สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดผลศึกษาบอร์ดสภาพัฒน์ เช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน ให้ทบทวนบทบาท ขสมก.

จาก ประชาชาติธุรกิจ



ผลศึกษา โครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคัน บอร์ดสภาพัฒน์ไม่เห็นด้วย เพราะไม่คุ้มทุน ให้รัฐบาลทบทวนบทบาท ขสมก.เลิกเดินรถ แต่เป็นแค่หน่วยงานกำกับแล

หมายเหตุ   :  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน มีการพิจารณาความเห็นของคณะกรรมการ(บอร์ด) พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ที่ ครม.ให้ช่วยพิจารณาโครงการจัดหารถเมล์เอ็นจีวี ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) โดยเห็นว่าข้อมูลยังไม่มีความชัดเจน ครม.จึงมีมติให้กระทรวงคมนาคมปรับปรุงข้อมูลใหม่ และส่งให้สศช.พิจารณาอีกครั้งโดยให้เวลาอีก 30 วัน
คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาแผนปรับปรุงการบริหารจัดการและการบริการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ แล้วมีมติ ดังนี้


  1. รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการ ผลการพิจารณาและความเห็นของคณะกรรมการ(บอร์ด) พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดังนี้
  1.1 ความก้าวหน้าการดำเนินการ
  1.1.1 วันที่ 8 มิถุนายน 2552 คณะกรรมการฯ ได้หารือแนวทางการดำเนินการ ตามที่ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552 แล้วมีความเห็นว่า การพิจารณาจะต้องยึดหลักการพิจารณาตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 ซึ่งจะต้องเป็นการปฏิรูปบริการขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในภาพรวม ทั้งระบบ และอยู่บนพื้นฐานการฟื้นฟูฐานะการเงินของ ขสมก. ได้อย่างยั่งยืน และได้มอบหมายให้ สศช. ขอข้อมูลเพิ่มเติมจากกระทรวงคมนาคม เพื่อประกอบการพิจารณา รวมทั้งมอบหมายให้ สศช. เสนอแนะแนวทางที่จะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถชี้แจงแนวทางและขั้นตอนที่โปร่งใส
  1.1.2 วันที่ 9 มิถุนายน 2552 สศช. ได้มีหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม เพื่อให้กระทรวงคมนาคมจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม ได้แก่ 

      (1) ข้อมูลการเดินทางของประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล


     (2) ข้อมูลการปรับโครงสร้างองค์กรและการฟื้นฟูฐานะการเงิน ของ ขสมก.


     (3) ข้อมูลต้นทุนโครงการจัดหารถโดยสารปรับอากาศใหม่ใช้ก๊าซธรรมชาติ(เอ็นจีวี) เป็นเชื้อเพลิง จำนวน 4,000 คัน


     (4) ข้อมูลรายได้ของโครงการจัดหารถโดยสารปรับอากาศใหม่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี เป็นเชื้อเพลิง จำนวน 4,000 คัน


     (5) ข้อมูลประมาณการผลตอบแทนทางการเงิน และความเสี่ยงของโครงการจัดหารถโดยสารปรับอากาศใหม่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็น เชื้อเพลิง จำนวน 4,000 คัน


เพื่อประกอบการวิเคราะห์เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการฯ และจัดส่งให้ สศช. ภายในวันที่ 18 มิถุนายน 2552


