สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ยำใหญ่ รื้อระบบอนุญาโตตุลาการ ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน ?

จาก ประชาชาติธุรกิจ


" การทุจริตที่น่ากลัวคือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ทำให้เป็นทุจริตโดยชอบด้วยกฎหมาย กรณีค่าโง่ทางด่วน 6,500 ล้านบาท เป็นค่าเสียหายโดยชอบด้วยกฎหมาย เพียงแค่ใช้ความร่วมมือร่วมใจทุจริตระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ และช่องโหว่ของระบบอนุญาโตตุลาการ ทำให้เงินใต้โต๊ะกลายมาเป็นเงินบนโต๊ะ แม้ว่าต่อมาจะมีการต่อสู้คดีว่าสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนทำให้ ไม่ต้องเสียค่าโง่ทางด่วน แต่จากการตรวจสอบพบคดีที่พฤติการณ์คล้ายกับคดีค่าโง่ทางด่วนอีกกว่า 100 คดี"

เป็นคำกล่าวของ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.กระทรวงยุติธรรม ก่อนที่จะนำร่าง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ (ฉบับที่...) พ.ศ....ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

สาระสำคัญ 2 ประการคือ หนึ่ง การห้ามอย่างเด็ดขาดในกฎหมาย ไม่ให้หน่วยงานของรัฐทำสัญญาอนุญาโตตุลาการกับภาคเอกชน (มาตรา 15)

สอง ห้ามข้าราชการที่มีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ เป็นอนุญาโตตุลาการ (มาตรา 19)

ล่า สุด ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ผ่านการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำลังเสนอกลับเข้าสู่ที่ประชุม คณะรัฐมนตรีอีกครั้งในเร็ววันนี้

อย่างไรก็ตาม แนวคิดการรื้อระบบอนุญาโตตุลาการครั้งล่าสุดนี้ มีเสียงสนับสนุนและเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

เสียง ที่เห็นด้วย เชื่อว่า ถ้าแก้ตามร่างฉบับกระทรวงยุติธรรม ค่าโง่หลายคดีที่รัฐต้องชดเชยค่าเสียหายให้เอกชนจะหมดไป ต่อไปข้อพิพาทในสัญญาระหว่างรัฐและเอกชนจะไปสู่ศาลตัดสินเป็นที่สุด ด้วยเวลาที่รวดเร็ว ไม่มีต้นทุนในระบบอนุญาโตตุลาการ

เสียงที่ไม่ เห็นด้วย เห็นว่า ระบบอนุญาโตตุลาการ มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย และส่วนใหญ่ รัฐเป็นฝ่ายชนะมากกว่าแพ้ แต่ที่สำคัญคือ ถ้าสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชน ไม่มีระบบอนุญาโตตุลาการ ประเทศไทยกำลังถอยหลังเข้าคลอง นักลงทุนต่างชาติจะไม่เชื่อมั่นประเทศไทย เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศกว่า 3 แสนล้านจะหายไป

"ประชาชาติ ธุรกิจ" รวบรวมข้อสังเกต 8 ประเด็น จากผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงองค์กรธุรกิจชั้นนำ ที่มีต่อร่างแก้ไข พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ มานำเสนอดังนี้

1.การเสนอแก้ไขมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติ อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 จะทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน ที่มีต่อระบบกฎหมายและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย อันเป็นการทำลายบรรยากาศในการลงทุนของประเทศไทยในระยะยาว และทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบ ไม่อาจแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่สามารถให้หลักประกันในการลงทุนที่ดี กว่าประเทศไทย หากมีการแก้ไขกฎหมายมาตราดังกล่าวตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ อาจเป็นการส่งสัญญาณที่ผิด ต่อนักลงทุนทั้งหลายว่า รัฐบาลอาจจะใช้มาตรการบางอย่างเพื่อ เอาเปรียบนักลงทุน จึงมีความจำเป็นต้องขจัดมาตรการต่างๆ ที่มีไว้ เพื่อให้ความเป็นธรรมในการลงทุนให้หมดสิ้นไปก่อน

2.การแก้ไขตามที่ เสนอนอกจากจะไม่ช่วยในการแก้ไขปัญหาแล้ว ยังจะทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงขึ้น เนื่องจากตามความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนที่ประเทศไทยทำไว้ กับประเทศต่างๆ มากกว่า 40 ประเทศ ตลอดจนความตกลง เขตการค้าเสรีที่ประเทศไทยเป็นคู่สัญญาแล้วและที่จะเป็นคู่สัญญาต่อไปใน อนาคต ล้วนกำหนดให้ใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศไทย กับนักลงทุนจากประเทศ คู่สัญญา ทำให้นักลงทุนชาวต่างชาติยังอาจจะอาศัยสิทธิตามความตกลงดังกล่าวหรือความ ตกลงเขตการค้าเสรีที่ประเทศไทยเป็นคู่สัญญาในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโต ตุลาการได้อย่างนั่นเอง

เพราะความตกลงระหว่างประเทศดังกล่าวเป็น "สัญญาระหว่างรัฐกับรัฐ" ที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับของร่าง พระราชบัญญัติที่กระทรวงยุติธรรมเสนอแก้ไขการบีบบังคับให้ นักลงทุนต่างชาติเลือกใช้ช่องทางการนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโต ตุลาการตามความตกลงระหว่างประเทศ ยิ่งทำให้ประเทศไทยได้รับความเสียหายและเสียเปรียบในการต่อสู้คดี เนื่องจากข้อบังคับอนุญาโตตุลาการที่กำหนดในความตกลงทั้งหมด ล้วนเป็นข้อบังคับอนุญาโตตุลาการของต่างประเทศ ภาษาที่ใช้ในการดำเนินกระบวนการพิจารณา ล้วนแต่ต้องทำเป็นภาษาต่างประเทศ สถานที่ดำเนินกระบวนการพิจารณาล้วนต้องทำในต่างประเทศ และอนุญาโตตุลาการที่จะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดย่อมจะเป็นชาวต่างชาติเป็นส่วน ใหญ่

