดังกล่าว ...”
       
       ซึ่งสัญญา ข้อ 9 ระบุไว้ว่า นับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2533 “บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์” ตกลงจ่ายค่าตอบแทนในการเข้าร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีตามสัญญานี้ให้แก่ อ.ส.ม.ท. เป็นเงินร้อยละ 6.5 ของรายได้ทั้งหมดแต่ละปีก่อนหักค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งบางกอกฯได้รับจากการดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีและที่เกี่ยวเนื่องกับ กิจการส่งโทรทัศน์สีตลอดอายุสัญญานี้ตามงบดุลและงบบัญชีกำไร-ขาดทุนประจำปี ที่ถูกต้องและซึ่งได้ยื่นต่อกรมสรรพากรแล้ว....”
       
       เท่ากับว่าช่อง 3 จะไม่จ่ายค่าตอบแทนแบบ 6.5% แล้ว แต่จ่ายแบบเดียวคือ อัตราตายตัวต่อปี เท่านั้น (Fix Rate)เป็นการตอกย้ำชัดเจนว่า การขอแก้ไขสัญญาครั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของคู่สัญญาคือ ช่อง 3 ฝ่ายเดียว แต่ อ.ส.ม.ท.ต้องสูญเสียโอกาสในการรับค่าตอบแทน
       
       อีกทั้งเพิ่งจะเริ่มต้นสัญญาเพียงปีเศษ แต่ช่อง 3 กลับมาอ้างโน่น อ้างนี่ ทั้งๆที่อ้างว่า ไม่ชอบธรรมแต่ก็เซ็นสัญญารับสัมปทานไปแล้ว
       
       “เพราะอะไร เนื่องจากช่อง 3 เองย่อมรู้ดีว่า การจ่ายแบบนี้จะทำให้เสียเงินน้อยกว่าแบบ 6.5% เพราะรายได้ต่อปีสูงขึ้นเรื่อยๆ หากจ่ายแบบ 6.5% ก็ย่อมต้องเสียมากกว่าแบบตายตัว”
       
       


       
       ขณะที่รายได้ของช่อง 3 แต่ละปีที่ผ่านมา จากการสืบค้นของ ASTVผู้จัดการรายวัน พบว่า มีรายได้อย่างงามนับหมื่นล้านต่อปี เช่น ในปี 2548 รายได้ของช่อง 3 ที่รายงานโดย บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) มีประมาณ 10,296 ล้านบาท ส่วนปี 2549 มีประมาณ 11,834 ล้านบาท
       
       อย่างไรก็ตามในหนังสืองบกำไรขาดทุน ที่ช่อง 3 แจ้งไว้เมื่อ สิ้นปี 2548 มีรายได้รวม 6,420,188,950 บาท ส่วนปี 2547 มีประมาณ 6,472,719,811 บาท
       
       หากคิดคร่าวๆจากตัวเลขดังกล่าวของปี 2548 ตามที่ช่อง 3 แจ้งไว้ ก็เท่ากับว่า ช่อง 3 ต้องจ่ายให้ อสมท แบบ 6.5% ก็จะต้องจ่ายประมาณ 420 กว่าล้านบาท ขณะที่ ตามตัวเลขแบบจ่ายตายตัวรายปีของปี 2548 นั้นอยู่ที่ 110 กว่าล้านบาท แตกต่างกันอย่างมากเกือบ 300 กว่าล้านบาท
       
       หรือในปี 2547 หากมีรายได้จริง 6,472,719,811 บาท ซึ่งถ้าต้องจ่ายแบบ 6.5% ก็เท่ากับประมาณ 420 กว่าล้านบาทเช่นกัน แต่เมื่อต้องจ่ายแบบตายตัวก็แค่ 65,385,000.00 บาท
       
       นี่เป็นเพียงการประเมินคร่าวๆบนพื้นฐานของรายได้ที่รายงานมา เพียงต้องได้รับมากกว่า 800 ล้านบาทแล้ว
       
       หากนับรวมกระทั่งหมดครบอายุสัญญา 20 ปีที่ทำกันมา อสมท น่าจะเสียเปรียบสูญเม็ดเงินที่ต้องหลุดลอยไปเหยียบหมื่นล้านบาท
       
