สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ครบ6เดือนคนหนุนรบ.ทำงานต่อ/เอแบคโพลล์เผยผลสำรวจ6เดือนรัฐบาลสอบผ่าน

จาก โพสต์ทูเดย์


เอแบคเผยโพลล์71.2%ควรให้โอกาสรัฐบาลอภิสิทธิ์ืทำงานต่อไป

นาย นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจภาคสนามระดับครัวเรือน เรื่อง ประเมินผลงานรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในรอบ 6 เดือนแรก และความนิยมต่อพรรคการเมือง ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่วันนี้ กรณีศึกษาประชาชนอายุ 18 ปี ขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ จำนวน 4,102 ครัวเรือน ระหว่างวันที่ 3-11 กรกฎาคม 2552

เมื่อ สอบถามความพึงพอใจมาตรการของรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 60.2 พอใจมาตรการช่วยเหลือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500 บาทต่อเดือน มากที่สุด รองลงมา ได้แก่ ค่าตอบแทน อสม.600 บาทต่อเดือน และ 5 มาตรการ 6 เดือนลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ตามลำดับ

สำหรับ ด้านสังคม ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 62.8 พอใจนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ รองลงมา ได้แก่ มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และการแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง ตามลำดับ
         
ส่วน ด้านการเมืองและความมั่นคง พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 65.4 พอใจต่อการปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ รองลงมา พอใจต่อการป้องกันประเทศ และพอใจต่อการพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ตามลำดับ นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.2 ระบุว่า ควรให้โอกาสรัฐบาลทำงานต่อไป
         
เมื่อ ถามถึงความตั้งใจจะเลือก ส.ส.แบบสัดส่วนของพรรคการเมือง หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 44.6 จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ร้อยละ 40.1 จะเลือกพรรคเพื่อไทย และร้อยละ 15.3 จะเลือกพรรคอื่นๆ โดยเมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่ายิ่งคนมีการศึกษาสูงขึ้น จะมีสัดส่วนของคนที่ตั้งใจเลือกพรรคประชาธิปัตย์มากขึ้นตามไปด้วย แต่ในกลุ่มเกษตรกรและผู้รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป พบว่าไม่แตกต่างกันมากนักในการสำรวจครั้งนี้คือ ร้อยละ 44.9 ระบุว่าจะเลือกพรรคเพื่อไทย ขณะที่ร้อยละ 40.3 ระบุว่า จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์


เอแบคโพลล์เผยผลสำรวจ6เดือนรัฐบาลสอบผ่าน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เอแบคโพลล์ชี้ 6 เดือนรัฐบาล “อภิสิทธิ์” สอบผ่าน โดยเฉพาะมาตรการด้านเศรษฐกิจ-การเมือง ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์ยังครองใจทุกภาค ยกเว้นอีสาน

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง “ประเมินผลงานรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในรอบ 6 เดือนแรก และความนิยมต่อพรรคการเมืองถ้ามีการเลือกตั้งใหม่วันนี้ จากกรณีศึกษาประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ จำนวน 4,102 ครัวเรือน ระหว่างวันที่ 3-11 กรกฎาคม 2552 พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 71.2 เห็นว่าควรให้โอกาสรัฐบาลทำงานต่อไปก่อน ขณะที่ร้อยละ 28.8 ที่เห็นว่าไม่ควรให้โอกาสรัฐบาล

ในการสำรวจพบประชาชนพึงพอใจภาพรวมมาตรการด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล  54.71 คะแนน จาก 100 คะแนน  โดยมาตรการเศรษฐกิจที่ประชาชนพึ่งพอใจมากที่สุด อันดับ 1 ร้อยละ 60.2 คือ เบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุ 500 บาทต่อเดือน อันดับ 2 ร้อยละ 48.6  ค่าตอบแทน อสม. 600 บาทต่อเดือน อันดับ 3 ร้อยละ 44.6 การลดค่าครองชีพของประชาชนในส่วนของการเดินทางทางรถไฟ รถเมล์ ก๊าซหุงต้ม ไฟฟ้า น้ำประปา รองลงมา คือ  โครงการจัดตั้งกองทุนเศรษฐกิจพอเพียง และที่น้อยที่สุดในมาตรการด้านเศรษฐกิจคือ การกำกับดูแลเรื่องราคาน้ำมัน ร้อยละ 19.2

ส่วนความพึงพอใจต่อมาตรการรัฐบาลด้านสังคม ประชาชนให้คะแนนรัฐบาล 49.14  คะแนน ต่อ 100 คะแนน มาตรการด้านสังคมที่ประชาชนพึงพอใจมากที่สุด อันดับ 1  ร้อยละ 62.8  คือ นโยบายเรียนฟรี 15 ปี อันดับ 2 ร้อยละ 44.8 พอใจต่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคหวัด 2009 อันดับ 3 ร้อยละ 30.7 คือมาตรการแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง รองลงมา การดูแลสร้างความเป็นธรรมในสังคม การจัดหาที่ดินทำกินให้แก่คนยากจน และการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ตามลำดับ

