สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประสบการณ์เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในสหรัฐอเมริกา

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ดร.โสภณ พรโชคชัย

ประธานกรรมการ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย

บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA)


AREA นำข้าราชการ เอกชนไทยดูงานสหรัฐ ทำความเข้าใจเรื่องเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หวังเป็นแนวให้รัฐไทยพิจารณาภาษีที่ดินรอบใหม่

จาก การที่ประเทศไทย (อาจ) มีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อนำมาใช้นั้น  ในสหรัฐอเมริกา มีการดำเนินการอย่างไร  ต่อไปนี้เป็นประสบการณ์ที่ ดร.โสภณ พรโชคชัย ได้นำคณะข้าราชการและภาคเอกชนไทยไปดูงานในสหรัฐอเมริกา เพื่อให้เห็นอารยธรรมการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งในสหรัฐอเมริกา เรียกว่า ภาษีทรัพย์สิน

ในการบริหารราชการส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกานั้น ได้แบ่งพื้นที่ของประเทศออกเป็น 50 มลรัฐ  ในแทบทุกมลรัฐ จะมีองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เรียกว่า County ซึ่งมีอยู่รวมกันประมาณ 7,000 แห่ง และในแต่ละ County จะมี City หรือ Town คือนครหรือเมือง ซึ่งอาจมีขนาดเล็ก ๆ ไม่กี่ร้อยคนจนถึงเป็นแสนคน อย่างไรก็ตามในบางมลรัฐอาจมีระบบอื่น ๆ ที่ไม่ได้เรียกว่า County ก็ได้ แต่มีการแบ่งระดับขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นคล้าย ๆ กัน
 
วาชูเคาน์ตี้ (Washoe County) มลรัฐเนวาดา

วาชูเคาน์ตี้ประกอบด้วยนครรีโนและนครอื่นๆ  มีขนาดประมาณ 4.6 ล้านเอเคอร์หรือประมาณ 16,000 ตร.กม. หรือเท่ากับสิบเท่าของกรุงเทพมหานคร  ทรัพย์สิน ประกอบด้วยสังหาริมทรัพย์ 33,000 รายการ อสังหาริมทรัพย์ 171,000 รายการ ซึ่งมีทั้งที่อยู่อาศัย อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์และอื่น ๆ ฝ่ายประเมินค่าทรัพย์สินของ Washoe County สามารถสร้าง CAMA เพื่อประเมินค่าทรัพย์สินได้ปีละ 100,000 รายการจาก 171,000 รายการ และในอนาคตคาดว่าจะสามารถประเมินใหม่ได้ทุกปี

ในวาชูเคาน์ตี้นี้ ใช้มูลค่าตลาดเป็นฐาน โดยให้นำมาคิดเพื่อการเสียภาษีเพียง 35% ของราคาตลาด เช่น ถ้าทรัพย์สินราคา 1 ล้านบาท ก็จะคิดเพื่อการเสียภาษีเพียง 350,000 บาท เป็นต้น   อัตราภาษีที่เสียก็ประมาณ 3% สำหรับที่อยู่อาศัย และไม่เกิน 8% สำหรับทรัพย์สินที่สร้างรายได้ จึงเสียภาษีประมาณ 10,500 บาทต่อปีสำหรับทรัพย์สินที่มีราคา 350,000 บาท หรือประมาณ 1-2% ของมูลค่าตลาด

ผลของการประเมินค่าทรัพย์สินนี้ได้รับการยอมรับจากประชาชนเจ้าของ ทรัพย์สิน และแทบไม่มีใครไม่ยอมจ่ายภาษีเลย (เก็บได้ราว 99.6%) ในกรณีผู้ที่ขัดขืน ก็อาจถูกฟ้องบังคับขายทอดตลาดได้ จึงไม่มีใครพยายามไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

เจ้าหน้าที่ในสำนักงานประเมินค่าทรัพย์สินนั้นมี 85 คน มีงบประมาณราว 7.1 ล้านดอลลาร์ต่อปี หรือประมาณ 250 ล้านบาท และส่วนใหญ่ใช้เพื่อการพนักงาน นอกจากนี้สำนักประเมินฯ ยังมีงบประมาณค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ อีกราว 1 ล้านดอลลาร์ต่อปี และสามารถจัดเก็บภาษีได้ประมาณ 470 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (15,000 ล้านบาท) โดย 20 ล้านดอลลาร์เก็บจากสังหาริมทรัพย์ และอีก 450 ล้านดอลลาร์เก็บจากอสังหาริมทรัพย์
 