       **แค่ขายเวลาให้ไร่ส้มบริษัทเดียวยังคุ้มกว่า
       
       แหล่งข่าว กล่าวว่า กรณีความสูญเสียของ อสมท หากเปรียบเทียบกับรายได้จากค่าบริหารเวลา ณ ปัจจุบัน ทั้งๆที่ช่อง 3 ได้เวลาทั้งวันและทุกวัน การคำนวณผลตอบแทนจะอย่างไร อสมท ก็ควรมีรายได้ที่ดีกว่าสัญญาเดิม ขณะที่บางกอกก็จะต้องจ่ายให้มากกว่านี้ แต่กลับน้อยมาก เมื่อจ่ายแบบตายตัวรายปี เพราะหากเทียบกับบริษัท ไร่ส้ม จำกัดของนายสรยุทธ์ ทัศนะจินดาที่เคยเช่าเวลาของ อสมท ทำรายการอาทิ จับเข่าคุย ถึงลูกถึงคน และมีปัญหาเรื่องการแบ่งรายได้ให้ อสมท จนต้องมีการสอบสวนกันในยุคของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ เป็นผู้อำนวยการใหญ่ ยังพบว่ามีการจ่ายให้แก่ อสมท มากกว่า 100 ล้านบาทเลย
       
       นอกจากนี้ การแก้ไขสัญญาระหว่าง อสมท กับบางกอกฯผู้บริหารช่อง 3 ยังพบว่า มีอีกบางประเด็นที่น่าสนใจเช่น ข้อ 11. ให้ยกเลิกข้อความตามสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สี แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2530 ข้อ 22. ที่ระบุว่า “หากมีข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งใดๆอันเกี่ยวเนื่องกับสัญญาเกิดขึ้นระหว่าง อ.ส.ม.ท. กับ “บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์” คู่สัญญาตกลงให้คณะอนุญาโตตุลาการซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการ อ.ส.ม.ท. เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งดังกล่าว ให้คำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นที่สุดและผูกพันคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย” ส่วนการแก้ไขนั้นปรากฏว่าหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นทั้งสองฝ่ายจะตั้งคณะอนุญาโต ตุลาการ โดยมี บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ร่วมด้วยฝ่ายละ 2 คนเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งจากเดิมไม่ต้องมาจากช่อง 3 นั่นหมายความว่างช่อง 3 สามารถส่งคนของตัวเองเข้ามาเพื่อปกปักรักษาผลประโยชน์ หากเกิดข้อขัดแย้งกันขึ้น
       
       “คำถามคือว่า ทำไม อสมท จึงยอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสัญญานั้นเพื่อกดตัวเองให้ตกอยู่ใต้ความเสีย เปรียบและสร้างความเสียหายได้” แหล่งข่าวระบุ
       
       **สัญญาใหม่ก็ส่อผิดกฎหมาย
       
       จากเงื่อนงำต่างๆที่ผ่านมา แหล่งข่าวจากวงการโทรทัศน์ ยังชี้ให้เห็นประเด็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา หากคณะกรรมการ อสมท และ เอกชน จะดึงดันต่ออายุสัญญาให้แก่บางกอกฯซึ่งล่าสุด อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ว่า นอกจากการแก้ไขสัญญาที่ทำให้ อสมท ต้องเสียเปรียบแล้ว สัญญาต่างๆที่ทำขึ้นรวมทั้งการแก้ไขด้วยนั้น ยังเป็นข้อกังขาในเรื่องความผิดความถูกด้วย
       
       โดยมีการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมครั้งที่ 3 เป็นต้นเหตุสำคัญ
       
       เพราะถือว่าสัญญาที่แก้ไขนั้นเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของเอกชนคือ บริษัทบางกอกฯโดยตรง ไม่ใช่เป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามมาตรา 6 และ มาตรา 7 (5) ที่ให้ อสมท มีอำนาจกระทำได้ และไม่ได้เป็นการ “ร่วมกิจการหรือร่วมทุนกับบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์แก่กิจการของ อสมท” ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
       
