สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ยกเครื่อง SMEs สุดคุ้มค่า

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


วิกฤติเศรษฐกิจโลกไม่เพียงกระทบกับปลาใหญ่เท่านั้น เอสเอ็มอี ซึ่งเป็นปลาตัวน้อย ก็รับผลกระทบไม่ยิ่งหย่อน

เมื่อไร้กำลังสู้ ทางเดียวที่เอาชนะวิกฤติครั้งนี้ คือ อยู่ให้รอดด้วย “คุณค่า”

ในปี “เผาจริง” วิกฤติเศรษฐกิจ ปัจจัยทั้งภายนอกและภายในที่รุมเร้า ส่งสัญญาณชัดว่าตลาดเอสเอ็มอีอาจหดตัวลง จากปัญหาสภาพคล่องด้านการเงินอย่างเลี่ยงไม่ได้

“เมื่อขายของไม่ได้ ก็ขาดเม็ดเงินหมุนเวียน ขาดสภาพคล่อง สู่การผิดนัดชำระ ใช้หนี้แบงก์ไม่ได้ เกิดปัญหาฟ้องร้องกัน กลายเป็นปัญหาเอ็นพีแอลตามมา”

สิ่งที่เอสเอ็มอีต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกคือ การสร้างคุณค่า

“การนำเสนอความคุ้มค่า ไม่ฟู่ฟ่า หรือฟุ่มเฟือยให้กับลูกค้า เป็นการปรับให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลง และพิจารณาความคุ้มค่าเป็นหลัก”

ภักดิ์ ทองส้ม  รองผู้อำนวยการ รั้งตำแหน่งรักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) แนะ ว่า แนวทางการเพิ่มคุณค่าให้ผลิตภัณฑ์ ช่วยให้เอสเอ็มอีปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันไม่ต้องแบกรับต้นทุนด้านโฆษณาและประชาสัมพันธ์โดยไม่จำเป็น

ในส่วน สสว. ซึ่งทำหน้าที่ให้คำปรึกษา มีการปรับการทำงานเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันเช่นกัน
เริ่ม จากปรับการทำงานในแต่ละหน่วยงานให้เร่งสปีดการทำงานเชื่อมโยงและประสานงาน กันให้เป็นแนวทางเดียวกันมากขึ้น เพื่อส่งประโยชน์ถึงมือเอสเอ็มอีโดยไม่ตกหล่น ต่อเนื่อง และไม่ซับซ้อน

การทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ให้คำแนะนำและปรึกษาการบริหารโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะการชะลอส่งหนี้ ยืดเวลา หรือพักการชำระหนี้ โดยทำงานประสานกับสมาคมธนาคาร ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสถาบันการเงินทั้งหมด เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

ในทัศนะของผู้คร่ำหวอดธุรกิจไซส์ย่อม ภักดิ์แนะนำบรรดาปลาเล็กว่า ในขณะที่หลายองค์กรขนาดใหญ่วางแผนปรับกลยุทธ์ภายใน เอสเอ็มอีก็ต้องปฏิบัติเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือทุกสถานการณ์เช่นกัน

“ควรตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นหรือค่าใช้จ่ายไม่ก่อให้เกิดผลตอบแทน แทนการปลดคนออก”

 การแก้ปัญหาการจัดการภายในองค์กรขนาดย่อม ทำได้โดยยกระดับคุณภาพสินค้าและการบริการให้เข้ามาตรฐาน ซึ่งทำได้ในทันทีโดยไม่ต้องใช้งบประมาณ

นอกจากนั้นให้ความสำคัญกับโลจิสติกส์  การบริหารสต็อก  เจรจาเจ้าหนี้การค้า และเจรจาการค้าเป็นหลัก ปัญหายิบย่อยต่างๆ ของเอสเอ็มอีไทย แก้ไขได้ด้วยการตลาด

ธุรกิจยุคใหม่ชนะได้ด้วยข้อมูลและข่าวสาร การวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาดบนฐานข้อมูลธุรกิจ อาทิ งานวิจัยข้อมูลต่างๆ  โดยสามารถเข้าใช้งานผ่านระบบการสืบค้น

การจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจระหว่างผู้ผลิต แหล่งวัตถุดิบ ช่องทางการจัดจำหน่าย และอื่นๆ

อีกทั้งยังเป็นผู้ให้บริการ ลงลึกในภาคปฏิบัติกับเอสเอ็มอีโดยตรง พร้อมกับเชื่อมโยงหลายหน่วยงานร่วม เพื่อกระตุ้นวงการอุตสาหกรรมไซส์กลางและเล็กให้เติบโตกว้างขวางขึ้น

ยุทธศาสตร์เอสเอ็มอีที่เน้นนำเสนอความคุ้มค่า ราคาเหมาะสมกับกำลังซื้อภายใต้ภาวะวิกฤติ ภักดิ์ บอกว่า เป็นการดำเนินชีวิตและทำธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

นั่นคือ "พอกิน พอเพียง มีภูมิคุ้มกัน"  ที่จะทำให้เอสเอ็มอีไทยฝ่าวิกฤติรอบนี้

view