สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดผลสอบสตง.กรณีทุจริต "ตลาดซันเดย์" ชงฟันอดีตบิ๊ก ร.ฟ.ท.และพวกส่อเอื้อเอกชน !!

จาก ประชาชาติธุรกิจ



เปิดผลสอบ สตง. สัญญาเช่าที่ดิน "ตลาดซันเดย์" ส่อพิรุธ ชงเรื่องให้ลงโทษ "อดีตผู้ว่าการการรถไฟฯ" และพวกข้อหาทุจริต เอื้อประโยชน์เอกชนเบี้ยวหนี้ ร.ฟ.ท.สูญนับ 60 ล้าน ชงเรื่องเสนอผู้ว่าการการรถไฟฯ สั่งเร่งรัดค่าปรับและหนี้ค้างจากบริษัทธนสารสมบัติฯโดยเร็ว พร้อมหาตัวผู้รับผิดชอบชดใช้และดำเนินการทางวินัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อไม่นานมานี้ นายไพฑูรย์ ทิพยทัศน์ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ส่งรายงานผลการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรณีการให้เช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างอาคารและให้เช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูก สร้างเพื่อดำเนินการจัดหาประโยชน์ (ตลาดซันเดย์) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ไปถึงนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมเอกสารตรวจสอบ 76 หน้ากระดาษ
รายงาน ดังกล่าวได้ระบุถึงความไม่ชอบมาพากลในการบริหารผลประโยชน์จากการนำที่ดินอัน มากมายซึ่งอยู่ในความครอบครองของ ร.ฟ.ท. ไปในทางเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนรายหนึ่ง โดยผลการตรวจสอบของ สตง. ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ 2 ประเด็น คือ 1.กับนายจิตต์สันติ ธนะโสภณ อดีตผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. พยายามทำให้บริษัท ธนสารสมบัติพัฒนา จำกัด เช่าเพื่อก่อสร้างอาคารและดำเนินการจัดหาประโยชน์ โดยไม่ได้มีการประมูลให้เป็นไปตามระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทย และแสดงให้เห็นความมุ่งหมายในการพยายามรายงานข้อมูลเท็จต่อคณะกรรมการการ รถไฟฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่บริษัทธนสารสมบัติฯ
ประเด็นที่ 2.คือ สตง.ยังตรวจสอบพบอีกว่า ต่อมาบริษัทธนสารสมบัติฯ ได้ทำผิดสัญญาเช่ากับ ร.ฟ.ท. แต่ ร.ฟ.ท.ไม่ได้เร่งรัดบังคับให้บริษัทธนสารสมบัติฯชำระค่าปรับตามที่สัญญา กำหนดไว้ ทำให้เกิดความเสียหายต่อผลประโยชน์ที่ควรได้รับเป็นอย่างมาก
ทั้ง นี้ จากการตรวจสอบของ สตง.ปรากฏว่า ร.ฟ.ท.ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างอาคาร กำหนดเวลาการเช่า 2 ปี (ตั้งแต่ 1 เมษายน 2549-31 มีนาคม 2551) และทำสัญญาเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เพื่อดำเนินการจัดหาประโยชน์ กำหนดเวลาเช่า 10 ปี (1 เมษายน 2551-31 มีนาคม 2561) ในบริเวณพื้นที่บางส่วนในแปลง 6/1 (โซนเอ) ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีสมรัตน์การค้า เคยเป็นผู้ชนะการประมูล แต่ไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่บางส่วน เพราะถูกขัดขวางจากผู้ค้าเดิมในพื้นที่ ต่อมา ร.ฟ.ท.จึงกันพื้นที่ส่วนที่มีปัญหาดังกล่าวออกก่อนที่จะบอกเลิกสัญญา
เมื่อ นำพื้นที่ส่วนที่กันออกมาจัดหาประโยชน์ใหม่อีกครั้ง จึงได้บริษัทธนสารสมบัติฯเข้ามาทำสัญญาเช่ากับ ร.ฟ.ท. รวมไปถึงพื้นที่บางส่วนในพื้นที่แปลง 6/3 (โซนซี) ที่บริษัท พระสุก่อสร้าง จำกัด เป็นคู่สัญญาในการเช่าพื้นที่ปลูกสร้างอาคารกับ ร.ฟ.ท.เช่นเดียวกัน ต่อมาภายหลัง ร.ฟ.ท.ได้นำพื้นที่แปลงที่ 6/3 โซนซี มารวมกับพื้นที่ส่วนที่กันออกจากแปลง 6/1 โซนเอ มาดำเนินการจัดหาประโยชน์ใหม่ แล้วได้บริษัทธนสารสมบัติฯมาเป็นผู้เช่า ทั้งๆ ที่การรถไฟฯไม่ได้มีการเปิดประมูล
นายจิตต์สันติ ผู้ว่าการการรถไฟฯในขณะนั้น ยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาเกี่ยวกับการจัดประโยชน์ในบริเวณตลาด ซันเดย์ที่ย่านพหลโยธิน มีนายยุทธนา ทัพเจริญ รองผู้ว่าการรถไฟฯเป็นประธาน ซึ่งต่อมาได้นำเสนอต่อนายจิตต์สันติ เห็นควรให้บริษัทธนสารสมบัติฯได้รับสิทธิการเช่า โดยให้เหตุผลว่าบริษัทได้รับการสนับสนุนจากผู้ค้าส่วนใหญ่ในพื้นที่ ผู้ว่าการการรถไฟฯจึงได้นำความเห็นของคณะกรรมการ นำเสนอต่อคณะกรรมการการรถไฟฯ เพื่อขออนุมัติเช่า ตามระเบียบกรณีที่การรถไฟฯเห็นว่าโดยสภาพไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการประมูล 
