สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดกลยุทธ์ก้าวข้ามวิกฤต IBM-นักธุรกิจไทยทำอย่างไร ?

จาก ประชาชาติธุรกิจ


เมื่อ เร็วๆ นี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด ได้จัดงานสัมมนา "ต้นทุนที่ลดได้ คือ กำไรที่เพิ่มขึ้น" ณ ศูนย์การประชุมไบเทค บางนา โดยมี ผู้บริหารจากบริษัทยักษ์ข้ามชาติ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์-เครื่องจักร-ธุรกิจโลจิสติกส์แถวหน้าสัญชาติไทย มาเผยถึงกลยุทธ์ ประสบการณ์การก้าวข้ามวิกฤตเศรษฐกิจทำกันอย่างไร ดังนี้

นาย ประสาทศิลป์ อ่อนอรรถ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย กล่าวว่า ปีที่แล้ว กลุ่มบริษัท โอ.อี.ไอ.พาร์ท ได้เข้าโครงการ Toyota Production System (TPS) ซึ่งมีอยู่หลายขั้นตอน อาทิ 1.work site control คล้าย 5 ส. ของไทย ซึ่งญี่ปุ่นให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก ต้องสะอาด จึงจะผลิตได้ 2.continuous flow การไหลของงานมีจุดไหนบกพร่อง เพื่อแก้ lead time หรือระยะเวลาส่งมอบให้สั้นลง ลดสต๊อกตามไลน์ผลิต ซึ่งบริษัทลดจุดบกพร่องไหลดีขึ้นถึง 54% 3.standardized work สามารถเพิ่มมาตรฐานการผลิตได้อีก 10% 4.pull system ผลิตเท่าที่จำเป็น

แต่ ละขั้นตอนจะมีแผนย่อยจนถึงการนำเครื่องมือที่เสียกลับมาใช้ใหม่ เพราะของใหม่ใช้ไป 4-5 เดือนพัง อย่างเวอร์เนียเก่าเสีย เมื่อตัดปากข้างหนึ่ง แล้วอีกข้างหนึ่งใส่ไดเกจ สามารถลดต้นทุนได้ตัวละเป็นหมื่นบาท แต่ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่คน อุตสาหกรรมหลายอย่างที่ใช้แรงงาน ประสิทธิภาพของไทยยังเหนือกว่าเพื่อนบ้าน ตอนนี้เริ่มตามติดไทยแล้ว ต้องหนีขึ้นไปอีกด้วยการยกระดับฝีมือแรงงานและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ้ เพราะเป้าหมายคือ ความพึงพอใจของลูกค้า ต้องฝึกอบรม พนักงานให้ลูกค้าพอใจ การบริหารจัดการคนที่ยอดเยี่ยม คือ การบริหารที่ยั่งยืน มี KPI Human Resources วัดในแต่ละแผนก เข้มงวดการบริหารงานบุคคล ปี 2551 ที่ผ่านมา บริษัททำเรื่องนี้ได้เฉลี่ยสูงถึง 98.63% การรับสมัครพนักงานทรงผมต้องดูดี ใส่รองเท้าแตะมาสมัครงานไม่รับ ต้องการคนดีเพราะสอนได้ ดีกว่า คนเก่งที่สอนไม่ได้ การละลายพฤติกรรมต้องเดินไปแนะนำตัวกับพนักงานเก่าเป็นรายคน สอบสัมภาษณ์และสอบข้อเขียน ต้องผ่านจึงจะบรรจุ และอธิบายกฎระเบียบบริษัท

IBM ช่วยลูกค้าใช้ไอทีเคลียร์ภาษี

นาย ธันวา เลาหศิริวงศ์ กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม จำกัด กล่าวว่า ไอบีเอ็มมีคน 1,700 คนในไทย แต่ลดต้นทุนได้อย่างไรในภาวะวิกฤต

พนักงาน ของไอบีเอ็มมี 2 ส่วน คือ 1.พนักงานขายกับพนักงานบริการ อีกส่วนหนึ่งเป็นพนักงานออฟฟิศ เมื่อพนักงานมาทำงานพบปะกับลูกค้า หลังจากบริษัทติดตั้ง mobile office 3 คนกว่า / 1 work station โดยใช้คอมพิวเตอร์จัดการเอกสาร การจัดการจะใช้วิธีตรวจว่าโต๊ะไหนว่าง เราจะบอกพนักงานไปนั่งจุดนั้น แต่เบอร์โทรศัพท์ของพนักงานยังเป็นเบอร์เดิม