       ซ้ำร้ายกว่านั้นยังไม่มีหลักฐานปรากฏว่า การแก้ไขสัญญาครั้งที่ 3 นั้น ได้มีการลงนามกันทั้งสองฝ่ายโดยที่ได้รับการอนุมัติจากทางรัฐมนตรีฯแล้วหรือ ยังตามมาตรา 3 ประกอบมาตรา 39 กำหนด ซึ่งเท่ากับว่า อสมท หรือผู้อำนวยการฯ จึงไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเข้าทำสัญญาดังกล่าว
       
       หากมีหลักฐานว่า รัฐมนตรีฯที่กำกับดูแลอนุมัติแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของ อสมท กับช่อง 3 ที่ต้องนำออกให้เห็นกันถ้วนทั่ว
       
       ขณะเดียวกันยังส่อแววว่า ผิดกฎหมายอีกด้วย ตามข้อ 136 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ที่ระบุไว้ว่า “สัญญาหรือข้อตกลงที่ทำเป็นหนังสือที่ได้ลงนามแล้ว จะแก้ไข เปลี่ยนแปลงมิได้ เว้นแต่การแก้ไขนั้น จะมีความจำเป็นโดยไม่ทำให้ ทางราชการต้องเสียประโยชน์ หรือเป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ทางราชการให้อยู่ในอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการ .....”
       
       แต่สัญญาที่แก้ไขครั้งที่ 3 ทำให้ อสมท เสียเปรียบและเสียประโยชน์ชัดเจนกับเรื่องค่าตอบแทนที่ได้รับ อย่างนี้แล้วขัดกับกฎหมายหรือไม่
       
       อีกทั้งสัญญาร่วมดำเนินการฯนั้น ทำกันมาตั้งแต่ปี 2530 และมีการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมในปี 2532 ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องตกอยู่ภายใต้ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520 ตามมาตรา 7 อีกด้วย
       
       หรือแม้แต่กรณี บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ที่ผู้บริหารบริษัทดังกล่าวก็มักจะออกมาให้สัมภาษณ์ในฐานะที่อ้างว่าเป็นผู้ บริหารช่อง 3 ทำให้มองว่า บริษัทบางกอกฯ ทำผิดสัญญา เพราะแอบเอาสัญญาไปให้กับผู้อื่นที่ไม่ใช่คู่สัญญาโดยตรงกับ อสมท ใช่หรือไม่ แม้ว่าบีอีซีฯจะเป็นบริษัทในเครือกลุ่มก้อนเดียวกับบางกอกฯก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่คู่สัญญาโดยตรงกับ อสมท
       
       ทั้งนี้ บริษัท บางกอกฯ จดทะเบียนวันที่ 10 พฤศจิกายน 2510 มีกรรมการ 9 คนในช่วงจดทะเบียน ส่วนใหญ่เป็นคนตระกูล “มาลีนนท์” มีวัตถุประสงค์ เพื่อการส่งวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ส่วนบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนวันที่ 23 พฤศจิกายน 2538 มีวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้คือ จัดหา ผลิตรายการและขายเวลาโฆษณาทางโทรทัศน์
       
       โดยในหนังสืองบการเงินระหว่างกาลรวมและงบกาเงินระหว่างกาลเฉพาะ กิจการวันที่ 31 มีนาคม 252 และ 2551 ของบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บีอีซีเวิลด์ ถือหุ้นอยู่ในบริษัท บางกอกฯ 99.99% ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บีอีซีเวิลด์ถือหุ้นโดยตรง
       
       ตรงนี้จึงน่าจะผิดสัญญาข้อ 8.5 ของสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ที่ระบุว่า “ในการดำเนินการออกอากาศโทรทัศน์สีตามสัญญานี้ “บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์” จะต้องดำเนินการเอง ในนามของ อสมท และจะให้บุคคลอื่นเช่าหรือรับไปดำเนินการแทนไม่ได้ ...........”
       