ขณะที่ความพอใจมาตรการด้านการเมืองและความมั่นคง ประชาชนให้คะแนนโดยรวม 55.18 คะแนน จาก 100 คะแนน  พบมาตรการที่ประชาชนพอใจมากที่สุด อันดับ 1 ร้อยละ 65.4  พอใจต่อการปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ อันดับที่ 2 ร้อยละ 47.9  พอใจต่อการป้องกันประเทศ อันดับ 3 ร้อยละ 45.8 พอใจต่อการพัฒนาความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน รองลงมา การส่งเสริมความร่วมมือของประเทศในกลุ่มอาเซียน การปฏิรูปการเมืองโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ขณะที่ความพอใจต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้น้อยที่สุด ร้อยละ 23.6

เมื่อถามถึงความนิยมตั้งใจจะเลือก ส.ส.แบบสัดส่วนของพรรคการเมือง ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนร้อยละ 44.6 จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ร้อยละ 40.1 จะเลือกพรรคเพื่อไทย และร้อยละ 15.3 จะเลือกพรรคอื่นๆ เช่น พรรคการเมืองใหม่ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา และรวมใจไทยชาติพัฒนา เป็นต้น แต่เมื่อแยกตามเพศจะพบว่าผู้หญิงจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าพรรคเพื่อ ไทย คือร้อยละ 48.4 ต่อร้อยละ 36.5 ขณะที่ผู้ชายจะเลือกพรรคเพื่อไทยมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ เล็กน้อยคือร้อยละ 43.9 ต่อร้อยละ 40.6

เมื่อจำแนกตามช่วงอายุของประชาชน พบว่าประชาชนช่วงอายุ 20-29 ปี ตั้งใจจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 47.9 ต่อร้อยละ 38.6 เช่นเดียวกับกลุ่มคนช่วงอายุ 30-39 ปี และอายุต่ำกว่า 20 ปี ตั้งใจจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ แต่กลุ่มคนอายุ 40-49 ปี ตั้งใจจะเลือกพรรคเพื่อไทย มากกว่าพรรคประชาธิปัตย์อยู่เล็กน้อย คือร้อยละ 43.5 ต่อร้อยละ 41.1 ในขณะที่กลุ่มคนอายุ 50 ปีขึ้นไป ตั้งใจจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยในสัดส่วนไม่แตกต่างกัน คือร้อยละ 43.4 ต่อร้อยละ 42.1

เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษาพบว่า คนที่มีการศึกษาสูง จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์มากขึ้น คือกลุ่มคนที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 42.8 กลุ่มคนที่มีการศึกษาปริญญาตรี ร้อยละ 50.9 และสูงกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 66.1 ตั้งใจจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ร้อยละ 41.8 ของคนที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 34.2 ของคนที่มีการศึกษาปริญญาตรี และร้อยละ 23.7 ของคนที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตั้งใจเลือกพรรคเพื่อไทย

สำหรับกลุ่มเกษตรกรและรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 44.9 เลือกพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 40.3 เลือกพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อจำแนกตามระดับรายได้ พบว่ากลุ่มคนที่เลือกพรรคเพื่อไทย ยังคงมีมากในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย คือมีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาท  ร้อยละ 45.1 แต่กลุ่มคนที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ พบมากในระดับรายได้ระหว่าง 10,001-15,000 บาท และตั้งแต่ 20,000 บาทขึ้นไป คือร้อยละ 50.8 และร้อยละ 50.6

เมื่อมองเชิงพื้นที่พบว่าพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงเป็นของพรรคเพื่อไทย คือร้อยละ 57.1 ต่อพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 25 โดยพรรคประชาธิปัตย์เริ่มมีฐานเสียงสูงขึ้นจากเดิมเคยพบประมาณร้อยละ 10 ขณะที่ภาคใต้ยังคงเป็นของพรรคประชาธิปัตย์เหมือนเดิม คือร้อยละ 78.6 แต่ดูน้อยลง เพราะเคยสำรวจพบว่ามีถึงร้อยละ 80 ทั้งนี้ เพราะพบฐานนิยมตั้งใจจะเลือกพรรคการเมืองใหม่ เริ่มเข้ามาแทนในภาคใต้ ขณะที่ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร คนจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 49.3 และร้อยละ 48.1 ต่อร้อยละ 34.1 และร้อยละ 39.3 ตามลำดับ

view