การต่อสู้คดีภายใต้ปัจจัยและข้อจำกัดดังกล่าว ย่อมจะยิ่งทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบยิ่งขึ้น เห็นได้จากในบางกรณีมีความจำเป็นถึงขนาดต้องว่าจ้างทนายความและที่ปรึกษาชาว ต่างชาติให้ว่าต่างแก้ต่างแทน การที่จะอธิบายและทำความเข้าใจถึงข้ออ้างและข้อต่อสู้ที่ล้วนตั้งอยู่บนพื้น ฐานของข้อเท็จจริง ตลอดจนบทบัญญัติกฎหมายและระเบียบภายในประเทศให้อนุญาโตตุลาการที่เป็นชาว ต่างชาติเข้าใจย่อมเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ทำให้โอกาสที่ประเทศไทยจะได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากกว่ากรณีที่ผ่านมา ยิ่งมีสูงขึ้น

3.เมื่อมีการใช้วิธีการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโต ตุลาการตามความตกลงระหว่างประเทศข้างต้น จนกระทั่งมีคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ จะทำให้เกิดปัญหาว่าการตรวจสอบและ การบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวจะมีหลักเกณฑ์อย่างไรและใช้ กฎหมายใด เพราะแม้กระบวนการ อนุญาโตตุลาการจะอาศัยความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นคู่สัญญาโดยตรง แต่ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นย่อมเกิดจาก "สัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน" ที่หน่วยงานของรัฐแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นคู่สัญญากับนักลงทุนต่างประเทศ

4. การแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เนื่องจากแม้พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 15 จะกำหนดให้สามารถใช้วิธีอนุญาโตตุลาการในสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับ เอกชนได้ แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้เป็นบทบังคับให้ต้องใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการแต่ อย่างใด หากรัฐบาลเห็นว่า วิธีการดังกล่าวไม่เหมาะสมกับสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐ กับเอกชน ก็ทำได้เพียงแต่การไม่ระบุข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ ไว้ในสัญญาที่ทำขึ้นเท่านั้น ในสัญญาโครงการขนาดใหญ่ย่อมจะต้องขอความเห็นจากคณะรัฐมนตรีอยู่แล้ว คณะรัฐมนตรีย่อมมีโอกาสตรวจสอบความเหมาะสมของข้อสัญญาที่ทำขึ้นได้อยู่แล้ว การไม่กำหนดวิธีการอนุญาโตตุลาการไว้ในข้อสัญญา ย่อมเป็น วิธีการที่ไม่กระทบกระเทือนต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย และบรรยากาศในการลงทุน ซึ่งจะแตกต่างจากการบัญญัติเป็นกฎหมายห้ามโดยตรง

5. ปัญหาในกรณีที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญไม่ได้เกิดขึ้นจากกระบวนการอนุญาโตตุลาการ หากแต่เกิดขึ้นจากข้อกำหนดและเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐตกลงกับคู่สัญญา เอกชน บางกรณีเป็นเรื่องที่หน่วยงานของรัฐไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนด และเงื่อนไขเหล่านั้นได้ บางกรณีอาจจะมีลักษณะที่เสียเปรียบอยู่บ้าง ทำให้เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้น คณะอนุญาโตตุลาการย่อมต้องวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไข ที่ตกลงไว้ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การแก้ไขโดยห้ามใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการ จึงเป็นการแก้ไข ที่ไม่ตรงกับสาเหตุของปัญหา

6.กระบวนการตรวจสอบคำชี้ขาดของอนุญาโต ตุลาการโดยศาลตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 สามารถตรวจสอบกลั่นกรองคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้เป็นอย่างดีและรักษา สมดุลของประโยชน์สาธารณะได้ เห็นได้จากบางกรณีที่ หากศาลเห็นว่าคำชี้ขาดขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลอาจเพิกถอนหรือไม่บังคับให้คำชี้ขาด ได้อยู่แล้ว

7.บุคลากรที่มี คุณสมบัติและความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ในประเทศไทยมีจำกัด และบุคลากรดังกล่าวจำนวนมากอยู่ในภาคราชการ การแก้ไขพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 19 ห้ามมิให้ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำเป็นอนุญาโตตุลาการ ย่อมจะทำให้เกิดความขาดแคลนผู้ที่มีความเหมาะสมจะทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการ อันจะส่ง ผลกระทบต่อการพัฒนากระบวนการอนุญาโตตุลาการในประเทศไทยในอนาคต

8. ในปัจจุบันการทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการในประเทศไทย มีลักษณะเป็นการทำประโยชน์สาธารณะในการช่วยอำนวยความยุติธรรมมากกว่าจะเป็น การประกอบเป็นอาชีพ เนื่องจาก ค่าตอบแทนที่ได้รับไม่มากนัก เมื่อเทียบกับคำตอบแทนทางวิชาชีพปกติที่ผู้ทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการแต่ละคน ได้รับในการประกอบวิชาชีพของตน และการทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการทำให้เกิด ความรับผิดชอบที่ต้องพิจารณาเอกสาร พยานหลักฐาน ตลอดจน ทำคำชี้ขาดซึ่งเป็นการใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญของตน ทำให้เกิดประโยชน์แก่สังคมนอกเหนือจากที่ได้ทำในงานประจำ ไม่แตกต่างไปจากการที่ต้องใช้เวลาเพื่อไปทำหน้าที่เป็นกรรมการในหน่วยงาน อื่นหรือการทำงานวิจัยของหน่วยงานอื่น

view