อย่าง ไรก็ตาม ที่ดินที่การรถไฟฯนำมาให้บริษัทธนสารสมบัติฯเช่านั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่การรถไฟฯเคยนำออกมาประมูลและสามารถดำเนินการประมูลจน ได้ หจก.ศรีสมรัตน์การค้า และบริษัท พระสุก่อสร้าง จำกัด มาเป็นผู้เช่า ดังนั้นการจัดหาประโยชน์ใหม่การรถไฟฯก็ควรดำเนินการประมูลก่อน ไม่เพียงเท่านี้ นายจิตต์สันติได้รายงานข้อมูลต่อคณะกรรมการการรถไฟฯ โดยอ้างว่าดำเนินการหารือกับกระทรวงคมนาคมแล้ว ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมแจ้งให้การรถไฟฯพิจารณาตามความเหมาะสม แต่กลับไม่มีหลักฐานมายืนยันเมื่อ สตง.ร้องขอ จึงทำให้ถูกตั้งข้อสงสัยว่าจะมีการรายงานข้อมูลเท็จต่อคณะกรรมการการรถไฟฯ เพื่อให้มีการอนุมัติกับบริษัทธนสารสมบัติฯ
ทั้งนี้ยังปรากฏหลักฐานอีก ว่า เมื่อนายปาณฑพ มาลากุล ณ อยุธยา เป็นผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพย์สิน มีอำนาจลงนามในสัญญาเช่าแทนการรถไฟฯ ตามคำสั่ง ร.ฟ.ท. ระหว่างนั้นได้มีการนำเสนอร่างสัญญาเช่าที่ดินของบริษัทธนสารสมบัติฯเข้ามา ให้นายปาณฑพลงนามตามหน้าที่ จึงมีการขอดูรายละเอียดเกี่ยวกับการหารือกระทรวงคมนาคม ตามมติคณะกรรมการการรถไฟฯ ทำให้นายยุทธนาในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณา เรียกให้นายปาณฑพส่งร่างสัญญาเช่ากลับคืน
หลังจากนั้นนายจิตต์สันติได้มี คำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานให้นายทวีศักดิ์ สุทธิเสริม ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสินทรัพย์เป็นประธานคณะทำงาน มีอำนาจลงนามสัญญาเช่าในพื้นที่แปลงดังกล่าวทั้งหมดแทนการรถไฟฯ
จาก พฤติการณ์ทั้งหมด สตง.จึงสรุปได้ว่า อาจเข้าข่ายลักษณะความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ให้มีการดำเนินคดีทางอาญาตามกฎหมายกับนายจิตต์สันติ และคณะกรรมการพิจารณาเกี่ยวกับการจัดประโยชน์ รวมถึงดำเนินการทางวินัยกับคณะกรรมการพิจารณานี้ ตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ส่วน ประเด็นบริษัทธนสารสมบัติฯผิดสัญญาเช่ากับการรถไฟฯ หลังครบกำหนดระยะเวลา 2 ปี โดยไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ และอ้างว่าไม่สามารถเข้าดำเนินการได้ เนื่องจากมีผู้เช่าเดิมไม่ยอมออกจากพื้นที่นั้น ต้องชำระค่าปรับรวมแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 58,052,596 บาท
แต่ทั้งหมดนี้ ปรากฏว่าการรถไฟฯยังไม่ดำเนินการบังคับค่าปรับและหนี้ค้างชำระจากบริษัทแต่ อย่างใด ทำให้เสียหายต่อผลประโยชน์ที่การรถไฟฯควรได้รับ
รายงานดังกล่าว สตง.เสนอให้ผู้ว่าการการรถไฟฯสั่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งรัดค่าปรับและ หนี้ค้างจากบริษัทธนสารสมบัติฯโดยเร็ว หากพิจารณาดำเนินการได้ก็ให้หาตัวผู้รับผิดชอบชดใช้และดำเนินการทางวินัยกับ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ธนสารสมบัติพัฒนา จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2544 มีทุนจดทะเบียนปัจจุบัน 10 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 23/7 ซอยชัยพฤกษ์ 23 แขวงและเขตสะพานสูง กทม. ประกอบกิจการประมูลที่ดินเพื่อสร้างอาคาร นางรัตนา ต่อสุทธิ์กนก เป็นผู้มีอำนาจ ข้อมูลเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2551 มีผู้ถือหุ้น 7 คน ได้แก่ 1.นางอิสรีย์ ศรีอินเดีย ในสัดส่วนร้อยละ 37 รองลงมาคือ น.ส.ธิดา โชติชัยพิทักษ์กุล ร้อยละ 25 และนายอนุลักษณ์ โชติชัยพิทักษ์กุล สัดส่วนถือหุ้นร้อยละ 20
นอกนั้นมีนายไพศาล โชติชัยพิทักษ์กุล ร้อยละ 7, นางศิริรัตน์ ถวิลวงษ์ ร้อยละ 5, นางรัตนา ต่อสุทธิ์กนก และ น.ส.สุนิตย์ จงวัฒนา ร้อยละ 3 ปี 2546 ขาดทุน 2 หมื่นบาท, ในปี 2547 ขาดทุน 3 หมื่นบาท, ปี 2548 ขาดทุน 2.6 หมื่นบาท, ปี 2549 ขาดทุนถึง 3,491,553.25 บาท และในปี 2550 ขาดทุน 13,286,976.70 บาท

view