สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อีลิท การ์ด รอวันฟ้าใหม่ รอวันเพื่อไทยกลับมาใหญ่

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :ทีมข่าวท่องเที่ยว:


บัตรอีลิท การ์ด บัตรอภิสิทธิ์ ที่เกิดขึ้นสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เพื่อต้องการใช้ บัตรอีลิทเป็น “แม่เหล็ก” ดึงนักลงทุน และเงินค่าสมาชิกบัตรเข้าประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำ

โดยเบื้องต้นหวังไว้ว่าบัตรนี้จะสามารถดึงเงินค่าสมาชิกเข้าประเทศได้ถึง 1,000 ล้านบาท จากสมาชิก 1,000 คน คิดค่าสมาชิกรายละ 1 ล้านบาท และยังฝันถึงรายได้ 1 ล้านล้านบาท จากสมาชิก 1 ล้านคน ในเวลา 5 ปี หลังจากเปิดให้บริการ

ยังไม่นับรวมการลงทุน หรือเม็ดเงินที่คาดว่าเหล่าบรรดาสมาชิกทั้งหลายจะนำเข้ามาจากสิทธิประโยชน์ ที่รัฐบาลเตรียมไว้ให้อีกหลายพันล้านบาท

แต่เรื่องดังกล่าวกลับกลายเป็นแค่ “ความฝัน” เท่านั้น เพราะขณะนี้บัตรอีลิท กลายเป็นแค่ “กองหนี้” ที่ทับถมทวีคูณ จากการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด (ทีพีซี) รวมถึงการ “รั่วไหล” ในแง่มุมต่างๆ ของการบริหารงาน ส่งผลให้ขณะนี้ทีพีซีขาดทุนไปแล้ว 1,412 ล้านบาท มีสมาชิกที่มีอยู่ทั้งสิ้น 2,570 ราย

แต่ด้วยสมาชิกเพียง 2,570 รายนี้ กลับสร้างรายจ่ายให้ทีพีซีอย่างมากจากการใช้บริการของสมาชิก ที่เดิมทีพีซีได้ให้สมาชิกสามารถใช้บริการสปา สนามกอล์ฟ ได้อย่างไม่จำกัดจำนวนครั้ง ส่งผลให้กลุ่มของผู้ที่ พำนักระยะยาวหรือลองสเตย์ในประเทศ มาใช้บริการสิทธิประโยชน์ของบัตรอีลิทอย่าง เต็มที่

จากตัวเลขการใช้บริการสมาชิกอีลิท การ์ด เบื้องต้นพบว่าการใช้บริการของสมาชิกอีลิท การ์ด ที่มีอยู่ 2,570 ราย มีการใช้บริการสนามกอล์ฟ 988 คน ซึ่งในปี 2551 มีสมาชิกใช้บริการสนามกอล์ฟสูงสุดถึง 180 ครั้ง โดยสมาชิกที่ใช้มากกว่า 100 ครั้ง มีถึง 15 คน ส่วนผู้ใช้บริการสปามี 1,250 คน มีผู้ใช้สูงสุดในปีที่ผ่านมาถึง 353 ครั้ง ส่วนที่ใช้มากกว่า 100 ครั้ง มี 54 คน ส่วนการใช้บริการรถลีมูซีน มีสมาชิกใช้สูงสุด 87 ครั้ง

ทั้งนี้ หากนับรวมการใช้บริการเสริมทุกประเภท พบว่าสมาชิกรายที่ใช้บริการสูงสุด ใช้ถึงกว่า 480 รายการ ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่สูงมาก หรือกว่า 9.6 แสนบาท ดังนั้นแค่เป็นสมาชิกในระยะเวลาเพียง 1 ปี ก็สุดแสนจะคุ้ม เพราะมูลค่าที่ใช้เกือบจะเท่ามูลค่าบัตรแล้ว และเมื่อคำนวณอายุสมาชิกบัตรที่ให้นานถึงตลอดชีพ

“บางคนใช้บริการสนามกอล์ฟปีละ 180 ครั้ง เท่ากับเล่นวันเว้นวัน และบางคนใช้สปาปีละ 353 ครั้ง เท่ากับไปใช้บริการแทบทุกวัน อย่างไรก็ตาม หากคิดเฉลี่ยรวมกับสมาชิกทั้งหมด 2,570 ราย ซึ่งบางคนที่ไม่ได้ใช้บริการเลยถือว่าการใช้บริการมีค่าเฉลี่ยที่ไม่สูง เช่น สนามกอล์ฟ เฉลี่ยคนละ 11 ครั้งต่อปี สปา เฉลี่ยคนละ 8 ครั้งต่อปี เป็นต้น”

สมาชิกคุ้ม แต่ทีพีซีเจ๊ง!!