เมืองนอร์ฟอร์ค มลรัฐแมสซาชูเซ็ต

เมืองนอร์ฟอล์คตั้งอยู่ห่างจากนครบอสตันไปทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 40 กิโลเมตร ในมลรัฐแมสซาชูเซ็ตต์ เป็นเมืองขนาดเล็กที่มีบ้านเพียง 2,895 หน่วย  แต่มีแปลงที่ดินทั้งหมดเกือบ 4,000 แปลง  เมืองนี้จัดเก็บภาษีทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์ได้ 520 ล้านบาท และสังหาริมทรัพย์ได้ 12 ล้านบาท รวม 532 ล้านบาท คิดเป็น 55%ของงบประมาณทั้งปีซึ่งเป็นเงิน 960 ล้านบาท (532 ล้านที่เก็บได้ + 428 ล้านได้รับการอุดหนุนของมลรัฐ)

อัตราภาษีทรัพย์สินทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์คือ 1.193% เช่นถ้าใครมีบ้านราคา 1 ล้านบาท ก็ต้องเสียภาษี 11,930 บาท  การที่เก็บเก็บภาษีท้องถิ่นในรูปแบบภาษีทรัพย์สินน้อยเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นว่าท้องถิ่นไทยขึ้นกับรัฐบาลส่วนกลางในการจัดสรรงบประมาณเป็น อย่างมาก และนี่อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายควรมีส่วนร่วมไม่มีโอกาส หยั่งรากในผืนแผ่นดินไทย

ชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของบ้านในเมืองต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาสามารถแย้งราคาที่ทางราชการประเมินเพื่อการเสียภาษีให้ตนได้ แต่ปรากฏว่ามีน้อยรายมากที่แย้ง อย่างที่เมืองนอร์ฟอล์คนี้ มีแย้งเพียง 30 รายหรือ 0.1% ของบ้านทั้งหมด
 
นครแองเคอะริจ มลรัฐอลาสก้า

นครแองเคอะริจนี้มีพื้นที่รวมกัน 4,921 ตร.กม. หรือ 1,900 ตร.ไมล์ แต่ส่วนใหญ่ 94% เป็นภูเขา มีประชากรประมาณ 270,000 คน มีแปลงที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยรวมกันประมาณ 94,000 แปลง (ส่วนมากบ้านหนึ่งหลังมี 1 แปลง) รวมมูลค่าของที่อยู่อาศัยได้ประมาณ 880,000 ล้านบาท  หรือตกเป็นเงินแปลงละ 9.362 ล้านบาท

ในนครแห่งนี้ ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีทรัพย์สินประมาณ 1% ของมูลค่าตลาดเช่นกัน คือเก็บได้ประมาณ 8,800 ล้านบาทต่อปีมาใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น  ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ ระบบทะเบียนทรัพย์สินโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจัดทำโดยระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์นั้น  สามารถนำมาใช้ได้โดยหน่วยงานแทบทุกแห่ง ทั้งตำรวจดับเพลิง หน่วยงานสาธารณูปโภค แม้แต่นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ระบบนี้มีผู้ช่วยออกค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่เราพัฒนาแบบ “แยกส่วน”  ทำให้เกิดความสูญเปล่า ขาดประสิทธิภาพเท่าที่ควรแล้ว ยังอาจเป็นช่องทางในการทุจริตกับโครงการ GIS ขนาดใหญ่ด้วย

การจัดเก็บภาษีทรัพย์สินหรือในประเทศไทยเรียกว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูก สร้าง (เพราะเราจำกัดเฉพาะอสังหาริมทรัพย์) นั้น  สามารถเป็นจริงได้ และสามารถดำเนินการให้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายได้  หากได้เริ่มทดลองใช้แล้ว  ย่อมจะทำให้เห็นคุณค่าจากผลดีของการเสียภาษี (หากภาษี ไม่ถูกใครฉ้อราษฎร์บังหลวงเสียก่อน)!

view