  1.1.3 วันที่ 18 มิถุนายน 2552 กระทรวงคมนาคม ส่งข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง แผนปรับปรุงการบริหารจัดการและการบริการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ของ ขสมก. ให้ สศช.เพื่อประกอบการวิเคราะห์เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการฯ สศช.
  1.1.4 วันที่ 23 มิถุนายน 2552 สศช. ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ณ โรงแรมปริ้นซ์พาเลซ กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กระทรวงคมนาคม และผู้แทนจาก ขสมก. เข้าร่วมชี้แจง โดยมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน เช่น สมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง สมาคมพัฒนาร่วมบริการ สมาคมคุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ขสมก. ภาคการเมือง และภาคประชาชน เช่น สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย เป็นต้น เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น รวมประมาณ 300 คน
  1.1.5 วันที่ 29 มิถุนายน 2552 คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแผนปรับปรุงการบริหารจัดการและการบริการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ของ ขสมก. และขอเสนอผลการพิจารณาต่อ ครม.เพื่อพิจารณา
  1.2 ผลการพิจารณาและความเห็นของคณะกรรมการฯ
  คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้พิจารณาแผนปรับปรุงการบริหารจัดการและการบริการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ของ ขสมก. โดยยึดหลักการตามมติครม. วันที่ 22 มกราคม 2551 ข้อมูลเพิ่มเติมที่กระทรวงคมนาคมจัดส่งให้ สศช. เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2552 เห็นดังนี้
  1.2.1 กระทรวงคมนาคมจะต้องปรับปรุงข้อมูลแผนปรับปรุงการบริหารจัดการและการบริการ ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯของ ขสมก. ให้มีความชัดเจนใน 4 เรื่อง ได้แก่
  1.2.1.1 ความเหมาะสมของเส้นทางเดินรถ จำนวน 145 เส้นทาง ทั้งในเรื่องการทับซ้อนของเส้นทางระหว่าง ขสมก. กับรถเอกชนร่วมบริการ การเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในปัจจุบันและอนาคต การจัดวางตำแหน่งป้ายรถโดยสารประจำทาง และประสิทธิภาพในการเดินรถโดยสารสาธารณะในกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้งระบบ
  1.2.1.2 ความเหมาะสมของประมาณการปริมาณผู้โดยสาร ที่ไม่สอดคล้องกับข้อมูลปริมาณผู้โดยสารในช่วงที่ผ่านมา ความเป็นไปได้ของการเพิ่มจำนวนผู้โดยสารในอนาคต และสภาพการแข่งขันในปัจจุบันซึ่งทำให้ประมาณการปริมาณผู้โดยสารของ ขสมก. มีความเสี่ยงสูงที่จะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
  1.2.1.3 ผลกระทบด้านภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการที่มีรายได้น้อย และการจัดรถโดยสารและสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการและทุพพลภาพ ในการใช้บริการรถโดยสารประจำทาง
  1.2.1.4 ความเหมาะสมของประมาณการรายได้ และต้นทุนของโครงการ ที่สามารถสะท้อนความคุ้มค่าของการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  1.2.2 กระทรวงคมนาคม จำเป็นต้องบูรณาการให้เกิดความเชื่อมโยงการให้บริการขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้งระบบ และยึดผลประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการเป็นหลัก โดยที่ประชาชนสามารถใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางเมื่อเปรียบเทียบระหว่างระบบการให้บริการ ที่มีอยู่เดิม และแผนการปรับปรุงการบริหารจัดการและการบริการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯของ ขสมก.
  1.2.3 กระทรวงคมนาคม ควรพิจารณาทบทวนบทบาทของ ขสมก. ในการเป็นหน่วยงานกำกับดู (Regulator) และ/หรือ การเป็นหน่วยงานให้บริการ (Operator) พร้อมทั้งจัดทำแผนการปรับบทบาทของ ขสมก. ที่ชัดเจน โดยอาจดำเนินการปรับบทบาทอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมทั้งพิจารณาทางเลือกในการดำเนินโครงการจัดหารถโดยสารปรับอากาศใหม่ใช้ ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิง ให้สอดคล้องกับบทบาทของ ขสมก. เช่น การให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการ หรือพิจารณาความเหมาะสมในการจัดตั้งบริษัทเพื่อจัดหารถโดยสารและซ่อมบำรุง โดย ขสมก. หรือกระทรวงการคลังอาจร่วมลงทุนกับภาคเอกชน เป็นต้น
1.2.4 รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาตัดสินใจในการรับภาระหนี้สิ้นเดิมของ ขสมก. เพื่อแยกภาระหนี้สินเดิมออกจากแผนปรับปรุงการบริการจัดการและการบริการระบบ ขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ของ ขสมก. ที่จะดำเนินการปรับปรุงใหม่ให้มีความชัดเจน


  2. ให้กระทรวงคมนาคมรับผลการพิจารณาและความเห็นของคณะกรรมการฯไปดำเนินการปรับ ปรุงข้อมูลให้สมบูรณ์แล้วส่งให้ สศช. ประกอบการพิจารณา แล้วนำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาภายใน 30 วัน

view