       กล่าวโดยรวมแล้ว สัญญาการแก้ไขครั้งที่ 3 นี้ จึงไม่น่าที่จะชอบด้วยกฎหมายหลายประการ ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบกับการต่อสัญญาที่ขอต่ออายุออกไปอีก 10 ปีด้วย
       
       ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2549 อสมท ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาด้าน สัญญาและกฎหมาย โดยคณะกรมการฯสัญญาและกฎหมายชุดดังกล่าวมีนายจรัญ ภักดีธนากุล เป็นประธานกรรมการ ก็ได้มีผลสรุปออกมาแล้วว่า สัญญาใหม่ระหว่าง อสมท และช่อง 3 ไม่เป็นธรรม แต่ทั้งนี้ทุกอย่างก็ยังดูเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น


ช่อง 3 เล่นแง่เลี่ยง พ.ร.บ. 'อสมท'ตั้ง กก.ทำตามกฎ

ASTVผู้จัดการรายวัน

“บีอีซีเวิลด์” เดินเกมต่อเนื่องหวังฮุบสัญญาช่อง 3 ต่ออีก 10 ปี ด้านบอร์ด อสมท เตรียมตั้งคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ด้านบีอีซีฯ ทำเป็นขู่ หากดึงเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุนจะยื่นขอไลเซนส์จาก กทช. คนวงในระบุ บีอีซีฯ กดหัว อสมท มานานแล้ว ชี้สัญญาใหม่บีอีซีฯควรจ่ายเป็นแบบเปอร์เซ็นต์และต้องมากกว่า 6.5% ของเดิมด้วย แนะหากบีอีซีเวิลด์แข็งข้อ ก็เปิดโอกาสหารายใหม่เข้ามาประมูลหมดเรื่อง
       

       แหล่งข่าวจากวงการโทรทัศน์ กล่าวว่า ความพยายามดำเนินการของช่อง 3 ในนามบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ที่เสนอต่อ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เพื่อที่จะขอต่อสัญญา ในการบริหารสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ออกไปอีก 10 ปี จากเดิมที่จะหมดสัญญาในปี 2553 เพื่อต่อออกไปถึงปี 2563 ยังมีอยู่ต่อเนื่อง ซึ่งแม้ว่าขณะนี้จะยังอยู่ระหว่างการพิจารณาใหม่ของทางบอร์ด อสมท ก็ตาม
       
       อย่างไรก็ตามทางบีอีซีเวิลด์พยายามเล่นแง่เพื่อที่จะสร้างแต้มแต่และ กดดันบอร์ด อสมท ตลอดเวลา เพื่อหวังที่จะได้ต่อสัญญาใหม่อีก เพราะช่อง 3 คือ แหล่งเงินที่สำคัญของตระกูลมาลีนนท์ที่เป็นเจ้าของบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) นั่นเอง
       
       **บอร์ด อสมท เตรียมตั้งกรรมการ
       
       ขณะที่ทางบอร์ด อสมท เอง ก็ไม่ได้อยู่ในภาวะตั้งรับเท่านั้น แต่มีแนวความคิดที่จะแต่งตั้ง คณะกรรมการฯตามมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุน ขึ้นมา 1 ชุด ซึ่งจะประกอบไปด้วยบุคคลจากหลายฝ่ายทั้ง ข้าราชการผู้ใหญ่ นักวิชาการ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการสื่อ เป็นต้น เพื่อให้เข้ามาทำการศึกษาในรายละเอียดทั้งแง่ของสัญญา กฎหมาย ความถูกต้อง และความเหมาะสมรวมทั้งเงื่อนไขต่างๆ ที่ทางบีอีซีเวิลด์เสนอเข้ามา เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับ อสมท มากที่สุด
       
       รวมไปถึงการพิจารณาเกี่ยวกับทรัพย์สินต่างที่เมื่อเอกชนหรือบีอีซี เวิลด์ ทำจนครบสัญญาแล้ว จะต้องโอนหรือคืนให้กับ อสมท อย่างไรบ้าง และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ อสมท ควรจะได้รับทั้งหมด เพราะที่ผ่านมา อสมท ตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบ บีอีซีเวิลด์ อย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนของบีอีซีเวิลด์ ที่จ่ายเป็น อัตราตายตัวให้กับ อสมท ซึ่งได้รับปีละไม่กี่ร้อยล้านบาทเท่านั้น
       