ผลการดำเนินงานที่ขาดทุนตลอดระยะเวลาการให้บริการ 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในช่วง 3 ปีแรกอยู่ในช่วงการบริหารงานของรัฐบาลทักษิณ ทำให้ผลการดำเนินงานทั้งหลายถูกซุกอยู่ “ใต้พรม” ไม่มีใครฟื้นฝอยให้ระคายหูทักษิณ

 
แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ฝุ่นที่อยู่ใต้พรมเริ่มฟุ้งขึ้นมาเรื่อยๆ ทำให้สังคมเริ่ม “รู้เห็น” ความฟอนเฟะทั้งหลายของโครงการนี้ ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะตัวเลขผลการขาดทุน ว่าบริษัทนี้ดำเนินการแบบที่เรียกว่า ขาดทุนทุกเดือน

ทำให้ผู้บริหารทีพีซีในยุคพรรคประชาธิปัตย์ครองเมือง ต้องเข้ามาจัดการปัญหาบัตรอีลิทด้วยตัวเอง และไม่ปล่อยให้บัตรนี้กลายเป็น “ภาระ” ของรัฐบาล

แต่ใช่ว่ารัฐบาลจะสามารถแก้ปัญหาบัตรอีลิทได้ง่ายๆ เนื่องจากหากทีพีซีเข้าไปแตะต้องปรับลดสิทธิประโยชน์มากนัก ก็จะถูกสมาชิกฟ้องได้ และประเทศไทยก็จะเสียชื่อเสียงอย่างแน่นอน เพราะโครงการนี้เป็นโครงการที่เกิดขึ้นโดยรัฐบาล ทำให้รัฐบาลขยับอะไรมากไม่ได้นัก

จะทำได้ก็เพียงปรับลดสิทธิประโยชน์ของสมาชิกเก่าให้เหลือลดน้อยลง ส่วนสมาชิกใหม่ไม่ต้องพูดถึง สิทธิประโยชน์ที่ให้นั้น อยู่บนพื้นฐานของการทำธุรกิจ

เมื่อเป็นเช่นนั้น ความพิเศษ หรือความเป็นอีลิท ของบัตรอีลิท ก็ย่อมเสื่อมมนต์ขลังอย่างแน่นอน และไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาเป็นสมาชิกอย่างแน่นอน

ดังนั้น ทิศทางต่อไปในอนาคตของอีลิท การ์ด แน่นอนว่าไร้สมาชิกหน้าใหม่ ทำได้แต่ประคองไม่ให้สมาชิกเก่าฟ้องร้อง และให้เบื่อไปกับความเป็นสมาชิกบัตรอีลิท และยกเลิกการเป็นสมาชิกไปเอง

ต่อไปนี้หากพรรคประชาธิปัตย์ยังยืนเป็นรัฐบาล บัตรอีลิทเป็นได้แค่ต้นไม้ที่แคระแกร็น ไร้น้ำเลี้ยงจากรัฐบาลอย่างแน่นอน แต่รัฐบาลไม่กล้าที่จะยกเลิกโครงการนี้อย่างแน่นอน เพราะรัฐบาลไม่สามารถประเมินได้ว่าสมาชิกจะเรียกร้องค่าเสียหายเท่าใด ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า หากยกเลิกโครงการ รัฐบาลอาจต้องเสียเงินกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลไม่ยอมเสียแน่นอน ปล่อยให้ บัตรอีลิทเน่าคารัง ฟ้องความล้มเหลวของทักษิณดีกว่า ดังนั้นรัฐบาลจะไม่สนับสนุนให้โครงการนี้เดินหน้า เพราะส่วนหนึ่งเป็นโครงการของรัฐบาลเก่า ซึ่งหากประชาธิปัตย์ปล่อยให้บัตรอีลิท การ์ด แย่ลงเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็น “อาวุธ” ทางการเมืองที่นำมาโจมตีทักษิณได้เป็นอย่างดี

เพราะภาพของทักษิณที่ผ่านมาคือ ความเป็นกูรูด้านการบริหาร การตลาด แบบหาตัวจับยาก แต่โครงการนี้กลับเจ๊งไม่เป็นท่า

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลไม่กล้ายกเลิกโครงการนี้ ทำให้กลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นเหลือบไรในโครงการนี้เฝ้ารอคอยให้มีการเปลี่ยน รัฐบาล ให้พรรคการเมืองฟากทักษิณอย่าง “พรรคเพื่อไทย” กลับมาผงาดในเวทีการเมืองอีกครั้ง

และเมื่อถึงเวลานั้น บัตรอีลิท การ์ด จะเป็นเครื่องมือในการสร้างภาพ และฐานการเงินที่ดีให้กับฝ่ายการเมือง โดยฝ่ายการเมืองต้องอัดงบประมาณเพื่อฟื้นคืนชีพบัตรดังกล่าวอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ เพราะหากปล่อยให้โครงการนี้ล้ม ย่อมหมายถึงชื่อเสียง และภาพของพรรคเพื่อไทย ซึ่งหมายรวมถึงภาพของทักษิณ ต้องถล่มจมดินอย่างแน่นอน

งานนี้ผีดิบอย่างอีลิท การ์ด จะฟื้นขึ้นมาอีกรอบหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเมืองผลัดใบเปลี่ยนขั้วเท่านั้น

view