อย่างมหาวิทยาลัย ศรีปทุมที่ขยายตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำ content manager ทำให้รู้ขั้นตอนการทำงานและการจัดการให้เหมาะสมกับขนาดมหาวิทยาลัย หรืออย่าง บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) มีร้าน เซเว่นอีเลฟเว่น สาขากว่า 5,000 แห่ง เมื่อลูกค้าสั่งซื้อ ซีพีฯต้องออกใบเสร็จให้ทุกวันและเก็บเป็นหลักฐานส่งกรมสรรพากร ทำให้ต้องใช้กระดาษมหาศาล ไอบีเอ็มจึงไปหารือกับกรมสรรพากรว่า เอกสารที่เก็บในระบบไอทีให้ใช้เป็นหลักฐานได้ ทำให้ ซีพีฯประหยัดถึงปีละ 50 ล้านบาท สามารถคืนทุนไม่ถึงปี

ใช้ไซโลลดต้นทุนแพ็กเกจจิ้ง

นาย ประเสริฐ ธรรมนูญกุล ประธานสมาพันธ์สมาคมอุตสาหกรรมสนับสนุน และประธานกลุ่มสุธี กรุ๊ป กล่าวว่า ตน ขอพูดใน 2 ส่วน คือ 1.เรื่องการลดต้นทุนโดยตรงที่โรงงาน 2.เครือข่ายของสมาพันธ์

สินค้า ที่ผลิตในไทยมีต้นทุนโลจิสติกส์สูงถึง 30% ยกตัวอย่าง ต้นทุนของโลจิสติกส์ โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกที่ระยองส่งสินค้ามาให้โรงฉีดพลาสติกด้วยถุง 25 ก.ก. ถุงพลาสติกใบละ 10 บาท 1 ตันใช้ 40 ถุง เท่ากับ 400 บาท รถ 1 คันใส่ 10 ตัน ต้นทุน 4,000 บาท/เที่ยว รถวิ่งมาโรงงาน 300 เที่ยว เท่ากับ 1.2 ล้านบาท เสียไปทำไมกับถุงพลาสติก

ควรทำระบบไซโลขึ้นมารองรับ ลดแพ็กเกจจิ้ง ระดับการทำธุรกิจต่อธุรกิจ หรือ B2B ไม่ควรมีแพ็กเกจจิ้งมาเกี่ยวข้อง โรงงานผลิตมาม่า ถ้ายังใช้ถุงบรรจุแป้งสาลี มาม่าผลิต 2,000 ตัน/วัน ถ้าไม่ปรับมาใช้ไซโลเมื่อ 10 ปีก่อน รับรองธุรกิจติดขัดไปหมด ญี่ปุ่นเขามีการวิจัยเดินรับส่งชิ้นส่วน เอาพีโดว์มิเตอร์ติดเอวจับเวลา ปรากฏว่าเดินทั้งหมด 1 หมื่นก้าว เสียเวลาทำงาน 2 ช.ม. ต้องปรับเปลี่ยนเอาเครื่องจักร ไปใกล้แม่พิมพ์

บริษัทฝรั่งบอกการขน ส่งถ้าล้อไม่หมุน ควรจ้างคนอื่นทำแทน บริษัทไทยจอดให้สินค้าขึ้นรถนาน 30 นาที-1 ช.ม. ฝรั่งใช้เวลา 7 นาทีเอาสินค้าเข้าตู้

ในช่วงวิกฤต เศรษฐกิจ กลุ่มสุธี กรุ๊ป ใช้กลยุทธ์ 5 เพิ่ม (ประสิทธิภาพ) กับ 5 ลด (ต้นทุนหรือค่าใช้จ่าย) พนักงาน 600 คน ต้องแปลงประสิทธิภาพให้เป็นพนักงานขายได้ด้วย จากปกติที่มีพนักงานขายอยู่ 20 คน

เมื่อก่อนงานล้นมือ แต่จากวิกฤตครั้งนี้ต้องเปลี่ยนกระบวนการทำงาน จะไปอุ้มทั้งหมดไม่ได้ เพราะสถิติของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย บุคลากร 1 คน ทำรายได้ 0.5-1 ล้านบาท แต่ที่ยุโรปในอุตสาหกรรมคล้ายกัน ทำได้ 10-30 ล้านบาท บริษัทญี่ปุ่น เมื่อก่อนทำระบบสายพานการผลิต ปัจจุบันเปลี่ยนนำ RFID มาจับร่วมกับ automation พาลเลตที่รองรับสินค้ามีการติดชิปว่า สินค้ารุ่นนี้มีอุปกรณ์พิเศษอะไรก็ติดไป เหล่านี้เราต้องเอามาปรับกับกระบวนการผลิตของเรา

ส่วนประเด็นเรื่อง เครือข่ายของสมาพันธ์ ตนเห็นว่าการรวมตัวในสมาคมมีประโยชน์ ร่วมกันซื้อวัตถุดิบ ค้นหานวัตกรรม แชร์กำลังการผลิตจากออร์เดอร์ที่รับเข้ามามาก ใครขาดใครเหลือช่วยกัน ทำเอาต์ซอร์ซิ่งกันง่าย เพราะรู้จักกัน ไม่ต้องลงทุนสร้างโรงงานหรือเครื่องจักรใหม่ ทำให้เสนอขายสินค้าสู้คู่แข่งและลดต้นทุนได้

view