       ทางฝ่ายบีอีซีเวิลด์เองมักจะอ้างว่า การทำสัญญาต่ออายุอีก 10 ปี ไม่น่าจะเกี่ยวข้องหรือเข้าเกณฑ์ พระราชบัญญัติร่วมทุนแต่อย่างใด ดังนั้นบอร์ด อสมท จะนำเอากรณีของช่อง 3 ไปพิจารณาตามพระราชบัญญัติร่วมทุนไม่ได้
       
       ว่ากันว่าที่ผ่านมาทาง บีอีซีเวิลด์ขู่บอร์ด อสมท ทำนองว่า หากนำสัญญาต่ออายุ ของช่อง 3 ไปเข้าเกณฑ์ พระราชบัญญัติร่วมทุน จะดำเนินการเสนอไปยัง คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. โดยตรง เพื่อทำเรื่องให้พิจารณาขอไลเซนส์หรือใบประกอบกิจการในการดำเนินการ
       
       **สรุปไม่ได้แนะเปิดทางหารายใหม่
       
       แหล่งข่าวจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใน บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมา อสมท ค่อนข้างจะเสียเปรียบบีอีซีเวิลด์ อย่างมากมาตลอด โดยเฉพาะเงื่อนไขการจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายปีตายตัวให้ อสมท เช่น ปี 2553 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่จะครบสัญญาเดิม ก็จ่ายให้กับ อสมท เพียงแค่ จำนวน 37,907,000.00 บาทเท่านั้น ส่วนปีนี้คือปี 2552 ตามสัญญาก็จ่ายแค่ 149,825,000.00 บาท ขณะที่รายได้แต่ละปีของ บีอีซีเวิลด์ นั้นมามากกว่านี้หลายเท่าตัวนัก
       
       “ช่อง 3 จ่ายให้ อสมท น้อยกว่าที่ควรจะเป็นมานานแล้ว แต่ก็ไม่มีใครทำอะไรได้ เรื่องนี้มันเหมือนช่วยกันไปช่วยกันมา บางคนใน อสมท หรือผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นอาจจะได้ประโยชน์หรือเปล่าก็ไม่มีใครรู้ เพราะเป็นเรื่องที่ผ่านมานานแล้ว”
       
       อย่างไรก็ตาม บอร์ด อสมท ชุดนี้น่าที่จะมีความเข้มแข็งและเป็นที่พึ่งของ อสมท ได้ ซึ่งการที่มีแนวคิดที่จะพิจารณาสัญญาใหม่อย่างละเอียดนั้นก็ถือเป็นเรื่อง ที่ดี เป็นการเริ่มต้นที่น่าจะสร้างความชอบธรรมและขจัดการเอาเปรียบจากภาคเอกชนได้ ซึ่งจริงๆแล้วต้องเรียกคู่สัญญาของ อสมท คือ บีอีซีเวิลด์ มาเจรจาให้ชัดเจนว่า เอกชนจะให้ผลตอบแทนเท่าไรยังไง ซึ่งแน่นอนว่ามันต้องมากขึ้นกว่าเดิมในอดีตที่ผ่านมา แต่จะมากน้อยเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับการเจรจาเป็นหลัก โดยยึดถือผลประโยชน์ของ อสมท เป็นหลัก
       
       “หากเอกชนรายเดิมรับไม่ได้ เมื่อครบสัญญาก็ต้องออกไป เปิดทางหารายใหม่ที่สนใจเข้ามาประมูลแทนเลยก็ได้ ทำไมต้องไปจมอยู่แค่รายเดิมรายเดียว เพราะเมื่อเปิดโอกาสให้สิทธิ์กับรายเดิมก่อนแล้ว แต่ตกลงกันไม่ได้ อสมท ก็มีสิทธิ์ทีจะเรียกรายใหม่หรือเปิดประมูลหาเอกชนที่สนใจรายใหม่ก็ได้” แหล่งข่าวให้ความเห็น
       
       **สัญญาใหม่ต้องมากกว่า 6.5%
       
       อย่างไรก็ดีในส่วนของประเด็น การจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายปีตายตัวกับการจ่ายค่าตอบแทนแบบแบ่งเปอร์เซ็นต์นั้น แน่นอนที่สุดว่าการจ่ายแบบเปอร์เซ็นต์จากรายได้ต้องมากกว่าและเป็นสิ่งที่ ยุติธรรม แต่ก็คำนวณยากว่าจะทำอย่างไร ขณะที่การจ่ายแบบฟิกซ์เรต หรือจ่ายแบบตายตัวทุกปีมันได้น้อยในแง่ของเจ้าของสัมปทาน แต่เอกชนชอบแบจ่ายตายตัวรายปีอยู่แล้ว
       
       ทั้งนี้การต่อสัญญาครั้งนี้ หากสรุปพิจารณาออกมาเป็นการจ่ายแบบเปอร์เซ็นต์แล้ว สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มจำนวนขึ้นมาอีก จากเดิมที่กำหนดจ่าย 6.5% จากรายได้ก่อนหักภาษีและค่าใช้จ่ายต่างๆ ของใหม่จะต้องมีเกณฑ์ที่มากกว่า 6.5% ด้วยซ้ำไป ไม่ควรจะต่ำหรือเท่ากับเกณฑ์เดิม
       
       ที่ผ่านมาการที่ช่อง 3 ขึ้นค่าโฆษณาตลอดเวลา ตรงนี้ อสมท ก็ไม่เคยได้รับค่าส่วนแบ่งอยู่แล้ว เพราะสัญญาระบุจ่ายเป็นแบบตายตัวรายปี และช่อง 3 เองก็ตั้งค่าโฆษณาไว้สูงโดยเฉพาะรายการข่าวและรายการละครหลังข่าว
       
       ก่อนหน้านี้ไม่นานนายฉัตรชัย เทียมทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน ในนามบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ก็ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ทางช่อง 3 อยู่ระหว่างการพิจารณาและเตรียมการที่จะปรับราคาค่าโฆษณาขึ้นอีกครั้งในช่วง เดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ โดยคาดว่าภายในเดือนสิงหาคมนี้น่าจะได้ข้อสรุปชัดเจนว่าจะปรับราคาค่าโฆษณา ขึ้นเท่าไรอย่างไรบ้าง และยังย้ำด้วยว่า ถ้าปรับขึ้นค่าโฆษณาได้ ก็จะทำให้รายได้ของช่อง 3 เติบโตขึ้นอีกอย่างมากด้วย
       
       ตั้งแต่ต้นปีนี้มา ช่อง 3 ก็มีการปรับราคาค่าโฆษณาขึ้นอยู่ตลอดเป็นช่วงๆ ล่าสุดก็คือ ช่วงไพรม์ไทม์ ราคาค่าโฆษณาอยู่ที่ 450,000 บาทต่อนาที กับรายการใหม่ “ทูไนท์โชว์” ของนายไตรภพ ลิมปพัทธ์ ที่กลับมาสู่อ้อมอกช่อง 3 อีกครั้ง หลังจากที่ไปอยู่กับหลายช่องมาแล้ว แต่ อสมท ก็ไม่ได้รับส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นตรงนี้ด้วยแต่อย่างใด
       
       สำหรับรายได้ของ บีอีซี เวิลด์ รวมบริษัทย่อย ล่าสุด งวด 3 เดือนแรกปี 2552 ที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปรากฏว่ามีรายได้ 2,032,704,000 บาท มีกำไรสุทธิ 556,674,000 บาท
       
       ขณะที่งวดปี 2552 นี้ที่ บีอีซีเวิลด์ จะจ่ายค่าสัมปทานให้กับ อสมท อยู่ที่ 149,825,000.00 บาท ตามสัญญา
       
       พิจารณาแล้วเป็นยอดที่ต่างกันลิบลับ เพราะเพียงแค่ไตรมาสเดียวรายได้ของช่อง 3 ก็มากกว่าที่แบ่งให้กับ อสมท ทั้งปีแล้ว อย่างชนิดผิดกันแบบฟ้ากับดินเลยทีเดียว
       
       “ต้องจับตาดูต่อไปว่า ทางบีอีซีเวิลด์จะทำอย่างไรต่อ ไป ขณะที่ทางบอร์ด อสมท ก็ต้องหาวิธีการในการรุกสู้กับเอกชนเต็มที่ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลประโยชน์จำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

view